เหล่าหมูป่ากับการบุกมาหากินที่ใจกลางเมืองฮ่องกง

เหล่าหมูป่ากับการบุกมาหากินที่ใจกลางเมืองฮ่องกง

เหล่า หมูป่า เร่ร่อนในฮ่องกงกำลังทำตัวให้เป็นที่รักของชาวเมือง แต่เรื่องนี้กำลังทำให้รัฐบาลกังวลใจ

เช้าวันพุธของฮ่องกงบริเวณย่านพักอาศัยอันหรูหรา หมูป่า ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งกำลังงีบอย่างสงบบนริมถนน ราวกับว่ามันลืมเสียงรถราอื้ออึงในช่วงเวลาเร่งด่วนที่อยู่รอบตัว เหตุการณ์นี้สร้างความรำคาญให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณนี้อย่าง Mrs. Kuk เธอใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูป และกล่าวว่าเธอพบเจอหมูป่าตัวผู้นี้อยู่เสมอ “นับวันมันชักจะกล้าขึ้นเรื่อยๆ ดูมันที่กำลังนอนอยู่สิ ทำเหมือนกับไม่มีคนอยู่รอบตัวมันเลย” โดยครั้งสุดท้ายที่เธอเจอหมูป่าตัวนี้กำลังคุ้ยถังขยะ เธอโทรเรียกตำรวจมาจัดการมัน

เมืองที่มีประชากรราว 7.3 ล้านคนแห่งนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักในแง่ป้อมปราการของบรรดาสัตว์ป่าเท่าไรนัก จริงอยู่ที่นักท่องเที่ยวและผู้คนจะรู้จักฮ่องกงในภาพลักษณ์ของป่าคอนกรีตและถนนลาดยาง แต่ภาพลักษณ์นี้ก็ขัดกับความเป็นจริงว่าฮ่องกงมีพื้นที่สำหรับสัตว์และพืชพรรณถึงราว 3 ใน 4 อันเป็นพื้นซึ่งความเจริญยังเข้าไม่ถึงและได้รับการปกป้องเอาไว้ จึงทำให้เมืองแห่งนี้มีพื้นที่สีเขียวและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากทีเดียว

ตามประวัติศาสตร์ของฮ่องกง ทั้งมนุษย์และหมูป่าต่างก็เป็นสัตว์บนพื้นดินที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ และเคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข เหล่าสัตว์เองก็ไม่ได้ไปรบกวนมนุษย์มากนัก หรือไม่ก็รบกวนน้อยมาก หมูป่าจะถูกพบเจอโดยคนที่ชอบไต่เขาหรือท่องไปยังพื้นที่ป่าในช่วงย่ำรุ่งหรือช่วงดวงอาทิตย์ตกดินเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง 5 ปีหลังมานี้ กลับกลายเป็นว่าสามารถพบเจอหมูป่าได้ทุกที่

หมูป่า, ฮ่องกง, หมูป่าฮ่องกง
หมูป่าตัวหนึ่งหาอาหารตรงบริเวณเนินเขาด้านหลังอะพาร์ตเมนต์ในพื้นที่อยู่อาศัยยอดนิยม พวกมันมักมองหาขยะหรืออาหารที่ผู้คนทิ้งไว้ให้ ภาพถ่ายโดย LAUREL CHOR

ในปี 2018 ที่ฮ่องกงมีการแจ้งความเรื่องของหมูป่าอยู่ 929 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลา 5 ปีก่อนหน้า การแจ้งความส่วนมากมาจากชาวเมืองที่ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อพบเจอพวกมัน บางส่วนคือการขอความช่วยเหลือจากตำรวจในกรณีที่มีสัตว์เดินหลงไปที่ตัวเมืองแล้วหาทางกลับเข้าป่าไม่ได้ หรือในกรณีที่ผู้คนได้รับบาดเจ็บจากการกัดหรือจู่โจมโดยหมูป่า ซึ่งมีไม่มากนัก

ไม่เคยมีการสำรวจว่าหมูป่ามีจำนวนเท่าไหร่ในฮ่องกง แต่ด้วยความที่ไม่มีสัตว์นักล่าตามธรรมชาติในพื้นที่ และมีแหล่งอาหารจากมนุษย์อยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เรื่องประชากรหมูป่าที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันที โดยหมูป่า (Sus scrofa) รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Eurasian Wild Pig เป็นผู้บริโภคทั้งพืชและสัตว์ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 68 – 272 กิโลกรัม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้สามารถพบเจอได้ตั้งแต่ เมืองมาร์ราคิช (ประเทศโมร็อกโก) ไปจนถึงเมืองบริสเบน (ประเทศออสเตรเลีย) ทำให้มันเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กระจายตัวมากที่สุดในโลก และเมื่อมีคนพาพวกมันไปสหรัฐอเมริกาก็ถูกมองว่าเป็นสัตว์รบกวน

แน่นอนว่าฮ่องกงไม่ใช่เมืองเดียวที่ต้องรับมือกับปัญหาหมูป่าเข้าเมือง เมืองบาร์เซโลนาและกรุงบรัสเซลล์ก็ต้องดิ้นรนกับปัญหาของหมูป่าเช่นเดียวกัน แต่ในปัญหาหมูป่าในฮ่องกงนั้นมีข้อพึงพิจารณาอยู่สองอย่าง อย่างแรก บรรดาตึกระฟ้านั้นสร้างขนาบข้างไปกับภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่า หมูป่าจึงสามารถเข้ามาในพื้นที่เมืองอย่างเช่นพื้นที่ระหว่างอะพาร์ตเมนต์หรือแม้กระทั่งด้านในห้างสรรพสินค้าได้ และอย่างที่สองคือ ผู้คนไม่หยุดให้อาหารพวกมัน

“นี่เป็นเหตุผลหลักที่บรรดาหมูป่าเริ่มเข้ามาที่เขตเมือง” Chan Po-Lam Chan หนึ่งในทีมงานดูแลเรื่องหมูป่าของรัฐบาลกล่าว และเสริมว่า “มีชาวเมืองที่รักหมูป่าพวกนี้มาก”

หมูป่า, ฮ่องกง, หมูป่าฮ่องกง
หมูป่าตัวหนึ่งกำลังข้ามถนน Conduit Road ซึ่งเป็นที่ตั้งของย่านที่พักอาศัยอันหรูหราในฮ่องกง รัฐบาลเริ่มใช้วิธีการคุมกำเนิดซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดจำนวนหมูป่าลง ภาพถ่ายโดย LAUREL CHOR

กว่า 35 ปีมาแล้วที่ฮ่องกงพยายามควบคุมประชากรหมูป่าด้วยวิธีการที่ใช้กันในหลายๆ ที่ นั่นคือ “การล่า” อาสาสมัครพลเมืองจำนวน 2 ทีมได้รับอนุญาตให้ยิงหรือฆ่าสัตว์ได้ แต่รัฐบาลได้ยุติโครงการนี้เมื่อปี 2017 เนื่องจากมีผู้คนพบเจอหมูป่าจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ส่งผลให้ความนิยมในตัวพวกมันก็เพิ่มขึ้นไปด้วย วิธีการควบคุมด้วยความตายนี้จึงกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก (ประชากรเมืองบางส่วนถึงขั้นตั้งองค์กรชื่อว่า กลุ่มห่วงใยหมูป่าแห่งฮ่องกง หรือ Hong Kong Wild Boar Concern Group เพื่อต่อต้านวิธีการนี้) อย่างไรก็ตาม จำนวนหมูป่าที่เพิ่มมากขึ้นในเขตรัศมีเมืองก็เป็นเรื่องที่น่าอันตรายเช่นกัน

ราวสองปีที่แล้ว รัฐบาลเริ่มทดลองใช้วิธีการคุมกำเนิด หมูป่าเพศเมียจะถูกยิงยาคลายกังวล (Tranquilizers) และถูกจับไปฉีดวัคซีนหรือผ่าตัดเพื่อฝังยาคุมกำเนิด โดยวิธีนี้เป็นมาตรการขั้นสุดท้ายก่อนที่มันจะถูกเอาไปปล่อยในพื้นที่อันห่างไกลของฮ่องกง

ด้วยวิธีการนี้ ประชากรของหมูป่าควรจะลดลงในที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เริ่มให้ความรู้สาธารณะเกี่ยวกับเรื่องหมูป่าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มีการติดตั้งป้ายรูปตัวการ์ตูนบริเวณสวนป่าต่างๆ ที่มีเนื้อหาต่อต้านการให้อาหาร การหยอกล้อ หรือถ่ายเซลฟี่คู่กับสัตว์

ด้าน Paul Zimmerman นักการเมืองฮ่องกงเชื้อสายดัตช์ กล่าวว่า เรื่องหมูป่าเป็นความไม่พอใจอันดับหนึ่งที่เขาได้รับมากกว่าเรื่องการจราจรหรือการขนส่งในฮ่องกงเสียอีก แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้กังวลใจ “เป็นเรื่องสนุกที่ผมได้จัดการในเรื่องนี้ จริงอยู่ที่มีเรามีปัญหาเรื่องหมูป่า แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่พวกมัน (หมูป่า) มีมากมายขนาดนี้”

เรื่องโดย LAUREL CHOR


อ่านเพิ่มเติม จิงโจ้ : เมื่อสัตว์สัญลักษณ์อันเป็นที่รัก กลายมาเป็นสัตว์รบกวน

Recommend