เต่ามะเฟืองนักท่องโลก

เต่ามะเฟืองนักท่องโลก

เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด และมีถิ่นกระจายพันธุ์กว้างไกลที่สุด ยืนหยัดมาได้ถึง 100 ล้านปีแล้ว

เรื่อง ทิม แอปเพนเซลเลอร์

ภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี

เนื้อหาจาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552

เต่ามะเฟือง (leatherback turtle) ขึ้นชื่อว่าเป็นยอดนักเอาตัวรอด พวกมันสามารถดำน้ำได้ลึกกว่าหนึ่งกิโลเมตร ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร และทำให้ร่างกายอบอุ่นยามอยู่ในน้ำที่เย็นจนเกือบเป็นน้ำแข็ง มันยังชีพด้วยอาหารซึ่งสิ่งมีชีวิตอื่นๆเพียงไม่กี่ชนิดจะทนกินได้ ที่สำคัญที่สุดคือมันสามารถปรับตัวได้เสมอ

 

ขณะที่เต่าทะเลชนิดอื่นๆมักยึดติดกับชายหาดวางไข่และแหล่งหากินเดิมๆ ทำให้พวกมันตกอยู่ในภาวะหล่อแหลมเมื่อกิจกรรมต่างๆของมนุษย์รุกล้ำถิ่นอาศัยมากขึ้น แต่เต่ามะเฟืองกลับยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีกว่า โดยฉกฉวยประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยซึ่งพวกมันไปพบเข้า ไม่ว่าจะเป็นชายหาดวางไข่ที่ยังไม่ถูกรุกล้ำหรือแหล่งที่มีแมงกะพรุนซึ่งเป็นอาหารหลักชุกชุม

เต่ามะเฟือง
ตอนที่นักอนุรักษ์และทีมงานช่วยกันชักรอกเต่าเพศเมียตัวนี้ขึ้นชั่งน้ำหนักและถ่ายภาพด้วยกล้องอินฟราเรดนั้น มันเพิ่งวางไข่บนชายหาดมืดมิดแห่งหนึ่งในตรินิแดด ร่างกายกำยำน้ำหนักถึง 493 กิโลกรัมของแม่เต่าแสดงให้เห็นว่า เต่ามะเฟืองในมหาสมุทรแอตแลนติกกำลังอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นผลมาจากแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์นอกชายฝั่งแคนาดา

เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่ได้รับการออกแบบเชิงอุทกพลศาสตร์อย่างดีที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พวกมันสามารถว่ายน้ำได้อย่างง่ายดายไม่ต่างอะไรกับการพักผ่อน เต่ามะเฟืองแตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นซึ่งมีกระดองใหญ่โตยื่นออกมานอกลำตัว กระดองของเต่ามะเฟืองนั้นยืดหยุ่นและพอดีกับลำตัว รวมทั้งผสานจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกับลำคอหนาหนั่นและไหล่ที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ สันนูนตามแนวยาวของกระดองทั้งเจ็ดสันอาจช่วยในการปรับตัวเพื่อบังคับทิศทางและแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำได้อย่างราบรื่น ส่วนหัวของเต่าเปรียบได้กับหัวเรือ ขณะที่กระดองเรียวเล็กลงทางด้านหลังดูคล้ายกับรูปหยดน้ำ

นอกจากนี้พวกมันยังมีสิ่งที่เรียกว่า ระบบควบคุมการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในร่างกายของสัตว์ขนาดใหญ่ (gigantothermy) ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่อาจช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายของเต่ามะเฟืองให้สูงกว่าอุณหภูมิน้ำที่พวกมันแหวกว่ายอยู่หลายองศา พวกมันจึงสามารถเดินทางในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะกับวาฬและแมวน้ำมากกว่าเต่าทะเลได้

เต่ามะเฟือง
ลูกเต่ามะเฟืองตัวนี้ได้ลิ้มรสน้ำเค็มเป็นครั้งแรกบนชายหาดมาตูราในตรินิแดด เต่าเพศเมียจะขึ้นมาจากทะเลหลังเวลาผ่านไปหลายสิบปี เมื่อมันโตเต็มวัยด้วยน้ำหนักตัวถึง 270 กิโลกรัม และพร้อมจะวางไข่เป็นครั้งแรก โดยมักจะวางไข่ในจุดที่ พวกมันฟักเป็นตัวหรือบริเวณใกล้เคียง แต่เต่าเพศผู้ไม่เคยหวนกลับขึ้นฝั่งอีกเลย

แม้ว่าพวกมันจะมีความสามารถทางร่างกายที่สูงยิ่ง ซึ่งช่วยให้เอาชีวิตรอดและสืบทอดวงศ์วานมาได้นานร่วม ร้อยล้านปี แต่ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จำนวนเต่ามะเฟืองที่คลานขึ้นไปวางไข่บนชายหาดเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนที่นักวิจัยนับได้เป็นสัญญาณเตือนภัยถึงจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างฮวบฮาบจากที่เคยมีอยู่หลายหมื่นหรือแม้กระทั่งหลายแสนตัวตลอดแนวชายหาดมหาสมุทรแปซิฟิกของเม็กซิโกและอเมริกากลาง ปัจจุบันกลับเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตัว และจากหลายพันตัวในมาเลเซียก็เหลือเพียงแค่หยิบมือเดียว

สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) จึงขึ้นบัญชีเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง และเมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เต่าเสียชีวิตแล้วก็ช่างน่าสิ้นหวัง ไม่ว่าจะเป็นการจมน้ำตายเพราะติดเครื่องมือประมง กลืนกินถุงพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลจนหายใจไม่ออก ถูกเรือชน ถูกล่าเพื่อเอาเนื้อ หรือแม้กระทั่งพบจุดจบก่อนที่จะฟักออกจากไข่เสียอีก เมื่อรังถูกขุดขึ้นมาและไข่ถูกนำไปขายเป็นอาหารหรือยากระตุ้นความต้องการทางเพศ

แต่ขณะเดียวกัน ณ อีกมุมหนึ่งของโลก ประชากรเต่ามะเฟืองกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่แห่งนั้นคือ ชายหาดมาตูรา ชายฝั่งทางด้านตะวันออกของตรินิแดด เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดแห่งนี้มาเนิ่นนานจนแทบไม่มี ใครจำได้ ไม่เว้นแม่แต่ช่วงเวลาเลวร้ายในทศวรรษ 1970 และ 1980 เมื่อชายหาดเหม็นคลุ้งไปด้วยซากเต่าที่ถูกชำแหละ เน่าเปื่อยอยู่กลางแดด และหาดทรายพรุนไปด้วยหลุมที่คนหาไข่เต่าขุดทิ้งไว้

เต่ามะเฟือง
ทุกปีเต่ามะเฟืองนับพันๆตัวเสียชีวิตเนื่องจากติดอวนที่ชาวประมงในแถบทะเลแคริบเบียนขึงไว้ราวกับผ้าม่าน นอกชายฝั่งตรินิแดด นักวิจัยทดสอบอวนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษซึ่งทำให้เต่าติดอวนน้อยลงโดยไม่กระทบต่อปริมาณปลาที่จับได้

แต่ทุกวันนี้รังเต่าไม่ถูกคุกคามแล้วเพราะ อาณาเขตของมันได้รับการตรวจตราจากกลุ่มเนเจอร์ ซีเกอร์ส (Nature Seekers) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องถิ่น จำนวนรังเต่าจึงเพิ่มจำนวนขึ้นมาก จากปีละไม่กี่ร้อยรังเมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้นถึงราว 3,000 รัง และคาดว่าเมื่อปีที่แล้ว น่าจะมีเต่ามะเฟืองร่วม 8,000 ตัวมาวางไข่ที่ตรินิแดด

แต่จำนวนเต่าที่มีอยู่อย่างชุกชุมนี้กลับสร้างปัญหาให้กับชาวประมงในท้องถิ่น เนื่องจากฤดูวางไข่ของเต่ามะเฟืองเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวประมงหลายร้อยชีวิตทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตรินิแดดขึงอวนเป็นระยะทางยาวสองสามกิโลเมตรไว้นอกชายฝั่ง เพื่อดักจับปลาแมกเคอเรล หรือปลาอินทรีให้ได้เป็นกอบเป็นกำ

แต่แทนที่จะจับปลาได้ พวกเขากลับจับเต่าหนัก 450 กิโลกรัมได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวประมงหลายคนต้องลงทุนตัดอวนของตัวเองเพื่อนำเต่ามะเฟืองที่หลงเข้าไปติดออกมา นี่เป็นปัญหาที่สร้างความโกรธเกรี้ยวให้พวกเขามาก บางคนถึงกับลงมือฆ่าเต่าเพื่อระบายความแค้น อย่างไรก็ตาม จำนวนเต่าที่มาวางไข่ที่นี่ยังคงเพิ่ม มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ในตรินิแดดเท่านั้น แต่รวมถึงรอบๆทะเลแคริบเบียนด้วย เช่นที่เกาะเซนต์ครอย ตลอดแนวชายฝั่งด้านเหนือของอเมริกาใต้หรือแม้กระทั่งในฟลอริดา

เต่ามะเฟือง
ลูกเต่าตะเกียกตะกายขึ้นจากรังหลังฟักออกจากไข่ นี่คือก้าวแรกของการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายสู่การเติบใหญ่ เพื่อเป็นการชดเชย ทุกฤดูวางไข่ เต่าเพศเมียจึงวางไข่หลายร้อยฟองไว้ในรังหลายรัง

ห่างไกลออกไปจากหาดทรายอันอบอุ่นของตรินิแดดไปหลายพันกิโลเมตร ประชากรเต่ามะเฟืองในมหาสมุทรแอตแลนติกก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน บางทีสาเหตุที่ทำให้เต่ามะเฟืองเพิ่มจำนวนขึ้นอาจเป็นเพราะแมงกะพรุน อาหารโปรดของพวกมัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลต่อกระบวนการขับเคลื่อนของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เช่น สารอาหารถูกพัดพาเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้แมงกะพรุนแพร่พันธุ์มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้เต่าเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย

แต่เมื่อมาดูที่น่านน้ำฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแนวโน้มกลับเป็นไปในทางร้ายต่อจำนวนประชากรเต่ามะเฟือง ไม่ว่าจะมาจากการรุกล้ำชายหาดของนักพัฒนา พวกลักลอบล่า การทำประมงแบบอวนลอยและเบ็ดราวในทะเล หรือแม้กระทั่งตัวมหาสมุทรเอง รวมไปถึงปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งอาจเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การลอยตัวขึ้นของสารอาหารหยุดชะงักลง พวกมันจึงขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้น จนในปัจจุบันประชากรเต่าเหล่านี้ใกล้ภาวะสูญพันธุ์เข้าไปทุกที

การที่จำนวนเต่ามะเฟืองลดลงอย่างฮวบฮาบนี้อาจช่วยเตือนสติเราว่า การกระทำของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรได้รวดเร็วเพียงไร และเมื่อผนวกกับปัจจัยทางธรรมชาติด้วยแล้วจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงเช่นไร

เป็นเวลาร่วมร้อยล้านปีมาแล้วที่เต่ามะเฟืองสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนานัปการมาได้ทั้งๆที่มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดมหึมาตกจากฟากฟ้า พืดน้ำแข็งแผ่ขยายและพังทลาย หรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นและดับสูญไป แต่เต่ามะเฟืองยังคงท่องมหาสมุทรและปีนขึ้นไปวางไข่บนชายหาด เมื่อมองใน ระยะยาวซึ่งดูจะเป็นวลีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ชนิดนี้ มนุษย์เราอาจกลายเป็นเพียงอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของพวกมันเท่านั้น


อ่านเพิ่มเติม เต่ามะเฟือง-บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์

Recommend