ยีราฟ : ความลับของสัตว์โลกผู้น่าทึ่ง

ยีราฟ : ความลับของสัตว์โลกผู้น่าทึ่ง

ยีราฟ : ความลับของสัตว์โลกผู้น่าทึ่ง

เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ทีมหนึ่งเริ่มเข้าใจบางสิ่งเกี่ยวกับ ยีราฟ อย่างถ่องแท้ (แม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่) ก่อนหน้านั้น ความรู้ที่เชื่อกันมานานเกี่ยวกับยีราฟมีอยู่ว่า พวกมันมีชนิดเดียว นั่นคือ Giraffa camelopardalisi แต่การวิเคราะห์พันธุกรรมในปัจจุบันชี้ว่า แท้จริงแล้วยีราฟมีอยู่ด้วยกันสี่ชนิด และทั้งสี่สายพันธุ์ยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็นห้าชนิดย่อย เมื่ออิงกับอนุกรมวิธานใหม่แล้ว ชนิดย่อยสามในห้าชนิดเรียกได้ว่า มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable: VU) ใกล้สูญพันธุ์ (endangered: EN) หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered: CR) ทั่วแอฟริกา ประชากรยีราฟลดลงเกือบร้อยละ 40 ตลอดช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือยีราฟอยู่ในโลกเพียงราว 110,000 ตัวเท่านั้น

จูเลียน เฟนเนสซี ผู้อำนวยการร่วมของมูลนิธิอนุรักษ์ยีราฟ หรือจีซีเอฟ (Giraffe Conservation Foundation: GCF) เรียกสิ่งนี้ว่า “การสูญพันธุ์อย่างเงียบๆ” เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่า ยีราฟอยู่ดีมีสุขตามธรรมชาติ อาจเป็นเพราะเห็นพวกมันดาษดื่นอยู่ตามสวนสัตว์และเป็นสัตว์สตัฟฟ์

อันที่จริง ในบางพื้นที่ของแอฟริกา ยีราฟ ยังอยู่ดีมีสุขจริง ในแอฟริกาใต้และนามิเบียที่ซึ่งฟาร์มเลี้ยงสัตว์สำหรับล่าทำให้จำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น และคนสามารถล่ายีราฟได้อย่างถูกกฎหมาย ประชากรยีราฟเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 20-30 ปีให้หลัง ทว่าในแอฟริกาตะวันออก ยีราฟลายร่างแหและยีราฟมาไซกำลังเผชิญอนาคตที่มืดมนกว่า “สิ่งที่กำลังคร่าชีวิตยีราฟในเคนยาตอนใต้คือรั้ว ซึ่งเป็นภัยคุกคามมากกว่าการลักลอบล่าสัตว์  ยีราฟกระโดดข้ามรั้วไม่ได้  นั่นหมายความว่า ถิ่นกระจายพันธุ์หรือถิ่นที่อยู่ของพวกมันกำลังถูกตัดทอนออกเป็นส่วนๆ” อาร์เทอร์ เมอเนซา ผู้ประสานงานของจีซีเอฟในแอฟริกาตะวันออก บอก การเติบโตของประชากร การที่ปศุสัตว์และเล็มหญ้ามากเกินไป และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนเลี้ยงปศุสัตว์กับชาวไร่รุกล้ำพื้นที่ป่าและถิ่นอาศัยของยีราฟ ขณะเดียวกัน ประชากรยีราฟนูเบียซึ่งพบได้มากที่สุดในยูกันดา ลดลงมากถึงร้อยละ 97 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกมันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

ยีราฟ
ร้านสตัฟฟ์สัตว์ในเทกซัสโชว์ยีราฟที่เพิ่งล่ามาได้ไม่นาน แผ่นกระดาษแข็งและหมุดช่วยตรึงผิวหนังให้อยู่กับที่ระหว่างที่แห้งบนโฟมตัดเป็นรูปยีราฟ ประชากรยีราฟลดลงร้อยละ 40 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนเหลืออยู่เพียงประมาณ 110,000 ตัว ในธรรมชาติ (ภาพถ่าย: เดวิด แชนเซลเลอร์)
ยีราฟ
ที่อุทยานแห่งชาติซาคูมาของชาด ยีราฟคอร์โดแฟนสองตัวใช้คอถูกัน ซึ่งอาจเป็นการโหมโรงสู่การต่อสู้ หรืออาจเป็นวิธีสื่อสารระหว่างกันของสัตว์ที่แทบไม่ส่งเสียงใดๆเหล่านี้ ซาคูมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในระดับหนึ่งสำหรับยีราฟคอร์โดแฟน ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของพวกมันอาศัยอยู่ที่นี่ (ภาพถ่าย: เบรนต์ สเตอร์ตัน)

ความรู้ที่เชื่อกันมานานเกี่ยวกับยีราฟมีอยู่ว่า พวกมันมีชนิดเดียว นั่นคือ Giraffa camelopardalisi แต่การวิเคราะห์พันธุกรรมในปัจจุบันชี้ว่า แท้จริงแล้วยีราฟมีอยู่ด้วยกันสี่ชนิด และทั้งสี่สายพันธุ์ยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็นห้าชนิดย่อย

ทุกอย่างเกี่ยวกับลักษณะทางกายวิภาคของยีราฟดูจะแตกต่างอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะคอยาวขึ้นชื่อ ขนตายาวๆ ขาเก้งก้าง (ยาวที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด) ดวงตา (กว้างที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) กะโหลกยืดยาว และลิ้นยาวเหมือนงวงสีม่วงคล้ำ ซึ่งแลบออกมาได้ยาวครึ่งเมตรและตวัดรูดกิ่งอะเคเซียที่มีหนามแหลม กระทั่งหัวใจที่สูบฉีดเลือดในแนวดิ่งได้มากกว่าสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ก็อาจยาวมากกว่า 60 เซนติเมตร และมีผนังหัวใจห้องล่างหนากว่าเจ็ดเซนติเมตร

ยีราฟมีความดันเลือดสูงที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมดเท่าที่ทราบ แต่พวกมันสามารถก้มหัวถึงพื้นซึ่งอยู่ต่ำลงไปห้าเมตรได้อย่างรวดเร็วโดยไม่หน้ามืดเป็นลม การที่พวกมันนั่งและลุกยืนได้ยากเย็น ทั้งยังเปราะบางเป็นพิเศษเมื่ออยู่บนพื้น ยีราฟจึงมักนอนหลับเพียงครั้งละไม่กี่นาที (เป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะสังเกตเห็นในธรรมชาติ) พวกมันอาจอยู่ได้นานหลายสัปดาห์โดยไม่ต้องดื่มน้ำ และอาศัยเพียงความชุ่มชื้นที่ดูดจากใบไม้ เฟนเนสซีจากจีซีเอฟ เฝ้าสังเกตยีราฟในทะเลทรายของนามิเบียอยู่นานถึงห้าปี ก่อนจะเห็นมันแบะขาออกเพื่อก้มหัวลงดื่มน้ำจากแอ่งน้ำบนพื้นอย่างทุลักทุเล

อันที่จริง เรายังไม่รู้อยู่ดีว่า ทำไมยีราฟถึงต้องมีคอยาวแบบนั้น นิโกส ซูลูเนียส นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการบอกว่า ยีราฟวิวัฒน์ขึ้นในอนุทวีปอินเดีย แล้วอพยพจากเอเชียมายังแอฟริกาเมื่อราวแปดล้านปีก่อน แต่โอคาพี ญาติใกล้ชิดที่สุดของยีราฟที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นเขตศูนย์สูตรของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กลับไม่มีคอยาวอย่างญาติของมัน

ยีราฟ
ลูกยีราฟกำพร้าคลอเคลียกับผู้ดูแลที่ซาราราแคมป์ (Sarara Camp) ทางเหนือของเคนยา คนเลี้ยงปศุสัตว์เผ่าแซมบูรูเจอ ลูกยีราฟที่ถูกทอดทิ้งตัวนี้และแจ้งข่าวถึงซารารา องค์กรขึ้นชื่อเรื่องการดูแลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกำพร้าและปล่อยพวกมันคืนสู่ถิ่นอาศัยเดิม ปัจจุบัน ยีราฟวัยเยาว์ตัวนี้อยู่กับฝูงตามธรรมชาติแล้ว (ภาพถ่าย: ปารัส แชนดาเรีย)
ภาพถ่าย
เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าดึงซากยีราฟออกจากแร้วของนักลักลอบล่าสัตว์ในอุทยานแห่งชาติแอมโบเซลี ประเทศเคนยา ยีราฟหนึ่งตัวให้เนื้อราคาดีถึง 300 กิโลกรัม บางครั้ง ยีราฟก็ถูกฆ่าเพื่อเอาหางเท่านั้น เพราะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคมในบางวัฒนธรรม (ภาพถ่าย: เบรนต์ สเตอร์ตัน)

ทุกอย่างเกี่ยวกับลักษณะทางกายวิภาคของยีราฟดูจะแตกต่างอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะคอยาวขึ้นชื่อ ขาเก้งก้าง (ยาวที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด) ดวงตา (กว้างที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) กะโหลกยืดยาว และลิ้นยาวเหมือนงวง หรือกระทั่งหัวใจที่สูบฉีดเลือดในแนวดิ่งได้มากกว่าสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ 

ยีราฟเป็นช่างแต่งทรงพุ่มไม้โดยกำเนิด  พวกมันเล็มกินต้นอะเคเซียจนมีรูปทรงนาฬิกาทรายที่มีพุ่มผายออกด้านบน  เหนือเส้น “ชิมลาง” ที่คอยาวๆ และลิ้นยืดๆ ของมันไม่สามารถเอื้อมถึงได้ ดังนั้นการที่คอยาววิวัฒน์ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้หากินได้ในที่สูง และเป็นจุดที่สัตว์ตัวเตี้ยกว่าเอื้อมไม่ถึง จึงเป็นเรื่องสมเหตุผล แต่นักวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ว่า จริงๆ แล้วคอยาวของยีราฟมีหน้าที่ในการคัดเลือกทางเพศ (sexual selection) ประโยชน์หลักของมันจึงไม่ใช่เรื่องของการหาอาหาร แต่ช่วยให้เพศผู้ฟาดฟันกันด้วยหัวที่แกว่งไปมาซึ่งมีกะโหลกหนาเป็นพิเศษในยามแย่งชิงเพศเมียที่ติดสัด หรือไม่คอยาวๆ ก็อาจช่วยสัตว์ที่ค่อนข้างไร้วิธีป้องกันตัวอย่างยีราฟให้มองได้สูงกว่าสัตว์อื่นๆ เพื่อให้เห็นสัตว์นักล่าจากระยะไกลได้

ยีราฟ
ฝูงยีราฟที่มีขอบฟ้าของกรุงไนโรบีเป็นฉากหลังเหล่านี้ เดินท่องอยู่ในอุทยานแห่งชาติไนโรบีซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงของเคนยาหกกิโลเมตร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 100 ชนิดอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเนื้อที่ 117 ตารางกิโลเมตร แต่การขยายตัวของเมืองส่อแววคุกคามถิ่นอาศัยแห่งนี้

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่พ่วงมากับคอยาวๆ ของยีราฟ  คือความเงียบงันจนน่าฉงน ยีราฟแทบไม่เคยส่งเสียงใดๆ และไม่สื่อสารกับพวกเดียวกันโดยใช้สัญญาณใดๆ ก็ตามที่หูมนุษย์ได้ยิน  ความเงียบของมันน่าประหลาดยิ่งขึ้นเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พวกมันเป็นสัตว์สังคมที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบแยกกันอยู่และรวมกันอยู่เป็นช่วงๆ (fission-fusion society) สัตว์อื่นๆที่มีสังคมรูปแบบนี้ เช่น ช้างและชิมแปนซี มักเป็นสัตว์ช่างจ้อ สิ่งนี้ทำให้นักวิจัยบางคนเสนอแนวคิดว่า ยีราฟอาจส่งเสียงอินฟราซาวนด์ หรือคลื่นใต้เสียงความถี่ต่ำ เพื่อสื่อสารกันในระยะทางไกล (เหมือนเสียงฮึมฮัมความถี่ต่ำของช้าง) แต่หลักฐานเท่าที่มียังไม่แน่ชัด

เรื่อง    โจชัวร์ โฟร์

ภาพถ่าย  เอมี ไวแทลี

***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก  ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2562

 


 

สารคดีแนะนำ 

การสูญพันธุ์ : เราสูญเสียอะไร เมื่อชนิดพันธุ์อันตรธาน

Recommend