ไดโนเสาร์กลายเป็นสมบัติในห้องนั่งเล่น
ริมสระว่ายน้ำ ในโรงแรมแห่งหนึ่งกลางเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา ศัลยแพทย์ศีรษะและคอ กำลังนั่งคุยฟุ้งถึงเรื่องฟอสซิลกะโหลก ไดโนเสาร์ ชนิดต่างๆ เขานำกะโหลกหัวหนึ่งติดกระเป๋าหิ้วขึ้นเครื่องมาที่เมืองนี้ด้วย และดูตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัดกับสภาพอันสมบูรณ์ของกระดูกหุ้มสมอง และช่องเปิดต่างๆ ซึ่งเคยเป็นที่บรรจุบรรดาเส้นประสาทสมอง
“ผมมองเห็นภาพจักษุประสาทที่ช่วยให้ตามองเห็นได้เลยครับ” เขาบรรยายราวกับว่าเจ้าของกะโหลกยังมีชีวิตอยู่ “เห็นเส้นประสาทสมองคู่ที่หกซึ่งช่วยให้ลูกตาเคลื่อนไหวไปมาด้านข้างได้ และเส้นประสาทคู่ที่ห้าซึ่งช่วยให้ผิวหนังบนใบหน้ารับรู้ความรู้สึก”
ศัลยแพทย์รายดังกล่าวขอไม่เปิดเผยชื่อในสารคดีเรื่องนี้ การเป็นเจ้าของคอลเลกชั่นฟอสซิลกะโหลกทำให้เขาทั้งมีความสุขเบิกบาน และต้องคอยระแวดระวังจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร ไม่ต่างจากนักสะสมรายอื่นๆ อีกมากที่เข้าเมืองมาเพื่อชมงานแสดงแร่และอัญมณีทูซอน (Tucson Gem and Mineral Show)
ทุกวันนี้ นักสะสมฟอสซิลมีอยู่ทั่วไป หลายคนเช่นศัลยแพทย์ผู้นี้ สะสมอย่างจริงจังจนแทบจะเป็นนักบรรพชีวินวิทยามืออาชีพ (เขาซื้อฟอสซิลไดโนเสาร์ ที่ยังฝังอยู่ในหิน แล้วใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการบรรจงขุดแต่งเพื่อแยกฟอสซิลออกมาจากหินที่จองจำมันอยู่) ขณะที่นักสะสมรายอื่นๆ ดูเหมือนจะแค่สนองรสนิยมชมชอบอสุรกายตัวใหญ่ยักษ์ น่ากลัวและแสนแพง แบบเด็กผู้ชายทั่วไป
ความหลงใหลในบรรพชีวินวิทยาในหมู่นักสะสมนั้นหมายความว่า ไดโนเสาร์ และสัตว์ร่างยักษ์อื่นๆ ในรูปฟอสซิลอาจไปโผล่ในบ้านหรือสำนักงานต่างๆ ได้เกือบทุกแห่งหน ในบ้านตากอากาศริมน้ำที่แมสซาชูเซตส์ แผงคอและเขาจากสกะโหลกของ ไทรเซอราทอปส์ ผงาดต้อนรับแขกผู้มาเยือนในโถงทางเข้าบ้าน ส่วนทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย มี อิกทิโอซอรัส ขนาดมหึมาตัวหนึ่งประดับอยู่ในห้องนอนใหญ่ของบ้านนักสะสมผู้หนึ่ง ในดูไบ ดิโพลโดคัส ตัวยาว 24.5 เมตร เป็นดาวเด่นของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และในแซนตาบาร์บารา แคลิฟอร์เนีย กะโหลก ไทแรนโนซอรัส สภาพสมบูรณ์ที่สุดกะโหลกหนึ่งเท่าที่เคยค้นพบ ตั้งอยู่ในห้องรับรองของบริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่ง
ฟันแหลมคมเหมือนเดือยผุดขึ้นมาจากขากรรไกรล่างยาว 1.5 เมตรของไดโนเสาร์กลุ่มไทโลซอร์ชนิดใหม่ซึ่งตั้งโชว์อยู่ที่เมืองเอดจ์มอนต์ รัฐเซาต์ดาโกตา ในบ้านของแฟรงก์ การ์เซีย (คนซ้าย) และเด็บบี ภรรยา สองสามีภรรยาค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานในทะเลตัวนี้เมื่อปี 2016 โดยเจอส่วนหางก่อน ตามมาด้วยกะโหลก ในบริเวณไม่ไกลจากที่พวกเขาอาศัยอยู่
คาเทโดคัส ไซเบรี (Kaatedocus siberi) ยืนอยู่ท่ามกลางศิลปวัตถุหลากหลายที่เทียอาทรุมมุนดี หอศิลป์แห่งหนึ่งในเมืองอาเรสโซ ประเทศอิตาลี
คนงานที่โซอิก บริษัทบูรณะฟอสซิลในเมืองตรีเอสเต ประเทศอิตาลี ช่วยกันประกอบโครงกระดูก อัลโลซอรัสที่ขุดพบในรัฐไวโอมิง ต่อมาตัวอย่างชิ้นนี้ถูกขายในงานประมูลที่ปารีสด้วยราคา 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความหลงใหลในบรรพชีวินวิทยาในหมู่นักสะสมนั้นหมายความว่า ไดโนเสาร์ และสัตว์ร่างยักษ์อื่นๆ ในรูปฟอสซิลอาจไปโผล่ในบ้านหรือสำนักงานต่างๆ ได้เกือบทุกแห่งหน
นักสะสมมักเก็บงำ ฟอสซิลส่วนตัวของพวกเขาไว้เป็นความลับ เนื่องจากการแปรบรรพชีวินวิทยาให้กลายเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์จุดกระแสโต้เถียงต่อเนื่องมาสองทศวรรษแล้ว โดยอาจย้อนไปได้อย่างน้อยเมื่อเกิดการประมูลไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ชื่อซู เมื่อปี 1997 ท้ายที่สุด โครงกระดูกที่เป็นของสะสมเชิงพาณิชย์โครงนี้ถูกประมูลไปโดยพิพิธภัณฑ์ชิคาโกส์ฟีลด์ แต่ราคาขายที่สูงถึง 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระตุ้นให้เกิดความฝันเฟื่องแบบตื่นทองในหมู่เจ้าของที่ดินบางราย นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นักบรรพชีวินวิทยาประจำพิพิธภัณฑ์จำนวนมากหวั่นเกรงว่า ตนจะถูกขูดรีดจนจ่ายไม่ไหวในวงการที่ถือว่าเป็นของพวกเขามาเนิ่นนาน
แต่ปรากฏการณ์ตื่นทองไม่ออกดอกออกผลอะไรนัก ในความเป็นจริง จำนวนตัวอย่าง ไทแรนโนซอรัส ล้นตลาดอยู่ตอนนี้ และตัวอย่างราคาแพงลิ่วชนิดอื่นๆ ก็ขายได้ตอนลดราคาเมื่อหลายปีผ่านไป กระนั้น เรื่องอื้อฉาวหลายกรณี ตั้งแต่ตัวอย่างปลอมจากจีน การลักลอบขนส่งกระดูกไดโนเสาร์จากมองโกเลีย ไปจนถึงการขุดค้นอย่างสะเพร่าและผิดกฎหมาย ทำให้นักบรรพชีวินวิทยาจำนวนหนึ่งยังคงรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อนักสะสม
ทว่าท่ามกลางสงครามน้ำลายนี้ การร่วมมืออย่างเงียบเชียบของบรรดานักสะสม นักล่าฟอสซิลเพื่อการค้ากับนักบรรพชีวินวิทยาในสังกัดพิพิธภัณฑ์ กลับอยู่ในระดับที่น่าประหลาดใจ ภาวะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความจำเป็น กล่าวคือพิพิธภัณฑ์ที่มีงบประมาณกระเบียดกระเสียรทุกแห่งจำต้องตัดงบและลดจำนวนบุคคลากรด้านวิจัยลง นักสะสมเพื่อการค้าจึง “ขุดค้นได้มากกว่านักวิทยาศาสตร์ครับ” เคิร์ก จอห์นสัน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติสมิทโซเนียน กล่าว “เราไปขุดกันระหว่างช่วงพักร้อนสามอาทิตย์ แต่พวกเขาขุดกันทีละห้าเดือนครับ”
ตัวอย่างฟอสซิลที่พ่อค้าค้นพบและขายให้กับนักสะสมจะไม่มีทาง “ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์โดยอัตโนมัติหรอกครับ” มาร์ก นอเรลล์ นักบรรพชีวินวิทยาที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน เสริม แต่ที่จะเป็นไปได้มากกว่าคือ ตัวอย่างเหล่านั้นคงถูกกัดเซาะจนโผล่จากเนินเขาห่างไกลโดยไม่มีใครเห็น แล้วตากลมตากฝนจนไม่เหลืออะไรเมื่อเวลาผ่านไป
เจ้าของไร่ปศุสัตว์ เคลย์ตัน ฟิบส์ (บนยอดเนิน) ซึ่งมีฉายาเป็นที่รู้จักในบางแวดวงว่า “คาวบอยไดโนเสาร์” กำลังสำรวจหมวดหินเฮลล์ครีกใกล้บ้านของเขาในเมืองจอร์แดน รัฐมอนแทนา กับลุค ผู้เป็นลูกชาย ชั้นหินที่อุดมด้วยฟอสซิลแถบนี้มีอายุย้อนไปถึงปลายยุคครีเทเชียส และเก็บรักษาบันทึกทรงค่าที่เล่าถึงโลกยุคก่อนไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์
โมซาซอร์ตัวยาวห้าเมตร “ลอย” อยู่เหนือโจแอนและเฮนรี เครกสตีน ในบ้านที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สัตว์เลื้อยคลานในทะเลตัวนี้เป็นหนึ่งในฟอสซิลหลายชิ้นที่เฮนรี เครกสตีน สะสมไว้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จักษุแพทย์ผู้นี้ย้อนรอยความหลงใหลในสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วไปถึงชีวิตวัยเด็ก
การขุดค้นแบบผิดๆ ซึ่ง “ทำลายชิ้นส่วนสำคัญอย่างยิ่งไปเป็นจำนวนมาก” ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 นั้น พบเห็นได้ไม่บ่อยแล้วในทุกวันนี้ นอเรลล์บอกและเสริมว่า ในแถบตะวันตกของอเมริกา นักสะสมเชิงพาณิชย์มักทำผลงานได้ดีกว่านักบรรพชีวินวิทยาจำนวนมาก เพราะเหตุผลเดียวคือ “คุณภาพของการขุดค้นสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับตัวอย่างที่พบได้สูงมากครับ”
ตัวอย่างอื่นๆ ในคอลเลกชั่นของสะสมส่วนตัว สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสำคัญๆ ถ้าไม่ในฐานะวัตถุให้ยืมอย่างถาวรก็เป็นของขวัญ ไม่ช้าก็เร็ว บรรดาทายาทของผู้ครอบครองฟอสซิลน่าจะตระหนักตามที่นักออกแบบงานแสดงในพิพิธภัณฑ์ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า ไดโนเสาร์ไม่ใช่ของที่ “เอื้อต่อการเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมแบบบ้านเท่าใดนัก” แถม “ปัดฝุ่นก็ลำบากด้วยค่ะ”
ที่สถานประมูลศิลปวัตถุชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ฟอสซิลสภาพสมบูรณ์ของ อัลโลซอรัส ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมประมูลโดยมี Alexandre Giquello เป็นผู้ดำเนินการประมูล
เรื่อง ริชาร์ด คอนนิฟฟ์
ภาพถ่าย กาเบรียลลา กาลิมเบอร์ตี และยูริ เดลูกา
*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2562
สารคดีแนะนำ