ภารกิจขนน้ำช่วยเลียงผาบนเขาสมโภชน์

ภารกิจขนน้ำช่วยเลียงผาบนเขาสมโภชน์

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ หมู… บดินทร์ จันทศรีคำ
ผู้ชายที่มีใจอาสาเพื่อป่าไม้และสัตว์ป่า

ทำไมต้อง “ขนน้ำให้ เลียงผา ”

ผมได้รับข้อมูลที่มีการส่งต่อกันมาทางเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องการเชื้อชวนคนขนน้ำขึ้นไปให้ เลียงผา จึงเกิดความใคร่รู้ว่า กระบวนการ และกรรมวิธีเป็นอย่างไร เพราะอะไรทำใมมนุษย์อย่างเราๆ จึงต้องขนน้ำไปให้เลียงผา

จากความสงสัยดังกล่าว ผมจึงได้พุดคุยกับน้าหมู บดินทร์ จันทร์ศรีคำ ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในงานอาสาครั้งนี้ และเป็นประธาน​ชมรมฅนรักษ์​สัตว์​-ป่า สังกัด​องค์กร​อนุรักษ์

น้าหมูเล่าให้ฟังถึงที่มาของการขนน้ำขึ้นเขาสมโภชน์ว่า โครงการขนน้ำให้เลียงผาที่เขาสมโภชน์ เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากเขาแผงม้าที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2542 ส่วนที่เขาสมโภชน์น้าหมูเริ่มลงมือทำเมื่อปี 2549 เพราะได้รับเงินทุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง ให้จัดตั้งศูนย์อนุบาลสัตว์ป่าที่บาดเจ็บและสัตว์ป่วยในพื้นที่เขาใหญ่และพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด

เราต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ และสุดท้ายได้ข้อสรุปร่วมกันที่จังหวัดนครนายกนครนายก โดยทางอุทยานแห่งชาติมอบพื้นที่ 500 ไร่เพื่อให้สร้างศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าภาคกลางนครนายก เพื่อรับรองดูแลสัตว์ป่าของกลางที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ให้นำมาอนุบาลไว้ที่นี่

เลียงผา, อนุรักษ์, สัตว์ป่า, เขาสมโภชน์
น้าหมู – บดินทร์ จันทศรีคำ (ซ้าย)

วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่พบเลียงผาเสียชีวิตใกล้ศูนย์ฯ ทางทีมสัตวแพทย์จึงผ่าตัดชันสูตร ผลปรากฏว่า เลียงผาตัวนั้นตายจากการติดเชื้อ และที่สำคัญคือพบสารเคมีในร่างกาย อีกไม่ถึงสองอาทิตย์ก็พบเลียงผาตายเป็นตัวที่สอง เจ้าหน้าที่ทุกคนที่อยู่ในศูนย์ฯ เกิดความสงสัยว่ามันมาจากไหน

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนท้องถิ่นบอกว่า เลียงผามาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสมโภชน์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อทีมสัตวแพทย์ชันสูตรก็พบผลลัพธ์เหมือนเลียงผาตัวแรก คือพบสารเคมีในเสือดและร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงหน้าแล้ง
น้าหมูจึงชวนเจ้าหน้าที่ไปดูที่ต้นทางว่าเขาสมโภชน์อยู่ตรงไหน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสมโภชน์ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี 2538 ก่อนหน้านั้นเป็นพื้นที่สัมปทานระเบิดภูเขาเพื่อนำมาทำเหมืองหินและปูนซีเมนต์

การทำเหมืองส่งผลให้เลียงผาสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เลียงผาจึงต้องลงมาอาศัยใกล้ชิดชุมชนเมืองมากขึ้น บางครั้งเมื่อพบเจอกับชาวบ้าน ก็ถูกชาวบ้านทำร้าย หรือถูกสุนัขบ้านกัดได้รับบาดเจ็บ หรือบางครั้งถูกล่าจากมนุษย์ ตัวที่มีชีวิตรอดจากการลุกลานก็ถูกนำมาไว้ที่เขาสมโภชน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกับพระสงฆ์ประท้วงขอให้รัฐบาลยกเลิกการให้สัมปทาน

จากความร่วมมือในครั้งนั้น เขาสมโภชน์จึงกลายเป็นป่าชุมชนที่มีชาวบ้านเป็นผู้ดูแล เมื่อทีมของน้าหมูเข้าไปสำรวจพื้นที่ และอยากเห็นความยั่งยืนของการรักษาพื้นที่ จึงดำเนินการไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ปัจจุบัน เขาสมโภชน์มีพื้นที่ประมาณแปดพันไร่ ซึ่งกลายเป็นที่อยู่ของเลียงผา

เลียงผา, อนุรักษ์, สัตว์ป่า, เขาสมโภชน์

เขาสมโภชน์ล้อมรอบด้วยชุมชนสี่ตำบล ส่วนใหญ่ชาวบ้านเพาะปลูกมันสำปะหลังและอ้อย จึงมีสารเคมีจากภาคการเกษตรตกค้างอยู่ในพื้นที่โดยรอบ

จากการสำรวจด้านบนเขาสมโภชน์ พบถ้ำและสถานที่น่าสนใจ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังพบแหล่งอาหารของเลียงผา และแหล่งน้ำ แต่มีปริมาณไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง เลียงผาจึงต้องลงจากบนเขามาหาแหล่งน้ำใกล้ชุมชน อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า เมื่อเลียงผาลงมาในพื้นที่ชุมชน ก็ถูกสุนัขบ้านกัดและถูกล่า

น้าหมูจึงมีความคิดอยากล้อมรั้วรอบเขาสมโภชน์เป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร ซึ่งได้ความร่วมมือจากชาวบ้านและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างดี รวมถึงการสร้างถนนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อเป็นแนวป้องกันไฟจากพื้นที่เกษตรกรรม

เมื่อล้อมรั้วทำถนนแล้ว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ด้านบนภูเขาจะมีแหล่งน้ำและอาหารเพียงพอสำหรับสัตว์ป่าหรือไม่ ทางทีมเราจึงเริ่มการสร้างฝายชะลอน้ำ แต่เนื่องด้วยสภาพของเขาหินปูนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ดี จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาโดยการนำวงท่อซีเมนต์ที่หาได้ทั่วไป นำมาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับเลียงผาในช่วงฤดูแล้ง น้าหมูและทีมงานช่วยกันขนส่งท่อและติดตั้งตามจุดต่างๆ บนเขาสมโภชน์ และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง น้าหมูก็เชิญชวนอาสาสมัครลำเลียงน้ำไปเติมในวงท่อซีเมนต์ที่ติดตั้งไว้

เลียงผา, อนุรักษ์, สัตว์ป่า, เขาสมโภชน์

ณ ปัจจุบัน การแก้ปัญหาลักษณะนี้ยังไม่สร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งคือทางออกที่ยั่งยืนที่สุด และเมื่อวันนั้นมาถึง น้าหมูและทีมงานก็พร้อมขนย้ายอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ออกจากพื้นที่่ป่า แต่วันนี้ เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไปก่อน เพื่อให้สัตว์มีน้ำกินอย่างเพียงพอ

ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องลำเลียงน้ำไปช่วยเลียงผา

“ผมทำงานอาสามาตั้งแต่ปี 2528 ตอนนั้นรับราชการในกรมทางหลวง เมื่อปี 2533 มีแผนการสร้างเขื่อนเหวนรกที่เขาใหญ่ ผมและเพื่อนๆ มาจัดตั้งกลุ่มรักษ์เขาใหญ่เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนเหวนรก” น้าหมูเล่าและเสริมว่า “เป้าหมายของงานอาสาสมัครทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัตว์ป่าและป่าไม้ ผมตั้งใจให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานได้มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าที่คอยเติมเต็มระบบนิเวศให้ครบวงจร ด้วยปณิธานที่ว่า ‘สืบทุกสิ่งที่พ่อสร้าง สานทุกอย่างที่พ่อสอน’ ตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งผมยึดถือมาโดยตลอด”

ผมถามน้าหมูว่า “ในขณะที่เราก็บอกว่าห้ามให้อาหารสัตว์ป่า เพราะเกรงว่าในอนาคตสัตว์ป่าจะไม่หาอาหารเอง แล้วทำไมเราถึงต้องลำเลียงน้ำไปให้เขาถึงในป่า” น้าหมูตอบแถมติดตลกร้ายว่า “เพราะบ้านเขามันแล้ง เราเข้าไปด้วยพื้นฐานความเข้าใจ โดยทำให้เลียนแบบให้เหมือนธรรมชาติที่สุด เลียงผามีประสาทสัมผัสการดมกลิ่นที่ดี เขารู้ว่าแหล่งน้ำอยู่ตรงไหน เลียงผาจะได้ไม่ลงมาในหมู่บ้าน เลียงผาจะไม่รู้อย่างเดียวว่าตรงไหนมีลูกปืน”

เลียงผา, อนุรักษ์, สัตว์ป่า, เขาสมโภชน์

เลียงผา, อนุรักษ์, สัตว์ป่า, เขาสมโภชน์

เลียงผา, อนุรักษ์, สัตว์ป่า, เขาสมโภชน์

เขาสมโภชน์เป็นภูเขาหินปูนสูงชันสองลูกตั้งเคียงกัน มีสัตว์ป่ามากกว่า 200 ชนิด เช่น เลียงผา หมีควาย ค่างแว่น ลิง ค้างคาว เม่น หมาจิ้งจอก เสือปลา เสือไฟ แมวป่า ไก่ฟ้า และไก่ป่า ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาที่หลากหลายและน่าสนใจ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ มีพื้นที่ครอบคลุม 4 ตำบลได้แก่ ตำบลนาโสม ตำบลหนองยายโต๊ะ ตำบลบัวชุม ตำบลซับตะเคียน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ประมาณ 8,440 ไร่

ก่อนจบบทสนทนาน้าหมูพูดทิ้งท้ายไว้น่าสนใจมากครับ

“พวกเราจะพยายามรักษาป่าผืนนี้ให้เลียงผาได้อาศัยตลอดชั่วชีวิต แม้ภูเขาหินปูนที่อยู่ข้างเคียง ได้รับสัมปทานให้ระเบิดหินจนเกือบหมดแล้ว แต่วันนี้เรายังโชคดีเพราะที่เขาสมโภชน์เราสามารถต่อสู้จนรัฐบาลประกาศยกเลิกให้สัมปทานไปแล้ว พร้อมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มันอาจเป็นความคิดของคนนอกคอก แต่เป้าหมายของเราทำอย่างไรก็ได้เลียงผาต้องไม่อดน้ำตาย แต่ถ้าเลียงผาหนีออกนอกพื้นที่ และลงมาสู่พื้นราบที่รายล้อมด้วยพื้นที่เกษตรกรรม และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยยาฆ่าแมลงสารพัดชนิด …สุดท้ายสารเคมีก็ฆ่าเลียงผา เราจึงจำเป็นต้องทำและขอต่อสู้แบบนอกตำรา ในปี 2559 เราลงมือทำบ่อน้ำโจนจริงจัง ลูกหลานพากันขุดก้อนหินทำบ่อน้ำโจนได้ถึง 8 บ่อ ซึ่งเราคาดว่าคงเพียงพอสำหรับครอบครัวเลียงผาบนยอดเขา”

ขอบคุณ นายบดินทร์​ จันทศรี​คำ ประธาน​ชมรม​ฅนรักษ์​สัตว์​-ป่า สังกัด​ องค์กร​อนุรักษ์


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ภารกิจซ่อมโพรงรังของนกเงือกในป่าฮาลา-บาลา

ฮาลา, บาลา, นกเงือก, โพรงรัง, รังนกเงือก, ธรรมชาติเมืองไทย

 

Recommend