ไฟลัม มอลลัสกา หรือกลุ่มของสัตว์จำพวก หอย และหมึก
มอลลัสกา (Mollusca) คือ 1 ใน 9 หมวด หรือ “ไฟลัม” (Phylum) ของอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตตามอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy) โดยสัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา คือ กลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrate) ที่ถูกเรียกรวมกันว่า “มอลลัสก์” (Mollusks) หรือสัตว์ลำตัวนิ่มที่มีเปลือกแข็งห่อหุ้ม เช่น หอยกาบคู่ (Clam) หอยกาบเดี่ยว (Snail) หอยงาช้าง (Tusk Shell) ลิ่นทะเล (Chiton) และหมึก (Squid & Octopus) ชนิดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นกลุ่มของสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์สูงสุดเป็นลำดับที่ 2 รองจากไฟลัมอาร์โทรโพดา ซึ่งในปัจจุบันมีการค้นพบสัตว์กลุ่มนี้แล้วกว่า 1 แสนชนิด
[คำว่า “มอลลัสกัส” (Molluscus) แปลว่า “นิ่ม” ในภาษาละติน]
ลักษณะสำคัญของสัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา
รูปร่างสมมาตรแบบครึ่งซีกหรือสมมาตรแบบซ้ายขวา (Biradial Symmetry)
ร่างกายมีโพรงลำตัวที่แท้จริง (Coelom) : เป็นช่องรอบหัวใจ (Pericardial Cavity) และอวัยวะสืบพันธุ์
มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ครบทั้ง 3 ชั้น และมีระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่สมบูรณ์ : อวัยวะภายในอยู่รวมกันเป็นก้อน (Visceral Mass)
ส่วนใหญ่มีระบบหมุนเวียนโลหิตแบบเปิด (Open Circulatory System) คือ มีหัวใจ 3 ห้อง ประกอบด้วยห้องรับเลือดหรือออริเคิล (Auricle) 2 ห้อง และห้องสูบฉีดเลือดหรือเวนตริเคิล (Ventricle) 1 ห้อง รวมถึงแอ่งเลือด (Hemocoel) มีเส้นเลือดซึ่งนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีสารเฮโมไซยานิน (Hemocyanin) เป็นองค์ประกอบในเม็ดเลือด ส่งผลให้เลือดของมอลลัสก์ส่วนใหญ่มีสีฟ้า ยกเว้น หมึกชนิดต่าง ๆ ที่มีระบบหมุนเวียนโลหิตแบบปิด (Closed Circulatory System)
มีระบบทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ คือ มีปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ และทวารหนัก ทางเดินอาหารมีลักษณะเป็นท่อขดกันเป็นเกลียว มีต่อมสร้างน้ำย่อยและมีอวัยวะที่เรียกว่า “แรดูลา” (Radula) ซึ่งมีลักษณะคล้ายตะไบใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร อีกทั้ง ยังเป็นอวัยวะที่ไม่ปรากฏในสัตว์ในไฟลัมอื่น ๆ อีกด้วย
อวัยวะที่ใช้ในการหายใจหลายชนิดตามสภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น เหงือก ปอด และผิวหนัง
มีอวัยวะที่เรียกว่า “เมตาเนฟริเดีย” (Metanephridia) สำหรับการขับถ่ายของเสีย เป็นท่อทอดยาวจากช่องโพรงของลำตัวหรือช่องรอบหัวใจ นำของเสียออกสู่ภายนอกร่างกาย
มีระบบประสาทที่ประกอบด้วยปมประสาทสมองและเส้นประสาทใหญ่ (Nerve Cord) 2 คู่ ที่ทอดยาวจากสมอง (Cerebral Ganglia) ไปยังปมประสาทเท้า (Pedal Ganglia) และปมประสาทอวัยวะภายใน (Visceral Ganglia) มีอวัยวะรับสัมผัสและรับกลิ่นที่เจริญแล้ว เช่น หนวด และดวงตา
มีกล้ามเนื้อแข็งแรงบริเวณท้องทำหน้าที่เป็นเท้าในการเคลื่อนที่ (Muscular Foot)
มีร่างกายอ่อนนิ่ม แต่มีโครงร่างแข็งห่อหุ้ม : มีเยื่อแมนเทิล (Mantle) ทำหน้าที่สร้างเปลือกแข็ง (Shell) จากแคลเซียมคาร์บอเนต เพื่อปกป้องลำตัว
ส่วนใหญ่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ : คือ มีการแบ่งแยกเพศผู้และเพศเมีย แต่ในสัตว์บางชนิดมีทั้ง 2 เพศในตัวเดียวและสามารถเปลี่ยนเพศได้ (Protandry) ส่งผลให้การสืบพันธุ์ของสัตว์ในไฟลัมนี้ มีการปฏิสนธิทั้งภายในและภายนอก
สัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา สามารถแบ่งออกเป็น 7 หมวดชั้น (Class) คือ
- แกสโทรโพดา (Gastropoda) เป็นกลุ่มของสัตว์ที่มีเปลือกเพียงชิ้นเดียวหรือที่เรียกว่า “หอยฝาเดียว” โดยที่ส่วนของฝามีลักษณะบิดเป็นเกลียว (Coiled Shell) และมีปลายเล็กแหลม สัตว์ในกลุ่มนี้ มีประมาณ 35,000 ชนิด ได้แก่ หอยทาก หอยเชอรี่ และหอยฝาชี ส่วนใหญ่อาศัยในทะเล และมีบางชนิดที่ไม่มีเปลือก เช่น ทากบกและทากทะเล เป็นต้น
- ไบวัลเวีย (Bivalvia) เป็นกลุ่มของหอย 2 ฝา เช่น หอยแมลงภู่ หอยแครง และหอยนางรม หรือที่เรียกรวมกันว่า “หอยกาบ” (Clam) มีราว 20,000 ชนิด เป็นกลุ่มของสัตว์ที่ไม่มีส่วนหัวและแรดูลา มีเปลือกแยกออกเป็น 2 ส่วนที่ถูกยึดติดกันด้วยบานพับ (Hinge) ทางด้านหลัง มักฝังตัวอยู่ตามดินโคลนหรือหาดทราย อาศัยอยู่ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด
- โพลีพลาโคฟอรา (Polyplacophora) เป็นกลุ่มของลิ่นทะเล อาศัยอยู่ตามโขดหินที่มีการขึ้นและลงของกระแสน้ำ ซึ่งบริเวณท้องมีเท้าแบนกว้างช่วยในการยึดเกาะ มีเปลือกจํานวนมากถึง 8 ชิ้น ซึ่งสร้างจากแมนเทิลที่ปกคลุมร่างกายด้านหลังและมีช่องเปิดออกสู่ภายนอก ภายในปากมีแรดูลาเป็นอวัยวะในการกัดกินอาหาร
- เซฟาโลโพดา (Cephalopoda) เป็นกลุ่มของหมึกชนิดต่าง ๆ เช่น หมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกยักษ์ และหอยบางชนิด อย่างเช่น หอยงวงช้าง มีเปลือกเป็นแผ่นแบนใสหรือเป็นเปลือกแข็งหุ้มตัว มีความสามารถในการว่ายน้ำได้ดี มีลำตัวยาว มีการพัฒนาของเท้าไปเป็นหนวด และมีระบบประสาทที่เจริญแล้ว
- สแคพโฟโพดา (Scaphopoda) เป็นกลุ่มของหอยงาช้าง มีลำตัวยาวลักษณะคล้ายหลอด มีเปลือกห่อหุ้มที่มีปลายเปิดทั้ง 2 ด้าน ไม่มีดวงตา แต่มีแรดูลาและงวงที่ยื่นออกมาจากปากหรือมีหนวดที่สามารถยืดหดได้ อีกทั้ง บริเวณตรงส่วนปลายของหนวดยังมีปุ่มยึดที่ช่วยในการจับและล่าเหยื่อ มีเท้าเป็นรูปกรวย ทำให้คืบคลานบนพื้นที่อ่อนนุ่มได้ดี เป็นกลุ่มของหอยที่อาศัยอยู่ในทะเลทั้งหมด มักฝังตัวตามพื้นโคลนและหาดทราย
- อะพลาโคฟอรา (Aplacophora) เป็นกลุ่มของสัตว์ทะเลที่รูปร่างคล้ายหนอน อาศัยอยู่ในทะเลลึก ไม่มีเปลือก มีขนาดลำตัวเล็ก ไม่มีดวงตา
- โนพลาโคฟอรา (Monoplacophora) เป็นกลุ่มของมอลลัสก์ดึกดำบรรพ์ เช่น หอยฝาชีโบราณ เป็นกลุ่มบรรพบุรุษของหอยในคลาสอื่น ๆ มีเปลือกบาง ๆ ปกคลุมเพียงชั้นเดียว บริเวณท้องมีลักษณะกว้างและแบน มีเท้าช่วยในการเคลื่อนที่
ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7035-animal-kingdom-invertebrate
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ – http://www.mwit.ac.th/~deardean/link/All%20Course/biodiver/biodivpdf/diver_animalia2_2.pdf
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม – http://elearning.psru.ac.th/courses/30/lesson1.pdf
มหาวิทยาลัยบูรพา – https://www.academia.edu/39513928/อาณาจักรสัตว_Kingdom_Animalia_