ภาพหาชมได้ยากเมื่อ หิ่งห้อย พร้อมใจกันเปล่งแสงในป่าที่ไร้นักท่องเที่ยว
ในป่าที่ความมืดและความเงียบงันปกคลุมเอื้อให้ช่างภาพและนักวิจัยมีโอกาสได้พบกับช่วงเวลาสุดพิเศษ
ในอุทยานแห่งชาติคองการี เซาท์แคโรไลนา หิ่งห้อย ดูคล้ายกำลังเล่นกล: เปล่งแสงระยับเป็นท่วงทำนอง สร้างจังหวะเกือบพร้อมเพรียงกันในผืนป่าอันมืดมิดระหว่างช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ
หิ่งห้อยที่พบในป่านี้เป็นชนิด Photuris frontalis จากหิ่งห้อยทั้งหมด 125 สายพันธุ์ในอเมริกาเหนือ พวกมันเป็นหิ่งห้อยเพียงไม่กี่ชนิดที่เปล่งแสงวิบวับอย่างสอดคล้องกัน หิ่งห้อยตัวผู้เปล่งแสงเพื่อเป็นสัญญาณขณะเกาะอยู่บนต้นไม้ หรือกำลังบินร่อนต่ำลง ในบางครั้งพวกมันเปล่งแสงกระพริบเร็วๆ เพื่อดึงดูดตัวเมีย แต่กระบวนการนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด
ในปี 2019 นักท่องเที่ยวกว่า 12,000 คน เข้ามาเยี่ยมชมปรากฏการณ์ทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้ เดวิด เชลลีย์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ประจำคองการี กล่าว แต่ปีนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา อุทยานฯ จึงต้องประกาศงดกิจกรรมการชมหิ่งห้อยประจำปี
ในขณะที่สาธารณชนอาจผิดหวังที่พลาดเข้าชมหิ่งห้อย แต่ความร้างผู้คนทำให้นักวิจัยเห็นภาพที่หาชมได้ยากของแมลงแห่งคองการี และเห็นข้อมูลในพื้นที่พิสุทธิ์ที่อาจจะไม่เกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ หิ่งห้อยยังสามารถผสมพันธุ์ในฤดูร้อนนี้ โดยปราศจากมลพิษทางแสง และการรบกวนจากแสงไฟของเมืองที่อยู่ชายป่า เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เป็นประโยชน์ต่อแมลง ซึ่งประชากรกำลังลดจำนวนลง
เพื่อบันทึกและศึกษาสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาที่ไม่ปกติเช่นนี้ ทีมนักวิจัยและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แม็ก สโตน ใช้เวลาร่วมสัปดาห์ในคองการี ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
“เราหวังเล็กๆ ว่า ข้อมูลที่ได้จะบ่งบอกพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยตัดปัจจัยของมนุษย์ออกไปได้” จูเลีย อายส์ นักวิจัยจากคณะนิเวศวิทยาและวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคอลอราโด-โบลเดอร์ กล่าว
สโตนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากหิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่มีเอกลักษณ์ เขาตระเวนถ่ายภาพหิ่งห้อยไปทั่วภูมิภาพตะวันออกเฉียงใต้ การระบาดใหญ่ส่งผลให้เขาต้องยกเลิกแผนการเดินทางทั้งหมด แต่การมาเยือนคองการีค่อนข้าง “เป็นเกียรติสำหรับผมมาก” สโตนบอกและเสริมว่า แถมยังเป็นโอกาสอันดีที่ได้บันทึกภาพช่วงเวลาราตรีและเผยแพร่สู่ธารณชน โดยไม่มีการรบกวนจากแสงแฟลชของนักท่องเที่ยว
สำรวจความลี้ลับ
ในเดือนพฤษภาคม อายส์และเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน ราฟาเอล ซาร์ฟาตี เดินทางสู่คองการี เพื่อบันทึกภาพสามมิติการเปล่งแสงของหิ่งห้อย
เชลลีย์กล่าวว่า เขาสุขใจมากที่นักวิจัยมีโอกาสในช่วงเวลาพิเศษนี้ “คุณมีโอกาสเดียวในรอบปี”
โดยเฉพาะการเรียนรู้กลไกการสอดประสานเปล่งแสงของหิ่งห้อยอย่างพร้อมเพรียงที่ยังเป็นปริศนา พวกมันสามารถกระพริบแสงวาบวามเป็นทำนองเดียวกันทั่วทั้งผืนป่า แม้ว่าบางครั้งมันอาจมีบางตัวที่กระพริบแสงในจังหวะของตัวเอง แต่ก็เป็นเพียงชั่วจังหวะสั้นๆ
“ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างที่ทำให้ทุกตัวเปล่งแสงเป็นจังหวะเดียวกัน” ซาร์ฟาตีกล่าวและเสริมว่า “พวกมันอาจจะตั้งนาฬิกาชีวภาพของตัวเองให้เหมือนกับตัวอื่นๆ ในป่า”
ซาร์ฟาตี อายส์ และหัวหน้านักวิจัย โอริต เพเลก ยังไม่ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่สำรวจในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่พวกเขาพบคำใบ้บางอย่างเกี่ยวกับความหนาแน่นของแมลงช่วงก่อนที่พวกมันจะเปล่งแสงอย่างสอดประสาน และสัญญาณของพวกมันแพร่ไปยังพื้นที่ห่างออกไปอย่างไร
จุดประสงค์ของการเปล่งแสงนี้คืออะไร “เป็นคำถามที่พวกเราถามตัวเองทุกวัน” เพเลกกล่าว คำตอบที่ได้จะเป็นสิ่งที่เผยให้เรารู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
ไม่มีใครเหมือน
หนึ่งสิ่งของความซับซ้อนคือ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น หิ่งห้อยชนิด Photinus carolinus ที่เพลเลก อายส์ และซาร์ฟาตี กำลังศึกษาอยู่ในเทือกเขาสโมกกี รัฐเทนเนสซีและนอร์ทแคโรไลนา จะเปล่งแสงวาบวามในช่วงก่อนฟ้ามืดเป็นจังหวะประมาณหกถึงแปดวินาทีในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น
ช่วงเวลาที่หิ่งห้อยออกมารวมกันมากที่สุดคือช่วงต้นเดือนมิถุนายน “ผมนอนแค่วันละสี่ชั่วโมง นอกนั้นผมวิ่งตามเฝ้าดูหิ่้งห้อยเหล่านี้” ลินน์ เฟาสต์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Fireflies, Glow-worms, and Lightning Bugs หนังสือแนะนำแมลงในภูมิภาคตอนกลางและตะวันออกของสหรัฐอเมริกา กล่าวและเสริมว่า “มันต้องจริงจังเพราะว่าเป็นโอกาสครั้งเดียวในรอบปี”
เฟาสต์บอกว่า หิ่งห้อยที่พบในคองการีและเทือกเขาสโมกกีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่แค่วิธีพี่พวกมันส่งสัญญาณ แต่เป็นจังหวะที่แตกต่างกัน หิ่งห้อยในคองการีกระพริบแสงเร็วๆ เป็นจังหวะเดียวกัน แต่ในเทือกเขาสโมกี พวกมันกระพริบแสงเป็นห้วงช้าๆ
จังหวะหัวใจแห่งหนองน้ำ
การอันตรธานของผู้คนไม่เพียงส่งผลอันดีต่อนักวิจัย แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวแมลงเอง
ตัวอ่อนของหิ่งห้อยอาศัยอยู่บนพื้นดินและเศษใบไม้ที่ปกคลุมดินเป็นเวลาประมาณสองปีก่อนจะกลายเป็นตัวเต็มวัย การที่ไม่มีผู้คนเข้าไปเหยียบย่ำที่อาศัยของตัวอ่อน “ทำให้พวกมันมีโอกาสรอดเป็นตัวเต็มวัยได้มากขึ้น” เฟาสต์กล่าวและเสริมว่า “ผมมองว่ามันเป็นเรื่องดี”
สโตนเล่าว่า ยังคงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับคองการีในช่วงเวลาใกล้ค่ำ เพื่อโฟกัสกล้องโดยใช้เทคนิตเปิดชัตเตอร์นานๆ ซึ่งไวต่อแสงที่เคลื่อนไปมา แต่ด้วยไม่มีนักท่องเที่ยว จึงทำให้งานของสโตนง่ายขึ้น และโอกาสที่ได้พบเห็นและทำสารคดีเกี่ยวกับแมลงก็เป็นรางวัลอันล้ำค่า
“คุณจะรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” สโตนกล่าวและเสริมว่า “มันเหมือนคุณกำลังดูจังหวะหัวใจของหนองน้ำ … มันเปลี่ยนมุมมองการมองเห็น”
เรื่อง ดักลาส เมน
ภาพถ่าย แม็ก สโตน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การเรืองแสงทางธรรมชาติ ปรากฏการณ์อันน่าทึ่ง