การเรืองแสงทางชีวภาพ : ปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่ง

การเรืองแสงทางชีวภาพ : ปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่ง

หากพูดถึงในเรื่องของเวทมนตร์แล้ว คงไม่มีเหตุการณ์ไหนใกล้เคียงกับคำว่าเวทมนตร์ไปกว่า การเรืองแสงทางชีวภาพ อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหิ่งห้อยตัวเป็นๆ หรือการเดินเล่นริมชายหาดในตอนกลางคืนพร้อมกับเห็นรอยเท้าของตัวเองที่เรืองแสงท่ามกลางหาดทรายเป็นจำนวนล้านๆ เม็ด

การเรืองแสงทางชีวภาพ เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สวยงาม อีกทั้งยังทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกดั่งตนเองได้สัมผัสอยู่ในโลกของเทพนิยาย ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายออกมาได้เป็นคำพูดง่ายๆ คือสิ่งมีชีวิตหรือพืชนั้นสามารถสร้างแสงขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง โดยปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุลของการเรืองแสงทางชีวภาพนั้นมีบทบาทกับการศึกษาวิจัยโรคร้ายในมนุษย์ อย่างโรคมะเร็ง โรคไวรัสภูมิคุ้มกันเสื่อมในคน ตลอดจนไข้มาลาเรีย

และถึงแม้ว่าทุกวันนี้ เราอาจจะหาคำตอบได้แล้วว่าสาเหตุของ การเรืองแสงทางชีวภาพ นั้นเกิดขึ้นจากสารลูซิเฟอร์ริน (Luciferin) ไปรวมกับออกซิเจนในอากาศ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงต้องหาศึกษากันต่อไปถึงเหตุผลของการเกิดปรากฏการณ์เรืองแสงนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราอาจจะยังหาคำตอบให้กับปรากฏการณ์ชวนเหลือเชื่อนั้นไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปรากฏการณ์การเรืองแสงทางชีวภาพนั้นเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่อยู่ใน baskets list ของใครหลายๆ คน

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างให้ความสนใจกับปรากฏการณ์นี้มากขึ้น วันนี้ทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จะพาไปทำความรู้จักกับ 8 สถานที่ที่จะทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับการจ้องมองการเรืองแสงของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากพืชหรือจากสัตว์ จนแทบจะลืมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือว่าคอมพิวเตอร์กันไปเลย

การเรืองแสงทางชีวภาพ
ถ้ำไวโตโมเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว ผู้มีความสนใจในเรื่องการเรืองแสงทางชีวภาพ

หิ่งห้อยและการเดินทอดน่องเหนือยอดไม้, แอฟริกาใต้

ทุกๆ ฤดูร้อน บรรดาเหล่าหิ่งห้อยเป็นจะบินมาจับคู่ผสมพันธ์ส่องแสงเป็นประกายแวววาวในสวน Kirstenbosch National Botanical Garden ที่มีพื้นที่กว้างขวาง 5 ตารางกิโลเมตร การไปเที่ยวชมแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยครั้งนี้เปรียบเสมือนกับการเดินทางไปดูแสงเหนือที่ประเทศไอซ์แลนด์กันเลยทีเดียว สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการไปชมการเรืองแสงชีวภาพครั้งนี้ คือภายในเดือนตุลาคม นอกจากนี้แล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถรับชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้ที่ Table Mountain อีกด้วย

จอมปลวกที่เปล่งแสงได้, บราซิล

ดักลาส เตร็นต์ นักนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน ใช้เวลากว่า 38 ปีในการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ท้องถิ่น รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ บริษัทของเขาก็ยังมีโปรแกรมการเดินป่าระยะสั้นอีกด้วย โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ Emas National Park โดยทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนที่มหัศจรรย์เป็นอย่างมาก และยังไม่มีการรบกวนจากภายนอกมากนัก อีกทั้งยังได้รับการอนุรักษ์และปกป้องโดยองค์กร UNESCO อีกด้วย

Emas เป็นบ้านของเหล่าสัตว์ป่าทั้งหลายอย่าง หมาป่าเคราขาว กวางปัมปัส งูอนาคอนดา ตัวกินมดยักษ์ และนกอีกกว่า 200 ชนิด หากมาเที่ยวชมในช่วงปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้เห็นจอมปลวกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีหิ่งห้อยชนิด Pyrearinus termitilluminans ที่อาศัยอยู่ในซอกหลืบของจอมปลวก เปล่งแสงระยิบระยับคล้ายไฟประดับต้นคริสต์มาส ส่งให้จอมปลวกธรรมดาๆ เรืองแสงสวยงาม

การเรืองแสงทางชีวภาพ
สำหรับใครที่อยากจะถ่ายภาพเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก เพียงแค่ขาตั้งกล้องพร้อมกับการถ่ายภาพโดยเปิดความเร็วชัตเตอร์ค้างไว้เป็นเวลานานก็เพียงพอต่อการเก็บภาพเหล่านี้เอาไว้อยู่ในความทรงจำแล้ว

ดินแดนที่ทุกสิ่งเปล่งประกาย, ญี่ปุ่น

“ดินแดนที่ทุกสิ่งเปล่งประกาย” ชื่อนี้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ในประเทศญี่ปุ่น การเรืองแสงทางธรรมชาตินั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นกิ้งกือ เห็ด หรือแม้กระทั่งโขดหิน (เรียกได้อีกชื่อว่า ก้อนหินสะอื้น) ต่างก็เรืองแสงได้ทั้งหมด อีกทั้งญี่ปุ่นเองได้ปล่อยหิ่งห้อยเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูร้อน ทำให้ผู้พบเห็นต่างรู้สึกเหมือนอยู่ในพิธีแต่งงานกันอยู่ตลอดเวลา ว่ากันว่ามีหิ่งห้อยกว่า 50 สายพันธ์กระจายพันธุ์อยู่ในญี่ปุ่น โดยสถานที่ที่เหมาะที่สุดในการรับชมแสงจากหิ้งห้อยนั้นอยู่ที่ peaceful wetland boardwalk ในจังหวัดฮอกไกโด โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนกรกฎาคม

พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในทางตอนเหนือของจังหวัดโทยามะ ได้ยกพื้นที่ทั้งหมดเพื่อการจัดแสดง โฮตารุอิกิ หรือหมึกหิ่งห้อย ลักษณะพิเศษของหมึกชนิดนี้อยู่ที่การพรางตัวหลบหนีจากการล่าของฉลามและวาฬ โดยผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ลักษณะทางกายภาพของหมึกหิ่งห้อยได้อย่างทะลุปรุโปร่ง อีกทั้งยังสามารถเอามือจุ่มลงไปในสระน้ำที่มีตัวหมึกหิ่งห้อยได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้เพียง 200-250 บาทต่อ 1 ท่านเท่านั้น

ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทางพิพิธภัณฑ์จัดโปรแกรมท่องเที่ยวชมอ่าวโทยามะ สถานที่ซึ่งชาวประมงท้องถิ่นทำการจับหมึกหิ่งห้อยจากทะเล แนะนำว่าให้นักท่องเที่ยวพักที่ Oyado Nono Hotel เพื่อที่จะได้สิทธิพิเศษกินราเมงฟรีเป็นมื้ออาหารเย็น และยังได้โอกาสแช่ออนเซนอีกด้วย

ชายหาดเรืองแสง, สหราชอาณาจักร

Jersey Walk Adventures มีโปรแกรมเที่ยวชมการเรืองแสงทางชีวภาพอยู่ตลอดทั้งปี ทางเจ้าของทัวร์แนะนำว่า หากอยากได้ประสบการณ์ที่เต็มที่และดีที่สุด ควรจะมาในช่วงฤดูร้อนในวันที่พระจันทร์ดับ เพราะจะได้เห็นทางช้างเผือกส่องสว่างได้อย่างชัดเจน ผนวกกับพื้นผิวน้ำที่มีการเรืองแสงทางชีวภาพส่องสว่าง ให้ความสวยงามไม่แพ้กันเลย

หิ่งห้อยเริงระบำ, มาเลเซีย

ใช่แล้วอ่านไม่ผิด หิ่งห้อยเริงระบำ หรือหิ่งห้อยที่บินอย่างเป็นจังหวะ ปรากฏการณ์แปลกประหลาดเช่นนี้หาชมได้ที่แม่น้ำซรังงอ (Selangor River) ในทางตอนเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

การชมหิ่งห้อยส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้เรือไฟฟ้าหรือเรือพายกัน เพราะว่าจะได้อนุรักษ์ธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด โดยการเลือกใช้เรือประเภทนี้จะช่วยลดมลภาวะทางน้ำหรือทางเสียงได้เป็นอย่างมาก โดยทางรัฐบาลยังขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวอีกว่า ให้ลดการใช้เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร กล้องถ่ายภาพ ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการรบกวนการผสมพันธ์ุของหิ่งห้อยนั่นเอง

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แพลงก์ตอน และหวีวุ้น, ฟลอริดา

ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงการเรืองแสงของเห็ด หนอนถ้ำ ปลาไฟฉาย และผลงานประติมากรรมเรืองแสงของ Sharon Barebichez ทั้งหมดนี้ต่างเปิดให้รับชมพร้อมกับเสียงเพลงซิมโฟนีคลอเป็นเสียงพื้นหลัง ให้ความรู้สึกที่สงบสบาย ขึ้นไปทางตอนเหนือ BK Adventure ได้จัดทัวร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ Merritt Island Wildlife Refuge ที่นักท่องเที่ยวสามารถพายเรือคายักพร้อมกับชมแพลงก์ตอนเรืองแสงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถรับชมพะยูนและหวีวุ้นเรืองแสงอีกด้วย

ชีวิตในทะเลที่ส่องประกาย, เกาะเคย์แมน

นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมเกาะเคย์แมนสามารถรับชมการเรืองแสงทางชีวภาพได้ทั้งบนบกและใต้น้ำ โดยมีโปรแกรมให้เลือกชมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ ดำน้ำดูประการัง หรือการพายเรือคายัก ความโดเด่นของเกาะนี้คงหนีไม่พ้นการรับชมการเรืองแสงของแพลงก์ตอนพืชนั้นเอง อีกทั้งยังมีกุ้งดิสโก้หรือที่เราเรียกกันว่า “กุ้งเริงระบำ” ออกมาแหวกว่ายพร้อมปล่อยของเหลวเรืองแสงสีฟ้าออกมา ทั้งนี้เหตุผลเชิงพฤติกรรมของกุ้งเริงระบำ เพื่อเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างการผสมพันธุ์นั่นเอง

หนอนเรืองแสง, ออสเตรเลีย

ช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เหล่าหนอนเรืองแสงจำนวนมากจะออกมาล่าเหยื่อจับแมลงในถ้ำ Springbrook National Park  โดยหนอนเรืองแสง (แท้จริงแล้วไม่ใช่หนอนอย่างไส้เดือน แต่เป็นตัวอ่อนของแมลงเท่านั้น) เหล่านี้พบได้ภายในบริเวณประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น

การเรืองแสงโดยชีวภาพ
จุดประสงค์ของการเรืองแสงของหนอนเหล่านี้คือ ล่อให้เหยื่อมาติดกับดักนั่นเอง

การถ่ายรูปโดยใช้แฟลช สูบบุหรี่ การสำรวจถ้ำ การใช้สเปรย์ป้องกันแมลง การว่ายน้ำ และการส่องไฟฉาย (โดยเฉพาะการส่องไปที่ตัวหนอนเรืองแสงโดยตรง) ต่างเป็นข้อห้ามทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ได้รับคือการไม่เสียค่าเข้าชม พร้อมมีเจ้าหน้าที่มากประสบการณ์นำทางภายในถ้ำ

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

ดอกไม้ เรืองแสง

 

Recommend