เรื่องราวสุดประทับใจของผู้คนที่พยายามช่วยให้สุนัขจรจัดกว่า 3 ล้านตัวมีชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องราวสุดประทับใจของผู้คนที่พยายามช่วยให้สุนัขจรจัดกว่า 3 ล้านตัวมีชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องราวของความพยายามในการดูแลชีวิตของเหล่าสุนัขสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่เป็นการช่วยลดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย

เช้าวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม คุณ Salima Kadaoui หรือคุณแซลลี่เริ่มต้นวันของเธอตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง ในตอนที่หลายคนยังหลับใหล และเหล่าสุนัขเบลดิยังยึดครองถนนของเมืองแทงเจียร์อยู่ คุณแซลลี่ขับรถตู้ของเธอมาเพียงไม่กี่นาทีก่อนจะพบเห็นเหล่าสุนัขเบลดิ ซึ่งคำว่าเบลดิ (Beldi) มีความหมายว่า “จากชนบท” ในภาษาอาหรับโมร็อกโก เบลดิใช้เป็นคำเรียกรวมๆของสุนัขพันธุ์ผสมพื้นเมืองในประเทศโมร็อกโก

หลังจากที่เห็นสุนัข คุณแซลลี่จอดรถแล้วลงมาพร้อมกับถุงอาหารและสายจูงแบบกระตุก เจ้าสุนัขสีน้ำตาล ปากดำ เท้าขาวตัวหนึ่งกระดิกหางให้เธอระหว่างที่เธอลูบหัวและให้อาหารมัน จากนั้นสุนัขอีกห้าตัวที่อยู่ใกล้ๆ ก็เร่ตามเข้ามาด้วยความสนอกสนใจในทั้งตัวแซลลี่และอาหารที่กองอยู่ นี่จึงเป็นโอกาสที่คุณแซลลี่จะคล้องคอสุนัขและพาไปขึ้นรถทีละตัวๆ โดยสุนัขตัวหนึ่งมีขนาดเกือบๆ จะเท่าตัวเธอเอง “เช้านี้คงพามาได้แค่สามตัว” คุณแซลลี่กล่าว

คุณแซลลี่เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านสัตว์ SFT ที่คอยดูแลและช่วยเหลือสุนัขเบลดิ แซลลีพบว่าสุนัขที่พามากำลังตั้งท้องอยู่ทั้งสามตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมูลนิธิที่ต้องเจอระหว่างการ “จับ ทำหมัน แล้วปล่อย” (Trap, neuter, and release หรือ TNR) สุนัขเหล่านี้จะถูกทำหมันและฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนตัวอ่อนในครรภ์จะถูกทำแท้งเพื่อเป็นการคุมประชากรสัตว์ก่อนที่มูลนิธิจะปล่อยเหล่าสุนัขไปเร่ร่อนตามเดิม

มีสุนัขเบลดิอีกอย่างน้อย 30,000 ตัวเร่ร่อนอยู่ตามถนนของเมืองแทงเจียร์ และทั่วประเทศอาจมีสุนัขจรจัดอยู่ถึงสามล้านตัว สุนัขหลายตัวมีสภาพอดอยากและป่วยเป็นโรคต่างๆ อย่างโรคเรื้อน หรือแม้กระทั่งโรคพิษสุนัขบ้า มีการประเมินว่าชาวโมร็อกโกเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 80 รายต่อปี แซลลี่บอกว่าโรคนี้เป็นสาเหตุให้ชาวโมร็อกโกไม่ชอบสุนัขเบลดิ แม้สถิติที่คนถูกสุนัขเบลดิกัดนั้นมีไม่เพียงพอหรือไม่น่าเชื่อถือ แต่เคยมีการยืนยันกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวออสเตรียเสียชีวิตหลังถูกสุนัขเบลดิติดเชื้อกัดในเมืองอกาดีร์

คุณแซลลี่และคณะเปิดตัวโครงการ Hayat หรือ “ชีวิต” ในภาษาอาหรับเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายให้แทงเจียร์เป็นเมืองปลอดพิษสุนัขบ้าเมืองแรกในแอฟริกาด้วยการฉีดวัคซีนและทำหมันสุนัข 30,000 ตัวให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568 ตอนนี้ทางมูลนิธีได้ฉีดวัคซีนให้สุนัขไปแล้วกว่า 2,500 ตัว และจะเพิ่มอัตราขึ้นอีกด้วยเงินสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยประเทศโมร็อกโกซึ่งสนับสนุนวิธี TNR

แต่ยังมีชาวเมืองอกาดีร์อย่าง นักข่าว Mohamed Reda Taoujni หนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยกับการ TNR โดยเขาให้เหตุผลว่ามูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ไม่มีทรัพยากรในการดูแลและฉีดวัคซีนรายปีให้สุนัขได้ตลอดชีวิตของพวกมัน หนทางที่ดีและมีมนุษยธรรมที่สุดคือการทำการุณยฆาต “มีสุนัขเป็นร้อยๆ ตัวอยู่ข้างนอก ถึงมันจะรับวัคซีนแล้วแต่เราก็ยังมีปัญหา นี่มันไม่ใช่ทางแก้ นี่ไม่ใช่สิ่งดีต่อเมืองของพวกเรา” เขากล่าว

สุนัขเบลดิกลุ่มหนึ่งในเมืองอกาดีร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองแทนเจียร์ เบลดิ (Beldi) มีความหมายว่า “จากชนบท” ในภาษาอาหรับโมร็อกโก เบลดิใช้เป็นคำเรียกรวมๆ ของสุนัขพันธุ์ผสมพื้นเมืองในประเทศ

สุนัขในแทงเจียร์บางตัวอย่างสุนัขป่วยจะถูกพาไปอยู่ในพื้นที่อาศัยขนาดห้าไร่ของมูลนิธิแทนการปล่อยอิสระ ในพื้นที่มีสุนัขอาศัยอยู่กว่า 470 ตัว ณ ตอนนี้ สุนัขบางตัวถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวในยุโรปและสหราชอาณาจักร ส่วนการรับเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาถูกยกเลิกในเดือนกรกฎาคมเนื่องจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกามีนโยบายยกเลิกการนำเข้าสุนัขจากประเทศที่มีความเสี่ยงของเชื้อพิษสุนัขบ้าสูง แม้คุณแซลลี่คิดว่าการรับเลี้ยงเป็นเรื่องที่ดีแต่ เธอก็กล่าวว่า “เรามีสุนัขจรจัดกว่า 30,000 ตัว การรับเลี้ยงไม่ใช่การแก้ปัญหา ทางออกคือการที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสุนัขจรจัดและคอยเป็นหูเป็นตาให้พวกมัน” เธอกล่าว ด้วยความหวังว่าแทงเจียร์จะเป็นเมืองต้นแบบที่ผู้คนอยู่ร่วมกับสุนัข มีคนคอยช่วยแจ้งเหตุเมื่อเห็นสุนัขป่วยหรือคอยเอาถ้วยน้ำไปวางไว้ข้างนอกในวันที่อากาศร้อน

ข้อถกเถียงเรื่องสุนัขเบลดิ

แซลลี่นำสุนัขสามตัวที่จับมาเมื่อเช้าไปให้คุณหมอ Lahrech Mohamed Chakib ที่คลินิกสัตวแพทย์ คุณหมอเรียกตัวเองและคุณแซลลี่อย่างขำๆ ว่าเป็น “คนบ้า” ที่ทุ่มเทกับสุนัขเหล่านี้ได้ทั้งวันทั้งคืน สุนัขที่ถูกนำมาที่คลินิกจะได้รับการฉีดวัคซีนพร้อมกับทำหมัน และติดป้ายสีเหลืองมีกำกับเลขไว้ที่หูก่อนที่พวกมันจะถูกนำไปปล่อยกลับที่เดิม ป้ายสีเหลืองจะเป็นป้ายแจ้งเตือนให้ทางการและทางสาธารณะว่าสุนัขตัวนี้ไม่มีพิษภัยต่อชุมชน แต่นั่นอาจยังไม่เพียงพอสำหรับความปลอดภัยของตัวสุนัขเอง มีสุนัขอีกหลายตัวในประเทศถูกเจ้าหน้าที่ยิงหรือวางยาเพื่อการควบคุมประชากรสัตว์ แม้ในปี พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยประเทศโมร็อกโกประกาศว่าจะเลิกฆ่าเหล่าสุนัขเบลดิและหันมาสนับสนุนการฉีดวัคซีนและทำหมันแทน แต่ยังมีวีดิโอที่มีสุนัขถูกต้อนและถูกยิงเผยแพร่บนโลกออนไลน์อยู่เรื่อยๆ รัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้ตอบรับการขอความเห็นเกี่ยวกับสุนัขเบลดิและการ TNR จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ร้อยละ 99 ของชาวโมร็อกโกเป็นมุสลิม คุณแซลลี่ซึ่งเป็นมุสลิมเช่นกันบอกว่ามุสลิมหลายคนคิดว่าสุนัขเป็นสิ่งสกปรก แม้ส่วนตัวเธอเองจะกล่าวว่า “คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้บอกอะไรไม่ดีเกี่ยวกับสุนัข ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าสร้างเป็นสิ่งสกปรก” คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้สุนัขเบลดิต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก รวมถึงคุณ Taoujni นักข่าวผู้เลี้ยงสุนัขสองตัว อย่างไรก็ตาม คุณ Taoujni เองเคยโพสต์ภาพบาดแผลที่มาจากสุนัขเบลดิภาพหนึ่งบน Facebook โดยเขาคิดว่าสุนัขเบลดิยังเป็นสัตว์อันตรายอยู่ Driss Semlali เจ้าของกิจการบ้านรับรองแขกเขตแหลมมาลาบาตากล่าวว่าสุนัขจรจัดอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่มีอิสระในการเดินเท้าและมันยังชอบเห่าเสียงดังจนมีคนไม่ได้หลับนอน จึงควรมีการจัดการอย่างนำสุนัขไปไว้เขตสุนัขนอกเมือง

อย่างไรก็ตาม คุณ Terrence Scott ผู้นำด้านเทคนิคของพันธมิตรรอบโลกเพื่อการควบคุมโรงพิษสุนัขบ้า (Global Alliance for Rabies Control) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรกล่าวว่า TNR เป็นวิธีที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในการลดการแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า ถ้าสุนัขที่รับวัคซีนแล้วถูกพาไปปล่อยนอกพื้นที่เดิม สุนัขตัวอื่นซึ่งอาจเป็นตัวติดเชื้อก็ย้ายมาแทนที่อยู่ดี “ถ้ามีสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไปกัดตัวที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีโอกาสสูงที่การส่งต่อเชื้อจะหยุดแค่ตรงนั้น ซึ่งก็เป็นการป้องกันชุมชนจากพิษสุนัขบ้า” คุณ Scott กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านสัตว์ SFT คุณ Salima Kadaoui กำลังพาสุนัขตัวเมียตั้งท้องไปขึ้นรถตู้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

การเปลี่ยนทัศนคติ

คุณแซลลี่และคุณหมอ Chakib เชื่อว่าทั้งการฉีดวัคซีนและการรณรงค์ให้ความรู้ของพวกเขามีส่วนช่วยป้องกันการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในแทงเจียร์เป็นอย่างมาก พวกเขามักเข้าไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับวิธีอยู่ร่วมกับสุนัขจรจัด อย่างการไม่ไปเข้าใกล้หรือไม่ไปยั่วยุ เธอบอกว่า “ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งคือชาวโมร็อกโกถูกสอนให้กลัวสุนัข ซึ่งความกลัวนั้นทำให้สุนัขคิดว่ามันเองตกอยู่ในอันตราย” เธอยกตัวอย่างเช่นเมื่อสุนัขเห่าและวิ่งเข้าหาอาจจะดูดุร้าย แต่จริงๆ แล้วพวกมันแค่อยากรู้อยากเห็น

ความพยายามของคุณแซลลี่ดูเหมือนจะมีผลให้ชาวแทนเจียร์หลายคนหันมาห่วงใยสุนัขเบลดิในเมืองมากขึ้น “ตอนแรกมีแต่คนคิดว่าฉันสติไม่ดี ตอนนี้เขาบอกดีมาก เก่งมาก ขอบใจ”

นอกพื้นที่เมืองแทงเจียร์

นอกเหนือจากแทงเจียร์แล้ว สุนัขเบลดิอีกหลายตัวกำลังมีชีวิตที่ดีขึ้น ยังมีองค์กรและมูลนิธิอื่นๆอย่าง Beldi Refuge Morocco ในเมืองเชพชาอูน หรือมูลนิธิ Sunshine Animal Refuge (SARA) ในเมืองอกาดีร์ที่คอยทำ TNR และหาผู้รับเลี้ยงให้เหล่าสุนัขอยู่เช่นกัน สุนัขหลายร้อยตัวได้บ้านใหม่ในหลายประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และแคนนาดาผ่านมูลนิธิ SARA ซึ่งคุณ Michele Augsburger ผู้ก่อตั้ง คุณ Augsburger เล่าถึงคำชมถึงเหล่าสุนัขอย่างล้นหลามจากผู้รับเลี้ยงหลายครอบครัวว่า “สุนัขเบลดิเป็นสุนัขที่มหัศจรรย์และวิเศษมาก” ซึ่งคุณแซลลี่และคุณหมอ Chakib กล่าวสนับสนุนว่าในทางการแพทย์ สุนัขเลี้ยงเบลดิจะมีสุขภาพแข็งแรงกว่าสุนัขแท้และมีชีวิตอยู่ได้ถึง 17 ปี

“ผลตอบแทนเกินคุ้มค่า”

บ้านที่มาลาบาตาของคุณแซลลี่มีสุนัขกว่าสิบห้าชีวิตที่พร้อมจะระเบิดความระทึก ทั้งเห่า ทั้งหอน หมุนตัวและกระดิกหางไปมาทั้งครั้งเมื่อเธอกลับบ้านหลังจากวันที่แสนร้อนระอุ บางตัวเป็นสุนัขอาศัยช่วงที่กำลังฟื้นตัวจากโรคหรือการผ่าตัด ส่วนตัวที่เหลือเป็นสมาชิกประจำบ้านของเธอ สุนัขบางตัวที่ผ่านการ TNR และถูกปล่อยกลับไปแล้วบางตัวยังคงแวะเวียนมาเยี่ยมเธออยู่ บ้านของเธอเต็มไปด้วยพลังงานราวกับสนามเด็กเล่น ที่คุณแซลลี่บอกว่าเต็มไปด้วย “ลูกๆ” ของเธอ

“คุณต้องทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา เมื่อสุนัขหลับ คุณก็หลับ เมื่อมันตื่น คุณก็ต้องตื่น มันไม่ง่ายเท่าไหร่”

“แต่ความรักและความร่าเริงที่สุนัขมีให้มันล้ำค่าที่สุด มันเป็นงานที่มีรางวัลที่ดีที่สุดในโลกเลย”

เรื่องและภาพ ERIKA HOBART

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ยินดีต้อนรับสู่ดินแดนสุนัขจรจัด

Recommend