นากโบราณขนาดเท่าหมาป่า มีแรงกัดมหาศาล

นากโบราณขนาดเท่าหมาป่า มีแรงกัดมหาศาล

เรื่อง เจสัน จี.โกลด์แมน

เมื่อ 6 ล้านปีก่อน นากน้ำหนักประมาณร้อยปอนด์เที่ยวเดินด้อมๆ มองๆ อยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำที่ซึ่งปัจจุบันคือทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แตกต่างจากนากในปัจจุบันที่ใช้ก้อนหินทุบเปลือกหอยเม่นตามอ่าวแปซิฟิกทางตอนเหนือของอเมริกาหรือในเอเชีย สิ่งมีชีวิตโบราณเหล่านี้ทำลายเปลือกหอยด้วยกรามอันแข็งแรงของพวกมัน

ขอเชิญพบกับ  Siamogale melilutra บรรพบรุษของนากที่ถูกค้นพบในมณฑลยูนนานของจีน และเรื่องราวของมันเพิ่งจะถูกเปิดเผยเมื่อต้นปี 2017 ที่ผ่านมา

ในผลการศึกษาใหม่ ทีมนักวิจัยตรวจสอบฟอสซิลขากรรไกรของมัน และตั้งข้อสันนิษฐานว่าพวกมันอาจเป็นนักล่ากลุ่มสุดท้ายจากปลายยุคไมโอซีน ที่มีขากรรไกรแข็งแรงสำหรับการบดเคี้ยว ซึ่งช่วยให้มันล่าอาหารได้หลากหลายมากขึ้น

“เราคิดว่ามันอาจล่าพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีเปลือก แต่ระดับความสามารถในการหาอาหารของพวกมันขณะนี้ เรามองเห็นแค่ความเป็นไปได้จากนากที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น” Z. Jack Tseng หัวหน้าการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก เมืองบัฟฟาโลกล่าว

การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงแต่ฉายให้เห็นวิถีชีวิตของนากโบราณ แต่ยังช่วยไขปริศนาของพฤติกรรมนากในปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มันรู้จักใช้สิ่งของตามธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือ

ปัจจุบันนากถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่กินพวกสัตว์มีเปลือกอย่างปู, หอย, เม่นทะเล และพวกที่ล่าปลาเป็นอาหาร ในการจะเข้าใจการหากินของ Siamogale เจ้านากโบราณที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ Tseng และทีมงานของเขารวบรวมขากรรไกรและกระโหลกของนากจำนวน 10 ใน 13 สายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติของนากโบราณขึ้นมาใหม่จากฟอสซิลของขากรรไกร

เมื่อกล้ามเนื้อขากรรไกรขยับ พลังงานจะถูกส่งผ่านมายังกระดูกและฟัน บางส่วนของพลังงานที่ส่งมาหายไปจากแรงเสียดทานและความร้อน แต่ในกรณีของนากโบราณ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของขากรรไกรเล็กน้อยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงกัด และนำไปสู่ความหลากหลายของอาหารที่พวกมันสามารถกินได้มากขึ้น

ในนากกลุ่มที่ล่าสัตว์มีเปลือกเป็นอาหาร พวกมันจำเป็นที่จะต้องมีขากรรไกรที่แข็งแรงเพื่อเข้าถึงเหยื่อที่หลบซ่อนตัวอยู่ด้านใน แต่พวกเขาพบว่าพวกมันมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับนากยุคโบราณ แม้ว่านากในปัจจุบันเหล่านี้จะตัวเล็กกว่า และมีขากรรไกรที่แข็งแรงน้อยกว่าก็ตาม

“มันเซอร์ไพร์สำหรับเรามากครับ” Tseng กล่าว รายงานการศึกษาครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Scientific Reports ขากรรไกรของนาก Siamogale มีความแข็งแรงมากกว่าขนาดตัวมันเองที่พวกเขาประมาณไว้ในตอนแรกถึง 6 เท่า พวกมันล่าอาหารในน้ำและใช้อาวุธร้ายนี้กับปลาเปลือกแข็ง แต่พวกเขาพบว่าความแข็งแรงของขากรรไกรพวกมันสามารถใช้ในการล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่านากในปัจจุบันได้สบายๆ

ภาพ 3 มิติของกระโหลกศีรษะของนากปัจจุบันขนาด 15 ปอนด์ (ทางซ้าย) และ Siamogale melilutra นากโบราณขนาด 110 ปอนด์

 

ถึงเวลาใช้ค้อน

แม้จะไม่ชัดเจนเท่านาก Siamogale แต่ในนากสมัยใหม่เองก็มีบางอย่างคล้ายคลึงกับที่ Tseng และทีมค้นพบยกตัวอย่างเช่น ในนากสายพันธุ์  African clawless มีขากรรไกรที่แข็งแรงกว่าความแข็งแรงที่น่าจะเป็นตามขนาดตัวของมันเล็กน้อย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะพวกมันล่าหอยและปูเป็นอาหาร ในขณะที่นากทะเลซึ่งมักล่าหอยเม่นเป็นอาหาร กลับมีความแข็งแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพราะนากทะเลมีตัวช่วยพิเศษในการทำลายเปลือกของหอยเม่น ในฐานะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงไม่กี่ชนิดที่รู้จักการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ พวกมันใช้ก้อนหินแทนค้อนในการทุบเปลือกเพื่อเข้าถึงเหยื่อข้างในทีมนักวิจัยคิดว่าการพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือส่งผลให้บรรดานากทะเลพึ่งพาความแข็งแรงของขากรรไกรน้อยลง

“เรายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน” Tseng “แต่มันมีความเป็นไปได้”

ด้าน Bobby Boessenecker ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์จากวิทยาลัย Charleston ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ ชี้ว่าฟอสซิลของนากดึกดำบรรพ์ที่พวกเขาพบนั้นยังเป็นหลักฐานที่เบาบางเกินจะสรุปเช่นนั้น

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ทฤษฎีที่เป็นไปไม่ได้เลยซะทีเดียว นักมานุษยวิทยาบางกลุ่มระบุว่า เมื่อมนุษย์เริ่มต้นใช้เครื่องมือ ก็มีวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของกระโลหกศีรษะให้เห็นเช่นกัน ด้วยความช่วยเหลือจากเครื่องมือที่ต้องพึ่งพามือทั้งสองข้างมากขึ้น กระโหลกศีรษะของเราก็ปรับเปลี่ยนจากการกินอาหารแบบเดิมๆ ไปสู่ความเหมาะสมสำหรับการทำงานและใช้สมองมากขึ้น “บางที การกินอาหารและสมองอาจมีวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกันก็ได้นะครับ” Tseng กล่าว

 

อ่านเพิ่มเติม : ฟอสซิลอสุรกายแห่งท้องทะเลถูกพบในอินเดียไขความลับเบื้องหลังปีกอันทรงพลังของเทอโรซอร์ 

Recommend