ฟอสซิลฟันสองซี่ที่พบในทางตอนใต้ของอังกฤษ เป็นฟันของหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เก่าแก่ที่สุด ผู้เป็นบรรพบรุษของมนุษย์ จากลักษณะของฟันดูเหมือนว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้จะแทะเล็มแมลงเป็นอาหาร และออกหากินแค่เฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเอาชีวิตรอดเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับไดโนเสาร์ ในระหว่างยุคครีเตเชียส
ฟันที่ถูกค้นพบนี้เป็นตัวแทนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกสองชนิดที่มีลักษณะคล้ายหนู ตัวที่มีขนาดเล็กกว่ามีชื่อว่า Durlstotherium นักกินแมลงตัวจิ๋ว ส่วนฟันที่ใหญ่กว่าเป็นของ Durlstodon ดูจากลักษณะฟันแล้วมันอาจจะบดเคี้ยวพืชได้ แต่ประเด็นนี้ทีมนักวิจัยยังไม่มั่นใจนัก
Grant Smith นักศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัทเป็นผู้ค้นพบฟอสซิลฟันนี้ เมื่อฤดูร้อนปี 2015 ในขณะที่เขากำลังสำรวจหินน้ำหนัก 130 ปอนด์ ที่เก็บมาได้จากหาด Dorset ตัวเขาและ David Martill ผู้ช่วยตั้งข้อสงสัยว่าฟอสซิลฟันที่พบนี้น่าจะเป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่เพื่อความแน่ใจเขาจึงส่งต่อตัวอย่างนี้ให้กับ Steve Sweetman ผู้เชี่ยวชายด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
รายงานจากการวิเคราะห์ของเขา ฟันมีอายุราว 145 ล้านปี และเป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์ยูเทเรียน ซึ่งรวมถึงสัตว์ปัจจุบันอย่าง สุนัข, ช้าง และมนุษย์เรา
สำหรับช่วงเวลาของการปรากฏตัวในยุคแรกๆ ของยูเทเรียนยังคงเป็นที่ถกเถียง จากฟอสซิลและหลักฐานทางพันธุกรรม นักบรรพชีวินวิทยาบางคนเชื่อว่าพวกมันเริ่มปรากฏตัวในปลายยุคจูแรสสิก หรือเมื่อประมาณ 160 ล้านปีก่อน ในขณะที่บางคนเชื่อว่าพวกมันปรากฏตัวในเวลาภายหลังกว่านั้น
หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ ฟอสซิลชิ้นนี้จะเป็นฟอสซิลของยูเทเรียนที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกและมันถูกพบในทวีปยุโรป (ฟอสซิลของยูเทเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันมีชื่อว่า Juramaia จากประเทศจีนมีอายุ 15 ล้านปี ในขณะที่นักวิจัยบางคนแย้งว่ามันไม่ใช่ฟอสซิลของยูเทเรียน)
“ไม่แน่ว่าอาจจะมีชิ้นส่วนของยูเทเรียนหลุดออกมาจากก้อนหินเก่าที่ไหนสักที่” Sweetman กล่าว “เราคาดหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ตอนนี้เรายังหาพวกมันไม่พบ”
การมองเห็นแสง
จากการตรวจวัดกระโหลกของสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง Sweetman เชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกๆ นั้นเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน การตีความที่คาดไม่ถึงนี้เพิ่งจะถูกเผยแพร่ออกมา ในขณะเดียวกันมีรายงานจากอีกการศึกษาหนึ่งสนับสนุนเขา โดยยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคเริ่มแรกนั้นจะไม่ออกมาผจญกับแสงอาทิตย์ จนกว่าไดโนเสาร์จะนอนหลับ
ทีมนักวิจัยตั้งข้อสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกมีสายตาที่ย่ำแย่กว่านกและสัตว์เลื้อยคลาน และรูปทรงของตาตลอดจนเรตินาก็ถูกวิวัฒนาการมาเพื่อใช้ในการมองเห็นเวลากลางคืน
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ต้องโทษไดโนเสาร์ สมมุติฐานที่แข็งแกร่งที่สุดก็คือ เวลากลางคืนเป็นเวลาปลอดภัยจากไดโนเสาร์ จนกระทั่งเมื่อไดโนเสาร์ตายไปหมด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจึงเริ่มรู้สึกปลอดภัยที่จะออกมายามกลางวัน
หลักฐานเกี่ยวกับการหากินกลางคืนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถูกศึกษาตลอดหลายปีที่ผ่านมา Roi Maor นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟและมหาวิทยาลัยลอนดอน มองพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอดีตที่ตายแล้วผ่านการเก็บข้อมูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกหากินในกลางวันและกลางคืนที่ยังคงมีชีวิตอยู่จำนวน 2,415 สายพันธุ์ จากนั้นเขานำข้อมูลที่ได้มาหาบรรพบรุษร่วมกันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้
จากข้อมูลบรรพบรุษของสัตว์เหล่านี้ คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 166 – 218 ล้านปีก่อน และออกหากินในเวลากลางคืน นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่ในยุคไดโนเสาร์ครองโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ก็มีชีวิตของมันในตอนกลางคืนเช่นกัน
แต่เรื่องทั้งหมดเปลี่ยนไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ในแบบจำลองหนึ่งของเขา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนึ่งเริ่มที่จะออกมาในตอนกลางวัน ราว 9 ล้านปี ก่อนที่ไดโนเสาร์จะสูญพันธู์ ส่วนในสัตว์เสี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ พวกมันเริ่มที่จะมองเห็นภายใต้แสงอาทิตย์ ก็เมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว
“เราเซอร์ไพร์มากเลยครับที่ได้ค้นพบชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เชื่อมต่อทฤษฎีกับการค้นพบจริงของเรา” Maor กล่าว
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม : นากโบราณขนาดเท่าหมาป่า มีแรงกัดมหาศาล, อุกกาบาตทำลายล้างไดโนเสาร์ ตกลงในจุดสังหารพอดิบพอดี