นักวิทยาศาสตร์พบแล้วว่าดวงตาของปลาดาวมีไว้ทำอะไร

นักวิทยาศาสตร์พบแล้วว่าดวงตาของปลาดาวมีไว้ทำอะไร

นักวิทยาศาสตร์พบแล้วว่าดวงตาของปลาดาวมีไว้ทำอะไร

ปลาดาวหรือดาวทะเลมีดวงตาอยู่ที่ปลายสุดของแขนข้างละหนึ่งดวง แต่มีไว้ใช้สำหรับทำอะไรนั้น ยังคงเป็นปริศนา

พวกมันถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และด้วยดาวทะเลนั้นไม่มีสมอง จึงยากที่จะคาดเดาได้ว่าพวกมันเห็นภาพอะไรผ่านดวงตา

ในปี 2014 นักวิจัยชี้ว่าดวงตาของดาวทะเลในภูมิภาคเขตร้อน สามารถมองเห็นภาพแบบหยาบๆ ได้ ซึ่งช่วยให้มันไม่เดินเตร็ดเตร่ไกลออกจากบ้านมากเกินไป

“ผลการศึกษานี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าบรรดาดาวทะเลมองเห็นโลกอย่างไร” Christopher Mah นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Smithsonian ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวผ่านอีเมล์

และตอนนี้ผลการศึกษาใหม่ยังแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ดาวทะเลจากทะเลลึกในอาร์กติกเองก็ใช้ภาพที่มันมองเห็นเพื่อนำทางเช่นกัน จากการศึกษาดาวทะเลทั้งหมด 13 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้มีสองสายพันธุ์ที่เรืองแสงได้ด้วย นั่นหมายความว่าพวกมันใช้แสงสว่างในการสื่อสารกับดาวทะเลด้วยกัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาดาวทะเลสายพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะ ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก พวกมันมีชื่อว่าดาวทะเลสีน้ำเงิน (Linckia laevigata) ผลการศึกษาวิจัยถูกเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ลงในวารสาร  Proceedings of the Royal Society B เมื่อวันที่ 7 มกราคมปี 2014 ก่อนที่ผลการศึกษาใหม่กว่าจะถูกเผยแพร่ลงในวารสารเดิมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีความซับซ้อน

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา ดาวทะเลถูกพิจารณาว่าเป็นสัตว์เรียบง่าย ปราศจากโครงสร้างหรือพฤติกรรมอันซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์รู้จักดาวทะเลมานานกว่า 200 ปีแล้ว แต่จากการศึกษาร่างกายของมันเท่านั้น ไม่ใช่การวิจัยด้านพฤติกรรม รายงานจาก Andres Garm นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในเดนมาร์ก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิจัยเชื่อว่า ดาวทะเลสามารถรับรู้แสงสว่างได้ เพื่อช่วยให้มันรับรู้ได้ว่าพื้นที่ใต้น้ำ ณ จุดที่มันอยู่นั้นมืดหรือสว่าง

 

บ้านนี้มีรัก

แม้ว่าจะได้รับการยืนยันว่าดาวทะเลมีการมองเห็น แต่ใช่ว่าภาพที่มันเห็นจะมีคุณภาพดีนัก “ภาพที่มองผ่านสายตาของดาวทะเลนั้นค่อนข้างหยาบมาก” Garm กล่าว “มันมีความละเอียดเพียง 200 พิกเซลได้”

แต่นั้นก็ละเอียดมากพอที่จะช่วยให้มันสามารถจดจำโครงสร้างบางอย่างได้ ปกติแล้วดาวทะเลเหล่านี้จะเกาะติดอยู่กับแนวปะการัง หากพวกมันเดินเตร็ดเตร่ออกมายังผืนทรายรอบๆ ปะการัง เพื่อหาอาหารเพิ่ม การมองเห็นวัตถุขนาดใหญ่เบื้องหน้านั้นจึงมีความสำคัญมากสำหรับสัตว์เหล่านี้ ในการเดินทางกลับบ้าน

 

นักเดินเล่น

ดวงตาของดาวทะเลนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรพอด เช่น แมลงและล็อบสเตอร์ แต่ความคล้ายคลึงสิ้นสุดลงตรงที่ Garm กล่าวว่า ดาวทะเลสีน้ำเงินนั้นไม่มีเลนส์ตา เหมือนพวกอาร์โทรพอด

ดังนั้น Garm และทีมนักวิจัยจึงทำการทดลองบางอย่างเพื่อหาข้อสรุปนี้ หนึ่งในข้อสงสัยก็คือ ระยะภาพที่ดาวทะเลมองเห็นนั้นกว้างแค่ไหน หรือกว้างพอที่จะคว้าปะการังที่อยู่ตรงหน้าได้หรือไม่ และสองคือความละเอียดของภาพ ปกติแล้วเลนส์ตาช่วยให้เรามองภาพได้มีมิติและรับแสงได้มากขึ้น แต่เนื่องจากว่าดาวทะเลสีน้ำเงินนั้นไม่มีเลนส์ตา จึงเชื่อกันว่าภาพที่มันมองเห็นจึงเป็นเพียงภาพหยาบๆ

ทีมนักวิจัยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมโดยทดลองนำดาวทะเลออกจากแนวปะการังของอ่าวโอกินาวา ในญี่ปุ่น เพื่อดูว่าเจ้าสัตว์ตัวนี้จะสามารถหาทางกลับบ้านได้หรือไม่

ในระยะสามฟุต ดาวทะเลสามารถเดินกลับบ้านได้เป็นเส้นตรง แต่ในระยะหกฟุต (2 เมตร) และสิบสองฟุต (4 เมตร) พวกเขาพบว่ามันไม่สามารถกลับบ้านได้และลงเอยด้วยการเดินเตร็ดเตร่ไปมารอบๆ บริเวณนั้น

ในขณะที่หากปล่อยดาวทะเลให้กลับบ้านในช่วงกลางคืน แม้ในระยะเพียงสามฟุตพวกมันก็เตร็ดเตร่ไปมารอบๆ เช่นกัน เนื่องจากมองไม่เห็นแนวปะการัง

 

วิสัยทัศน์ในอนาคต

ขณะนี้การวิจัยเกี่ยวกับทัศนะการมองเห็นของดาวทะเลนั้นยังคงอยู่ในขั้นแรกเริ่ม Mah กล่าว และขณะนี้ตัวเขากำลังสนุกกับการหาว่าดวงตาของดาวทะเลมีบทบาทใดสำหรับดาวทะเลแต่ละสายพันธุ์

“ดาวทะเล Sunflower (Pycnopodia helianthoides) ที่มีถิ่นอาศัยในอ่าวแปซิฟิก พวกมันเป็นนักล่าที่รวดเร็วและมักจะกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว” เขากล่าว ซึ่ง Mah สนใจมากว่าดวงตามีบทบาทอย่างไรในการช่วยให้ดาวทะเลเหล่านี้สามารถหาอาหารได้

ใช่ว่าดาวทะเลจะไม่สร้างปัญหาใดๆ ดาวทะเลมงกุฏหนามเป็นสัตว์ที่คุกคามแนวปะการัง เนื่องจากพวกมันกินปะการังเป็นอาหาร “มันคงจะเป็นเรื่องดี ถ้าเรารู้ว่าดาวทะเลชนิดนี้ใช้ดวงตาของมันอย่างไร” Garm กล่าว ซึ่งตัวเขาคาดหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้นอกเหนือจากการไขปริศนาดวงตาของดาวทะเลแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยป้องกันแนวปะการังอีกด้วย

เรื่อง Jane J. Lee

 

อ่านเพิ่มเติม

ไก่เองก็สนใจมนุษย์

Recommend