รถยนต์ไฟฟ้า ทิศทางใหม่สำหรับอุตสาหรกรรมยานยนต์เมืองไทย
อุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีส่วนสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและคนไทยเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Pass Through) จากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อตัวอุตสาหกรรมรถยนต์เอง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ
จากรายงานฉบับล่าสุดของ International Energy Agency: IEA (รายงานเรื่อง Global EV outlook 2017) พบว่า ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ทั่วโลกมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน (Stock) จำนวน 2.01 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.52 (%yoy) และมียอดการจดทะเบียนใหม่ (ยอดขาย) จำนวน 7.53 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.66 (%yoy) ทั้งนี้ประเทศที่มีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าสะสมสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ โดยมีปริมาณอยู่ที่ 6.49, 5.64, 1.51, 1.33 และ 1.12 แสนคันตามลำดับ
ขณะที่สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมจะพึ่งพารถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นตัวส่งผ่าน ส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการตื่นตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานในการประจุไฟฟ้า (Charging Infrastructure) หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ทยอยเปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็น 1,000 สถานี ทั้งนี้ แนวทางข้างต้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตรถยนต์ในอนาคต
อ่านต่อหน้า 2