โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

โฮลี
ในวันเอกทศี หรือวันขึ้น 11 ค่ำ ก่อนโฮลีจะเริ่มต้น ที่วัดบังเกพิหารีที่เมืองวฤนดาวัน มีการเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลีด้วยดอกไม้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้สีหรือน้ำสีสาดใส่กัน เรียกว่า “ผูโลวาลีโฮลี” ผู้เป็นอาสาสมัครจะโปรยกลีบดอกไม้ลงมาจากระเบียงชั้นบน

ทำไมต้องสาดสีกัน? เรื่องมีอยู่ว่ากาลครั้งหนึ่งพระกฤษณะซึ่งเป็นชายหนุ่มที่มีผิวสีดำแอบหลงรักราธา สาวเลี้ยงโคผู้มี ผิวกายขาวผ่อง แต่พระกฤษณะเสียใจที่ตนมีผิวกายคล้ำ จึงไปตัดพ้อกับมารดาว่าธรรมชาติไม่ยุติธรรมที่สร้างให้เขาต่างจากราธา  มารดาจึงแกล้งบอกให้พระกฤษณะนำสีไปป้ายหน้านางราธาให้มีผิวสีเหมือนกับตน และพระกฤษณะก็กระทำตามนั้น เป็นการลบภาพความแตกต่างระหว่างกัน  คนฮินดูยกย่องให้ความรักระหว่างพระกฤษณะกับนางราธาเป็นความรักอันจริงใจและบริสุทธิ์ และเชื่อว่าการบูชาพระกฤษณะกับพระนางราธาคู่กันจะทำให้ความรักสมหวัง

“แต่ก่อนผงสี หรือ ‘กุลาล’ ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติเท่านั้นครับ” หนุมันต์กล่าว “อาศรมที่ผมเคยไปศึกษาด้านโยคะปลูกต้นเทซู (ทองกวาว) ซึ่งดอกจะบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม สักหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลโฮลี คนจะเริ่มเก็บดอกเทซูมาทำสีสำหรับใช้เล่นโฮลีกัน โดยนำไปแช่น้ำข้ามคืนแล้ว ต้ม จะได้กลิ่นหอมและน้ำสีส้มเหลือง  ยังมีสีที่ทำจาก “เมฮันดี” (หรือเฮนนา) ซึ่งให้สีเขียว และสีที่ทำจากไม้แก่นจันทน์ที่ให้สีแดง รวมทั้งขมิ้นที่ให้สีเหลืองด้วยครับ” กูรูหนุ่มให้ความรู้ต่ออย่างภูมิใจว่า “สีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะมีกลิ่นหอมนะครับ ยังมีคุณสมบัติเป็นยาอายุรเวทด้วย คนถึงนิยมเอามาใช้ในเทศกาลโฮลี  เพราะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูอย่างช่วงโฮลีที่คนมักจะไม่สบายเป็นหวัดกัน”

 

การสาดสีในเทศกาลโฮลีมักถูกโยงกับการสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์อยู่บ่อยๆ ด้วยลักษณะที่ใกล้เคียงกัน  คนไม่น้อยเข้าใจว่าไทยรับเทศกาลสงกรานต์มาจากเทศกาลโฮลีของอินเดีย  แต่อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยให้ความเห็นไว้ว่าสงกรานต์ของไทยกับโฮลีของอินเดียเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา และมีที่มาจากคติความเชื่อที่ต่างกัน จึงไม่น่าจะเกี่ยวกันทางประวัติศาสตร์  วัตถุประสงค์ของเทศกาลโฮลีคือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนฤดูกาล เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบโบราณที่คนเตรียมการเพาะปลูกในฤดูใหม่ ขณะที่วันสงกรานต์ของไทยไม่เพียงมีเรื่องของฤดูกาล แต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนศักราชหรือการขึ้นปีใหม่ด้วย

โฮลี
ใบหน้าและเนื้อตัวของนักบวชฮินดูหรือสาธุที่วัดพระศิวะในเมืองนันทคาม เปรอะเปื้อนด้วยสีที่แห้งกรัง

 “รู้ไหมครับว่าเทศกาลโฮลีนี้เป็นเทศกาลแห่งความเสมอภาค ทุกคนจะวางอัตตาลง เป็นวันที่ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพราะพอถูกสีสาดก็ดูหน้าตาเหมือนกันไปหมด” หนุมันต์ กูรูโยคะ เคยพูดเอาไว้  และฉันถามต่อว่าจริงไหมที่วันนี้เป็นโอกาสในการคืนดีด้วยและเขาทำอย่างไร  เขาว่า “ถ้าทะเลาะกับใคร วันโฮลีนี้ก็ไปหาเขาแล้วพูดว่า ‘บุรา นะ มาโน โฮลี แฮ’ แปลว่า ‘อย่าเซ็งเลย วันนี้วันดีมาฉลองโฮลีกันเถอะ’ แค่นี้ แล้วก็สาดสีสักที เพื่อนฝูงที่มีเรื่องกันก็กลับมากอดคืนดีกันได้แล้วครับ”

บางทีเทศกาลโฮลีอาจจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งในรอบปีที่เปิดโอกาสให้สังคมอินเดียซึ่งเต็มไปด้วยแรงกดดันเรื่องชนชั้น วรรณะ ศาสนา ชาติกำเนิด ได้คลายความตึงเครียดลงบ้าง เพราะแม้แต่ตำนานที่มาของการสาดสีโฮลีเองก็วางอยู่บนพื้นฐานความคิดเดียวกันนี้

เรื่อง  ปัทมน ปัญจวีณิน

ภาพถ่าย  เจเรมี ฮอร์เนอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

Recommend