กาลครั้งหนึ่ง สีชมพู ซึ่งอาจถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าหนึ่งพันล้านปีแล้ว -เคยเป็นสีของเหล่านักล่าผู้เหี้ยมโหดในยุคโบราณ, สตรีผู้ทรงอำนาจในฝรั่งเศส, และ ใช่แล้ว, เด็กผู้ชาย!
เป็นไปได้ไหมที่ สีชมพู คือสีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก? นี่คือคำถามของงานค้นคว้าชิ้นหนึ่งจากปี 2018 ซึ่งพบเม็ดสีสีชมพูเข้มในก้อนหินอายุ 1.1 พันล้านปี อันเป็นผลมาจากฟอสซิลของไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) เล็กจิ๋ว ซึ่งเคยมีอยู่ทั่วทั้งมหาสมุทรต่างๆ นับพันล้านตัว
ธรรมชาติในโลกของเราถูกแต่งแต้มด้วยการคละเคล้าของสีชมพูในทุกรูปแบบมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดสีซึ่งฝังลึกในก้อนหินโบราณ สีของขนนกฟลามิงโก หรือเม็ดทรายสีชมพูบนชายหาดของเกาะเบอร์มิวดา
แม้จะเป็นเช่นนั้น สีชมพูก็มีสัมภาระในเชิงวัฒนธรรม (cultural baggage – เช่น วิถีชีวิต ความเชื่อ ภูมิปัญญา ฯลฯ) มากมาย เมื่อมันก้าวข้ามจากถาดสีของธรรมชาติกลายมาเป็นสิ่งประดับประดาของมนุษย์ สีชมพูนี้ก็ได้สั่งสมความหมายโดยนัยของลัทธิล่าอาณานิคม ความงาม อำนาจ และเพศ
สีชมพูกลับกลายมาเป็นชนวนด้านวัฒนธรรมเช่นนี้ได้อย่างไร? ในยามที่ความสนใจที่ผู้คนทั่วโลกมีต่อโลกสีชมพูแจ่มจ้าของ ‘บาร์บี้’ ถูกฟื้นคืนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เหล่านี้คือประวัติโดยสังเขปของสีอันน่าอัศจรรย์นี้
ความหลงใหล สีชมพู ในยุคโบราณ
มนุษย์ในยุคแรกๆ เริ่มเปลี่ยนความคิดจากความหลงใหลสีชมพูในธรรมชาติมาสู่การใช้มันเป็นเครื่องประดับอย่างรวดเร็ว เช่น ในเทือกเขาแอนดีสเมื่อราว 9,000 ปีก่อน ชนเผ่านักล่าผู้เหี้ยมโหดที่อาศัยอยู่ในบริเวณของประเทศเปรูในปัจจุบัน ได้สวมชุดหนังตัดเย็บสีโทนชมพู ซึ่งได้มาจากสีดินแดง (red ochre) อันเป็นเม็ดสีจากดินซึ่งมีเหล็กอ๊อกไซด์ และเป็นหนึ่งในสารสีจากธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยใช้
มนุษย์ไม่เพียงแค่พึงพอใจกับการละเลงสารสีดังกล่าวนี้ลงบนผนังถ้ำหรือใช้มันลงสีชุดนุ่งห่มทำจากหนังสัตว์เท่านั้น ย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งอียิปต์ยุคโบราณ มนุษย์ใช้สีดินแดงเพื่อทาปากและแก้ม เมื่อเม็ดสีสีแดงนี้ถูกทาลงบนผิวของมนุษย์ ผิวของคนผู้นั้นจะมีสีชมพูที่ดูเหมือนสีหน้าเอียงอาย อันเป็นสิ่งที่ผู้ชมยึดโยงเข้ากับความรัก เรื่องทางเพศ และความงาม นอกจากนี้ ส่วนผสมที่คล้ายคลึงกันยังปรากฏอยู่ในทั่วทุกมุมโลก โดยใช้วัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไป
เครื่องประทินโฉม และการล่าอาณานิคม
แม้ต้นกำเนิดของคำว่า “สีชมพู” นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คำนี้ก็ถูกใช้อธิบายถึงสีดังกล่าวเมื่อครั้งศตวรรษที่ 18 ในยามนั้น สีชมพูก็กลับเกี่ยวโยงเข้ากับลัทธิล่าอาณานิคมอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ เนื่องเพราะอุปสงค์ของเม็ดสีสำหรับเครื่องสำอางค์นั้นผลักดันให้ชาวยุโรปเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติจากส่วนอื่นๆ ของโลก
ตัวอย่างหนึ่งของสิ่งนี้คือ บรรดาพ่อค้าชาวยุโรปที่ต้องการผลิตเม็ดสีสีชมพูจากเปลือกและยางไม้สีแดงของต้น brazilwood พวกเขาจึงบังคับให้แรงงานทาสตัดต้นไม้เหล่านี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ป่าไม้ของบราซิลถูกทำลาย และต้นไม้เหล่านี้เกือบต้องสูญพันธุ์
ในสมัยยุคแห่งการสำรวจนี้ ผู้คนยังสามารถหาเครื่องประทินผิวสำหรับแก้มและริมฝีปากของตนได้จากเม็ดสีจากแหล่งที่มาอื่นๆ เช่นสีคาร์มีน ซึ่งได้มาจากแมลงโคชินีลสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งถูกจับได้จากอเมริกากลางและใต้โดยวิธีเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
ในขณะเดียวกัน สีชมพูนั้นยังมีความเกี่ยวโยงกับลัทธิล่าอาณานิคม เพราะช่วงเวลานี้เองที่ดินแดนของจักรวรรดิอังกฤษได้ขยายขึ้นอย่างมหาศาลจนกระทั่ง สีชมพู ซึ่งเป็นสีที่ใช้ระบุอาณาเขตของจักรวรรดิแห่งนี้ กลายเป็นสีที่ปรากฏอยู่มากมายที่สุดบนแผนที่โลก
แฟชั่นมาแรง
เมื่อแต้มสีแดงกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีราคาถูกลง บรรดาชนชั้นสูงชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 จึงปล่อยตนเองให้ระเริงอยู่ในความหลงใหลต่อสีชมพู Michel Pastoureau นักประวัติศาสตร์ศิลปะเขียนไว้ว่า “บรรดาสมาชิกของชนชั้นผู้มากอภิสิทธิ์ที่สุดของสังคมยุโรปต้องการสีพาสเทล, ฮาล์ฟโทน, และเฉดสีต่างๆ ที่ใหม่เอี่ยมล้ำหน้าที่สุด เพื่อแบ่งแยกตนเองจากเหล่าชนชั้นกลาง ที่ในขณะนั้นสามารถเข้าถึงสีที่เข้ม สด และมีความทนทานได้แล้ว”
Madame de Pompadour ภรรยาน้อยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้าแห่งฝรั่งเศสในระหว่างทศวรรษที่ 1740 และ 1750 ทรงเลือกใช้สีชมพูเป็นสีประจำตัวของพระองค์ เหล่าศิลปินผู้วาดภาพและสรรค์สร้าง/ประดิษฐ์ประนีตวัตถุในพระราชวังมากมายหลายแห่งของพระองค์ต่างใช้สีนี้ในทุกผลงานที่ตนเองออกแบบ ซึ่งรวมไปถึงแม้แต่รถม้าของพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงช่วยเพิ่มความนิยมของสีชมพูในทั่วทั้งยุโรปให้มากขึ้นอีกด้วย
การปรากฏขึ้นของสีย้อมสังเคราะห์เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 19 —- ซึ่งส่งผลให้สีม่วง-ชมพูอันเป็นรู้จักกันในนามสีม่วงอ่อน (mauve) ผงาดขึ้น —- ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสีชมพูได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อถึงยุคทศวรรษที่ 1930 สีชมพูจ้าก็กลายมาเป็นกระแสแฟชั่นที่มาแรงอย่างแท้จริง Elsa Schiaparelli นักออกแบบแฟชั่นสายอาวองการ์ด (avant-garde) ทำให้ “สีชมพูสด (shocking pink)” กลายเป็นสีประจำตัวของเธอ และช่วยเผยแพร่สีดังกล่าวนี่ให้กลายเป็นสีแห่งสมัยนิยมสำหรับเครื่องแต่งกายของเหล่าสตรีทั้งหลาย
และมันได้ผล เมื่อถึงปี 1935 คำป่าวประกาศว่า “สีชมพูคือสิ่งยอดนิยม” ปรากฏขึ้นแม้แต่หนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นเช่น News and Observer และในปี 1939 นักวิจารณ์ประจำพระราชสำนักรายหนึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ Daily Telegraph แห่งกรุงลอนดอนว่าสีชมพูเป็นที่นิยมอย่างมากจนมันปรากฏอยู่บนอาภรณ์ของทั้งเพื่อนเจ้าสาวและหญิงสาวผู้เปิดตัวในงานสังคมเป็นครั้งแรกแทบจะทุกแห่งหน “ความคลั่งไคล้หลงใหลสีชมพูเป็นเรื่องปกติเสียจน” หนังสือพิมพ์ดังกล่าวเขียน “สตรีบางคนกำลังทำตัวเป็นขบทต่อมัน”
สีชมพูเพื่อ…. ใคร?
ในราวช่วงเวลาเดียวกันนี้ สีชมพูก็ได้รับบทบาทใหม่ นั่นคือแฟชั่นของเด็กทารก โดยเพศและแฟชั่นของเด็กทารกนั้นมีความคาบเกี่ยวกันมาตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านี้แล้ว ในราวช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บทชี้แนะทางมารยาทและบทความแนะนำด้านแฟชั่นต่างๆ เริ่มแนะนำให้เหล่าคุณแม่เลือกเครื่องแต่งกายซึ่งมีสีเฉพาะสำหรับแต่ละเพศให้ลูกๆ ของตน
แต่สีเหล่านั้นคือสีใดกัน? ในแบบสำรวจครั้งหนึ่งจากปี 1927 และถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร TIME ซึ่งถามความคิดเห็นต่อสีต่างๆ ของเสื้อผ้าของเด็กแบเบาะ แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยก โดยผู้ค้าปลีกเช่น Filene’s และ Marshall Field’s แนะนำให้สีชมพูเป็นสีสำหรับเด็กชาย แต่ Macy’s, Bullock’s, และผู้ค้ารายอื่นๆ กล่าวว่าสีชมพูคือสีที่ดีที่สุดสำหรับเด็กผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม เมื่อทศวรรษที่ 1960 มาถึง บรรดาแม่ทั้งหลายก็เริ่มเลือกเสื้อผ้าสีชมพูให้ลูกสาวของตน และเลือกสีน้ำเงินพาสเทลให้ลูกชาย
“การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงดูเด็กหรือการประกาศโดยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแม้แต่นิดเดียว” Jo B. Paoletti นักประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ ตรงกันข้าม การส่งเสริมให้สีชมพูกลายเป็นตัวแทนของความเป็นสตรีเพศของเด็กทารกนั้น คือส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อเน้นย้ำบทบาททางเพศตามขนบดั้งเดิมในครัวเรือนของชาวอเมริกัน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง — และการที่ผู้ค้าปลีกทั้งหลายทราบดีว่าตนเองจะสามารถทำเงินได้มากกว่า หากทารกแต่ละเพศมีสีเฉพาะของตนเอง
“ยิ่งการออกแบบเสื้อผ้าของเด็กทารกแต่ละคนสามารถทำได้มากขึ้นเท่าไหร่ — และเพศก็คือวิธีการที่ง่ายดายและชัดเจนที่สุดสำหรับการแยกความแตกต่างของลูกๆ แต่ละคน — การที่พ่อแม่จะนำเสื้อผ้าของลูกคนหนึ่งไปให้ลูกคนต่อไปก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น ทำให้พวกเขาต้องซื้อเสื้อผ้ามากขึ้นเมื่อครอบครัวเติบโตขึ้น” Paoletti เขียน และในไม่ช้า บรรดาผู้ค้าปลีกทั้งหลายก็ได้แนะนำ “ช่องทางเดินตู้สินค้าสีชมพู (pink aisles)” อันแน่นขนัดไปด้วยเสื้อผ้าและของเล่นสีชมพูสำหรับเหล่าลูกค้าตัวน้อย
ด้านมืดของสีชมพู
สำหรับคนบางกลุ่ม สีชมพูถูกปฏิเสธในฐานะสัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอ หรือแม้แต่จุดประสงค์ชั่วร้าย
สำหรับนาซีเยอรมนี สีชมพูถูกใช้สำหรับการตีตราชายรักร่วมเพศในค่ายกักกันและค่ายมรณะ และเมื่อสงครามเย็นกำลังก่อตัวขึ้น ผู้ที่ถูกสงสัยว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ (ในสหรัฐอเมริกา) จะถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่า “pinkos” อันเป็นคำที่ใช้อ้างอิงถึงบุคคลซึ่งมีแนวโน้มเอนเอียงไปทาง “สีแดง” หรือแนวคิดการเมืองหัวรุนแรง
ในขณะเดียวกัน สมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยสตรีเพศก็พยายามเอาตัวออกห่างจากสีซึ่งโยงใยกับความเป็นสตรีและความต้องการทางเพศอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ตัวอย่างหนึ่งของการโยงใยดังกล่าวนี้คงหนีไม่พ้นภาพมาริลิน มอนโร ผู้เดินกรีดกรายลงจากบันใดในชุดราตรีสีชมพูสดพร้อมกับเหล่าชายชาตรีในชุดทักซิโดที่กำลังห้อมล้อมเธออยู่
ในทางตรงกันข้าม ผู้ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมเลือกที่จะโอบรับสีชมพู เช่น เฮเลน บี. แอนเดลิน นักเขียนผู้ปรากฏตัวในที่สาธารณะในชุดสีชมพูล้วนในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 เมื่อเธอจัดการบรรยายโน้มน้าวให้บรรดาหญิงสาวละทิ้งแนวคิดสตรีนิยม และโอบรับชีวิตในฐานะแม่บ้านแทน
ศึกชิงสีชมพู
สีชมพูยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็นสตรีเพศอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มชนต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้สีชมพูเพื่อตีตราอย่างจงเกลียดจงชังได้เคลื่อนไหวเพื่อแย่งชิงมันกลับคืนมา
ในสังคม LGBTQ ผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบังคับให้สวมชุดสีชมพูในฐานะผู้ผิดแผกจากสังคม ใช้สีดังกล่าวนี้เป็นสัญลักษณ์ประจำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม ในปี 1987 เครือข่ายพันธมิตรเอดส์เพื่อปลดปล่อยพลัง (AIDS Coalition to Unleash Power หรือ ACT UP) ได้นำสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพูบับเบิลกัมมาใช้ในโครงการรณรงค์ “ความเงียบ=ความตาย (Silence=Death)” เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ต่อไวรัส HIV และโรคเอดส์ และลบล้างตรามลทินของโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ นักสตรีนิยมบางคนยังชิงสีชมพูกลับคืนมา และต่อสู้กับการเหมารวมทางเพศด้วยการนำสีชมพูดอกกุหลาบ บานเย็น และบับเบิลกัมทุกเฉดมาใช้อย่างประชดประชัน เช่นเมื่อการเดินขบวนของสตรี (Women’s March) ในปี 2017 เมื่อคลื่นผู้ประท้วงผู้สวมหมวก “pussy hat” สีชมพูและมีหูแมวเดินขบวนประท้วงพิธีขึ้นรับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งกล่าววาจาเชิงลามกหยาบคายเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิงที่เขากล่าวในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งซึ่งรั่วไหลออกมา และเรียกเสียงประนามจากทั่วทุกมุมโลก
ในทุกวันนี้ สีชมพูมีความหมายตามแต่ที่คุณจะให้มัน และมันยังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในปี 2016 Pantone ประกาศว่าเฉดสีชมพูคล้ายฝุ่น —- ซึ่งถูกเรียกว่าสีชมพูมิลเลนเนียล (Millennial Pink) ตามชื่อของผู้คนที่โอบกอดมัน —- คือสีแห่งปีของบริษัท
ในปีนี้ ภาพยนตร์ บาร์บี้ โดย Greta Gerwig ซึ่งกำลังออกฉายอยู่ในขณะนี้ ช่วยโหมให้ความนิยมต่อความงามแบบ “บาร์บี้คอร์ (Barbiecore)” อันชุ่มโชกไปด้วยสีชมพู พุ่งทะยาน และดลใจให้เหล่าผู้ชื่นชอบความงามเช่นนี้ไปประดับประดาบ้านและตู้เสื้อผ้าของตนให้มากล้นไปด้วยสีชมพูในทุกเฉด จากข้อมูลของ Axios การค้นหาคำว่า “การตกแต่งห้องแบบบาร์บี้คอร์ (Barbiecore aestheric room)” นั้นพุ่งขึ้นกว่า 1,000% ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2022 และเดือนพฤษภาคม 2023 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการยิ่งยวดที่ผู้บริโภคมีต่อการทำให้พื้นที่ภายในบ้านของตนให้เป็นสีชมพูมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้มันไม่อาจบอกได้ว่าจะเป็นการคละเคล้าของสีชมพูแบบใดกัน ที่จะมาสร้างมนต์สะกดให้เราในครั้งต่อไป — แต่เมื่อมองจากประวัติศาสตร์มากสีสันของโทนสีต่างๆ ระหว่างสีขาวและแดง วันอันรุ่งโรจน์ครั้งถัดไปของมันก็อาจมาถึงได้ในเวลาเพียงเร็ววัน
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน
อ่านเพิ่มเติม ปาโบล ปีกัสโซ จิตรกรเอกชาวสเปนผู้บุกเบิกศิลปะแนวคิวบิสม์ และการต่อต้านสงครามผ่านผลงานภาพวาด