ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวจาก แผ่นดินไหว ได้รวดเร็วที่สุด แต่พวกเขาทำได้อย่างไร?
ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่เตรียมพร้อมรับมือ แผ่นดินไหว มากที่สุดในโลก เนื่องจากความรู้ ความเข้มงวด วัฒนธรรม และประสบการณ์ ส่งผลให้ญี่ปุ่นทนทานต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ชายฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น ความรุนแรงขนาด 7.6 ที่นอกชายฝั่งคาบสมุทรโนโตะ ซึ่งกลายเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ คนกว่า 10,000 คนได้รับคำสั่งให้อพยพ บ้านหลายร้อยหลังถูกทำลายจากแรงสั่นสะเทือนและมีไฟไหม้ตามมา จนถึงขณะนี้มีการยืนยันผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 80 ราย และการค้นหาผู้รอดชีวิตยังคงดำเนินไปอย่างยากลำบาก
แต่นักแผ่นดินไหววิทยา ลูซี โจนส์ (Lucy Jones) เชื่อว่าความรุนแรงและตำแหน่งจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงขึ้นได้มากกว่านี้หากญี่ปุ่นมีการเตรียมพร้อมที่น้อยกว่านี้ โจนส์ยกย่องถึง ‘ระเบียบบังคับควบคุมอาคารที่เข้มงวด’ ของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ‘น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก’
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผ่นดินไหวมากสุดในโลก โดยมีตำแหน่งตั้งอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น ซึ่งหมายความจะเจอกับการสั่นสะเทือนอยู่เกือบตลอดเวลา แม้ว่าส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบ แต่แท้จริงแล้วมีแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนพื้นดินอยู่ทุกวัน โดยองค์กร EarthScope Consortium ที่ศึกษาธรณีวิทยารายงานว่า แผ่นดินไหว “ที่รู้สึกได้ชัดเจน” จะเกิดขึ้นประมาณ 1,500 ครั้งในแต่ละปี
เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงกัน วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นจึงหลอมรวมเข้ากับการเตรียมพร้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมของชุมชน
ปรับตัวให้เข้ากับ แผ่นดินไหว ครั้งใหญ่
ไคท์ พอร์เตอร์ (Keith Porter) หัวหน้าวิศวกรของสถาบันลดการสูญเสียจากภัยพิบัติในแคนาดา กล่าวว่า การทำความเข้าใจถึงวิธีที่ดีที่สุดสำหรับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นั้นมักจะต้องผ่านความยากลำบากมาก่อน โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลภัยพิบัติในอดีต โดยญี่ปุ่นได้นำระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับอาคารต้านแผ่นดินไหวมาใช้ครั้งแรกในปี 1923 หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ซึ่งครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 140,000 ราย และได้เปลี่ยนโครงสร้างของอาคารหลายแสนหลังให้กลายเป็นซากปรักหักพัง โดยกฎระเบียบในช่วงแรกนั้นมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างโครงสร้างแบบใหม่ในเขตเมือง และเพิ่มการกำกับดูแลการก่อสร้างอาคารไม้กับคอนกรีต
ระเบียบแผ่นดินไหวได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาหลายครั้งในช่วงหลายสิบปีนับตั้งแต่นั้น โดยช่วงสำคัญเกิดขึ้นในปี 1950 ซึ่งเป็นการผ่านกฎหมายมาตรฐานอาคาร และในปี 1981 ได้มีการแก้ไขมาตรฐานอาคารต้านแผ่นดินไหวฉบับใหม่ นอกเหนือไปจากการให้รายละเอียดเฉพาะเกี่ยวกับการก่อสร้างแล้ว กฎหมายเหล่านี้ยังกำหนดว่าอาคารที่ดีควรจะเป็นอย่างไรขณะที่เกิดช่วงแผ่นดินไหว
พระราชบัญญัติปี 1950 กำหนดไว้ว่าอาคาร ควรจะทนต่อแผ่นดินไหวขนาด 7 แมกนิจูดได้เป็นขั้นต่ำโดยไม่มีปัญหาร้ายแรง ต่อมาการแก้ไขในปี 1981 ระบุว่าหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงถึง 7 แมกนิจูด อาคารจะต้องได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และจะต้องยังคงใช้งานได้ตามปกติ ในส่วนของความรุนแรงที่มากกว่า กฎหมายญี่ปุ่นระบุว่าอาคารจะต้องไม่พังทะลายลง
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กฎหมายเหล่านั้นได้สำแดงผลเมื่อวันแรกของปีใหม่ 2024 ที่ผ่านมา “อาคารนี้ถือว่าประสบความสำเร็จหากไม่พังลงมาจนฆ่าใครได้ แม้ว่าจะเกิดความเสียหายจนขยายเป็นวงกว้างและไม่สามารถต้านทานได้ก็ตาม” พอร์เตอร์ กล่าว เขาเสริมว่าสิ่งนี้มุ่งเน้นไปที่ “การช่วยชีวิต” มากกว่าความสมบูรณ์ของโครงสร้างในระยะยาว แม้จะมีต้นทุนและปัญหาการบำรุงรักษามากขึ้นก็ตาม
ออกแบบให้สั่นสะเทือน
มีเทคนิคมากมายที่ทำให้อาคารในญี่ปุ่นบรรลุตามมาตรฐานและมีหลายเทคนิคถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง เช่น ตึกระฟ้าหรือบ้านเดี่ยว อาคารจะต้องได้รับการเสริมความแข็งแกร่งด้วยคาน เสา และผนังที่หนาขึ้นเพื่อให้สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้นตั้งแต่ระดับฐาน
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคที่เป็นการแยกอาคารออกจากการเคลื่อนที่ของพื้นที่สั่นสะเทือน วิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ การติดตั้งแผ่นอิเล็กโทรดที่ทำจากวัสดุดูดซับ เช่น ยาง ไว้ที่รากฐานของอาคารเพื่อลดแรงกระแทกจากการเคลื่อนของโครงสร้าง อีกวิธีหนึ่งคือระบบแยกฐาน ซึ่งเป็นทำโครงสร้างแยกใหม่ทั้งหมดบนแผ่นปิดหนา เพื่อให้มีการแบ่งชั้นเต็มระหว่างยูนิตและพื้นโลกที่เคลื่อนไหว
พอร์เตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า อาคารเก่าแก่ของญี่ปุ่นหลายแห่งที่มีโครงสร้างเสากับคานไม้แบบ ซึ่ง ‘มีแนวโน้มที่จะเปราะบางมาก’ และเสี่ยงต่อความเสียหายจากแผ่นดินไหว แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ละทิ้งอาคารเหล่านั้น หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1995 พวกเขามุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ให้มีความทนทานต่อแผ่นดินไหวได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดความท้าทายเฉพาะอยู่ที่ตำแหน่งของอาคาร ซึ่งอาคารหลายหลังหากอยู่ในโซนที่พื้นดินไม่แข็งแรง จนทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักของโครงสร้างได้อีกต่อไป ก็เป็นเรื่องยากในการเพิ่มการป้องกัน แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงพยายามที่จะให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นความสามารถในการรับมือที่เตรียมการไว้อย่างดียิ่ง
“คงไม่มีผู้คนใดบนโลกที่พร้อมรับภัยพิบัติเท่ากับชาวญี่ปุ่น” ศาสตราจารย์โทชิทากะ คาทาดะ (Toshitaka Katada) จากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวกับ Asscoiated Press หลังเกิดแผ่นดินไหวในวันปีใหม่
พวกเขามีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ แม้แต่ในกิจวัตรประจำวัน ญี่ปุ่นมีการวางแผน ฝึกซ้อม สร้างศูนย์อพยพ (ซึ่งมักจะเป็นโรงเรียนหรือพื้นที่รวมตัวในชุมชนต่าง ๆ) มีอุปกรณ์ครบครัน และประชาชนก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ที่บ้านด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับระบบเตือนภัยที่มีคุณภาพพร้อมรับมือทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ
ตามที่นักวิทยาศาสตร์สังคม เจมส์ ดี. โกลต์ซ (James D. Goltz) จากสถาบันวิจัยการป้องกันภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวบอกว่า นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเรียนรู้จากภัยพิบัติครั้งก่อน ๆ ซึ่งได้ช่วยกำหนดรูปแบบระบบฉุกเฉินต่าง ๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ซึ่งมีความรุนแรงขนาด 9 แมกนิจูด
โดยมีทั้ง ‘การศึกษาอย่างจริงจัง’, ‘กลยุทธ์บรรเทาผลกระทบหนัก’ เช่นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และ ‘กลยุทธ์บรรเทาผลกระทบเล็กน้อย’ เช่นการปรับปรุงการเตือนภัยและระบุจุดปลอดภัยจากกสึนามิ โคอิจิ คูซูโนกิ (Koichi Kusunoki) ศาสตราจารย์จากสถาบันแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า เขาและเพื่อนร่วมงานกำลังดำเนินงานสำรวจภาคสนามตามแนวคาบสมุทรโนโตะ
โดยเสนอว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าใจผลกระทบของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้ดีขึ้น การวิจัยนี้อาจเป็นก้าวแรกในการทำความเข้าใจว่าผู้ที่อยู่อาศัยจะปลอดภัยยิ่งขึ้นได้อย่างไรหากพื้นดินที่ยืนอยู่เริ่มสั่นสะเทือนอีกครั้ง ตามที่ภัยพิบัติในอดีตได้พิสูจน์แล้ว