โป๊ปชาวอเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ : พระสันตะปาปาเลโอที่ 14

โป๊ปชาวอเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ : พระสันตะปาปาเลโอที่ 14

“พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ฟรานซิส พรีโวสต์ ได้สร้างประวัติศาสตร์

เป็นพระสันตะปาปาชาวอเมริกันองค์แรก ในพระนามว่า พระสันตะปาปาเลโอที่ 14“

เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พระคาร์ดินัลอายุ 69 ปีจากชิคาโก ได้เข้ารับตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ พร้อมกับกล่าวปราศรัยต่อชาวคาทอลิกหลายพันคนที่มารอลุ้นการเลือกตั้งพระสันตะปาปาว่า “ขอสันติสุขจงมีแด่ท่านทั้งหลาย”

“เราต้องร่วมกันแสวงหาเพื่อเป็นคริสตจักรแห่งการประกาศพระวรสาร คริสตจักรที่สร้างสะพานและสานเสวนา” พระองค์ตรัสเป็นภาษาอิตาลี เรียกร้องให้ผู้คน “แสดงความเมตตาของเรา” ต่อผู้อื่น “และสนทนากันด้วยความรัก”

พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาอย่างรวดเร็วภายใน 2 วันภายใต้การประชุมลับจากพระคาร์ดินัลทั้งหมด 133 องค์ที่มารวมตัวกันในพิธีที่ชื่อว่า คอนเคลฟ (Conclave) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงสร้างความประทับใจให้กับเหล่าคาร์ดินัลได้อย่างรวดเร็วในระหว่างการประชุมลับนี้ แต่พระองค์เป็นใครและมาจากไหนกันแน่?

พระสันตะปาปาจากสหรัฐอเมริกา

โรเบิร์ต ฟรานซิส เปรโวสต์ (Robert Francis Prevost) หรือพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 นั้นเกิดในชิคาโกเมื่อปี 1955 โดยมีเชื้อสายสเปน ฝรั่งเศส อิตาลี โดยทำหน้าที่ในคริสตจักรมาตั้งแต่เด็ก และเข้าเป็นนักบวชในปี 1982 และเป็นที่จดจำว่าเป็นบุคคลที่ทำงานกับชุมชนมาโดยตลอด

พระองค์ใช้เวลา 10 ในฐานะศิษยาภิบาลประจำตำบลและเป็นครูที่เซมินารี ในเมืองทรูฮิลโย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเปรู ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งเมืองชิกลาโยของเปรู โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2023 และในไม่กี่เดือนต่อมาพระสันตะปาปาฟรานซิสก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัล 

“เรายังคงได้ยินเสียงอันอ่อนแรงแต่กล้าหาญของพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้ทรงอวยพรเราในหูอยู่เสมอ” พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ตรัส “จงเป็นหนึ่งและจับมือกับพระเจ้า เราจะก้าวไปด้วยกัน” 

การเข้ารับตำแหน่งของพระองค์ได้ทำให้ประธานาธิบดี ดีน่า โบลูอาร์เต้ (Dina Boluarte) รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง โดยระบุว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับเปรูและโลก 

“ในดินแดนของเรา พระองค์ทรงหว่านความหวัง เดินเคียงข้างผู้ยากไร้ที่สุด และแบ่งปันความสุขของประชาชนของเรา” โบลูอาร์เต้ กล่าว “พระองค์ทรงเลือกที่จะเป็นหนึ่งในพวกเรา อาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเรา และทรงนำศรัทธา วัฒนธรรม และความฝันของประเทศนี้ติดไว้ในหัวใจ” 

ก่อนหน้านี้มีการกล่าวกันว่าพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งพระสันตะปาปานั้นมีความลังเลที่จะเลือกพระคาร์ดินัลจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกังวลเรื่องอิทธิพลทางการเมืองระดับโลกของอเมริกา อย่างไรก็ตามพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ก็ผ่านอุปสรรคดังกล่าวมาได้ และมีแนวโน้มว่าพระองค์จะบรรเทาความกังวลดังกล่าวได้อีกด้วย 

เนื่องจาก แม้พระองค์จะมาจากตะวันตก แต่ก็ได้ใช้ชีวิตกว่าครึ่งอาชีพในคริสตจักรในต่างประเทศที่เปรู อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นผู้นำที่มีความสามารถ ทั้งมีความเป็นกลาง สงบ และชัดเจนในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ก็ไม่ได้ใช้กำลังมากเกินไปในการทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น

พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา ในเพนซิลเวเนีย และได้รับประกาศนียบัตรสาขาเทววิทยา จากสหภาพเทววิทยาคาธอลิกแห่งชิคาโก ซึ่งต่อมาได้ถูกส่งไปโรมเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยพอนธิฟิคอล Pontifical Saint Thomas Aquinas และได้รับแต่งตั้งเป็นบาทหลวงในเดือนมิถุนายน 1982 จากนั้นจึงได้ทำงานที่เปรูในฐานะมิชชันนารี

“ผมยังคงถือว่าตัวเองเป็นมิชชันนารี อาชีพของผมเช่นเดียวกับคริสเตียนทุกคน การเป็นมิชชันนารีเพื่อประกาศพระกิตติคุณทุกที่ที่ไป” พระองค์ กล่าว 

โป๊ปผู้ออบโกดผู้ถูกกีดกัน

พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ถูกมองว่าเป็นนักบวชสายกลางที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ถูกกีดกันในสังคม เช่น ผู้อพยพและผู้ยากไร้ ซึ่งสอดคล้องกับฉายา “Pope of the Poor” ที่โป๊ปฟรานซิสได้รับ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก New York Times ระบุว่า พระองค์ยังคงยึดมั่นในหลักคำสอนดั้งเดิมของคริสตจักร เช่น การคัดค้านการบวชสตรีเป็นมัคนายก และการไม่รับรองการสมรสเพศเดียวกันในพิธีกรรมทางศาสนา

ในแถลงการณ์แรกหลังได้รับเลือก พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าขออุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พระเจ้าและพี่น้องทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ทุกข์ยากและถูกละเลย ขอให้คริสตจักรของเราเป็นแสงสว่างแห่งความหวังในโลกที่แตกแยก คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการนำคริสตจักรให้เป็นศูนย์กลางของความเมตตาและความยุติธรรม”

ความท้าทายในอนาคต 

ทั่วโลกกำลังจับตามองว่าพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 จะเดินตามรอยของพระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับหรือไม่ ทั้งในประเด็นเรื่องเพศ สถานะทางเพศ การแต่งงาน และการอพยพระหว่างประเทศ ไปจนถึงเรื่องการแทรกแซงบนเวทีโลกเกี่ยวกับสิทธิผู้อพยพ สงคราม และอื่น ๆ  

ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นในทุกที่ ทำให้งานของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในด้านการทูตระดับโลก อีกทั้งยังต้องจัดการเรื่องราวอื้อฉาวภายในคริสตจักรเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่มีมาอย่างยาวนาน 

“มีสถานที่หลายแห่งที่มีการดำเนินการที่ดีมาหลายปีแล้ว และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ได้รับการนำไปปฏิบัติจริง ในขณะเดียวกันเรายังเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ต้องเรียนรู้” พระองค์ให้สัมภาษณ์กับวาติกันนิวส์ขณะที่ยังเป็นพระคาร์ดินัลอยู่ 

ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องในอนาคตยังไม่ชัดเจนมากนักเนื่องจากพระองค์เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่ในอดีตที่ผ่านมา พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ก็ได้ให้ความเห็นไว้หลายอย่าง เช่น ทรงสนับสนุนคำประกาศของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่อนุญาตให้อวยพรคู่รักเพศเดียวกันและบุคคลอื่น ๆ ได้ แม้พระองค์จะเสริมว่าบรรดาบิชอปจะต้องตีความคำสั่งดังกล่าวตามบริบทและวัฒนธรรมในท้องถิ่นก็ตาม

เมื่อปีที่แล้วพระคาร์ดินัลพรีโวสต์ ก็ได้ทรงพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้อง ‘เปลี่ยนจากคำพูดเป็นการกระทำ’ พระองค์ทรงเรียกร้องให้มนุษยชาตจิสร้าง ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ กับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังกล่าวถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมของวาติกัน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์และนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ไปจนถึงการสนับสนุนให้สตรีเข้าร่วมงานในวาติกัน

“เราคิดว่าการแต่งตั้งพวกเธอเป็นมากกว่าการแสดงท่าทีของพระสันตะปาปา(ฟรานซิส)เพื่อบอกว่าตอนนี้มีสตรีอยู่ที่นั้ด้วย พวกเธอมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและมีความหมายในการประชุมของเรา เมื่อเราหารีอเกี่ยวกับเอกสารของผู้สมัคร” พระคาร์ดินัลพรีโวสต์ กล่าว 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://edition.cnn.com

https://www.theguardian.com

https://www.bbc.com


อ่านเพิ่มเติม : โป๊ปฟรานซิส : พระสันตะปาปาผู้เปี่ยมด้วยความรัก และวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย

Recommend