เรื่องไม่ลับในวงหวย

เรื่องไม่ลับในวงหวย

หวย
เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฉายแสงแบล็กไลต์ไปยังสลากกินแบ่งรัฐบาลที่พิมพ์เสร็จจากแท่นพิมพ์ เพื่อแสดงให้เห็น “เส้นลายไหม” หรือลายนํ้าจากเนื้อกระดาษชนิดพิเศษ และรหัสตัวเลขพิมพ์สีเรืองแสง ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลง

กลางเดือนมกราคมก่อนหวยออกหนึ่งวัน ลานจอดรถของวัดพระธาตุดอยคำคลาคลํ่าไปด้วยรถยนต์จากทั่วสารทิศ ทุกครั้งที่มีรถถอยเข้าซองจอด บรรดาพ่อค้าแม่ขายลอตเตอรี่จะกรูกันเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกพร้อมกับยื่นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เลขท้ายสองตัวตรงกับทะเบียนรถคันนั้น ๆ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง “ที่นี่ลอตเตอรี่ขายดีมากครับ มีเท่าไรก็ไม่พอขาย” สมนึก สุธรรมา บอก “ผมเคยไปมาทั่วประเทศแล้วครับที่ไหนดัง เราจะไปที่นั่น” เขายิ้ม สมนึกเป็นชาวอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขายลอตเตอรี่มากว่า 20 ปีแล้ว เขาขับรถมากับญาติและเพื่อนบ้านจากอำเภอวังสะพุงกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อมาขายลอตเตอรี่ที่เชียงใหม่ตั้งแต่ยอดดอยถึงริมทะเล

เราจะพบคนขายลอตเตอรี่ได้ทุกที่ แต่ข้อสงสัยแรก ๆ ของผมคือ ทำไมคนขายลอตเตอรี่ส่วนใหญ่จึงมาจากจังหวัดเลย “ผมคิดว่าเพราะลอตเตอรี่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ การจะชวนใครไปขายก็ต้องรู้จักกันก่อนในระดับหนึ่งครับ” บรรพตให้ความเห็น “แต่เท่าที่ผมรู้ คนที่ไปขายคนแรกมาจากตำบลทรายขาว กลับมามีบ้านมีรถ เลยชวนญาติพี่น้องไปกัน” เขาหมายถึงตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ผมตามหาบุคคลที่ว่าไม่พบ บางคนลงความเห็นว่าเขาอาจเสียชีวิตไปแล้ว) แต่ที่แน่ ๆ เขาคงเป็นคนแรก ๆ ที่แผ้วถางเส้นทางสายลอตเตอรี่ในฐานะ “ทางลัดช่วยให้เซลล์แมนชนบทลืมตาอ้าปากได้” และเป็นต้นแบบหรือโมเดลการขายลอตเตอรี่ในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่นหากคุณมีเงินทุนสักก้อนหนึ่ง (ไม่ได้หยิบยืมมา) การลงทุนซื้อลอตเตอรี่สักชุดจากตลาดขายส่งมาขายต่อเป็นวิธีง่ายที่สุด แน่นอนเงินลงทุนค่อนข้างสูงนั่นคือความเสี่ยงที่คุณเลือกเอง ถ้าโชคดีก็ได้กำไรร้อยละ 25-30 แต่หากไม่มีเงินมากนัก คุณคงต้องพึ่งพาเถ้าแก่นั่นคือคนที่มีฐานะสักหน่อยในชุมชน เขาจะไปรับลอตเตอรี่จำนวนมากจากตลาดค้าส่งมาจัดชุดให้คุณขาย โดยที่คุณยังไม่ต้องควักเงินสักบาท คุณอาจจะรับมาสักสิบเล่ม (1,000 คู่) ในราคาหนึ่ง (ผมตีให้คู่ละ 95 บาท) และนำไปบวกเพิ่มในอีกราคาหนึ่ง (เช่นคู่ละ 110 บาท) เถ้าแก่จะมีรถรับ-ส่ง รวมถึงที่พักในจังหวัดที่คุณไปขายบางรายอาจมีข้าวปลารายวันให้ด้วย หลังการขายในแต่ละวัน คุณต้องทยอยจ่ายค่าลอตเตอรี่ที่ขายได้ให้เถ้าแก่จนครบหนี้ และส่วนที่เหลือคือกำไรของคุณ โดยเฉลี่ย ถ้าคุณขายหมดเกลี้ยง 1,000 คู่ กำไรคู่ละ 15 บาท ก็เท่ากับ 15,000 บาทต่องวด เดือนหนึ่งขายได้สองงวดเท่ากับ 30,000 บาท  “เป็นรายได้ที่คนจบแค่ ป.4 หรือป.6 หาไม่ได้หรอกครับ” บรรพตบอก

แต่เอาเข้าจริงการขายลอตเตอรี่ไม่ใช่งานที่ใครก็ทำได้ บรรพตบอกว่า “เหมือนชวนคนไปหาปลาในหนองเดียวกันย่อมได้ปลาไม่เท่ากัน” ในกรณีที่คุณขายลอตเตอรี่ไม่หมดไม่มีใครรับซื้อคืน คุณต้องเก็บส่วนที่เหลือไว้เอง แล้วความหวังเดียวก็คือลุ้นให้หนึ่งใน “ของเหลือ” เหล่านั้นถูกรางวัลบ้างเพื่อนำมาจ่ายหนี้ นี่เป็นผลจากนโยบายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่รับซื้อคืนลอตเตอรี่ แน่นอนกรณีนี้ทำให้สำนักงานสลากฯ ลอยตัวและได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยในแต่ละงวด แต่สำหรับพ่อค้าแม่ขายรายย่อยแล้ว นี่คือแรงกดดันและทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น

หวย
เมื่อใกล้ถึงเวลาออกรางวัล บรรดาผู้ขายลอตเตอรี่รายย่อยในจังหวัดชลบุรี ต้องเร่งขายลอตเตอรี่ให้หมดเพื่อไม่ให้ขาดทุน ศิวณัฐ รัชตดำรงค์รัตน์ หรือ “ป้าอ้วน” ซื้อลอตเตอรี่งวดละหลายหมื่นบาท ยังคงสนุกกับการตีความฝันของตัวเองเป็นตัวเลข

ละมัย พันเงิน เป็นแม่ค้าอีกคนที่รับลอตเตอรี่จากเถ้าแก่มาขาย งวดไหนขายไม่หมด (และไม่ถูกรางวัล) หนี้จะทบกับของเก่าที่ค้างอยู่ บวกด้วยดอกเบี้ย เธอหยิบลอตเตอรี่ปึกหนึ่งออกมาให้ดูพร้อมใบเสร็จรับเงิน งวดนี้เธอรับมา 5 เล่ม หรือ 500 คู่ (เล่มละ 9,400 บาท) คิดเป็นเงิน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากเงินค้างเก่าอีก 705 บาท (เธอไม่แน่ใจว่าเท่าไร) “ไม่แน่ใจค่ะ แต่เค้าเขียนมาอย่างนี้ก็ต้องหาไปจ่ายเขา” เธอบอก ไม่กี่เดือนก่อน ละมัยเพิ่งเสียสามีคู่ทุกข์คู่ยากไปจากอุบัติเหตุรถชนระหว่างไปขายลอตเตอรี่ที่จังหวัดชลบุรี ขณะที่นงนุช พันเงิน ลูกสาวของเธอ ก็แยกทางกับสามี ส่วนหลานชายเลิกเรียนกลางคัน

“พอแม่ไม่ค่อยได้อยู่กับเค้า ก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ” นงนุชบอก แม้ว่าอาชีพขายลอตเตอรี่จะเป็นความหวังของคนชนบท แต่เหรียญอีกด้านหนึ่งช่างน่าสะพรึง โครงสร้างสังคมชนบทส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปเพราะลอตเตอรี่ ในช่วงขายลอตเตอรี่ เกือบทุกหมู่บ้านในจังหวัดเลยจะเงียบเหงา มีเพียงผู้เฒ่าและเด็กเล็ก เป็นที่รู้กันว่าการหย่าร้าง ชู้สาว หนี้สิน การพนัน ติดเหล้า อุบัติเหตุไปจนถึงการฆ่าตัวตาย มีอัตราค่อนข้างสูงในหมู่คนขายลอตเตอรี่ แรงกดดันจากหนี้สินและสิ่งล่อใจทำให้หลายคน “หลุด” จนกู่ไม่กลับ ที่หมู่บ้านของละมัยมีคนกินยาฆ่าหญ้าตายเพื่อหนีหนี้สิน ละมัยบอกว่า “ไม่รู้สิคะทำอย่างอื่นก็ไม่ได้แล้ว คงต้องขายลอตเตอรี่ไปเรื่อย ๆ ที่ดินทำกินเราก็ไม่มี ผู้ชายบ้านนี้ก็ไม่มีแล้ว”

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ

ภาพถ่าย บัณฑิต โชติสุวรรณเ

เรียบเรียงจากสารคดี “เรื่องไม่ (ลับ) ในวงหวย” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2558

หมายเหตุ ระบบการจัดสรรโควตาหวยและการแก้ไขปัญหาลอตเตอร์รีขายเกินราคาได้รับการแก้ไขและยกเครื่องใหม่โดยรัฐบาล คสช. นับตั้งแต่สารคดีเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์

หวย
บรรพต จุลพล หรือ “กำนันโจ” ผันตัวจากพ่อค้าเร่ขายลอตเตอรี่ในกรุงเทพฯ มาสู่นักธุรกิจใหญ่ในเขตอำเภอภูหลวง จังหวัดเลยทุกวันนี้ นอกจากงานรับเหมาก่อสร้างแล้วเขายังเป็น “เถ้าแก่” พาพ่อค้าแม่ค้าเร่เดินทางไปขายลอตเตอรี่ยังต่างจังหวัด“ถ้าขยันจริงๆ ไม่มีใครจนเพราะลอตเตอรี่หรอกครับ” เขาบอก

 

อ่านเพิ่มเติม

จากตรุษจีนถึงเช็งเม้ง: แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

Recommend