วิทยาลัยพัฒนามหานคร กับพันธกิจสร้างบัณฑิตที่เข้าใจเมือง

วิทยาลัยพัฒนามหานคร กับพันธกิจสร้างบัณฑิตที่เข้าใจเมือง

วิทยาลัยพัฒนามหานคร องค์ความรู้ด้านทฤษฎีและปฏิบัติโดยเจ้าภาพกรุงเทพมหานคร สู่การเป็นผู้นำด้านศาสตร์เขตเมือง

วิทยาลัยพัฒนามหานคร ชื่อตรงตัวที่บอกเล่าถึงความเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านเมืองของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยน้องใหม่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายและวิสัยทัศน์ในการผลิตบัณฑิตที่เป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมือง

“ด้วยกรอบการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมาจากกรุงเทพมหานคร” รองศาสตราจารย์วันชัย มีชาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เริ่มต้นเล่าเรื่องราวการก่อตั้งวิทยาลัย “ในฐานะที่เป็นส่วนราชการของท้องถิ่นซึ่งเซ็ตระบบและผลักดันการทำงานของกรุงเทพฯ ด้วยการเป็นฐานคิดของการเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ จึงเป็นปรัชญาของการจัดตั้งวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากร ‘นักพัฒนาเมือง’ ที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องการบริหารจัดการเมือง การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่ดี”

ในช่วงแรกวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการเมือง) ซึ่งมีทั้งความรู้พื้นฐานจากระดับปริญญาตรีและประสบการณ์ชีวิตเมือง ก่อนขยายสู่การสร้างสรรค์หลักสูตรสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการเมือง และศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบริการ ซึ่งทุกหลักสูตรล้วนมีปฏิสัมพันธ์จริงกับชุมชนและเมือง โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ

หลักสูตรเพื่อเมือง และผลลัพธ์ของเมืองจากหลักสูตร

รองศาสตราจารย์วันชัย มีชาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนามหานคร และ รองศาสตราจารย์แสน กีรติวนันท์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนามหานคร

“เพราะว่าวิถีชีวิตของคนเมืองกับคนต่างจังหวัดมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ภาพกว้างอย่างกายภาพเมือง ไปจนถึงเรื่องระดับบุคคลอย่างความสัมพันธ์ วิธีการที่จะเข้าไปทำความรู้จักหรือเข้าไปดำเนินการที่ทำให้เมืองมีชีวิต มีความเคลื่อนไหวจึงต้องอาศัยชุดความรู้ที่ต่างกัน นี่จึงเป็นที่มาของความคิดที่ว่า ในอนาคตเมื่อสังคมเคลื่อนตัวสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น เราก็จะสามารถนำชุดความรู้นี้เดินทางไปเตรียมการรองรับการจัดการกับเมืองอื่นๆ ที่เป็นเมืองใหญ่ได้ด้วย” รองศาสตราจารย์แสน กีรติวนันท์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนามหานคร เสริมในเรื่องของที่มาของการจัดตั้งหลักสูตร

จากข้อได้เปรียบที่หน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นฐานบัญชาการจริง ผ่านหน่วยงานทั้งหมด 50 เขต กับ 21 สำนักในกำกับ ซึ่งแบ่งตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตของผู้คน และดึงเข้ามามีส่วนสำคัญเป็นพื้นฐานของการเรียน เพื่อการผลิตบัณฑิตที่สามารถค้นหาความสนใจของตัวเองได้ตั้งแต่ยังอยู่ในชั้นเรียน และต่อยอดสู่การทำงานในสนามจริงได้ตรงตามโจทย์และระบบการบริหารเมือง

“เพราะความรู้เรื่องเมืองมีความกว้างขวางมากและประกอบด้วยหลากหลายมิติ ทั้งมิติที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเรื่องการแพทย์ หรือสังคมศาสตร์ในเรื่องวิถีชีวิต หรือแม้แต่กติกาสังคม รัฐจะทำอะไรบ้าง ประชาชนทำได้แค่ไหน ชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร โจทย์ที่ท้าทายก็ต้องอาศัยความรู้รอบ เพราะแค่ลองเดินดู เราก็จะรู้สึกแล้วว่าแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และแต่ละที่ก็มีเสน่ห์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการเข้าไปดูแลจึงต้องอาศัยรายละเอียดที่แตกต่างกัน”

ในส่วนของระดับปริญญาบัณฑิต รองศาสตราจารย์นันทสารี สุขโต รักษาการหัวหน้าภาควิชาบริหารและจัดการเมือง เล่าถึงรายละเอียดของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการเมือง

“ด้วยความเป็นรัฐประศาสนศาสตร์ที่เป็นงานเชิงนโยบาย โดยมีผู้กำหนดนโยบายเป็นสำนักทั้งหมดในกรุงเทพมหานครไปปฏิบัติ การเรียนการสอนจึงทำให้นักศึกษาได้มองเห็นทั้งภาคนโยบายและภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยที่เราเองก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ กทม.​ จึงสามารถเชื่อมประสาน Node ต่างๆ ได้ผ่านบทเรียน”

อาจารย์นันทสารียกตัวอย่างวิชาเรียนที่เชื่อมโยงศาสตร์ทั้งหลายสู่การปฏิบัติจริง “ยกตัวอย่างวิชาการสร้างแบรนด์เมือง (City Branding) เราจะปูพื้นฐานให้เด็กรู้ว่าเมืองเป็นอย่างไร และเชิญวิทยากรจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มาเล่าถึงแนวทางที่สอดรับกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ จากนั้นในช่วงบ่ายก็จะเป็นการลงพื้นที่ย่านเมืองโดยมีเจ้าของชุมชนเป็นผู้นำเที่ยวในเชิงลึก และสานความสัมพันธ์ อย่างการสร้างกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เน้นเรื่องการลดขยะและรีไซเคิลภาชนะหลังการท่องเที่ยวชิมอาหารในย่านนางเลิ้ง ตรงนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเราได้ทำงานกับพื้นที่จริง”

“ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยของเราจึงเป็นการส่งมอบบุคลากรหรือบัณฑิตคุณภาพให้กับกรุงเทพมหานคร ที่สามารถไปทำงานกับสำนักต่างๆ ของกรุงเทพมหานครได้ทันทีทั้งกับสำนัก และสำนักงานเขต นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่อิงกับการมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานคร”

หลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนปัจจุบันของระดับบัณฑิตศึกษา เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ในปี 2563 โดยปรับปรุงจากหลักสูตรแรกในปี 2559 จากเสียงสะท้อนความคิดเห็นของผู้เรียน “เพราะศาสตร์ของเมืองเป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก ถ้าเทียบกับเฉดสีเหมือนสายรุ้ง เราก็เหมือนกับเป็นทุกสีเลย แล้วเราจะทำอย่างไรให้สามารถสื่อสารกับผู้เรียนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และสะท้อนถึงตัวตนของหลักสูตร นี่จึงเป็นที่มาของการจัดกลุ่มการเรียน 5 สายตามความสนใจ” รองศาสตราจารย์มณีรัตน์ องค์วรรณดี ประธานหลักสูตร วท.ม. การพัฒนาและจัดการเมือง ลงลึกถึงรายละเอียดของการเรียนการสอน

ทั้ง 5 สายการเรียน ได้แก่ 1) การขนส่งในเมืองและการจัดการโลจิสติกส์ 2) พลังงานและสิ่งแวดล้อมในเมือง 3) ความสามารถในการแข่งขันของเมือง 4) นโยบายและการปกครองเมือง 5) การวางผังและออกแบบเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของเมือง

รัชดาพร ธรรมไท และรัตนพล ธนเสฐภักดี นักศึกษาหลักสูตร วท.ม. การพัฒนาและจัดการเมือง

“การมาอยู่ที่นี่ทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้นจริงๆ นะคะ” อ.มณีรัตน์เล่าเสริม “เพราะเราอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ใช่แค่ Multidiscipline ธรรมดา แต่มันคือความหลากหลายของสาขาอาชีพของนักศึกษาด้วย ซึ่งผู้เรียนบางกลุ่มก็จะเข้ามาพร้อมกับโจทย์ปัญหาจากหน้างาน แล้วมาพบกับอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการ พร้อมกับการแก้ปัญหาในระหว่างเข้ามาเรียนได้ในเวลาเดียวกัน จนสุดท้าย ประโยชน์ก็จะไปเกิดผลจริงกับบุคคลที่ต้องการ เรียกว่ามาแบบครบลูป ซึ่งบางทีโจทย์ก็ไม่ได้เป็นโจทย์ด้านเดียวมิติเดียว แต่เป็นโจทย์แบบที่ต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างในการบริหารจัดการและพิสูจน์ เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ”

“ที่นี่อาจจะเป็นการบรรจบกันของทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ชัดเจนมากๆ ซึ่งคนที่ทำตรงนี้ก็ต้องเปิดกว้างพร้อมรับในมิติอื่นๆ ด้วย และทำให้คนเปิดกว้างได้ผ่านการเรียนรู้ภายในช่วงเวลาที่รวดเร็วมาก นับเป็นสนามที่ไม่ได้หาได้ง่ายๆ จากที่อื่น”

ภาคบริการ อีกหนึ่งกำลังสำคัญของการพัฒนาเมือง

ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบริการ เป็นอีกหลักสูตรที่ต้องการผลิตบัณฑิตในภาคอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญเติบโตไปพร้อมกันกับเมือง อาจารย์ ดร. นิสากร นครเก่า ประธานหลักสูตร ศศ.บ. การบริการธุรกิจการบิน เล่าให้เราฟังถึงหลักสูตรและความสำคัญของงานบริการกับสังคมเมือง

“จุดเด่นของหลักสูตรเราคือการบินบวกกับการพยาบาล ซึ่งเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยที่เรามีวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ หลักสูตรการบริการธุรกิจการบินของที่นี่จึงพิเศษตรงที่เน้นการฝึกปฏิบัติกับหน่วยงานธุรกิจการบินที่เรามี MOU เอาไว้ พร้อมกับการดูแลสุขภาพและประเมินสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะเหล่านี้ไปใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

กันต์วริศ กลิ่นโชยสุคนธ์ และกัลย์วริยา แสงสุวรรณ์ นักศึกษาหลักสูตร ศศ.บ. การบริการธุรกิจการบิน

คำถามที่อยู่ในใจใครหลายคนคือ ทำไมสาขานวัตกรรมการบริการ วิชาเอกการบริการในธุรกิจการบิน และวิชาเอกการบริการในสถานพยาบาลจึงอยู่ร่วมในวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย “คำตอบก็คือ คำว่าพัฒนามหานคร นั่นหมายถึงการพัฒนาบุคลากรที่ตอบในแง่เศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งในเรื่อการท่องเที่ยวและบริการ ถึงแม้จะเป็นคำว่าการบิน แต่ก็สามารถทำงานในสายงานการท่องเที่ยว หรือการสื่อสารทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการได้เช่นกัน”

เมื่อทุกสาขาวิชามารวมกันในวิทยาลัยแห่งนี้ นี่จึงเป็นแหล่งขององค์ความรู้ชั้นดีที่ตอบโจทย์ความต้องการของกรุงเทพมหานครแบบรอบด้าน “ถ้ามองแบบมิติของการขับเคลื่อนหรือการสร้างอะไรบางอย่างในสังคม เราชัดเจนตรงที่ว่าเราสามารถสร้างบัณฑิตที่เป็นทรัพยากรบุคคลในหน่วยงานกรุงเทพมหานครได้แบบตรงจุดตรงโจทย์” อาจารย์แสนเล่าเสริม

“บัณฑิตของเราจึงพิเศษตรงที่ต้นทุนทางความสามารถและข้อมูลพร้อมใช้งานสำหรับทำงานกับโจทย์ความต้องการของเมืองได้โดยตรง และอีกส่วนที่เกิดขึ้นผ่านการปฏิบัติจริงกับเมืองคือ จิตสาธารณะที่มองเห็นประโยชน์ของสังคมหรือส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การผลิตบัณฑิตของเราจึงต้องมีทั้งความรู้และคุณธรรม เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสังคมอย่างแท้จริง” อาจารย์วันชัยกล่าวสรุป

การประสานกันของ 3 ส่วน ทั้งทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และการบริหารจัดการ เมื่อรวมกันกับความแข็งแรงของเครือข่ายกรุงเทพมหานคร ของหลักสูตรการพัฒนาและจัดการเมือง และหลักสูตรนวัตกรรมบริการที่ได้ประสานองค์ความรู้ร่วมกันกับวิทยาลัยพยาบาล เป็นจุดเด่นผ่านการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อเป้าหมายในการตอบโจทย์ศาสตร์ของเมืองใหญ่ผ่านโมเดลของกรุงเทพมหานคร

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ อนุพงษ์​ ฉายสุขเกษม


อ่านเพิ่มเติม เสือศาสตร์ 101 เรียนรู้เริ่มต้นที่เสือโคร่ง ขยายสู่ความยั่งยืนของระบบนิเวศ

Recommend