มด ภาสกร บุญหงษ์ ยูทูบเบอร์ช่อง More Mod ชวนมองโลกใบเล็กของมด เพื่อเข้าใจโลกใบใหญ่ของเรา

มด ภาสกร บุญหงษ์ ยูทูบเบอร์ช่อง More Mod ชวนมองโลกใบเล็กของมด เพื่อเข้าใจโลกใบใหญ่ของเรา

มด ภาสกร บุญหงษ์ ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง More Mod กล่าวในกิจกรรมเสวนา มองโลกใบเล็กของมด เข้าใจโลกใบใหญ่ของเรา กับ More Mod โดย National Geographic ในงาน บ้านและสวนแฟร์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึงการเป็นคนเลี้ยงมด ที่ได้สังเกตพฤติกรรมของมดสายพันธุ์ต่างๆ และนำมาเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับมด พร้อมยกรังมดมาให้ส่องใกล้ๆ กันในงาน

โลกของมด

ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับพฤติกรรมของมด มด ภาสกร มองว่า มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างมดสู่โลกใบใหญ่ มดไม้ได้เป็นสัตว์โลกที่น่ารำคาญ หากแต่มีความสำคัญในการดูแลป่า ปกป้องธรรมชาติ และมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

ด้วยปริมาณที่มากมายมหาศาลของมด คือมีประชากรมากกว่า 20,000,000,000,000,000 ตัว มีสายพันธุ์มากกว่า 2 หมื่นชนิด ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นสัตว์หนึ่งชนิดที่ครองโลกใบนี้ ขณะเดียวกันภายในโลกของมดเองก็มีความซับซ้อนที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง

จุดเริ่มต้นความสนใจมด

มด ภาสกร ค้นพบว่าสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับมดตั้งแต่เด็ก โดยมาเริ่มศึกษาอย่างจริงใจในช่วงที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้วิธีศึกษาด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์และช่อง YouTube ต่างประเทศ

หลังเรียนจบเขาเลือกทำตาม Passion ของตัวเองด้วยการเปิดช่อง More Mod ทำคอนเทนต์ทาง YouTube Channel เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ มด ก่อนจะพบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกับเขามากพอสมควร จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ผู้ที่ชื่นชอบเรื่องมดขึ้นมา

บ้านของมด

รัง หรือบ้านของมด คือหนึ่งในการจัดประเภทของและพฤติกรรมของมดออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ จากกว่า 1,200 สายพันธุ์ในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น รังผิวดิน รังใต้ดิน รังบนต้นไม้ ซึ่งจะสะท้อนถึงบทบาทของ มด ในรังนั้นๆด้วย

ทั้งนี้ รังผิวดิน ส่วนใหญ่จะเป็นมดที่อยู่ในเมือง ในบ้าน ที่จะแอบสร้างรังในจุดต่างๆ ขณะที่ รังใต้ดิน กับ รังบนต้นไม้ ส่วนใหญ่จะเป็นมดที่อยู่ในป่า ซึ่งมดชนิดที่สร้างรังอยู่ในป่าจะมีการขยายอาณาจักรไปได้ไกลขนาดที่มีรังย่อยชั้นนอก คล้ายๆ กับการสร้างอาณาเขตของมนุษย์หรือสัตว์โลกอื่นๆ

สังคมของมด

หลายคนอาจไม่ทราบว่า มด ส่วนใหญ่ที่เราเห็นเป็นเพศเมีย ในแต่ละรังเติบโตและขับเคลื่อนด้วยมดเพศเมีย เรียกได้ว่ามีบทบาทหลักในรัง ส่วนมดตัวผู้ที่มีจำนวนน้อยมีหน้าที่เพียงผสมพันธุ์ ก่อนจะต้องจากโลกนี้ไปในเวลาไม่นาน

ราชินีมด คือยอดพีระมิดของสังคมมด ในแต่ละรังจะมีราชินีแค่ 1 ตัว เพื่อทำหน้าที่ในการออกไข่ เธอจะได้รับการปกป้องอย่างดีอยู่ในรัง เดิมดี ราชินีมดมีปีกมาก่อน เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้งไป ราชินีมด เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมดทั้งรัง ตั้งแต่จำนวนประชากร พฤติกรรมต่างๆ ไปจนถึงการขยายรัง หาก ราชินีมด ตายลง มดตัวอื่นๆ จะขาดที่พึ่งและแตกกระจายกันไปจนรังล่มสลาย

มดงาน คือมดตัวเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก ตัวเล็ก ทำหน้าที่คอยสร้างรัง หาอาหาร แจกจ่ายเสบียง ขนส่งสิ่งต่างๆ ทำความสะอาด (หลายรังของมดมีที่ทิ้งขยะ) ดูแลตัวอ่อน และ มดราชินี มดส่วนใหญ่ที่เราเห็นล้วนเป็นมดงาน ซึ่งอาจแยกย่อยออกได้อีกเป็น มดเสบียง หรือ มดฮันนี่พอต หรือ มดโถน้ำผึ้ง ที่กักเก็บนํ้าหวานไว้ในท้องจนกลมโต เพื่อเป็นเสบียงให้ฝูง , มดนักตัดใบไม้ ปากจะมีฟันแหลมคมใหญ่ มีหน้าที่สร้างรังบนต้นไม้ ไปจนถึงตัดใบไม้มาทำฟาร์มแบคทีเรียเพื่อเป็นเสบียง และ มดเกษตรกร มดตัวเล็กที่สุดที่ทำหน้าที่เพราะเลี้ยง รา แบคทีเรีย เพลี้ย ไว้ในรังเพื่อสร้างอาหารในรังได้เอง มดทำฟาร์มส่วนใหญ่จะไม่มีหน้าที่อื่นนอกจากผลิตเสบียง

มดทหาร จะมีขนาดลำตัวใหญ่ (เล็กกว่ามดราชินี) พบได้ภายในรังและบริเวณใกล้รังเพื่อป้องกันศัตรูต่างๆ หากอยู่ไกลรังจะเป็น มดสายตรวจ ที่ทำหน้าที่ปกป้องชายแดน เพราะมดเป็นสัตว์ที่หวงถิ่นมาก หลายครั้งพบรังที่อยู่เขตชั้นนอกอาณาเขต ภายในจะมีขนาดเล็ก ไม่มีราชินีหรือตัวอ่อน เป็นเพียงจุดประกาศเขตแดน คือด่านหน้าในการรับมือกับมดจากรังอื่น โดยการขยายอาณาเขตก็เป็นหน้าที่ของมดทหารเช่นกัน แต่มีสิ่งที่น่าสนใจคือกลิ่นของรังจะช่วยเพิ่มพลังของมดทหารได้ ดังนั้นการต่อสู้ของมดนั้น ความได้เปรียบจะอยู่ที่มดเจ้าถิ่น ซึ่งกองทัพมดไหนได้ต่อสู่ในรังตัวเอง จะมีโอกาสชนะมากกว่า กองทัพมดรุกรานที่มาจากรังอื่

มดตัวผู้ เป็นมดมีปีก ลำตัวขนาดใหญ่ (เล็กกว่ามดราชินี) มีกล้ามเนื้อปีกที่บริเวณอก ทำหน้าที่สืบพันธุ์เท่านั้น หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะตายภายใน 1-2 วัน (บางสายพันธุ์ตายใน 2-3 ชั่วโมง) โดยส่วนใหญ่จะถูกฆ่าหรือทิ้งให้อดอาหารตาย เนื่องจากไม่มีประโยชน์หรือความสำคัญในระบบนิเวศมดแล้ว ซึ่งวงจรชีวิตของมดเพศผู้ ถ้าไม่นับเรื่องตายเร็ว ก็ค่อนข้างจะสุขสบาย เพราะได้อยู่เฉยๆ กิน พักผ่อน ตลอดชีวิต รวมถึงได้รับการปกป้องอย่างดี เพื่อรอวันที่จะได้ผสมพันธุ์กับราชินี

วิวัฒนาการของมด

มดเป็นอีกหนึ่งสัตว์ชนิดหนึ่งของโลกที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน อยู่มาตั้งแต่สมัยดึกดําบรรพ์ เช่นการเพาะเลี้ยงเชื้อราเพื่อผลิตอาหารด้วยตัวเองในมดหลายสายพันธุ์ก็เป็นหนึ่งในวิวัฒนาการของมด

ส่วนมดที่อยู่ในป่าก็มีวงจรชีวิตที่น่าสนใจ เช่น มดในป่าดิบชื้นแถบอเมริกาใต้ ที่สร้างรังใต้ต้นไม้เป็นอาณาจักรใหญ่ ซึ่งเกิดการสร้างปุ๋ยธรรมชาติให้กับต้นหลายโดยรอบ ทำให้ป่าบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์กว่าจุดอื่นๆ รวมถึงยังพบว่ามดได้ฉีดกรดใส่วัชพืชหรือพืชสายพันธุ์อื่นๆ ไม่ได้งอดเงยในพื้นที่รอบอาณาเขต ทำให้ต้นไม้สายพันธุ์นั้นๆ เจริญเติบโตงอกงามดีขึ้น โดยไม่มีอุปสรรค

ด้านมดในเมืองเองก็มีการปรับตัว ด้วยการนำวัสดุต่างๆ ของมนุษย์มาปรับเป็นรังประเภทต่างๆ นำไปสู่รูปแบบการเลี้ยงมดของกลุ่มคนรักมด ในหลอดทดลอง กล้องพลาสติก และ รัง Setup ธรรมชาติ เป็นต้น

ใครที่สนใจอยากรู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับมดมากขึ้น สามารถติดตามช่อง More Mod ของ มด ภาสกร บุญหงษ์ ได้ที่ https://www.youtube.com/@moremod

เรื่อง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

อ่านเพิ่มเติม เม ศิรษา บุญมา จากเพจ Hear & Found ผู้ใช้การฟังเล่าเรื่องวัฒนธรรมผ่านดนตรีชนเผ่าและเสียงของท้องถิ่น

Recommend