เปิดบ้าน Harbour Space ม.หอการค้าไทย หลักสูตรนวัตกรรมแนวใหม่ จากบาร์เซโลนา ที่ผู้เรียนกว่า 90% คือนักเรียนทุน

เปิดบ้าน Harbour Space ม.หอการค้าไทย หลักสูตรนวัตกรรมแนวใหม่ จากบาร์เซโลนา ที่ผู้เรียนกว่า 90% คือนักเรียนทุน

ชวนรู้จัก Harbour Space สถาบันโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและ Harbour Space บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับนักเรียนผู้มีความสามารถทั่วโลก

ในลิฟต์มุ่งสู่ชั้น 6 อาคาร 10 คือสถานที่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่ถ้าได้ลองผลักประตูเข้าไปสู่ Harbour.Space@UTCC บรรยากาศของที่นี่ไม่เหมือนสถาบันในประเทศไทยเลยสักนิด

ห้องโถงสว่างสดใส ห้องบรรยายและ มุม Meeting ย่อยๆ กระจายอยู่ในชั้นแบบเดียวกับ Co-working Space ด้านหน้ามีบาร์น้ำเป็นจุดต้อนรับ ไม่นับเสียงพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษที่เราได้ยินตั้งแต่เดินออกจากลิฟต์

“สวัสดีครับ ได้ลงทะเบียนมารึเปล่า” หนึ่งในทีมงานทักทายเรา และในวันนี้เราน่าจะเป็นคนไทยในจำนวนไม่ถึงสิบคนในงาน “Demo Day”

ปลายเดือนสิงหาคม คือวันที่สมาชิก Harbour Space@UTCC เรียกมันว่า Demo Day ซึ่งหมายถึง The Demo Day & Graduation Ceremony โดยสมาชิกจะร่วมฟังการนำเสนอผลงานและร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้สำเร็จการศึกษา และต้อนรับนักศึกษาใหม่หลักสูตร และทั้งหมดก็เป็นโอกาสดีที่จะพาเราไปรู้จักหลักสูตรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับ Harbour Space บาร์เซโลนา (Barcelona) ประเทศสเปน ให้มากกว่าเดิม

Harbour Space กรุงเทพแคมปัส

จุดเริ่มต้นของ  Harbour Space มาจากการก่อตั้งของคุณสเวทลานา เวลิคาโนวา (Svetlana Velikanova) หญิงชาวยูเครนที่เกิดมาในครอบครัวยากจน เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคชีวิตเพราะเศรษฐกิจของครอบครัว แต่โชคชะตาก็ทำให้เธอได้พบการศึกษา และเป็นสิ่งนี้เองที่ทำให้ “ลานา” มีชีวิตดีขึ้น

“ใช่ ฉันมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อฉันได้เริ่มรับโอกาส สิ่งต่างๆค่อยๆเปลี่ยนไป ฉันคิดมาตลอดว่าถ้ามีโอกาส วันหนึ่งฉันจะเปิดมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากที่เคยมีมาก่อน ในห้องเรียนครูจะรับฟังความเห็นของนักเรียน และสถาบันการศึกษาที่ดี ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่ร่ำรวย เราจะทำให้คนที่ไม่ได้ร่ำรวยได้รับการศึกษาแบบ High Quality ได้เช่นเดียวกัน” เธอกล่าวกับ National Geographic ภาษาไทย

คุณสเวทลานา เวลิคาโนวา CEO และผู้ก่อตั้ง Harbour Space

Story ชีวิตของ “ลานา” เราคงติดตามได้ไม่ยากจากคลิปของ TEDx Talk หรือเวทีสัมมนาต่างๆ ที่เธอมักไปพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนตัวเล็กๆที่ลุกขึ้นมาทำตามความฝัน ในนามของหัวข้อ The university of the future แต่สิ่งที่เธอพยายามเน้นย้ำคือ การเปิดโอกาสให้การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นจริงได้โดยไม่ต้องแลกมาด้วยการจ่ายเงินในจำนวนมากเสมอไป และครั้งหนึ่งเธอก็ริเริ่มโมเดลการให้เงินผู้คนที่ไม่รู้ภาษาไปเรียนหนังสือ และส่งเสริมให้คนที่มีเงินใช้เงินไปกับการส่งเสริมการศึกษาของผู้อื่น

ผศ.ดร.มานา ปัจฉิมนันท์ คณบดีบัณทิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายว่า  Harbour Space ที่เมืองบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นแคมปัสแรก เปิดมาแล้ว 7 ปี และสถาบันนี้ได้เป็นเครือข่ายของสภามหาวิทยาลัยหอการค้า โดยบอร์ดของหอการค้าซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นนักธุรกิจชั้นนำ เช่น กรณีนี้  ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  ได้เห็นความแตกต่างและจุดเด่นของ Harbour Space จึงพูดคุยกับคุณลานา ถึงความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดนี้มายังประเทศไทย

ผศ.ดร.มานา ปัจฉิมนันท์ คณบดีบัณทิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“โมเดลของการก่อตั้งคือ ความมุ่งหวังที่ต้องการให้คนทุกระดับ แม้กระทั่งนักเรียนที่ไม่มีเงินได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่บริษัทจะเป็นผู้สนับสนุน เพราะบริษัทต้องการคนที่มีคุณภาพ จึงมีโมเดลของการให้ทุนจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในภาคธุรกิจ ซึ่งหอการค้าไทยเหมาะสมอย่างยิ่ง ในการผสานความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยกับนักเรียนที่สมควรได้รับทุน”

“ที่นี่จะเปิดรับนักเรียนคือระดับปริญญาตรี เริ่มจากมหาวิทยาลัยจะไปเชิญชวนนักเรียนที่มีศักยภาพ ตามโรงเรียนสายวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้เด็กเก่งที่มี Passion ในสาขาที่สถาบันเปิดสอน จากนั้นจะไปหาองค์กรที่พร้อมจะสนับสนุนนักเรียนเหล่านั้น โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะเริ่มทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วยตั้งแต่เทอมแรกของการเรียน ส่วนในระดับปริญญาโท บริษัทจะส่งพนักงานมาเรียนโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับอีกด้านที่เมื่อองค์กรต้องการหาคนทำงาน องค์กรในเครือข่ายจะติดต่อกับ ม.หอการค้าไทย โดยเราจะคัดเลือกบุคลากรที่มี Talent พิเศษ ให้ตรงกับความต้องการขององค์กร”

“เราเปรียบเสมือนเป็น Job Hunters เลยนะ คือเมื่อได้คนแล้ว ก็ส่งไปให้องค์กรเป็นผู้สนับสนุนการเรียน  เขาก็จะมาเพิ่ม Skill การเรียนที่ Harbour Space เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย พอจบก็ไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องทำงานต่อ เป็นอิสระของผู้จบที่จะเลือกชีวิตเอง และถ้าเทียบเป็นสัดส่วนนักเรียนของที่นี่ก็จะได้ทุนเรียนเกือบทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนนักเรียนไทยกับต่างชาติอยู่ที่ 20:80”

หลักสูตรเพื่อนวัตกรรมและผู้ประกอบการ

หลังจากมีบัณฑิตจบไปแล้ว 2 รุ่น นักศึกษาที่ Harbour.Space ปัจจุบันนี้คือรุ่นที่ 3  โดยที่นี่สอนหลักสูตรนานาชาติ เปิดรับนักศึกษาจากทั่วโลก เพื่อศึกษาระดับปริญญาตรี ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี และระดับปริญญาโท ซึ่งมีระยะเวลาการศึกษา 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่ศึกษา

หลักสูตรที่นี่มีอะไรบ้าง ? คำตอบคือการเน้น ไปทางการผลิตบุคลากรโดยมีตีมหลักคือ High-Tech Entrepreneur ซึ่งเป็นหลักสูตรนำร่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาทั่วไป ประกอบไปด้วย  2 ด้าน สำคัญ คือ ด้านเทคโนโลยีได้แก่ Cyber Security, Computer Science, Data Science กับส่วนด้านที่เป็นธุรกิจและการออกแบบได้แก่ Front-end Development, Interaction Design, Digital Marketing และ Fintech และทั้งหมดมีสถานที่จัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อาคาร 10 ชั้น 6 จากนั้นจะได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้น ณ Harbour.Space University เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับนานาชาติ

ห้องอ่านหนังสือส่วนตัว ผู้เรียนคนใดต้องการพื้นที่เงียบๆ สามารถมาใช้ห้องนี้ที่กระจายอยู่ในชั้นได้

“ถ้าถามว่าอะไรคือความแปลกใหม่ของที่นี่ ก็น่าจะเป็นระบบการเรียน โดยที่นี่ไม่ได้สอนตามภาคเรียน แต่จะสอนทีละวิชา จบวิชาหนึ่งค่อยต่ออีกวิชาหนึ่ง โดยนักศึกษาจะต้องเรียนทีละวิชา แต่ละวิชา แต่ละ Skill ยาว 3 สัปดาห์ และเรียนทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง พอจบวิชาหนึ่งก็เรียนวิชาใหม่ต่ออีก 3 สัปดาห์ ปีหนึ่งก็จะได้ 15 ทักษะ คลาสหนึ่งจำนวนประมาณ 25 คน”

แน่นอนว่า เนื้อหาของที่นี่เน้นไปทาง Project-based Learning นักศึกษาทุกคนจะถูกผลักดันให้คิดค้นโปรเจกต์ คิดสตาร์ทอัพของตัวเองขึ้นมาเมื่อเริ่มคลาสแรก แล้วนำสตาร์ทอัพนี้ไปพัฒนาต่อในคลาสต่อ ๆ ไป ซึ่งมีข้อดีตรงที่ผู้เรียนจะได้ใช้วิชาให้เป็นประโยชน์จริง ๆ และยังมีสิ่งที่เรียกว่า Interdisciplinary Skills คือหากเรียนสาขาใดอยู่ แล้วไปสนใจศาสตร์ข้ามสาขา ก็ Take Course เพื่อเพิ่มทักษะได้

ไฮไลท์จากนั้นก็น่าจะเป็นผู้สอน ซึ่งที่นี้จะเน้นไปที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เป็นผู้มาจากอุตสาหกรรมนั้น ไม่เน้นทางด้าน Academic จำเป็นต้องจบ ป.โท หรือ ป.เอก แต่ ๆ จริงๆ

“อย่างวิชาแรกที่ทุกคนจะได้เรียน ก็คือ From Zero To Hero ซึ่งสอนโดยคุณ Kamran Elahian ผู้ประกอบการระดับโลกที่สร้าง Unicorn ถึง 3 บริษัท ส่วนคนอื่นๆก็เช่น ลอเรน เคเลนซา ซีเนียร์ดีไซเนอร์ และนักวางกลยุทธ์จากกูเกิล ซึ่งมีประสบการณ์ในการสร้างแผนที่กูเกิลแมพ

“แอนดี้ เครโตดินา ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ของออร์บิต มีเดีย สตูดิโอ บริษัทออกแบบเว็บไซต์ที่ได้รับรางวัลมากมาย เป็น 1 ใน 10 ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ที่น่าจับตามอง จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์”

ถึงตรงนี้ถ้าถามว่าค่าใช้จ่ายในการศึกษาอยู่ที่เท่าไร? ผศ.ดร.มานา อธิบายว่า ที่นี่คือเป็นหน่วยยูโร แต่เทียบกับเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี ทั้งปริญญาตรีและโท โดยการเรียนปริญญาโทถ้าเป็นสายธุรกิจอยู่ที่ 1 ปี ถ้าเป็นสาย Tech จะอยู่ที่ 1-2 ปี

ทั้งหมดเป็นอีกทางเลือกของผู้ที่กำลังมองหาหลักสูตรและคุณภาพในระดับสากล แต่ยังคงได้ใชีชิวตอยู่ในประเทศไทย

ภาพ : ปริยวิศว์ ณ ถลาง

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเรื่องที่น่าสนใจ :ผศ.ดร.สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล เล่าเรื่องธรณีวิทยา ย้อนอดีตจากหลักฐานในก้อนหิน เพื่อตามหาขุมทรัพย์ของอนาคต

Dr. Sukonmeth Jitmahantakul

Recommend