เยี่ยมชมและอัพเดทความเป็นไปของสถาบัน โคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN – KMITL) โรงเรียนผลิตนักนวัตกรรมที่ได้หลักสูตรจากประเทศญี่ปุ่น
ทุกวันนี้ ทางเลือกในการศึกษามีมากมาย และที่เป็นหลักสูตรนานาชาติก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ทำไมพวกเขาถึงเลือก เรียนที่ โคเซ็น (KOSEN) ?
เราเอาคำถามนี้ไปสอบถามกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN – KMITL) จำนวน 3 คน ก่อนพบคำตอบที่มีจุดร่วมเดียวกันว่า พวกเขาอยากเป็นวิศวกร และต้องการเน้นการเรียนที่สานฝันของพวกเขาโดยเฉพาะ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเหมาะสมกับตัวเองมากกว่าการเรียนแบบกว้างๆ ซึ่งเสียเวลาโดยไม่จำเป็น
“เคยสอบถามกับรุ่นพี่ที่เรียนหมอ พิจารณาจากแนวการเรียนคิดว่าไม่น่าเหมาะกับเรา คนที่เรียนแพทย์ต้องอยู่กับชีวิตของคน มันน่าจะต้องรับความกดดันได้มากเลยนะ คิดว่าไม่เหมาะกับตัวเอง หนูเป็นพวกนักรื้อตั้งแต่เด็กๆ มีอะไรก็ต้องแกะมาดูว่ามันทำงานอย่างไร อันนี้มันทำงานอย่างไร” กษิรา ลิ่วนภโรจน์ และบัณฑิตา เพ็งโต นักเรียนชั้นปีที่ 1สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าช่วยกันสรุป
ขณะที่ ณัฐภัทร์ นุชนวล นักเรียนชั้นปีที่ 1 สาขาเดียวกัน อธิบายเพิ่มเติมว่า เลือกเรียนสถาบันที่มีวัฒนธรรมการเรียนแบบประเทศญี่ปุ่น เพราะชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยมีจุดเริ่มมาจากการฟังดนตรี J-POP ติดตามวงไอดอล ก่อนลึกซึ้งขึ้นจนถึงการเรียนภาษาญี่ปุ่น และทั้งนี้เขาก็ยินดีเป็นอยากมาก หากในอนาคตจะประกอบอาชีพวิศวกรที่ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบคนญี่ปุ่นตามข้อตกลงของสถาบันที่ทำกับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“ไม่เคยตกยุค เอาจริงเอาจัง เป็นมืออาชีพ และให้คุณค่ากับพนักงานที่มีความสามารถ ตั้งแต่วันแรกจนเกษียณ” คือนิยามของวัฒนธรรมองค์กรตามแบบฉบับของญี่ปุ่นที่เราช่วยกันถอดรหัส และหลักสูตรของโคเซ็นมีเป้าหมายคือการผลิตนักนวัตกรรม และวิศวกรที่เข้มข้น ซึ่งนักศึกษาของที่นี่ต่างเลือกแล้วว่าจะเอาดีทางการเรียนเช่นนี้ เพราะหลักสูตรที่ว่าด้วยการเตรียมตัวเป็นวิศวกร เทคโนโลยี การผลิตนวัตกรรม เป็นธรรมชาติกับพวกเขามากกว่า การจะมุ่งเรียนไปในสายแพทย์ ชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์แขนงอื่น
ถอดรหัสแนวคิด สู่การเรียนแบบโคเซ็น
ถึงตรงนี้หากถามว่าโคเซ็นคืออะไร คำตอบในวันนี้ คงไม่ต้องอธิบายมากเท่ากับเมื่อ 4-5 ปีก่อน เพราะนี่คือหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มข้น ทั้งภาควิชาการ และภาคปฏิบัติจากประเทศญี่ปุ่น
คำว่า โคเซ็น (Kosen) มาจากแนวทางของสถาบันโคเซ็น ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่นในการสร้างบุคลากรด้านเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรม และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการออกแบบหลักสูตร ไล่เลี่ยกับที่ KOSEN KMUTT หรือ สถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้ให้ความช่วยเหลือผ่าน Yen Loan สำหรับให้ทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อที่ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น และสำหรับการฝึกอบรมอาจารย์และผู้บริหารไทยโคเซ็นในประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลไทยมีความหวังในการผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร กลับมาทำงานที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
รศ. ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา ผู้อำนวยการสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์ National Geographic ภาษาไทย ว่า ปรัชญาของโคเซ็น ถูกถอดรหัสผ่านระบบการศึกษา เริ่มตั้งแต่การรับนักเรียน โดยจะคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์และสนใจศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าเรียนในหลักสูตร 5 ปี ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาล เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันโคเซ็น ควบคู่กับอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก สจล
“ผู้ที่จบจากโคเซ็นจะเป็นวิศวกรที่ใช้ได้ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น เพราะเราเรียนเป็นภาษาอังกฤษ และตอนจบก็จะมีการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น ที่ทุกคนต้องอยู่ในระดับ N3 ขึ้นไป มากกว่านั้น นักศึกษาจะได้รับโอกาสศึกษาดูงานกับบริษัทชั้นนำที่ประเทศญี่ปุ่นและสามารถสอบคัดเลือกเพื่อรับทุนศึกษาต่อในระดับ Advanced Course (ปริญญาตรี) ทั้งที่สถาบันเองและที่ประเทศญี่ปุ่น”
“ในวงการวิศวกรรม หลักสูตรของโคเซ็นเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งรวบรวมว่ามีมากกว่า 1500 แห่ง โดยที่บริษัทกลุ่มนี้เป็นพาร์ทเนอร์กับสถาบัน ที่พร้อมจะรับนักศึกษาเราเข้าไปทำงานทันทีหลังเรียนจบในตำแหน่งวิศวกร และมีอัตราค่าตอบแทนที่มากกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากผู้ที่จบจากที่นี่จะมีทักษะภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นในระดับที่สามารถทำงานได้ วิศวกรที่จบจากหลักสูตรของสถาบันโคเซ็นได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถตรงตามความต้องการ สถาบัน KOSEN – KMITL จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลิตวิศวกรรุ่นใหม่ของไทยให้มีคุณภาพเทียบชั้นกับวิศวกรในบริษัทระดับโลก จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น”
วิศวกรไทย–ญี่ปุ่น มาตรฐานระดับสากล
ในปีการศึกษา 2567 นี้ สถาบันเปิดหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ใช้เวลาเรียน 5 ปี ประกอบไปด้วย 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Engineering and Electronic Engineering) วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) โดยผู้จบการศึกษาสามารถเลือกเข้าทำงานในบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับสถาบัน ขณะเดียวกันยังสามารถเรียนในระดับที่สูงขึ้นคือหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมนวัตกรรมขั้นสูง อีก 2 ปี
“ที่นี่เราเน้นวิชาปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning: PBL) โดยเอา Topic ของบริษัทจริงๆมาเป็นหัวข้อ เช่น จะสร้างหุ่นยนต์ที่แบกของตามจุดต่างๆ นักเรียนก็จะสร้างเอง ตั้งแต่ต้นจนจบ เอาไปใช้งานจริง ได้รับการพิจารณาผลงานจากบริษัทนั้นจริงๆ ทำให้เมื่อไปอยู่หน้างานนักศึกษาจะทำงานได้จริง เป็นการเรียนคู่กับการปฏิบัติตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้าย
“เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่การเรียนที่นี่ทุกอย่างฟรีหมด ตั้งแต่ค่าเรียน ค่าหอพัก ค่าอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ โดยจะถูกปลูกฝังในด้านระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นปรัชญาสำคัญในการทำงานแบบวิศวกรญี่ปุ่น ที่มักจะทำงานที่เดิมเป็นเวลานาน เพราะถ้าคุณมีฝีมือ องค์กรก็พร้อมจะสร้างบุคลากรให้เติบโตไปด้วยกัน มีค่าตอบแทนที่ดี สถาบันโคเซ็นมีทั้งอาจารย์ไทย และอาจารย์จากญี่ปุ่นที่สอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีความรับผิดชอบ และเป็นระเบียบสูง เริ่มตั้งแต่วิชาแรกที่นักเรียนต้องเข้าห้อง Home Room ในแต่ละสัปดาห์” รศ. ดร.ณัฐวุฒิ อธิบาย
นนทชา โดมพนานคร นักศึกษาชั้นปีที่ 5 วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ รุ่นแรก บอกว่า หลังจบจากโคเซ็นเขาเลือกแผนรับทุน 100% และไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยในโอกินาวา และแน่นอนว่า เมื่อจบออกมาเขาก็จะทำอาชีพวิศวกรที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เข้าเรียน
“ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนที่นี่ คงเป็นเพราะ ตอนนั้น (ม.3) สนใจเริ่มเขียนโปรแกรม ชอบร่วมแข่งหุ่นยนต์ ชื่นชอบงานประดิษฐ์ และรู้ตัวเองว่าชอบอะไรมาตลอด การเลือกเรียนที่นี่จึงเหมือนเป็นการต่อยอดความชอบ และตัดการเรียนในสิ่งที่ไม่จำเป็นออก”
การเรียนที่นี่จึงเหมาะกับผู้ที่สนใจอาชีพวิศวกร มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ สนใจในการปฏิบัติ การประกอบสิ่งต่างๆ และสนใจที่จะเป็นนักประดิษฐ์ โดยมีกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น เพื่อคัดนักเรียนสายวิทย์จาก 5,600 คน เพื่อเหลือ 177 คนต่อปี ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกพัฒนา ปลูกฝัง เพื่อให้มีทักษะและวิธีคิดแบบวิศวกรมืออาชีพตามแบบฉบับหลักสูตรที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น เพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตต่อไป
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ