ถอดส่วนผสม ‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร’ สถาบันเอกชนเฉพาะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พร้อมมุ่งสู่สากลด้วยหลักสูตร 2+2 เรียนไทยต่อต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายสร้างวิศวกรที่ทำงานได้ทั่วโลก
ลองจินตนาการถึงประเทศไทยในวันข้างหน้า
รถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน เส้นทางที่จะเชื่อมโยงไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ระบบเครือข่ายไร้สาย อินเทอร์เน็ตสาธารณะความเร็วสูง ลดช่องว่างทางการศึกษา เสริมศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน
โครงการการก่อสร้างอัตโนมัติที่ช่วยปรับกระบวนการที่ซับซ้อนให้คล่องตัว ลดเวลาการทำงาน ลดฝุ่นและมลภาวะ ขณะที่คุณภาพชีวิตของแรงงานก่อสร้างสูงขึ้น
และอีก ฯลฯ
คงไม่มีใครบอกได้ชัดๆว่า อนาคตของประเทศไทยที่เคยจินตนาการไว้จะเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด แต่ไม่ว่าการพัฒนาจะออกมาในรูปแบบใด ‘วิศวกรรมและเทคโนโลยี’ ยังเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญที่ทำให้ภาพจินตนาการเป็นจริงได้เสมอ
ท่ามกลางทางเลือกในการศึกษาที่มีมากมาย หนึ่งในสถาบันการศึกษาในไทยที่เอาจริงเอาจังด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร นั่นเพราะผู้ก่อตั้งศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม และคณะผู้บริหารล้วนมีภูมิหลังมาจากการเป็นวิศวกร ทั้งในภาควิชาการและวิชาชีพที่เข้มข้น และต้องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นการศึกษาด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะ
ปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา National Geographic ฉบับภาษาไทย ได้มีโอกาสไปสำรวจสถาบัน โดยมี รศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีคนปัจจุบัน อธิบายความเป็นไป ความหวัง และโอกาสในการพานักศึกษาไทยที่สนใจด้านวิศวกรรมสู่การเป็นวิศวกรมืออาชีพที่พร้อมจะลุยงานในไทยและในระดับภูมิภาค


เปิดบ้านมหานคร
ที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดทำการสอนตั้งแต่ พ.ศ.2533 โดยระยะแรก เปิดการสอนเพียง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาได้ขยายการเรียนการสอนไปในสาขาวิชาต่าง ๆ จนกระทั่งในปัจจุบันที่นี่เปิดสอนใน 3 คณะคือ 1. คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 2. คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ 3. คณะบริหารธุรกิจ
สถาบันโฟกัสในหลักวิชาที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ทั้งในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง, วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์, วิศวกรรมควบคุมอุตสาหกรรมและเครื่องมือวัด, วิศวกรรมโยธา, วิศวกรรมเครื่องกล, วิศวกรรมกระบวนการและอุตสาหการ (สาขาวิศวกรรมกระบวนการเคมี), วิศวกรรมกระบวนการและอุตสาหการ (สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์) , วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และออโตเมชัน, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (สาขา Embedded IoT and Network), วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (สาขา Data science and System Management) รวมถึงวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมโมบายซอฟต์แวร์ ,วิศวกรรมเครือข่ายและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, เทคโนโลยีดิจิทัล มัลติมีเดียอาร์ต
“เราโฟกัสในสายวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน นี่คือ Back Bone (กระดูกสันหลัง) หัวใจหลักของการเรียนวิศวกรรมคือการสร้างนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี ขณะที่อีกด้านคือการที่วิชาชีพนี้ ต้องรับผิดชอบในความปลอดภัยของการก่อสร้างต่างๆ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมโรงงาน และการก่อสร้างอาคาร ถนนหนทาง ต่างๆ” รศ. ดร.ภานวีย์ ผู้บริหารรุ่นที่ 2 อธิบาย
“การที่เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน เราต้องตอบตัวเองได้ว่า คนที่จะมาเรียนกับเราเขาจะได้อะไร ซึ่งคำตอบคือเราเปิดโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรม อยากเป็นวิศวกร รวมถึงผู้ที่ทำงานในสายงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่ต้องการปริญญาเพื่อปรับวุฒิ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ใบ กว. วิศว) ซึ่งในบางสาขาอาชีพจำเป็นต้องใช้ เพราะวิศวกรรมด้านนี้ต้องรับผิดชอบงานวิศวกรรมที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะได้”
เป้าหมายของมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนาวิศวกรและนวัตกรรม จึงอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาผู้ประกอบอาชีพที่ทำอยู่แล้ว ผ่านการรับสมัครจากผู้จบการศึกษาหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะมีทักษะทางวิชาชีพมาบ้างแล้ว ขณะอีกด้านคือการรับนักศึกษาจากผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุกสาขาที่มีความมุ่งหวังจะเป็นวิศวกร
บรรยากาศส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัย จึงไม่ต่างอะไรกับการเป็นสถาบันเพื่อวิศวกรและนักนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิบัติงานจริงมาก ตลาดแรงงาน หรือภาคอุตสาหกรรมใช้เครื่องมือแบบไหน จะมีการปรับตามการใช้งานจริง อาทิ ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ (Robotics LAB) ที่รวบรวมแขนกลโรงงานระดับ แบรนด์ชั้นนำ ABB KUKA และ Han’s ห้องพิมพ์ขึ้นรูปสามมิติ (3D Printing Room)
โรงงานผลิตน้ำดื่ม (Process Control and Automation LAB) ห้องปฏิบัติการ PLC Mitsubishi และ PLC Siemens (Programmable Logic Control) ห้องปฏิบัติการขั้นสูง อาทิ ห้อง Advanced Electronics LAB เป็นห้องปฏิบัติการเครื่องมือเฉพาะ สำหรับการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าระดับพิเศษความถี่สูง ล่าสุดกับห้องปฏิบัติการ PCBA (SMT Production Line) ตอบโจทย์อุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่
DNA วิศวกรรมศาสตร์ มหานคร
ถ้าใครอยู่สายงานวิศวะ ชื่อบัณฑิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ไม่ใช่บุคลากรหน้าใหม่ เพราะนอกจากอายุของสถาบันที่มากกว่า 35 ปี อัตราการเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง งานวิจัย จำนวนศาสตราจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ การร่วมมือกับต่างประเทศ ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกประจำปี 2021 ของ SIR มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้เป็นอันดับ 1 ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน และอีก ฯลฯ ปัจจัย ล้วนอธิบายว่า มหาวิทยามหานครฯ เอาจริงเอาจัง ในสาขาวิชาวิศวกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
“ถ้าถามว่าจุดแข็งของมหานครคืออะไร ก็ต้องบอกว่าเราเป็นสถาบันวิศวกรรมและเทคโนโลยี ที่พร้อมทำงาน ทั้งในระดับปฏิบัติการและการออกแบบวางแผน เป็นนักนวัตกรรมที่พร้อมสร้างสิ่งใหม่และยึดมั่นในหลักวิชาชีพเพื่อความปลอดภัย เคยมีคนบอกว่า เด็กของเรา อึด ทน ถึก ไม่เกี่ยงงาน (หัวเราะ) พูดเรื่อง Academic (วิชาการ) เข้าใจ และพร้อมปีนเสาไปทำงานได้ เราสอนหลักการไม่ต่างจากสถาบันทั่วไป แต่ที่เน้นคือเราจะรู้ไปทำไม เอาไปทำอะไร วิธีใช้คืออะไร เราให้คอนเซปต์นี้ไปกับอาจารย์”
“ในห้องเรียน เราอาจจะเคยถามกันว่าแสงมีความเร็วเท่าไร แต่ที่เราเน้นคือเราจะรู้ไปทำไม เช่นความเร็วแสงเท่านี้เมื่อมันไปอยู่ในสายออฟติกไฟเบอร์จะทำให้อินเทอร์เน็ตและการสื่อสารเร็วขึ้นอย่างไรบ้าง พอรู้แล้ว เราก็ต้องไปลงมือปฏิบัติ อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ด้านนี้คืออะไรบ้าง จะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์อะไร และแน่นอนว่าวิศวกรที่ดีในวันนี้ไม่ได้รู้แค่เรื่อง Hard skill มีทักษะการปฏิบัติ แต่ต้องมี Soft skill ทำงานกับการตลาดได้ สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจ ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมที่ตัวเองยืนอยู่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนได้อย่างไร เราไม่จำเป็นต้องเอา Soft skill หรือความต้องการของยุคสมัยไปเปิดเป็นรายวิชาใหม่ แต่แทรกซึมไปกับทุกหัวข้อของวิชาวิศวกรรม”




หลักสูตร 2+2 เรียนไทยต่อต่างประเทศ
ที่ผ่านมามหานคร ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนคณาจารย์เพื่อทำงานวิจัยและอื่น ๆ การจัดตั้งห้องวิจัย Mahanakorn IC Design Lab ที่ Imperial College ประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นห้องวิจัยและห้องปฏิบัติการของอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักศึกษา การวิจัยกับ The University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย
และในปี 2568 นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดโครงการพิเศษ 2+2 เรียนต่อปริญญาตรีต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่ประเทศออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มต้นเรียน 2 ปีแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร อีก 2 ปีหลังที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญา เรียนจบ 4 ปี ได้ปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยคู่สัญญาปลายทาง คือ University of New South Wales (UNSW), James Cook University (JCU) หรือOxford Brookes University ตามลำดับ
“โครงการนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสเด็กที่เข้าไปเรียนต่อในต่างประเทศ เริ่มจาก 2 ปีที่แล้ว นักศึกษาได้เรียนในประเทศไทย และปีนี้ (2568) เตรียมจะส่งไปต่างประเทศ ซึ่งเมื่อจบแล้วเขาจะได้ปริญญาเดียวกับมหาวิทยาลัยปลายทาง ซึ่งเมื่อบวกลบแล้วมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากับการเรียนไปเรียนต่างประเทศตลอด 4 ปี เนื่องจากการเรียน 2 ปีแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีค่าเล่าเรียนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของค่าเล่าเรียนที่ต่างประเทศ เหนือสิ่งอื่นใดค่าครองชีพในประเทศไทยต่ำกว่าในต่างประเทศมาก”
นอกจากนี้ การเรียนในไทยยังเหมือนการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษา เพื่อเผชิญความแตกต่างทางวัฒนธรรม เนื่องจากที่วิทยาลัยนานาชาติรับนักศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลก นักศึกษาจะได้ฝึกการสมาคมกับเพื่อนต่างวัฒนธรรม และได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษกับเรา 2 ปีเต็ม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

“ผมว่าหัวใจของการเรียนวิศวะ คือการที่ใช้ทักษะทางอาชีพทำงานได้ทุกที่ ได้ร่วมโปรเจคที่เป็นสากล ซึ่งที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ภายใต้โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ของสหรัฐอเมริกา ภายในปี พ.ศ. 2568 นั่นหมายความว่าเมื่อทางมหาวิทยาลัยได้รับการรับรองฯ บัณฑิตที่จบจากเรา มีสมรรถนะเทียบเคียงได้ในระดับนานาชาติสามารถเซ็นแบบได้ ทำงานในต่างประเทศได้”
เป็นวิศวกรที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพได้รับการยอมรับทั้งในไทยและสากล
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ