ถอดบทเรียน ‘บ้านเรียนทางช้างเผือก’ ห้องเรียนที่มีธรรมชาติเป็นครูกับ พ่อโอ๊ค-คทา มหากายี นักคิด นักอนุรักษ์ นักธุรกิจ และคุณพ่อลูกสองที่เอาจริงเอาจังกับการเลี้ยงลูกด้วยแนวทางที่ไม่เป็นพิษ
โฮมสคูล (Homeschooling) หรือ ‘บ้านเรียน’ คือระบบการศึกษาที่เรียนจากที่บ้าน ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจของสมาชิกครอบครัวและตัวเด็กเอง เพื่อให้การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นผลักดันให้เด็กได้เรียนรู้ให้ตรงกับความต้องการของตัวเองอย่างไม่มีข้อจำกัด ตามสิทธิที่ระบุในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งระบุว่า บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน มีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้
การเรียนแบบบ้านเรียนนี้ อยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความรู้ที่มีในโลกนั้นช่างหลากหลาย สิ่งที่เหมาะกับเด็กกลุ่มหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับคนอีกกลุ่ม การจัดการศึกษาตามความแตกต่าง เหมาะสมกับสภาพความต้องการ จึงเป็นทางเลือกที่แต่ละครอบครัวต้องพิจารณา
ทุกวันนี้มีหลายครอบครัว ที่เลือกทำหลักสูตรบ้านเรียน และในจำนวนนี้มีครอบครัวของ พ่อโอ๊ค-คทา มหากายี ซึ่งเริ่มทำหลักสูตร บ้านเรียนทางช้างเผือก ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สำหรับลูกชายและลูกสาว เมื่อราว 8 ปีก่อน
คทา คือนักการศึกษาที่เชื่อว่าธรรมชาติคือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่เขา เขาและภรรยาบ่มเพาะลูกทั้งสองผ่านบ้านเรียน โดยมีกิจกรรมซึ่งใครๆที่ไปเยี่ยมเยียนก็ต้องร้องว๊าว อย่างเช่น ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ยิงธนู อบขนมปัง เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เก็บหินสี เดินป่า ฯลฯ
“การเรียนรู้ต้องมีความรู้สึก และสำหรับผมการศึกษาคือการทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดในเวอร์ชั่นของตัวเอง” พ่อโอ๊ค-คฑา นิยามให้ฟังในสายวันหนึ่ง กลางเมืองกรุงเทพฯ
เมื่อถึงเวลาผู้เป็นพ่อแม่ก็ต้องปล่อยให้ลูกได้เผชิญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แปลกออกไป ซึ่งในวันนี้ลูกๆทั้งสองของเขาก็ย้ายตัวเองจากหลักสูตรบ้าน สู่การเรียนในระบบปกติของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถึงเช่นนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีประสบการณ์ใดจากบ้านเรียนทางช้างเผือกที่ควรบันทึกไว้บ้าง
ถึงวันนี้ลูกๆและครอบครัวย้ายจากเชียงดาวมากรุงเทพฯ ลูกๆของคุณก็เติบโตขึ้น และเข้าสู่การเรียนในระบบในระดับมัธยมศึกษา มองย้อนกลับไปพอใจไหมกับการทำบ้านเรียนของตัวเอง และลูกๆของคุณเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมพอใจนะ ไม่ได้ชื่นชมตัวเอง แต่มองว่าเราได้สร้างการเรียนที่ให้ลูกของเราได้คิดเป็น ได้ลองทำ ได้มีเวลาว่าง และผมมองว่าถ้าเขาเติบโตมากขึ้นก็คงไม่ได้มีลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนจากนี้เท่าไร ดังนั้นผมจึงพอใจที่เราช่วยกันบ่มเพาะในวันนั้น เราไม่ได้ดัดเขาเป็นเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลา เขาเป็นมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญที่เรารักษาไว้คือเขายังรักในการเรียน ยังมีความพยายามไม่ย่อหย่อน ซึ่งอย่างหลังผมว่ามันสำคัญมาก เพราะปัจจัยในการศึกษาที่ดีนั้นมีมาก แต่ปัจจัยสำคัญคือคุณต้องไม่ยอมแพ้ในการที่จะเรียน ยังมีความรู้สึกที่ดีในการเรียน สิ่งไหนที่ชอบแต่ยังทำไม่ดีก็ฝึกฝนต่อไป
ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น ทำไมถึงตัดสินใจทำบ้านเรียน?
ในตอนแรก ลูกผมก็เข้าโรงเรียน และที่โรงเรียนที่เราไปนั้นคือโรงเรียนทางเลือก ซึ่งมีห้องเรียนพ่อแม่ วันเสาร์-อาทิตย์ ผมเรียนอยู่ที่นั่น 3 ปี การเข้าเรียนในโรงเรียนพ่อแม่เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจเด็ก เคยมีคำถามว่าทำไมต้องให้พ่อแม่เข้าใจลูกเราเพิ่มเติมอีกด้วย แทนที่จะเป็นแค่ครูอย่างเดียวที่มีส่วนจัดการการศึกษาของเด็ก ซึ่งคำตอบคือโลกทุกวันนี้มันซับซ้อนมาก จนพูดตรงๆว่า ครูเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่ เอาไม่ไหว ยิ่งในกรณีที่มีนักเรียนมาก บางห้อง เด็ก 50 คนต่อครู 1 คน ซึ่งเด็กทุกวันนี้เติบโตจากการรับรู้ข้อมูลมหาศาล หลากหลาย ความแตกต่างของเด็กก็ยิ่งหลากหลายมาก การเอาไม้บรรทัดที่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไปจับก็จะยิ่งมีปัญหา และไม่มีทางที่เด็กจะโตมาเหมือนกัน หรือแม้จะพยายามทำให้เหมือนกันแต่ก็จะอยู่ในบรรยากาศของการตั้งคำถามในใจตลอด
เมื่อเราเชื่อว่าครูอย่างเดียวเอาไม่อยู่ พ่อแม่จึงต้องมีส่วนช่วย และสำหรับพ่อแม่อย่างน้อยที่สุด ถ้าไม่ส่งเสริมและพัฒนาการร่วมกันกับลูก ก็อย่าให้เป็นอุปสรรคกับโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนบอกไปซ้าย พ่อแม่ก็อยากจะไปขวา ดังนั้นห้องเรียนพ่อแม่จึงมีขึ้นเพื่อทำความเข้าใจทิศทาง และเหมือนช่วยกันกับโรงเรียนให้มีนิเวศการเรียนรู้ที่ไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่เอาลูกไปโรงเรียนแล้วจบ ผมศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่มีลูก
ผมเรียนออกแบบ ไม่ได้จบทางการศึกษา แต่ตั้งแต่มีลูกก็ศึกษาเรื่อยมา เคยทำมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ แล้วเราทำเรื่องห้องเรียนเด็กกับธรรมชาติ ก็เห็นความเป็นไป เห็นการพูด การคุย บรรยากาศในการเรียน ทำให้เราคิดและกลับมาตั้งคำถาม ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราสามารถทำอะไรได้ดีกว่านี้บ้าง และในสันดานของคนที่ทนไม่ไหวเวลาเห็นอะไรที่มันควรจะทำได้ดีกว่านี้ ผมจึงตัดสินใจที่จะทำบ้านเรียนสำหรับลูก แล้วก็เป็นหลักสูตรบ้านเรียนทางช้างเผือก
ตอนนั้นคิดอะไรอยู่?
วันนั้นผมเห็นข้อผิดพลาด เห็นชัดๆว่าตรงไหนมันพร่องแล้วไม่ถูกแก้ สมมติว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราบริโภคทุกวันมันเป็นพิษ และในเวลานี้เราก็ยังไม่มีสิ่งใหม่ทดแทน โอเคเราอาจจะยังไม่มีสิ่งใหม่ทดแทน ก็ต้องรอไป แต่ลำดับแรกที่เราต้องทำคือหยุดการบริโภคพิษนั้นก่อน
หากเราพูดแต่จะหาทางออก มองหาวิธีการที่ยังเป็นจริงไม่ได้ แต่ยังป้อนความเป็นพิษอยู่ ยังไม่เคารพความหลากหลาย ยังพูดว่าเด็กคืออนาคต แต่การกระทำไม่ตรงกับที่พูด คุณลองคิดดูสิว่า ในเมืองมีตรงไหนที่เหมาะกับเด็กบ้าง คำตอบคือหายากมากเลย อาจจะมีสวนบ้าง มีแหล่งเรียนรู้ที่ฟรีบ้าง แต่ก็มีไม่กี่แห่ง นั่นก็เพราะสังคมนี้ไมไ่ด้ให้ความสำคัญกับเด็กจริงๆ
พอมันเป็นแบบนี้ เมื่อได้มาศึกษา เรารู้ว่าพวกเรามีสิทธิ์ที่จะทำการศึกษาได้เอง ผมจึงทำด้วยตัวเอง แหล่งเรียนรู้ของเราเอง บอกตรงๆว่า ในยุคนั้นผมก็ไม่แน่ใจนะ ไม่รู้ว่าเรามีสิทธิ์ทำได้ พอรู้ว่ามีสิทธิ์ทำได้ก็เริ่มทำ
ทำบ้านเรียนมากี่ปี?
ลูกคนโตตั้งแต่ ป.1- ป.6 คนเล็กตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ตอนนี้เขาเลือกจะออกจากบ้านเรียนมาเรียนการศึกษาตามปกติ เพื่อให้เขาได้ทดลอง เรามีแผนไปศึกษาต่อ และที่ผ่านมาจขนถึงวันนี้ก็ยังเป็นไปด้วยดี

จากประสบการณ์ทำบ้านเรียน พอจะสรุปได้ไหม อะไรคือประเด็นที่น่าสนใจ อะไรคือเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี ที่มองว่าผู้ที่คิดจะทำบ้านเรียนหรือผู้ที่สนใจน่าจะได้ประโยชน์?
ผมรู้สึกว่าเขาโตมามีคาแรกเตอร์ที่ค่อนข้างเป็นปัจเจก (Individual) เป็นเสรีมากๆ และเวลาเขาไปโรงเรียน เขาไม่เหมือนใคร เราไม่ได้ตัดสินหรือบอกว่าเขาดีกว่าหรือด้อยกว่าใครนะ แต่ลูกเรามั่นใจ สามารถที่จะไปไหนมาไหนคนเดียวได้ ทำอะไรคนเดียวได้ ตัดสินใจคนเดียวได้ โดยไม่ได้มีความกังวลว่าทำแบบนี้จะมีเพื่อนหรือไม่ จะทำงานกลุ่มกับใคร เพื่อนสนใจเรื่องอะไร ผมเห็นว่าเขามีความชัดในตัวเองประมาณหนึ่ง อยากทำอะไร ต้องการอะไร อธิบายเหตุผลได้ บอกความต้องการและหาเส้นทางไปสู่สิ่งนั้นอย่างชัดเจน
ผมไม่ได้มองว่ามันพิเศษกว่าใคร แต่มันเชื่อมโยงไปถึงเวลาทำบ้านเรียน เราได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ แล้วยังได้ศึกษาตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน ต่างจากการศึกษาในระบบโรงเรียนที่มีโอกาสทบทวนเรื่องแบบเดียวกันนี้น้อย เพราะใช้เวลาไปกับการทำการบ้าน หรือสาระวิชาในหลักสูตรมากกว่า 8 ชั่วโมง กลับจากโรงเรียนไปบ้านก็ต้องทำการบ้านอีก
เราเชื่อว่าชีวิตไม่ได้โตด้วยการเรียนอย่างเดียว มันมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมแถวๆบ้าน อยากปีนต้นไม้ ว่ายน้ำ ทำแผนที่ในละแวกบ้านที่เราอยู่ ฯลฯ ผมมองว่า ทั้งชีวิต 1 ใน 3 อยู่ในสถาบันการศึกษานั่นโอเคแล้ว และอีก 1 ส่วนคือการพักผ่อน ส่วนที่เหลือเป็นเวลาของตัวเขาเองและครอบครัว ถ้าโรงเรียนจะเอาไป 10 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น มันคงไม่แฟร์
เมื่อเราย้ายจากบ้านเรียนมาเข้าโรงเรียนที่มีเพื่อนร่วมชั้นจำนวนมาก การย้ายไปอยู่สังคมใหม่ แรกๆก็ต้องปรับตัวอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ลูกคนโตผมชอบดูนก แต่เมื่อเข้าเรียน ม.ต้น กติกาของโรงเรียนมีว่า นักเรียน ม.ต้น ยังไม่สามารถตั้งชมรมเองได้ ต้องอยู่ชมรมที่มีก่อน เมื่อไปอยู่ในโรงเรียนเขาก็ต้องไปเข้าชมรมที่มีอยู่แล้วเพื่อหาเพื่อน เขาอดทนพอจะจะอยู่ในกติกา แต่พอโตขึ้น ม.ปลาย เขาก็สามารถตั้งชมรมที่อยากทำ เขาอยากดูนก ก็ตั้งชมรมดูนก และบริหารจัดการกิจกรรมที่จะมีในชมรม
ก่อนหน้านี้ผมพาเขาศึกษาธรรมชาติ แต่การชอบดูนกเกิดขึ้นเอง จน ม.ปลาย ได้ตั้งชมรม และก็มีเพื่อน มีน้องมาสนใจ มีกิจกรรมไปสำรวจนก ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เขาอยู่ร่วมกับสังคมได้ และมีความเป็นปัจเจกที่ซ่อนภายใน เป็นแรงผลักดันภายในซึ่งต้องตอบสนองวันหนึ่ง เขาก็รอเวลาและบ่มเพาะมัน
ส่วนที่ต้องปรับ และยังไม่เข้าใจก็มีบ้าง เขาไม่เข้าใจว่าทำไมทุกๆวันสำคัญของโรงเรียนต้องมีกิจกรรมดนตรี มีคอนเสิร์ตทุกครั้ง เขาก็เขียนไปถามครู ซึ่งตอนหลังเขาก็เข้าใจได้ว่ามันอาจจะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับคนหมู่มาก
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ การเรียนแบบนี้ทำให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน เขาชอบเรียน รักการเรียน มันเกิดเพราะกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้ถูกบังคับ เขาเรียนในสิ่งที่อยากรู้ มันเป็นเรื่องพื้นฐานมาก เมื่อเรียนในสิ่งที่อยากรู้ก็ค่อยๆขยายฐานความสนใจมากขึ้น แน่นอนว่าตอนเด็กมุมมองเขาก็จะแคบ เลือกสนใจเฉพาะในสิ่งที่เขาเห็น
ความรักในการเรียนสำหรับผมคือพื้นฐานในการเติบโตของมนุษย์ คือตอนแรกคุณรักก่อน จากนั้นพอรักแล้วจะเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ลูกสาวผมชอบทำก๋วยเตี๋ยว เขาทำเส้นก๋วยเตี๋ยวจากแป้ง สิ่งนี้เริ่มมาจากที่เขาชอบกิน อยากทำเป็น ทำหลายครั้ง หลายรอบ ก็นำมาสู่การมีคลาสสอนคนอื่น แล้วก็มีคนมาเรียนเยอะด้วยนะ สอนทำเส้นอุด้ง โมเมนต์นั้นที่เขาสอน เพื่อนๆด้วยกัน ผมเห็นนะว่าเขาพยายามจะเรียนรู้ทักษะในการสื่อสาร สนใจที่จะทำคลิป ทำพรีเซนต์ประกอบ ตอนนั้นเขาประมาณ 6 ขวบ ก็ทำไป หัวเราะกันไป นวดแป้งกัน พอเรามองย้อนกลับ สิ่งที่เขาเรียนมันเชื่อมกับชีวิต เขามีความรู้สึก เข้าใจ และอยากศึกษามัน กลับกันถ้ามองย้อนกลับไป สมมติว่าตอน 5 ขวบ เราไปให้เขาเรียนเรื่องอื่น ให้ไปเรียนประวัติสาสตร์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สนุก แต่ถ้าเขาไม่อิน ก็คงไม่ชอบ แต่ถามว่าเรียนได้ไหม ศักยภาพของเด็กวัยนี้ทำได้อยู่แล้ว
ส่วนข้อเสีย ผมมองว่าทั้งผมและภรรยา เตรียมตัวมากเกินไป คือเราไปศึกษามากเกินไป กลัวจะผิด เราก็ใจร้อนที่จะใส่อะไรที่เราคิดว่าจะดีกับเขามากไปจนเกินพอดี ทำให้ให้เส้นทางของลูกคนแรกถูกพ่อแม่วุ่นวายมากกว่าคนที่สอง ลูกคนแรกผมกะเกณฑ์เยอะกว่า ลองคิดดูสิว่าลูกคนแรก (หัวเราะ) แล้วเราศึกษามาเยอะ ใจร้อนไป ทำให้เขาต้องใช้เวลาในการค้นพบด้วยตัวเองช้ากว่าเมื่อเทียบกับลูกคนที่สอง ซึ่งพ่อแม่มีประสบการณ์แล้วก็จะปล่อยให้การเรียนเกิดขึ้นตามธรรมชาติมากกว่า
มีวิธีการค้นหาตัวเองอย่างไรหลักสูตรบ้านเรียน?
ผมว่ามันมีหลายปัจจัย แต่การศึกษาถ้าจะให้ได้ผล เขาต้องมีเวลานิ่งๆ เวลาว่างๆ เพื่อทบทวนว่าสิ่งที่เรียนมาจะย้อนกลับมาหรือไม่ หรือว่าหายไปเลย
ที่บ้านเรียน มันไม่ได้จำกัดแค่ตัวคนเรียนเองชอบนะ บางทีพ่อแม่ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นที่เราชวนมาเป็นคนนำเสนอ แต่ถ้านำเสนอไปแล้ว และไม่กลับมาสู่ความคิด หรือการไตร่ตรองของเขาเลย แสดงว่า เขาไม่อยากรักษาไว้
เวลาว่างกับการเรียนสัมพันธ์กัน เวลาว่างคือช่วงเวลาของการไตร่ตรอง และถ้าเรียนแล้วไม่ได้ไตร่ตรองถือว่าไม่ใช่การศึกษา คำว่าไตร่ตรองคือการพิจารณากับสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มา ถ้าไม่ได้ทำ ถึงเรียนไป ก็คงไม่มีประโยชน์
สอง เมื่อไตร่ตรองแล้ว หากยังว่างอีกก็จะเบื่อ พอเบื่อมากก็ต้องดิ้นรน ซึ่งมนุษย์จะมีเวลาจัดการความเบื่อของตัวเอง เป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นสิ่งใหม่ สนใจที่จะศึกษาเรื่องใหม่ ในกระบวนการศึกษากระแสหลัก เขามักจะเอาความรู้สึกออกไป ไม่ได้มองถึงเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริง การเรียนคือความรู้สึกได้ เหมือนเขาชอบครูคนนี้ แล้วเขาก็อยากเรียนวิชานี้ เมื่ออยากผลการเรียนก็จะดีตามมา
กิจกรรมของบ้านเรียน เช่น ทำขนมปัง เดินป่า ยิงธนู ฯลฯ คิดจากอะไร?
แล้วแต่ว่าเราสนใจด้านไหน ในช่วงนั้น อย่างเรื่องอาหารมันพื้นฐานในชีวิต มันมี Sense of taste (การใช้ประสาทสัมผัส) ที่สำคัญมาก ต้องฝึกฝน
เราปลูกพืช ทำขนมปัง ทำบะหมี่ ทำอะไรต่อมิอะไรที่เราอยากกิน กระบวนการทำอาหารมันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ การศึกษามันไม่ใช่แค่หัว แต่มันคือทักษะ มือ แรงบีบ และใส่ใจไปถึงร่างกาย ปาก ท้อง ถ้าเราป่วยเราก็คงจะไม่ได้เรียน เราคงไม่อยากให้ลูกเติบโตแค่หัว
เดินป่า เรียนรู้ธรรมชาติ การสังเกต คือการเรียนรู้ว่าธรรมชาติไม่ใช่อันตราย การเหยียบบนพื้นดินไม่ใช่สิ่งสกปรก ผมเคยเจอนักเรียนที่มาทัศนศึกษาที่บ้านเรียนของเรา แล้วมากับเจอสนามหญ้า เขาไม่กล้าลงมาเพราะกลัวสกปรก หรือโดดแดดก็กลัวจะไม่สบาย มองธรรมชาติเป็นภัย โดนฝน เล่นน้ำ อะไรที่เป็นธรรมชาติแล้วกลัวจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายตลอดเวลา ทัศนคตินี้ผมว่าไม่ค่อยเหมาะกับการเรียนรู้เท่าไร
จนถึงวันนี้ ในฐานะที่ทำบ้านเรียนและลูกได้เติบโต และเลือกเรียนในระบบ มีอะไรกังวลบ้างไหม?
ไม่มีอะไรกังวลเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับพ่อแม่ทั่วไป การปรับตัวมีทุกเวลา มีหลายมิติ เปรียบได้ว่าในโรงเรียนไม่ใช่กราฟเส้นนิ่ง แต่เป็นเส้นกราฟที่แตกต่างออกไป ขึ้นลงตามจังหวะ เวลา เมื่อเด็กมาจากทุ่งนา ภูเขา เข้ามาในโรงเรียนก็ต้องปรับตัว แต่การปรับตัวเป็นคนละเรื่องกับการยอมรับแนวปฏิบัติที่เป็นพิษ สิ่งนั้นผมประณีประณอมไม่ได้เลย เพราะในความเป็นจริงมันมีบ้างที่คอนเซปต์ นโยบายของโรงเรียนนั้นดีมาก เห็นตรงกันทั้งครูและพ่อแม่ แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะการรับมือกับเด็กที่หลากหลาย และมีพลังงานเยอะ มันไม่ง่าย อำนาจนิยมหรือกระบวนการที่เป็นพิษมันเกิดขึ้นได้
เจอปัญหาแบบนี้ทำอย่างไร?
พ่อแม่ก็ต้องใจเย็น ถ้ามันมีอะไรที่เหมือนจะไม่เป็นผลดีกับนิเวศการเรียนรู้ ก็ต้องคุยกับลูก คุยกับโรงเรียน การศึกษามันควรจะถามได้กันตลอด เราก็ต้องพิจารณาว่าในกรณีต่างๆ มันสามารถประนีประนอมได้แค่ไหน เพราะในความหมายของการอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก มันมีอะไรที่เราต้องยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้เอนอ่อนไปทั้งหมด อะไรที่คิดว่ามันจะไปก่อความบิดเบี้ยวผมไม่เอา
ยกตัวอย่างเช่น ลูกสาวผมติดศูนย์วิชาเลือกวิชาหนึ่ง เพราะเขาทำใบลาตั้งแต่ต้นเทอมว่าด้วยเหตุผลว่าเวลาดังกล่าวนี้ เขาต้องไปซ้อมกีฬา ซึ่งโรงเรียนอนุญาต มีหนังสือรับทราบ แต่พอมาถึงภาคปฏิบัติ ครูกลับบอกว่าเข้าเรียนไม่ครบเวลา แล้วเขาก็ไม่ให้ผ่านเพราะถือว่าไม่เข้าเรียน ไม่ส่งงาน
จากนั้นกลายเป็นว่า วิธีการแก้เกรดศูนย์ต้องไปทำขั้นตอนแบบหนึ่ง ต้องไปเรียนออนไลน์ให้ครบตามเวลา ซึ่งเราก็คิดว่าถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็ทำไป ชดเชยที่ไม่เข้าเรียน แต่ถ้าเป็นอะไรที่รู้สึกว่าจะทำให้เกิดพิษ เช่น ต้องโกงเวลาเรียน แกล้งเปิดบทเรียนออนไลน์ทิ้งไว้เพื่อให้เวลาครบ แต่ตัวเด็กไปทำสิ่งอื่น แบบนี้ผมก็ยินดีที่จะบอกลูกว่าจะหยุด ถ้าจะต้องสอบตกเพราะไม่ทำตามกติกาหรืออะไรก็ช่างมันไป แต่เราจะไม่ยอมฝึกลูกให้โกง เพื่อได้อะไรบางอย่าง
ในอดีต เรามักมีความคิดที่ว่า ถึงจะเจออะไรที่ไม่ชอบบ้าง ก็ทนๆทำหน่อย เดี๋ยวก็ผ่านไป ดีกว่าเกิดปัญหาที่มันยุ่งยาก วิธีคิดแบบนี้สำหรับคุณโอเคไหม?
ถ้าเป็นการปรับตัวผมโอเค แต่ผมไม่ประณีประณอมกับการพัฒนาเด็ก การประณีประณอมฟังดูดีนะ แต่ถ้าเป็นการยอมรับความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้น นั่นหมายความเราจะส่งต่อสังคมแบบนี้ต่อไปจริงๆใช่ไหม เรายังใช้อำนาจในห้องเรียน เรายังแอบโกงเวลาเรียน โกงข้อสอบ เพื่อให้มันผ่านไป แบบนี้ผมยินดีที่จะไม่ทำ
ตอนทำมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ผมเคยไปโรงเรียนหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่เราไปทำกิจกรรมการศึกษา ผมเห็นห้องๆหนึ่งมีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ มีโต๊ะ มีห้องทดลอง มีอุปกรณ์พร้อม ผมตื่นเต้นว่าเด็กที่โรงเรียนนี้โชคดีจัง ได้เรียนขนาดนี้เลย แล้วห้องที่ว่านี้อยู่หน้าโรงเรียน แล้วก็ปิดกระจกไว้ แต่มารู้ทีหลังว่า ห้องนี้ไม่ได้ถูกใช้จริง มีไว้โชว์ตอนที่มีแขกมา หรือมาประเมินโรงเรียน แต่การเรียนจริงๆไม่ได้ใช้ และการเรียนเคมีก็อยู่แค่ในกระดาน แล้วไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสร้างภาพนั้นได้ในหัวจากการเพียงมองกระดาน แต่ไม่เคยได้ทดลองจริงเลย แบบนี้ผมไม่โอเค ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ก็ควรจะได้เรียนวิทยาศาสตร์ ได้สังเกต ได้ทดลอง การเรียนวิทยาศาสตร์ควรจะได้ลงมือทำ ไม่ใช่ได้เกรดดีเพราะตอบข้อสอบถูกจากการเรียนในกระดานอย่างเดียว
ทำไมตัดสินใจเอาออกจากบ้านเรียนเพื่อมาเรียนในระบบ?
เราก็ไม่ได้คิดว่าลูกจะอยู่กับเราตลอดแต่แรกอยู่แล้ว เราให้เขาทุกอย่างไม่ได้หรอก มันมีตัวสังคม หรือเพื่อนซี้ในชีวิตที่เขาจะต้องเลือกด้วยตัวเอง และความกระหายในการเรียนต้องมีสังคมเป็นผู้แนะนำ ตัวอย่างเช่น วันแรกที่เขาอยากเรียนภาษาอังกฤษคือวันที่มีนักเรียนนานาชาติมาศึกษาที่บ้านของเราซึ่งทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เด็กกลุ่มนั้นเป็นเด็กนานาชาติ เขาพูดภาษาอังกฤษกัน พอลูกได้ยิน เขาก็อยากเรียนบ้าง อยากสื่อสารกับพวกเขาได้ เมื่อลูกบอกว่าอยากเรียนต่อไปมันก็ง่ายแล้ว เพราะมันหิวแล้ว เขากระหายที่จะเรียน เขาอยากเรียนภาษาอังกฤษเพราะต้องการสังคม เราเลยรู้ว่าเมื่อถึงวัยหนึ่งสังคมจำเป็น เราก็ไปดูมาหลายโรงเรียนนะ ไม่ได้มองว่าที่ไหนดีที่สุด หรือที่ไหนไม่ดี แต่มองที่เหมาะสมกับเรา
ยังเชื่อเรื่องสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง มีศิษย์เก่าที่ทำผลงานให้สังคม เป็นที่ยอมรับอยู่ไหม?
เชื่อ แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มีแบบเดียว การเติบโตของมนุษย์ที่เป็นสายวิชาการ เติบโตในจุดสูงสุดทางใดทางหนึ่งก็มีประโยชน์ แล้วก็เหมาะสมสำหรับบางอาชีพ แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นแบบนี้ทุกคน
ทำงานด้านการศึกษามาไม่น้อย ผ่านประสบการณ์การทำบ้านเรียนมาแล้ว ทุกวันนี้ลูกเข้าสู่วัยรุ่น คุณนิยามการศึกษาในปัจจุบันนี้ว่าอะไร?
ดีใจที่ได้พิจารณากับคำถามนี้ในวันนี้นะ เพราะเมื่อเราให้ความหมายคนละแบบ มันก็จะนำไปสู่วิธีการคนละแบบ แน่นอนการศึกษาของมนุษย์ ยังคือการเรียนเพื่อมนุษย์ ถึงแม้เราจะพูดเรื่องอื่น แต่การศึกษาทั้งหมดก็ยังเพื่อมนุษย์ ให้อยู่อย่างปกติสุขอยู่ดี นั่นคือเป้าหมาย จากนั้นเป็นรายละเอียดที่จะตอบให้ได้ว่าหากจะทำเพื่อมนุษย์ต้องศึกษาอะไรบ้าง
สำหรับผมการศึกษาคือการพามนุษย์คนหนึ่งให้ไปถึงจุดที่เขาไปได้ดีที่สุด เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดอย่างเต็มศักยภาพในแบบของเขา มันคงไปตีกรอบยากนะ ว่าควรเรียนอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ เมื่อถึงวัยหนึ่ง การมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนก็เป็นเรื่องของตัวเขาเอง
ในมุมมองของคุณความรู้หรือทักษะไหนที่จำเป็นที่สุดสำหรับโลกทุกวันนี้?
มันมีมากกว่าหนึ่งทักษะ หรือชุดความรู้แน่ๆ อย่างแรกคือการตระหนักตัวเองก่อน ในการศึกษาของแต่ละครอบครัวต้องมีการลงทุน กระบวนการลงทุนงบประมาณที่เสียไปมันจะเสียหายมากหากผู้เรียนไม่เอาจริง
การไม่เอาจริงมาจากการไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร ทักษะแรกคือต้องตระหนักรู้ตัวเอง รู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น หากไม่ไตร่ตรองตัวเอง จะเสียเวลาทั้งครอบครัว งบประมาณประเทศ
อย่างที่สอง อาจจะโรแมนติกหน่อยๆ แต่มันคือเรื่องจริง คือทักษะในการเห็นความงาม เห็นความงามในสิ่งที่จะศึกษา เพราะถ้าไม่เห็นความงามของสิ่งที่เราจะเรียน เราจะศึกษาทำไม ความงามไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ แต่ต้องเห็นคุณค่าของมัน การศึกษามีความงามในความหมายทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ มีคุณค่าและมีมูลค่า ซึ่งถ้าจะบอกกับคนที่กำลังคิดจะทำบ้านเรียน หลักๆคือการเราต้องรู้ว่า ลูกคุณมีสิทธิ์ที่จะจัดการเรียนการศึกษาด้วยตัวเอง เพราะเมื่อคุณรู้สิ่งนี้แล้ว ก็จะไปหาส่วนประกอบ หาทรัพยากรที่มันเหมาะกับคุณ ในบริบท บนชีวิตของตัวเอง เพื่อหาความงดงามในการเรียนของตัวเอง
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ