หลักสูตรไหนในไทยที่นักศึกษาจีนนิยมเรียนมากที่สุด? มองปรากฏการณ์ของนักศึกษาจีนในมหาวิทยาลัยไทยที่ขยายตัวมากขึ้น จนทำให้ไทยเป็นอีกจุดหมายหนึ่งในด้านการศึกษา
โลกที่เล็กลง การเดินทางข้ามประเทศเพื่อไปศึกษาคือเรื่องธรรมดาของผู้คนในทุกวันนี้ และในระหว่างที่นักเรียนไทยเลือกเดินทางไปเรียน ทั้งในยุโรป อเมริกา ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในเวลาเดียวกันนี้ประเทศไทยก็เป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า นักศึกษาจีนเป็นกลุ่มนักศึกษาจากต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทยมากที่สุด โดยในปีการศึกษา 2567 มีจำนวนรวม 28,052 คน ลำดับที่ 2. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 12,292 คน 3.กัมพูชา 1,871 คน 4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 1,097 คน 5. เวียดนาม 868 คน โดยที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน มหาวิทยาลัยเกริก และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คือสถาบันที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาต่างชาติ (สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568)
เมื่อพิจารณาจากหลักสูตร พบว่า มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต่างชาตินิยมมากที่สุดใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1,036 คน 2.หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรภาษาจีน ) มหาวิทยาลัยเกริก จำนวน 930 คน 3. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรภาษาจีน) มหาวิทยาลัยเกริก จำนวน 728 คน 4. หลักสูตรศิลปบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน 589 คน 5. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต จำนวน573 คน
เหตุผลนักศึกษาจีนมาไทย
ถึงเช่นนั้น ชาติที่เป็นที่น่าสนใจหนีไม่พ้นกลุ่มนักศึกษาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อมโยงกับไทยหลายมิติในปัจจุบัน ด้วยจีนกับไทย ข้องเกี่ยวทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทั้งยังมีเอเจนซีในจีนช่วยทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ เพื่อโน้มน้าวนักศึกษาจีนให้มาเรียนที่ไทย
งานศึกษาเรื่อง “การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย” โดย ดร.กุลนรี นุกิจสังสรรค์ ดร.กรองจันทร์ จันทรพาหา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬา ซึ่งได้รับทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อธิบายตอนหนึ่งว่า การเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีนในไทยเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
เช่น ที่นั่งในมหาวิทยาลัยของจีนมีจำกัด (การสอบ Gaokao หรือ เกาเข่า ที่มีการแข่งขันกันสูง) ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในไทยไม่สูง กฎระเบียบเรื่องวีซ่าของไทยไม่เข้มงวดนัก อีกทั้งความร่วมมือกับไทย-จีน ยังอาจเป็นโอกาสให้กับนักศึกษาจีนในการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย ยิ่งเมื่อกระแสการมาศึกษาต่อในไทยได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีน สถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายแห่งจึงหันมาปรับหลักสูตรและทำการตลาดเพื่อดึงนักศึกษาจีนให้เข้ามาศึกษาเพิ่มขึ้น
ขณะที่การศึกษาเรื่อง ‘การเติบโตของนักศึกษาจีนและความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย’ โดย Li Yang นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ และวราภรณ์ ไทยมา อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายตอนหนึ่งว่า ปัจจัยดึงดูด (Pull Factor) ที่ทำให้นักศึกษาจีนเลือกที่จะเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทยมีหลายประการ ประกอบด้วย
1.ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน และสภาพภูมิอากาศบางมหาวิทยาลัยคล้ายกับประเทศจีน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลที่นักศึกษาจีนให้ความสำคัญที่สุด
2.ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านภูมิศาสตร์ และยังเป็นคู่ค้าทางการลงทุนกับประเทศจีน ในขณะที่ค่าครองชีพค่อนข้างต่ำทำให้นักศึกษาจีนบางกลุ่มนิยมเรียนภาษาไทย และหางานทำต่อในประเทศไทยหลังจากกจบการศึกษา
3.นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา มีโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-จีน
4. การร่วมลงทุน (Take Over) ของชาวจีนในมหาวิทยาลัย เอกชนในประเทศไทยทำให้สามารถดึงนักศึกษาชาวจีนเข้ามาศึกษาต่อได้มากยิ่งขึ้น
5.ภาวะปัญหาการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยลดน้อยลง สถาบันอุดมศึกษา จึงเร่งปรับตัวเพื่อเปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น ทั้งเปิดวิทยาลัยนานาชาติ เปิดหลักสูตรที่สอดรับกับตลาดแรงงาน การจัดทำหนังสือบันทึกข้อตกลงหรือ MOU กับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน มีการประชาสัมพันธ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านตัวแทน (agency)
“นอกจากนี้การออกไปแสวงหาความรู้หรือวิวัฒนาการใหม่ๆ ของชาวจีนวัยหนุ่ม-สาว มาจากนโยบาย Go-West ของจีนในขณะที่ปัจจัยดึงดูดมาจากการที่ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านลักษณะทาง ภูมิศาสตร์ทั้งด้าน ที่ตั้ง ตลาดแรงงานและสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาเมืองที่ดึงดูดชาวต่างชาติ รวมไปถึงการประสบปัญหาจากการที่นักศึกษาไทยลดลงจากภาวะปัญหาการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล” งานวิจัยการเติบโตของนักศึกษาจีนฯ อธิบายตอนหนึ่ง
นักศึกษาจีนในไทย เรียนมหาวิทยาลัยไหนมากที่สุด
เมื่อไม่นานมานี้ การสำรวจของฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย ซึ่งให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้ข้อมูลและปรากฏเป็นข่าวในสื่อไทยว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายของนักศึกษาจีน และ มหาวิทยาลัยในไทยที่มีนักศึกษาจีนมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ
1.มหาวิทยาลักเกริก มีนักศึกษาจีนจำนวน 4,670 คน
2.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2,389 คน
3.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 2,160 คน
4.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1,736 คน
5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1,165 คน
รายงานวิเคราะห์ว่า การที่นักศึกษาจีนขยายตัวสูง หลัก ๆ มาจากนักลงทุนชาวจีนที่ต้องการเข้ามาซื้อกิจการโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จากนั้นทำกิจการทางการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ในประเทศจีนเพื่อดึงคนจีนเข้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของนักธุรกิจและนักลงทุนในจีนในธุรกิจการศึกษามีมานานแล้ว เท่าที่เป็นข่าวก็ตั้งแต่ช่วงปี 2560 – 2561 โดยที่มีการเปิดเผยแน่นอนแล้ว 3 มหาวิทยาลัย คือ 1. มหาวิทยาลัยเกริก 2. มหาวิทยาลัยชินวัตร 3. มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ซึ่งทั้ง 3 มหาวิทยาลัยอยู่ในสถานะของนิติบุคคล
“บางมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปอย่างชัดเจน โดยมีนักศึกษาจีนเข้ามาเป็นนักศึกษากลุ่มหลักของมหาวิทยาลัยไปแล้วในปัจจุบัน” ส่วนหนึ่งของรายงานให้ข้อมูล
สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานหรือนักลงทุนจากจีนมีผลทำให้นักศึกษาเลือกที่จะมาเรียน
การศึกษาเรื่อง ‘การเติบโตของนักศึกษาจีนและความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย’เคยอ้างถึงเกณฑ์ ISCED 2013 (UNESCO Institute for Statistics, 2015) หาความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับนักศึกษาจีน ซึ่งพบว่า ในช่วง พ.ศ.2556 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีนอย่างมาก เนื่องมาจาก ในปี 2553 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตได้เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง โดยใช้ภาษาจีนเป็นสื่อการสอน และในปีพ.ศ. 2562 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่าง
ประเทศ (ภาษาจีน) ได้รับความนิยมอย่างมากคิดเป็นร้อยละ 49.00 ของหลักสูตรที่นักศึกษาจีน ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งหมด โดยหลักสูตรนี้ให้ความสำคัญในด้านบัญชี ด้านการบริหาร ด้านโลจิสติกส์ รวมไปถึงมีการฝึกปฏิบัติงานจริงกับบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศ


เลือกหลักสูตร แบบนักศึกษาจีน
การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและประเทศจีนคือส่วนสำคัญของการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาจีน ถึงเช่นนั้นหลักสูตรที่ข้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เช่น การบริหารธุรกิจ การจัดการ ธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด บัญชี ก็ดูเหมือนจะเป็นหลักสูตรวิชาที่นักศึกษาจีนสนใจ สอดคล้องกับนโยบายการค้าการลงทุนในภาพใหญ่ของไทยที่มองประเทศจีนคือคู่ค้าสำคัญ
การศึกษาเรื่องการเติบโตของนักศึกษาจีนฯ เมื่อ พ.ศ.2564 บอกว่า นักศึกษาจีนนิยมศึกษาต่อในด้านการบริหารธุรกิจและกฎหมายมากที่สุดเกือบทุกมหาวิทยาลัย โดย 4 ใน 5 เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยรัฐหนึ่งเดียวที่มีจำนวนนักศึกษาจีนมากคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปิดสาขาการเรียนการสอนหลากหลาย และมีนักศึกษาจีนมากเกือบทุกสาขา โดยสาขาการบริหารธุรกิจและกฎหมาย, ศิลปะและมนุษย์และ วิศวกรรม,-อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง มีจำนวนใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้หลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต รองลงมาคือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) และ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรม ซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
ในระดับปริญญาโท พบว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษาจีนไม่แตกต่างกันมากนัก โดยพบนักศึกษาจีนมากในสาขาการบริหารธุรกิจและกฎหมายและการศึกษาเป็นหลัก โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีนมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรภาษาจีน) และ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน (หลักสูตรภาษาจีน) รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยเกริก พบมากในหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต การบริหารการศึกษา (หลักสูตรภาษาจีน) และ มหาวิทยาลัยชินวัตร พบมากในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ (หลักสูตรนานาชาติ)
ทั้งหมดคือการฉายภาพให้เห็นภูมิทัศน์ของการเติบโตของการศึกษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ที่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับไทยในทุกมิติ อ่านเพเป็นปรากฏการณ์การขยายตัวของการศึกษาที่ไร้พรมแดนในวันนี้และอนาคต
อ้างอิง
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
การเติบโตของนักศึกษาจีนและความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย’ โดย Li Yang นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการ จัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และวราภรณ์ ไทยมา อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
สถิตินักศึกษาจีนเรียนไทย เพิ่ม 24% ทุนจีนเข้าเทกโอเวอร์มหาวิทยาลัยไทย นิตยสาร positioning สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
ภาพประกอบ : บรรยากาศการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในจีน แสดงให้เห็นการยินดีของครอบครัวภายหลังความทุ่มเทเตรียมตัวในการสอบเรียนต่อ เพราะจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยในจีนมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนพลเมือง จนเป็นปัจจัยหนึ่งให้นักเรียนจีนเดินทางข้ามประเทศเพื่อหาที่เรียนต่อ
photo by Ruoyi Zhang, iStock