คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ที่นี่เรียนอะไรบ้าง?

คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ที่นี่เรียนอะไรบ้าง?

ในวันที่เราคุ้นเคยกับคำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,  ความเป็นกลางทางคาร์บอน, ขยะอิเล็กทรอนิกส์, พลังงานสะอาด และอีก ฯลฯ คงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นความสนใจกระแสหลัก และเชื่อมโยงกับคนทุกกลุ่มอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเป็นประเด็นที่คนสนใจ จึงทำให้สาขาการเรียนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกสาขาที่ได้รับความนิยม โดยทุกวันนี้การเรียนศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การทำอาชีพอนุรักษ์ แต่ยังเป็นพื้นฐานของกลุ่มอาชีพที่โลกต้องการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำเกษตรแนวตั้ง, นักออกแบบและวิศวกรด้านพลังงานหมุนเวียน, นักบำบัดของเสีย,ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน

เมื่อโอกาสในอนาคตได้เปิดกว้าง ศาสตร์การเรียนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงคึกคักมากขึ้น และในโอกาสนี้ National Geographic ภาษาไทย ได้ไปสำรวจ  คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในสถาบันการศึกษาซึ่งมีหลักสูตรที่เน้นเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยตรงเพื่อให้ได้รับคำตอบว่า สาขานี้เรียนอะไร และมีเส้นทางการไปสู่หมายได้อย่างไร

คณะสิ่งแวดล้อม

คณะสิ่งแวดล้อมเรียนอะไร?

ช่วยสาย ในเดือนธันวาคม เราได้พบกับ ผศ.ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสื่อสารองค์กร และผศ.ดร.ธนิศร์ ปัทมพิฑูร  ผู้ช่วยคณบดี คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งสองท่านปูพื้นฐานให้ผู้มาเยือนเข้าใจว่า ก่อนหน้าหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในการเรียนของคณะต่างๆ เช่น คณะเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ ก่อนที่ม.เกษตรศาสตร์ จะตั้งเป็นคณะสิ่งแวดล้อมขึ้นเมื่อพ.ศ. 2555 และผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก ในสาขาเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลิตผลงานวิจัยและสั่งสมองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ตลาดงานของบัณฑิตที่จบออกไปก็ค่อนข้างหลากหลาย เช่น เป็นนักวิจัย ที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม รับราชการ แต่ที่มากที่สุดและน่าจะเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่ง คือการทำงานในระบบอุตสาหกรรม โดยเป็นแผนกด้านสิ่งแวดล้อมที่คอยดูและควบคุมระบบบำบัดมลพิษโรงงานการผลิต ดูแลเรื่องระบบการจัดการคุณภาพ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นหลักที่จะเดินเคียงคู่มากับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆมาอย่างช้านาน ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมได้เข้าไปเสริมการทำงานในข้อนี้”

ผศ.ดร.ภาสิณี อธิบายว่า คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ จะเปิดรับนักศึกษาใหม่ในระดับอุดมศึกษาประมาณ 300 คนต่อปี โดยมีหลักสูตร 2 หลักสูตรคือ 1. วท.บ. (วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม) โดยหลักสูตรสาขาด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมนี้ มีการเปิดสอน 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตบางเขน และวิทยาเขตกำแพงแสน และ 2.วท.บ. (การจัดการสิ่งแวดล้อม)

“การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สำคัญอย่างหนึ่งคือการสอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ทั้งใบอนุญาตสาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์ และสาขาการควบคุมมลพิษ ซึ่งหลักสูตรที่ ม.เกษตรศาสตร์ ถูกออกแบบให้มีรายวิชาที่ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 หมวด ตั้งแต่ด้านนิเวศวิทยา (ป่าไม้ น้ำจืด และชายฝั่งทะเล) เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับควบคุมมลพิษ และการจัดการสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเราโฟกัสทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งสอดคล้องไปกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการ เมื่อเนื้อหาครอบคลุมทุกประเด็น นิสิตที่เรียนจบจากหลักสูตรจึงสามารถไปสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปอบรม หรือศึกษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรอื่น”

ผศ.ดร.ธนิศร์ ยกตัวอย่างว่า รากฐานของการเรียนสิ่งแวดล้อมมาจากวิทยาศาสตร์ ดังนั้นพื้นฐานในส่วนชั้นปี 1-2 จึงไม่ต่างกับการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ฯลฯ ปี 2 จะเริ่มเรียนรายวิชากลางของคณะเพื่อให้นิสิตได้ปูพื้นฐานความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นิสิตจะได้ทราบว่าตัวเองมีความสนใจเรื่องใดเพื่อเลือกเรียนรายวิชาเฉพาะเลือกในชั้นปีที่ 3 และ 4 นอกจากนี้ ยังมีรายวิชาที่เพิ่มมาตามความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น รายวิชามาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพรินท์ เศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งเพิ่มเติมให้เข้มข้นมากกว่าในอดีตที่รายวิชาส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางการควบคุมมลพิษ

“ลักษณะของคนเรียนสิ่งแวดล้อมที่คล้ายๆกัน คือ เราชอบความเป็นธรรมชาติ ต้องการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไปควบคู่กับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี ความพยายามในหลักสูตรที่เราเน้นย้ำเสมอคือการพานิสิตแต่ละชั้นปีไปฝึกการทำงาน และลงปฏิบัติจริงทั้งภาคสนามและในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้นิสิตได้รับประสบการณ์จริง ทั้งนี้เพื่อให้เขารู้ว่ากระบวนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละขั้นตอนมีการดำเนินการอย่างไร สามารถประสานงานกับใครได้บ้างทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน หรือชุมชนในพื้นที่ นิสิตที่จบการศึกษาจะได้สามารถวางแผนการทำงานในทุกขั้นตอนได้ด้วยตัวเอง”

กระบวนการทดสอบสภาพน้ำเพื่อหาสารปนเปื้อน ทั้งการลงภาคสนามและห้องทดลอง หนึ่งในรายวิชาที่นิสิตคณะสิ่งแวดล้อมต้องเรียน
ผศ.ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสื่อสารองค์กร และผศ.ดร.ธนิศร์ ปัทมพิฑูร ผู้ช่วยคณบดี คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์

ความสนุกของการเรียน “สิ่งแวดล้อม”

ที่ ม. เกษตรศาสตร์ มีศูนย์ที่รับประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง มีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งเข้าใจและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report: EIA) โดยเป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กระบวนการ EIA นี้มีความสำคัญมากในการพัฒนาโครงการต่างๆในปัจจุบัน

อาจารย์ทั้งสองท่านมองว่า ทักษะหนึ่งของบัณฑิตคณะสิ่งแวดล้อมคือการมองโครงการในภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อมให้ออก และสามารถวางแผน เพื่อออกแบบการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนถึงการเขียนรายงานประเมินผลได้”

“การเรียนสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาไป เราไม่ได้มองเพียงแค่การอนุรักษ์หรือพยายามรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่เท่านั้น แต่นักสิ่งแวดล้อมต้องเท่าทันกับการพัฒนา เพราะองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”

บ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติและใช้งานจริงใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
เสาตรวจสอบสภาพอากาศ

สิ่งแวดล้อมและโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ว่ากิจกรรมใดที่เกิดขึ้น ทั้งจากมนุษย์หรือในอุตสาหกรรมล้วนสร้างของเสียให้เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยกันลด บำบัดหรือกำจัด มันก็จะสร้างของเสียสะสม ปนเปื้อน และส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการ และมีการไปบำบัดให้ถูกหลักวิชาการ เพื่อให้การพัฒนาเดินหน้าโดยไม่ทำลายโลกมากเกินจะรับได้

นักสิ่งแวดล้อม คือคนที่ช่วยในการวางแผนเพื่อจัดการมลพิษเหล่านั้น โดยพยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงหาแนวทางหรือมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม ถอดรหัส Liquid Crystal โปรเจคของเหลวในหน้าจอโทรศัพท์ ที่ NASA วิจัยร่วมกับคนไทยส่งไปอวกาศ

Recommend