ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ เจ้าของเพจมิตรเอิร์ธ-mitrearth ถอดรหัสโลกจากแผ่นดินไหวและพิบัติภัย

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ เจ้าของเพจมิตรเอิร์ธ-mitrearth ถอดรหัสโลกจากแผ่นดินไหวและพิบัติภัย

ถอดรหัสโลกและสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กับ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา และเจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth

ตอนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งมีประเทศเมียนมา เป็นศูนย์กลาง ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ น่าจะเป็นนักวิชาการที่ยุ่งเหยิงที่สุด เขาเล่าว่า ต้องจอดรถที่ปั้มน้ำมันเพื่อให้สัมภาษณ์สื่อ อัดคลิปเพื่อสื่อสารถึงสาเหตุ โดยเฉพาะพฤติกรรมของ กลุ่มรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่เขาติดตามมาตลอด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อมูลของเขาในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลี่คลายสารพัดความตื่นตระหนก และที่สำคัญคือการยุติข่าวลวง (Fake News) ที่ถูกส่งต่อกัน

“รบกวนทุกท่านเห็นข่าวเท็จ แคปภาพลงคอมเมนต์ให้หน่อยครับ”

“จากสถิติ + วิชาการ คืนนี้ และวันต่อไปจะไม่มี แผ่นดินไหวที่เป็นพิบัติภัยขอให้ทุกท่านพักผ่อนครับ”

“รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) คืออะไร แบบไหนถึงจะเป็นรอยเลื่อนมีพลัง?”

และอีก ฯลฯ องค์ความรู้แผ่นดินไหว ที่ถูกอธิบายผ่านแฟนเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth เพจที่เล่าเรื่องโลก ในมุมวิทยาศาสตร์ ซึ่งมี ศ.ดร.สันติ เป็นแอดมินยืนหนึ่ง

ระหว่างที่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกำลังดำเนินไป พร้อมๆ กับที่ผู้คนในสังคมไทยกำลังค่อยๆ ทำความเข้าใจและสรุปบทเรียนอันเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว National Geographic ฉบับภาษาไทย นัดพูดคุยกับ ศ.ดร.สันติ ศาสตราจารย์ด้านแผ่นดินไหว เพื่อลองตั้งคำถามว่ามีอะไรที่เราควรรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้บ้าง

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะผู้ที่ติดตามเรื่องรอยเลื่อน แผ่นดินไหว และนักธรณีวิทยา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกินความคาดหมายหรือไม่?

ถ้ามองเฉพาะในมุมวิชาการ ถือว่าไม่เกินความคาดหมาย การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดในช่วงนี้ เพียงแต่จะบอกว่า พฤติกรรมของรอยเลื่อนทำให้เกิดเหตุการณ์ในอดีตมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่มิติของแผ่นดินไหวจากปัจจัยเช่นนี้ มันมักจะเกิดแบบนานๆ ครั้ง หรือพูดอีกอย่างว่า รอยเลื่อนสะกายมีค่าอุบัติซ้ำที่มีระยะเวลานาน จนช่วงชีวิตที่เราอยู่อาจจะไม่มีโอกาสได้เจอเลยก็ได้ มันถือเป็นภาวะพิเศษที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในปี  ค.ศ.1930 มันก็เคยเกิดนะ แต่ในเวลานั้นเราไม่ได้อยู่กระจุกตัว หรือมีสิ่งก่อสร้างหนาแน่นเหมือนทุกวันนี้ การสื่อสารเราไม่ได้ดีขนาดนี้

จนถึงวันนี้ (4 เม.ย.) ในทางวิชาการ ถือว่าสถานการณ์ยุติแล้วหรือไม่ และเราต้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อคไปถึงเมื่อใด?

แผ่นดินไหวตาม หรือ อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) ตามธรรมชาติลดลงเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ สำหรับผมมองว่า ผ่านภาวะภัยพิบัติมาแล้ว นั่นหมายความว่าถ้าโลกไม่ได้เล่นตลกอะไรกับเราอีก จะไม่เกิดเหตุอะไรรุนแรงจากการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้อีก แต่อาฟเตอร์ช็อกนั้นเกิดขึ้นอีกแน่ๆ อาจจะในระดับ 500-800 ครั้ง มาเรื่อยๆ ในช่วงเวลา 7-10 เดือน หรือจนถึงระดับ 1 ปี  แต่ช่วงเวลาก็จะห่างลงเรื่อยๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกือบทั้งหมด เราแทบจะไม่ได้รู้สึกตัว

อะไรคือความหมายที่ว่าโลกไม่ได้เล่นตลกคืออะไร?

การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 มันทำให้พื้นที่โดยรอบลอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัว และไปเบียดพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งผลจากการเบียดของพื้นที่ อาจทำให้เกิดเรื่องได้ 2 แบบ คือ 1. ไปกระตุกรอยเลื่อนตัวอื่น และ 2. แบบค่อยๆ สลายแรงเบียด ออกมาในรูปของอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งส่วนใหญ่มันเกิดแบบนี้

ความที่เราเพิ่งผ่านเรื่องโกลาหลมา ผมใช้คำว่า ถ้าโลกไม่ได้เล่นตลก ซึ่งหมายความว่า หากมันไปเข้าในรูปแบบข้อแรก คือไปกระตุกรอยเลื่อนตัวอื่น มันก็จะมีโอกาสที่จะเกิดอะไรที่สร้างความรุนแรงขึ้นอีก ถามว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ไหม มันก็ต้องตอบว่ามี แต่มันก็เหมือนถูกหวย  หรือเครื่องบินตก นั่นคือมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เช่น การเคลื่อนตัวครั้งนี้มันไปกระตุกรอยเลื่อนอื่น แทนที่รอยเลื่อนสะกายมันจะสมานแผลในรูปแบบอาฟเตอร์ช็อก มันมีโอกาสเป็นแบบนี้ได้เหมือนกัน แต่น้อยมากที่จะเป็นแบบนี้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา ทำไมถึงกระทบกับประเทศไทยได้มากขนาดนี้ ถ้าให้สรุปปัจจัยสำคัญคืออะไร?

ผมสรุปให้ว่าที่แรงสั่นมันมาถึงภาคกลางตอนล่างได้รุนแรงกว่าปกติเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. ด้วยความเป็นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง สภาพธรณีวิทยาของแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑลมันเป็นแอ่งสะสมตะกอนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกตั้งแต่ยุค Tertiary จนถึงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นดินอ่อน (ดินตะกอนปากแม่น้ำ เหมือนดินดอนหอยหลอด) ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อคลื่นแผ่นดินไหววิ่งเข้าชั้นดินอ่อน จะทำให้คลื่นที่จะหมดกำลังแล้วมีพลังมากขึ้น

2. สังเกตว่าตึกสูงจะได้รับผลกระทบมากกว่าตึกเตี้ย เพราะเมื่อแผ่นดินไหวที่ไกลๆ และแรงๆ คลื่นแผ่นดินไหวจะมีความถี่สูงหรือคาบคลื่นยาว คาบการสั่นจะไปตรงหรือสั่นพ้องกับตึกสูง ซึ่งในทางธรรมชาติ การที่เราเห็นตึกสูง คอนโดสูงๆ ได้รับผลกระทบมาก อธิบายได้ว่า เกิดจากอิทธิพลของ ‘แผ่นดินไหวคาบยาว’ หรือ Long-period Ground Motion เป็นคลื่นแผ่นดินไหวระยะยาว มีความถี่ต่ำ สามารถเดินทางได้ไกล ส่งผลให้อาคารสูงที่มีความยืดหยุ่นเกิดการสั่นพ้อง (Resonance) กับคลื่นแผ่นดินไหวระยะยาว ส่วนถ้าเป็นแผ่นดินไหวในระยะใกล้กว่าซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนที่มีความถี่สูง ตึกสูงจึงได้รับผลกระทบน้อย ดังนั้นขมวดแบบง่ายๆ บ้านชั้นเดียว หรืออาคารในลักษณะไม่สูงนัก ควรจะระวังรอยเลื่อนใกล้ๆ ฝั่งตะวันตก เช่น รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่านด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย

ในฐานะนักธรณีวิทยา ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ สังคมมีความเข้าใจผิดเรื่องใดบ้างซึ่งเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งนี้และคุณเองอยากอธิบาย?

อย่างแรกคือรอยเลื่อนสะกาย ไม่ได้ทำให้เกิดสึนามิ เพราะลีลาการเลื่อนตัวของสะกาย ทำเป็นแค่แผ่นดินไหว ทำสึนามิไม่ได้ สองคือ ทะเลอ่าวไทยไม่เกิดสึนามิ ส่วนอันดามันมีโอกาสแต่ไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนนี้ นอกนั้นผมไม่ได้มองว่าเป็นความเข้าใจผิด แต่เป็นเจตนาทำให้เกิดข่าวลวงเพื่อเรียกยอดเอนเกจเมนต์ อย่างกรณีแผนที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว และมีการพล็อตสีแดงๆ เหลืองๆ นั่นก็ไม่ใช่ แต่ก็ถูกแชร์ไปมากแล้ว สามช่วงนี้อย่าเล่นน้ำเพราะมีสารพิษ ผมว่ามันไม่ใช่ มันไม่เกี่ยวข้องกันเลย สำหรับผม ถ้าเห็น ก็จะรีบอธิบายสิ่งที่ถูก เพื่อให้สังคมได้รับรู้

ภาควิชาธรณีวิทยา หนึ่งในภาควิชาของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พฤติกรรมรอยเลื่อนสะกายคือเรื่องที่ถูกอธิบายในเพจมิตรเอิร์ธมาก่อนหน้า และการนิยามว่าเป็นยักษ์หลับก็ถูกนิยามในเพจนี้ มีอะไรที่คุณจะอธิบายและบอกถึงความน่ากังวลของรอยเลื่อนนี้อีกไหม?

รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนสไตล์มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่นานๆ ที จะจัดสักครั้งหนึ่ง แต่ก็จะสร้างผลกระทบที่ใหญ่ เล่นใหญ่ รอยเลื่อนแต่ละรอยนิสัยต่างกัน บางรอยเจ๊าะแจ๊ะ มาบ่อยๆ แต่ไม่แรง แต่สะกายนานๆ มาทีแต่จัดใหญ่

ถ้าเอาข้อมูลแผ่นดินไหวมาพล็อต คุณจะเห็นเลยว่าภาคเหนือของไทยจะมีจุดแผ่นดินไหวเต็มทุกพื้นที่ แต่จุดเยอะๆ ที่เห็นเกือบทั้งหมดจะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือปานกลาง ซึ่งไม่สร้างพิบัติภัย แต่กับกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย เหมือนจะไม่ค่อยมีแผ่นดินไหวเกิดในแถบนี้ แต่เกิดที แต่ละดอก ระดับ 6.0-7.0 ทั้งนั้น เป็นสไตล์ไม่พูดเยอะนานๆมาที การเปรียบว่ารอยเลื่อนนี้คือยักษ์หลับที่รอวันตื่น มันสื่อสารตรงไปตรงมาที่สุด

แล้วมันจะเกิดขึ้นอีกไหม?

มีอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่คาบอุบัติซ้ำเขาไม่นิ่ง เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ในช่วงเวลาที่แน่นอน ถ้าดูคาบอุบัติซ้ำนับถอยหลังได้เป็นร้อยปี และถ้าถามว่าจะเกิดขึ้นไหมคำตอบคืออาจจะเกิดอีกครั้งใน 50-100 ปี

การเกิดแผ่นดินไหว ที่สุดแล้วคาดการณ์ได้ไหม?

คาดการณ์ได้ มีงานวิจัยไม่น้อยที่ระบุว่าจะเกิดในช่วงไหน แต่การคาดการณ์ในความหมายงานวิชาการคือ คาดการณ์ในเรื่องพื้นที่ เช่น รอยเลื่อนที่มีความยาว 1,200 กิโลเมตร ตรงไหนคือความเสี่ยง แต่คงบอกไม่ได้ว่า วันนั้น เดือนนี้ ในเวลา 15.40 น. แบบนี้มันบอกไม่ได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามข้อมูลเพียงเท่านี้ก็ดีพอสำหรับการเตรียมรับมือ ในแง่การตั้งรับกับภัย การวางแนวทางรับมือ (Mitigation Plan) เช่น เมื่อมีเวลาว่าง ก็คิดถึงการเสริมความแข็งแรงให้กับบ้านหรืออาคาร หรือมาซ้อมการรวมพล การเตรียมอาหาร กักตุนไว้บ้าง สร้างตัวเองให้เข้มแข็งกับข้อมูลที่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ไม่รู้ในช่วงนี้

กับอีกแบบคือการเตือนเพื่อการอพยพ (Evacuation plan ) มันเป็นอีกระบบ ถามว่าเตือนได้ไหม เตือนก่อนได้ เพราะการเกิดแผ่นดินไหว คลื่นอาจจะมา 4 ตัว พอ 2 ตัวแรกมันโผล่หัวมา (คลื่น P, S) เราวัดและส่งสัญญาณ ให้ประชาชนอพยพทัน ซึ่งจะรู้ก่อนเป็นหลักวินาที หรือเต็มที่ 1-2 นาที ซึ่งมันฟังดูไม่นาน แต่ก็นานพอสำหรับคนที่ฝึกมาดีแล้ว นานพอที่จะให้รถไฟชินคันเซ็นที่วิ่งด้วยความเร็วหยุดวิ่งก่อน นานพอให้แพทย์ ที่ผ่าตัด และกำลังเข้ากระบวนการที่ถอยหลังไม่ได้แล้วตัดสินใจหยุด ซึ่งระยะเวลาในการเตือนในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง

อะไรคือบทเรียนสำคัญในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้?

ถ้าในฐานะนักวิชาการ สำหรับผมนี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่า กรุงเทพและปริมณฑลได้รับผลกระทบได้มากขนาดนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าปัจจัยด้านภูมิประเทศเป็นอย่างไร รู้ว่าสักวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหลับตาก็นึกไม่ออก วันนี้เราได้เห็นได้ด้วยตาจริง ได้เรียนรู้ ได้รู้ว่าตึกในเมืองไทยแข็งแรงกว่าที่คิด วิศวกรไทยมีคุณภาพ เพราะจากประสบการณ์ในความรุนแรงระดับนี้ ในต่างประเทศมีการศูนย์เสียมากกว่านี้เยอะ

ส่วนในฐานะประชาชน ทำให้เรายอมรับว่า ประเทศไทยมีภัยพิบัติได้ แม้จะนานๆ ครั้งก็ตาม แต่การมีภัยพิบัติครั้งนี้อธิบายเราว่า การมีภัยพิบัติไม่ได้หมายความว่าเราต้องหนีไปที่อื่น หน้าที่ของเราไม่ได้ย้ายที่อยู่ แต่จะทำอย่างไรให้อาคารเราเข้มแข็งกว่าเดิม และสำหรับผมครั้งนี้เราสอบผ่าน เพราะก่อนหน้านี้ ผมเคยคาดการณ์ว่า น่าจะดูแย่กว่านี้ เพราะความจริงคือมีหลายอาคาร ที่สร้างมาก่อนการออกกฎหมายมาควบคุม

จนถึงวันนี้เรายังต้องระวังรอยเลื่อนใดอีกบ้าง?

ยังมีอีก 55 รอยเลื่อนที่เราเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 16 ใน 55 รอยเลื่อน ที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทย แต่การอธิบายแบบนี้ ไม่ได้อยากให้ทุกคนตระหนก แต่ทุกรอยเลื่อนในแต่ละพื้นที่ มันต้องถูกนำไปประเมินเป็นนระดับภัยพิบัติ เพื่อนำไปใช้ในการออกกฎหมายควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายในการก่อสร้าง การศึกษาเรื่องรอยเลื่อนไม่ได้ให้เราตื่นตระหนก แต่เป็นการศึกษาเพื่อการเตรียมตัวเตรียมพร้อม

ข้อมูลที่ส่งต่อกันจำนวนหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่จริงเลยคือถ้อยคำที่ว่ารอยเลื่อนสะกายทำให้เกิดสึนามิ นั่นเพราะลีลาการเลื่อนตัวของสะกาย เป็นปัจจัยเฉพาะแผ่นดินไหว

ในฐานะศาสตราจารย์ด้านแผ่นดินไหว อาจารย์ด้านธรณีวิทยา อะไรคือความสำคัญของศาสตร์นี้?

มันเป็นการอธิบายโลกในเชิงกายภาพ ยกตัวอย่างวิชา วิทยาศาสตร์โลก (Earth Science) ที่ผมสอนเมื่อเช้าก่อนมา เป็นรายวิชาใหญ่ที่นักศึกษาราว 800 คนต้องเรียน มันเป็นวิชาที่อธิบายโลก รู้จักหิน ดิน ภูมิประเทศอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตลอดจนวิธีการอยู่กับโลกอย่างเป็นมิตร เราไม่ทำร้ายเขา และไม่ให้เขาทำร้ายเราได้

ส่วนตัวผมเอง ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบศาสตร์นี้ ผมมองว่า มันเป็นโชคชะตา มากกว่า ก่อนหน้าผมก็เรียนฟิสิกส์ แต่พอมาเจอเรื่องแผ่นดินไหว ผมชอบมาก สนุก เป็นความรู้สึกเดียวกับได้อ่านการ์ตูน ตอนนั้นไม่มีหนังสือภาษาไทย เป็นลักษณะการค่อยๆดู สะสมไปเรื่อยๆ จากการทำวิจัย ผมพบว่า เหตุการณ์ของการเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้ง มันคือรหัสลับของโลกที่เราต้องถอดความหมายเอง และทุกครั้งที่เราได้วิเคราะห์ข้อมูล เราเดาได้ว่ามันจะไปทางไหน

ถ้าผมถามคุณว่าโลกทุกวันนี้มันดุมากขึ้นไหม? แผ่นดินไหวเกิดถี่มากขึ้นไหม? ไปลองเอาข้อมูลแผ่นดินไหวในแต่ละที่มาพิจารณา จะเป็นที่ญี่ปุ่น ฝั่งเอเชีย หรือยุโรป คำตอบคือมันไม่ได้มากขึ้นเลยนะ  อัตราการเกิดคงเดิม เป็นเส้นตรง ลองเอาแผ่นดินไหวทั่วโลกทุกวันหวยออกมาดูก็ได้ ผมลองแล้ว อัตราการเกิดก็เป็นเส้นตรง สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิด ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ และฐานข้อมูลเหล่านี้ชวนให้ถอดรหัส เพื่อเจอสัญญาณ ว่าโลกจะเกิดอะไรขึ้นอีก ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันสนุก

ในมุมมองของคุณความรู้เรื่องเรื่องธรณีวิทยา แผ่นดินไหว จัดการภัยพิบัติสำคัญแค่ไหนในการบริหารประเทศ และทักษะแบบไหนสำคัญสำหรับสังคมไทยบ้าง?

ถ้าเป็นผู้บริหารประเทศ คงไม่จำเป็นต้องรู้ในรายละเอียด เพราะเรื่องแบบนี้คือเรื่องเฉพาะทาง แต่คงต้องเข้าใจภาพรวมในแต่ละ Segment (ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว หรือ วิศวกรรมแผ่นดินไหว) และใช้ผู้ชำนาญในแต่ละความถนัด มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับความเป็นจริง

ส่วนทักษะที่ต้องรู้ ผมว่าเรื่องภูมิศาสตร์ จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลน หรือภัยแล้ง ซึ่งประเทศไทยเจอบ่อย อย่างน้อยคนไทยควรจะเข้าใจภาพรวม น้ำท่วมตรงนี้จะไหลไปไหนต่อได้บ้าง ต้องเก็บข้องขึ้นที่สูงตอนไหน รู้ว่ารอยเลื่อนแบบนี้มีโอกาสความเสี่ยงใดบ้าง อย่างน้อยๆก็จะใช้ชีวิตต่อได้และไม่เชื่อข่าวไม่จริง ที่ทำให้เราต้องตื่นตระหนก

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : ณัฐวรรธน์ ไทยเสน


อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์ล้านปี ขุดหาชั่วชีวิต – การหวน ขุดไดโนเสาร์ “ภูเวียง” รอบ 30 ปี

Recommend