ทุ่งมัวร์แห่ง สกอตแลนด์
เวลา 18.00 น. ตรงของวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2015 ในเมืองคิงกุสซี สกอตแลนด์ จอร์จ พีรี ตัวแทนผู้ได้รับมอบหมายจากเอริก ฮีเรมา ผู้ประกอบการชาวดัตช์ เข้าครอบครองบาลาวิลต่อจากอัลแลน แมกเฟอร์สัน-เฟลตเชอร์ ผู้เป็นเจ้าของเดิม การซื้อขายมูลค่าราว 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้แปลความได้ว่า ที่ดิน 28 ตารางกิโลเมตร พร้อมคฤหาสน์หินสีเทายุคศตวรรษที่สิบแปดซึ่งออกแบบโดยโรเบิร์ต แอดัม ตลอดจนทุ่งมัวร์ที่แผ่กว้างเป็นเนินสูงๆต่ำๆ แม่น้ำสเปย์ช่วงยาวห้า กิโลเมตรที่พาดผ่าน รวมทั้งซาราห์ ผีผู้สิงสถิตอยู่ที่นี่ จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกตกทอดต่อเนื่องในตระกูลมายาวนาน 225 ปีอีกต่อไป
“ที่ผ่านมาแม้จะเป็นวิถีชีวิตที่ดีเลิศ แต่ถึงเวลาแล้วครับ” แมกเฟอร์สัน-เฟลตเชอร์ บอกในเวลาต่อมา ระหว่างจิบวิสกี้ ในกระท่อมชาวไร่ที่บูรณะใหม่ตรงมุมหนึ่งของที่ดิน ซึ่งเขายังเก็บรักษาไว้ให้ตนเองกับมาจอรีผู้เป็นภรรยา น้ำเสียงของแมกเฟอร์สัน-เฟลตเชอร์ ชายผมขาวผู้อบอุ่นอ่อนโยน ฟังดูโล่งอก
แมกเฟอร์สัน-เฟลตเชอร์ ในวัย 65 ปีและพร้อมแล้วที่จะเกษียณบอกว่า ลูกๆ “ฉลาดแล้ว” ที่ไม่สนใจรับช่วงเป็นเจ้าของต่อ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาบั่นทอนทั้งหัวใจและกระเป๋าสตางค์ “หนทางเสียเงินที่รวดเร็วที่สุดคือการถือครองที่ดินในไฮแลนด์” เขาเหน็บแนม ท้ายที่สุด รัฐสภาสกอตแลนด์ก็มีแผนจะดันร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดินออกมา ซึ่งจะส่งผลให้การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินขนาดใหญ่เช่นนี้มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่วและยากลำบากมากขึ้น แผนการนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความตึงเครียดทางชนชั้นที่ยืดเยื้อมายาวนาน และการถกเถียงว่าด้วยอนาคตของทุ่งมัวร์ (moor) ซึ่งเป็นภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของสกอตแลนด์
เพื่อเตรียมต้อนรับเจ้าของใหม่ ข้าวของในบ้านถูกขนย้ายออกไปจนเหลือแต่พื้นไม้เนื้อแข็งกับผนังบุไม้ ภาพเขียนบรรพบุรุษถูกปลดลงมา ข้าวของในตู้เสื้อผ้าถูกเก็บออกไปเกลี้ยง ทั้งเสื้อโค้ท กางเกง หมวกแก๊ป และเสื้อกั๊ก นอกจากนี้ยังมีบรรดาหัวสัตว์ที่มีตาเป็นลูกแก้วซึ่งประดับอยู่ตามฝาผนัง (กวางตัวผู้ กาเซลล์ ควายป่าแอฟริกาสองตัว และนกต่างๆที่ล่าเป็นเกมกีฬา) โต๊ะอาหารไม้มะฮอกกานี ชุดถาดเสิร์ฟเนื้อเป็นเงินพร้อมฝาครอบ และเชิงเทียนหรูหลากกิ่งก้าน ทั้งหมดถูกนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ
แทนที่จะทำเป็นรีสอร์ตล่าสัตว์ตามธรรมเนียมอังกฤษขนานแท้ที่ซึ่งลูกค้ายอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อท่องทุ่งมัวร์ ล่ากวางแดง ยิงไก่ป่า และตกปลาแซลมอน บาลาวิลจะกลายเป็นบ้านพักของครอบครัว แฮนนาห์ ฮีเรมา ภรรยาของผู้ซื้อ บอกว่าจะใช้ตัวคฤหาสน์เป็นที่ให้ “เด็กๆไว้วิ่งเล่น” (เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา เจ้าของใหม่ได้ยื่นคำร้องซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาขณะที่เขียนสารคดีเรื่องนี้ เพื่อขอปรับเปลี่ยนกลุ่มอาคารในไร่ให้เป็นศูนย์นักท่องเที่ยวที่มีร้านกาแฟ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจัดงานต่างๆ และลานจอดรถที่สามารถรองรับรถได้ 140 คันสำหรับรถยนต์และรถบัส ชุมชนในละแวกใกล้เคียงกังวลถึงผลกระทบด้านลบต่อหมู่บ้านของพวกเขา ต่างต่อต้านไม่เห็นด้วย
บาลาวิลตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาและพื้นที่สูงที่เรียกว่า สกอตติชไฮแลนด์ ฟากหนึ่งขนาบด้วยแม่น้ำสเปย์ อีกฟากขนาบด้วยเทือกเขาโมนาลีแอท พื้นที่ 24 ตารางกิโลเมตรจากทั้งหมด 28 ตารางกิโลเมตรของบาลาวิลเป็นทุ่งมัวร์ ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถูกกระหน่ำจากพายุทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบเดียวกับที่พัดพาบาลาวิลไปสู่อ้อมแขนผู้ซื้อชาวต่างชาติ (เมื่อค่าเงินปอนด์ตกลงภายหลังสหราชอาณาจักรลงคะแนนเสียงออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป การกว้านซื้อที่ดินในสกอตแลนด์มาไว้ในครอบครองโดยเงินตราต่างชาติก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2015 และ2016 ผู้ซื้อจากนานาชาติคว้าที่ดินครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 16 แปลงที่ประกาศขาย)
ทุ่งมัวร์เป็นภูมิทัศน์เรียบโล่ง มีแต่พรรณไม้พุ่มและทุ่งหญ้าที่ลมพัดกระหน่ำ ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งตา นอกจากนี้ คำว่าทุ่งมัวร์ยังรวมถึงทุ่งฮีทที่แห้งกว่าในเขตไฮแลนด์ และภูมิทัศน์ที่ชุ่มน้ำกว่าของพรุในหลายพื้นที่ของสกอตแลนด์
นอกจากนี้ ทุ่งมัวร์ยังเป็นจุดขายบนแผ่นพับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของสำนักงานท่องเที่ยวสกอตแลนด์ ผลการสำรวจโดยรัฐบาลพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อมโยงทุ่งมัวร์ที่ปกคลุมไปด้วยดอกเฮเทอร์สีม่วง ล็อก (loch) หรือทะเลสาบ และกวางแดงที่ปรากฏอยู่ในทิวทัศน์อันงดงามว่า เป็นภูมิทัศน์ที่สะท้อนความเป็นสกอตแลนด์ ภูมิทัศน์แบบทุ่งมัวร์ซึ่งดูเหมือนเป็นอย่างที่เห็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุ่งมัวร์ “เป็นพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ใช่ที่รกร้าง” ดังคำกล่าวของแอดัม สมิท นักชีววิทยา ผู้อำนวยการองค์การกองทุนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการล่าสัตว์ในสกอตแลนด์ (Game and Wildlife Conservation Trust) ในการรักษาพื้นที่ทุ่งมัวร์เฮเทอร์ให้เป็นดังเดิมจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการโดยการเลือกเผาเป็นจุดๆ เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ป่างอกเงยขึ้นมาปกคลุมภูมิประเทศ
การแทะเล็มหญ้ามากเกินไปของกวางและแกะ การบุกรุกแผ่ขยายของป่าละเมาะ และการอนุรักษ์เขตแดนส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ ทำให้สกอตแลนด์สูญเสียพื้นที่ทุ่งเฮเทอร์ไปมากกว่าร้อยละ 25 นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่การสูญเสียนี้น่ากังวลหรือไม่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล การก้าวเข้าไปในทุ่งมัวร์คือการก้าวลงไปจมอยู่ในบึงแห่งการต่อสู้ช่วงชิง ความขุ่นเคือง และการเรียกร้องความเที่ยงธรรม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นตรงกัน แต่นักวิทยาศาสตร์อย่างสมิทแย้งว่าทุ่งมัวร์เป็นหนึ่งในถิ่นอาศัยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในบริเตน นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือการท่องเที่ยว รวมทั้งผลประโยชน์เชิงสิ่งแวดล้อม เพราะทุ่งมัวร์ชุ่มน้ำซึ่งได้แก่ทุ่งมัวร์ที่ประกอบด้วยพรุพีต (peat bog) เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอน ดังนั้นจึงช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรื่อง เคที นิวแมน
ภาพถ่าย จิม ริชาร์ดสัน