การประเมินและรวบรวมข้อมูลในระดับโลกบ่งชี้ว่า โอกาสในการปกป้องความหลากหลายทางระบบนิเวศ สัตว์สูญพันธุ์ และโลกที่อุดมสมบูรณ์นั้นเริ่มหมดลง แต่ยังพอมีทางแก้ปัญหาอยู่บ้าง
องค์การสหประชาชาติออกโรงเตือนว่า บรรดามนุษย์เป็นเหตุให้สายพันธุ์สัตว์นับล้านชนิดต้องกลายเป็น สัตว์สูญพันธุ์ ไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลร้ายทั้งเผ่าพันธุ์มนุษย์และทุกชีวิตที่เหลืออยู่บนโลก
รายงานที่ชื่อว่า รายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศระดับโลก ได้รวบรวมแหล่งข้อมูลจากรัฐบาลและวิทยาศาสตร์กว่า 1500 แหล่งข้อมูล โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 145 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก รายงานฉบับนี้มองถึงสภาวะของความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า
บรรดาผู้เขียนรายงานนี้พบว่า สาเหตุของการเสื่อมถอยของธรรมชาติบนโลกเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนสภาพที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า การทำประมงเกินขนาด การล่าสัตว์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ มลภาวะ และการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น
นอกจากนี้ บรรดาสัตว์ราว 8.7 ล้านสายพันธุ์ (หรือาจมากกว่านี้) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “สายใยสนับสนุนความปลอดภัยของชีวิต” (Life supporting Safety Net) ซึ่งมีทั้งแหล่งอาหาร น้ำสะอาด อากาศ พลังงาน และอื่นๆ กำลังหร่อยหรอลงไป
โลกแห่ง “สารข้นเหนียวสีเขียว”
ในโลกใต้ทะเล บรรดาสิ่งมีชีวิตตัวน้อยอาจจะเหลือเป็นเพียงแต่สารห่อหุ้มตัวข้นเหนียวสีเขียว (green slime) ป่าไม้เขตร้อนในพื้นที่ห่างไกลบางแห่งใกล้เงียบงันเพราะไม่มีมวลหมู่แมลงที่คอยส่งเสียง ทุ่งหญ้าเขียวขจีกำลังกลายเป็นทะเลทราย กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆ ของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 75 และพื้นที่มหาสมุทรกว่าร้อยละ 66 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมโลกของเรามากที่สุด กำลังทุกข์ทนจากผลกระทบที่เกิดมากมนุษย์
“มนุษย์เรากำลังกัดกร่อนสุดยอดรากฐานทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก” เซอร์ โรเบิร์ต วัตสัน ประธานนโยบายเวทีวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลนานาชาติทางชีวภาพและระบบนิเวศ (The Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services – IPBES) กล่าวและเสริมว่า “ความกังวลส่วนตัวของผมคือสภาวะของมหาสมุทร ทั้งพลาสติก พื้นที่มรณะทางทะเล (Dead Zone) การทำประมงเกินขนาด ความเป็นกรด (acidification) เรากำลังทำลายมหาสมุทรอย่างมหาศาล”
ปกป้องบรรดาสัตว์ให้มากกว่านี้
การปกป้องธรรมชาติและรักษาสายพันธุ์สัตว์ คือการปกป้องพื้นดิน พืชน้ำ และสัตว์ที่ต้องอยู่รอด โจนาธาน ไบล์ลี รองประธานบริหารและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว การปกป้องพื้นที่โลกได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 ด้วยการบรรลุเป้าหมายระหว่างทางคือ คือปกป้องพื้นที่โลกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2030
รายงานดังกล่าวสรุปว่า เพื่อปกป้องธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ สังคมเราต้องเปลี่ยนความสนใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมาสู่เป้าหมายทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะง่ายมากขึ้นถ้ามีหลายๆ ประเทศเปลี่ยนจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า ธรรมชาติคือรากฐานของการพัฒนา การวางแผนโดยยึดเอาธรรมชาติเป็นฐานจะเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดีและลดผลกระทบในแง่ลบได้มาก
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวชี้ว่า บรรดาชนเผ่าท้องถิ่นทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีความสามารถในการปกป้องและจัดการธรรมชาติมากกว่ารัฐบาลหรือองค์กรความร่วมมือใดๆ ซึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศต้องช่วยเหลือพวกเขาในแง่ของการจัดการให้สิทธิที่ดินทำกิน และไม่รุกรานพวกเขา
“ชนเผ่าท้องถิ่นเป็นผู้ให้ความร่วมมือคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นของโลก” – โฆฆี การินโญ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของโครงงานป่ามนุษย์ (Forest People Program) ขององค์การสิทธิมนุษยชน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2020 จะมีการประชุมของสหประชาชาติที่ชื่อว่า การประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศจีน บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อปกป้องธรรมชาติของโลก เช่นเดียวกับข้อตกลงปารีสที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพภูมิอากาศของโลก
“หลักฐาน [ที่ได้ปรากฏในรายงาน] นั้นมีความชัดเจนอย่างยิ่ง อนาคตจะกลายเป็นเรื่องเลวร้ายถ้าเราไม่ทำอะไรเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะไม่มีอนาคตสำหรับเรา หากไม่มีธรรมชาติ” ซานดรา ดิอาซ หนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าว