ทางแพร่งของปากบารา

ทางแพร่งของปากบารา

เรื่อง  ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง

ภาพถ่าย  ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2552  เป็นช่วงที่ผมทำงานเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารเพื่อนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ  ผมกับทีมออกสำรวจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล เพื่อทำข้อมูลเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในขณะที่ทีมอื่นก็ลงพื้นที่เพื่อศึกษาหาจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติทางทะเลอื่นๆ ทางฝั่งอันดามันในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

 

ที่นี่มีทุกอย่างของระบบนิเวศทางทะเล

ถ้าเราดูแผนที่โลกจะเห็นว่าภาคใต้ของไทยขนาบด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านขวาและมหาสมุทรอินเดียทางด้านซ้าย  ด้ามขวานของแหลมทองตั้งแต่ภาคใต้จนถึงมาเลเซียเป็นแผ่นดินที่เป็นรอยต่อระหว่างพันธุ์พืชและสัตว์บกจากซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ น้ำทะเลจากสองมหาสมุทรที่ไหลมาเชื่อมกันได้ที่ปลายคาบสมุทรมลายู เราจึงพบว่าทะเลบริเวณนี้ไม่เพียงมีความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลสูง แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดสายพันธุ์ ทั้งที่พบได้ทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย อย่างปลาผีเสื้อ ปะการัง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ในแนวปะการัง ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และท้องทะเลจังหวัดสตูล

คุณลักษณะพิเศษเหล่านี้ตรงกับเกณฑ์ข้อที่ 9 ของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่กำหนดไว้ว่า “เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของกระบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาที่ยังดำเนินอยู่ ที่สำคัญต่อวิวัฒนาการและพัฒนาการของระบบนิเวศบก ระบบนิเวศน้ำจืด ระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล และต่อสังคมพืชและสังคมสัตว์” ท้องทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและอุทยานแห่งชาติตะรุเตาจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

กอกัลปังหาที่มีสีขาวแปลกตาและฝูงลูกปลาใต้ผืนน้ำที่กองหินขาว ใกล้หมู่เกาะบุโหลน เมื่อต้นปี 2560 โครงการรักษ์หินขาวสำรวจปะการังอ่อนและกัลปังหาสีขาว ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในแนวปะการังทั่วไป สันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำที่ขุ่นเขียวด้วยตะกอนสารอาหารทำให้เกิดสภาวะแสงน้อยคล้ายแนวปะการังน้ำลึก

ขณะเดียวกัน ชายฝั่งทะเลบริเวณนี้ยังมีระบบนิเวศครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย หาดโคลน แหล่งปะการัง หญ้าทะเล  ปากแม่น้ำ ทุกอย่างยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์  นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าพื้นที่ตั้งแต่ใต้จังหวัดภูเก็ต อ่าวพังงา ลงมาถึงสตูล อยู่ปากช่องแคบมะละกา ซึ่งมีเกาะสุมาตราอยู่ทางซ้าย มีภูเขาเกาะแก่งล้อมรอบ กระแสน้ำหลักที่ไหลผ่านบริเวณนี้จึงพัดทุกอย่างมาสะสมรวมที่ชายฝั่งและอวนอยู่ในอ่าว  ชายฝั่งตลอดแนวนี้มีการสะสมของธาตุอาหาร ทั้งจากทางบกและทางทะเลจนอุดมสมบูรณ์

ยิ่งไปกว่านั้น ชายฝั่งสตูลยังมีธาตุอาหารจากบกที่ไหลลงมากับแม่น้ำและสะสมที่ชายฝั่งทะเลอีกทางหนึ่ง ระบบนิเวศเช่นนี้เรียกว่าชะวากทะเลหรือปากแม่น้ำ(estuary) ชายฝั่งของไทยจากสตูลไล่ขึ้นไปถึงอ่าวพังงามีปากแม่น้ำหลายแห่ง เช่น ปากน้ำสตูล ปากบารา ปากน้ำกันตัง ปากน้ำปะเหลียน ปากน้ำสิเกา ศรีบอยา ปากน้ำกระบี่ และอ่าวพังงา ล้วนเป็นระบบนิเวศปากแม่น้ำ หาดเลน และป่าชายเลนขนาดใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งรวมธาตุอาหารทั้งจากบนบกและในทะเล ส่งผลให้แถบนี้มีพืชและสัตว์ทะเลอุดมสมบูรณ์และหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

หาดโคลนสีดำของชายฝั่งจังหวัดสตูลจึงไม่ใช่ความสกปรกอย่างที่ตาเห็น แต่เป็นสีของสารอินทรีย์ มีธาตุอาหารสะสมจนเป็นที่อยู่อาศัยและที่หากินของสัตว์น้ำนานาชนิด มีธาตุอาหารชั้นดีสำหรับแบคทีเรียทะเล ไส้เดือนทะเล และสัตว์หน้าดิน ที่จะเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลาต่อไป

ส่วนป่าชายเลนที่ใครๆ เห็นว่าเป็นดินเลนเฉอะแฉะ มีป่าโกงกางรกรุงรังนั้น ก็ไม่ได้พบทั่วไปในประเทศอื่นๆ  ปลาเก๋า ปูม้า ปูทะเล และสารพัดสัตว์ทะเลวัยอ่อน ถือกำเนิด และหลบภัย อยู่ตามซอกหลืบรากไม้ในป่าชายเลน เมื่อเติบใหญ่ก็ว่ายออกสู่ท้องทะเล ชายหาดและหาดโคลนสีดำไม่สวยงามขาวสะอาดอย่างแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทางอันดามันตอนเหนือ กลับเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง

ภาพมุมสูงยามเย็นของชายหาดและหมู่เกาะบริเวณอ่าวปากบาราซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตาม โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา คนทั่วไปรู้จักปากบาราในฐานะที่เป็นประตูสู่แหล่งท่องเที่ยว เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา นอกเหนือจากการหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมประมงด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์

ที่สำคัญ แนวปะการังที่หลากหลายและถือว่าดีที่สุดในทะเลอันดามันตอนล่างในปัจจุบันและยังคงสภาพสมบูรณ์ดีกว่าแหล่งปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ก็อยู่ที่หมู่เกาะอาดัง-ราวีและตะรุเตาด้วย แต่เพราะยังมีคนมาเที่ยวน้อยกว่าหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน ชื่อเสียงจึงไม่โด่งดังเท่า  แม้แต่ชาวบ้านที่ปากบาราก็ยังเคยคิดว่าแนวปะการังที่บ้านเขาสวยงามสู้ที่อื่นไม่ได้  เมื่อเกือบสิบปีก่อนที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน ภูเก็ต พีพี ต้องตายลงเป็นจำนวนมาก แต่แนวปะการังที่สตูล นอกจากจะสามารถปรับตัวและทนต่อการฟอกขาวได้ดีแล้ว บางส่วนที่ฟอกขาวไป ก็ยังคืนสภาพกลับมาจนไม่เห็นร่องรอยของปรากฏการณ์ฟอกขาวเลยอีกด้วย คงเป็นผลมากจากประสบการณ์ในการเผชิญการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

 

ท่าเรือน้ำลึกกับผลกระทบที่ไม่มีคนเอ่ยถึง

หลังจากใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการสร้างท่าเรือน้ำลึกภาคใต้มาราว 6-7 ปี  พอถึงปี พ.ศ. 2547 กรมเจ้าท่าก็สรุปว่าปากบาราเป็นพื้นที่เหมาะสมในการสร้างท่าเรือน้ำลึก อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคใต้ที่รัฐริเริ่มกำหนดเป็นแผนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518

เนื่องจากการขนส่งทางทะเลมีมูลค่าปีละมากกว่า 20 ล้านล้านบาทและการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบสุมาตราก็มีความแออัดมากขึ้นทุกวัน จึงมีความพยายามหาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม  รัฐทุกยุคทุกสมัยจึงพยายามเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนอง และท่าเรือภูเก็ต  โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจึงเป็น    ส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมโยงฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง อำเภอจะนะ กับฝั่งทะเลอันดามันที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา

นักท่องเที่ยวและเรือคายักหลากสีบนชายหาดที่ล้อมรอบด้วยยอดแหลมของภูเขาหินปูนที่ปราสาทหินพันยอดบนเกาะเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ปากบาราค่อยๆ เติบโตด้วยแรงผลักดันของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อน่ากังวลสำคัญหากมีการก่อสร้างสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีอยู่สองประการ ประการแรกคือการฟุ้งกระจายและทับถมของตะกอนที่จะเกิดเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือ การขุดลอกร่องน้ำ และเมื่อเปิดใช้งาน  อีกประการหนึ่งคือการสะสมของมลพิษทางทะเล หากเกิดการรั่วไหลของน้ำมัน

สตูลเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกา ไม่ได้เป็นทะเลเปิดเช่นเดียวกับชายฝั่งทะเลตะวันออก  หากเกิดเหตุการณ์น้ำมันหรือสารเคมีรั่วไหล สารพิษเหล่านั้นย่อมถูกพัดพามาตกสะสมตลอดชายฝั่งของสตูลเช่นกัน  ทุกวันนี้ ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ขยะจำนวนมากจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย และจากเรือเดินสมุทรทั้งหลาย ก็ถูกกระแสน้ำพัดมากองตลอดแนวชายฝั่งมากมายอยู่แล้ว  และหากชายฝั่งสตูลเป็นแหล่งสะสมของมลพิษ สัตว์ทะเล และคนกินสัตว์ทะเลก็ย่อมได้รับพิษไปด้วยตามลำดับ

อย่างน้อยในวันนี้ คนปากบารายังมีธรรมชาติแห่งท้องทะเลสตูล ซึ่งมีคุณค่าในระดับสากลที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก  คนสตูลจะตอบรับการพัฒนาในโครงการท่าเรือน้ำลึก การขนส่งทางทะเลย สินค้า น้ำมัน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือจะช่วยกันรักษาท้องทะเลสตูลเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนวิถีชีวิตของตัวเอง

ใต้น้ำลึกเกือบ 30 เมตรกลางทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ชาวประมงพื้นบ้านชาวอูรักลาโว้ ใช้อุปกรณ์ดำน้ำที่ทำขึ้นเองวิ่งแบกไซดักปลาไปบนพื้นทราย ชาวอูรักลาโว้ยหรือชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตผูกพันใกล้ชิดกับท้องทะเล พวกเขาเคยเร่ร่อนตามหมู่เกาะต่างๆ ก่อนลงหลักปักฐานในทะเลอันดามันของไทย

 

อ่านเพิ่มเติม : มหาสมุทรเป็นพิษ : ชมภาพถ่ายที่ช่วยย้ำเตือนถึงสถานะน่ากังวลของทะเลและมหาสมุทรในปัจจุบันลมฟ้าอากาศสุดขั้ว กำลังเกิด ต้องรับมือ และอยู่ให้ได้ทะเลจีนใต้ น่านน้ำแห่งข้อพิพาท

Recommend