ป่าชายเลน ผืนใหญ่ที่สุดในโลก : ซุนดาร์บันส์
ป่าชายเลน ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนาม ซุนดาร์บันส์ หยัดยืนอยู่ดั่งกำแพงสีเขียวที่คอยดูดซับคลื่นพายุซัดฝั่ง และลดทอนกำลังพายุไซโคลน สำหรับชาวบ้าน ป่าผืนนี้ยังเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ คำถามคือจะอีกนานเพียงใด
——————————————–
ตอนที่ศพของเพื่อนบ้านซึ่งตายไปนานแล้ว ลอยขึ้นมาใกล้กับประตูบ้าน บูลู ฮัลดาร์ รู้ทันทีว่า บ้านของเธอก็ไม่รอดเหมือนกัน
เขื่อนกั้นนํ้าที่ป้องกันหมู่บ้านธางมารีตะวันออก ในเขตขุลนาทางตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ทำท่าจะจมหายไปในแม่นํ้าปสุระมาหลายสัปดาห์แล้ว ทีแรกพายุรุนแรงลูกหนึ่งซัดทำลายผนังคอนกรีตชั้นนอกของเขื่อน จากนั้นในช่วงปลายปี 2017 แม่นํ้าก็เริ่มกัดเซาะเข้าไปในตัวกำแพงดินที่มีรูพรุน ชาวบ้านรีบขนกระสอบทรายมาเสริม แต่ก็ช่วยยืดเวลาได้ไม่กี่วัน เมื่อแม่นํ้าสายนี้ไหลเข้ามาท่วมสุสานตรงข้ามสวนของฮัลดาร์ในท้ายที่สุด จนโครงกระดูกหลุดลอยออกมา ปนเปื้อนบ่อนํ้าดื่มต่าง ๆ ในหมู่บ้านแล้วนํ้าขุ่นโคลนสีนํ้าตาลก็ทะลักเข้ากระท่อมขนาดหนึ่งห้องของเธอจนสูงถึงเอว
ฮัลดาร์ หญิงม่ายวัยราว 50 ปี เฝ้ามองซุนดาร์บันส์ (Sundarbans) ป่าชายเลนผืนใหญ่ไพศาลที่ขนาบข้างหมู่บ้านถอยร่นหดหายและบรรดาต้นไม้ดูอ่อนแอลง เธอสังเกตเห็นนํ้าที่ดูเหมือนจะดึงพลังมาจากความอ่อนแอของป่า สิ่งเดียวที่น่าแปลกใจก็คือเขื่อนดินของหมู่บ้านยังหยัดยืนอยู่ได้ “ต้นไม้ปกป้องพวกเราแต่เราปฏิบัติกับต้นไม้อย่างเลวร้าย” เธอว่า “คราวนี้เราทุกคนต้องรับกรรมเพราะผลพวงของมันแล้วค่ะ”
ในบังกลาเทศรวมทั้งในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียที่อยู่ติดกัน มีหมู่บ้านแบบเดียวกับธางมารีตะวันออก อยู่นับพันแห่ง พื้นที่เหล่านี้กำลังสูญเสียปราการธรรมชาติที่ช่วยป้องกันภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดินแดนส่วนนี้เป็นพื้นที่ราบเหมือนกระดาษ ตัดไขว้ด้วยเครือข่ายแม่นํ้าที่เอ่อท้นด้วยนํ้าที่ละลายมาจากเทือกเขาหิมาลัย พายุไซโคลนมักก่อตัวในอ่าวเบงกอล บางครั้งคร่าชีวิตผู้คนเป็นเรือนพัน เกิดอุทกภัยทุกหนแห่ง
เกษตรกรในบังกลาเทศที่มีประชากร 160 ล้านคนพูดถึงแผ่นดินเกิดของตนว่าเป็นการเล่นตลกของพระเจ้า ผืนดินประเทศนี้อุดมสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ทุกคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกนํ้าซัดพาหายไปตลอดเวลา อุทกภัยครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 1998 ทำให้พื้นที่ร้อยละ 70 ของประเทศถูกนํ้าท่วม
แต่สิ่งหนึ่งที่ชุมชนชายฝั่งทั้งหลายในภูมิภาคนี้รู้สึกว่าพึ่งพาได้เสมอคือซุนดาร์บันส์ ผืนป่าชายเลนเชื่อมต่อกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ลุ่มนํ้าขังหนาแน่นด้วยพืชพรรณและแผ่กว้างกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตรบนสองฟากของพรมแดนอินเดีย-บังกลาเทศนี้ หยัดยืนอยู่ดั่งกำแพงสีเขียวที่คอยดูดซับคลื่นพายุซัดฝั่ง และลดกำลังพายุไซโคลนลงได้แม้แต่ลูกที่รุนแรงที่สุด นอกจากนี้ สำหรับชาวบ้านป่าผืนนี้ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งนํ้าผึ้ง ขณะที่ในน่านนํ้าเป็นแหล่งของปลา
แต่ป่าชายเลนดังกล่าวดูใกล้จะถึงจุดจบ การทำไม้ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้านเรือนให้ประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาค ส่งผลให้พื้นที่ชายป่าโล่งขึ้น ขณะเดียวกัน ความเค็มของน้ำที่สูงขึ้น เพราะทะเลที่รุกคืบเข้ามามากขึ้นกำลังทำให้พืชพรรณต้านพายุมูลค่าสูงหลายสายพันธุ์ เช่น โกงกางซุนดารี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อป่าชายเลนแห่งนี้พากันล้มตาย ภัยความเค็มนี้มาจากทั้งทางบกและทางทะเล เขื่อนต่าง ๆ ที่อยู่ต้นนํ้าฝั่งอินเดียลดการปล่อยนํ้าจืดลงสู่ซุนดาร์บันส์ ขณะที่ระดับทะเลสูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้นํ้าเค็มหลากทะลักเข้าสู่พื้นที่ป่าชายเลนมากขึ้น
“ระดับความเค็มของนํ้ามีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ครับ” แมชฟิกูช เซเลฮิน ศาสตราจารย์ที่สถาบันการบริหารจัดการนํ้าและอุทกภัย สังกัดมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีบังกลาเทศ กล่าวและเสริมว่า “พื้นที่ใหม่ๆ จะกลายเป็นดินเค็ม และพื้นที่ดินเค็มระดับปานกลางก็ไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้ เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่มากครับ” กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อระดับทะเลสูงขึ้นถึงราว 1.8 เมตรในศตวรรษนี้ ลำพังในบังกลาเทศก็อาจสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนในซุนดาร์บันส์ไปมากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนในกรณีดีที่สุดนั้น การสูญเสียอาจอยู่ที่ราว 200 ตารางกิโลเมตร เซเลฮินและนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ หวั่นว่าการสูญเสียแม้เพียงแค่นั้นก็อาจก่อให้เกิดหายนะได้ สำหรับประเทศที่ยากจนมากขนาดผืนป่ายังถูกกลุ้มรุมด้วยความยากแค้นของมนุษย์
ในสงครามเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนดังกล่าว และอาจจะตัวประเทศบังกลาเทศเองด้วยในระยะยาว ความยากลำบากกลับมีมากขึ้น รัฐบาลในกรุงธากาเปิดไฟเขียวให้โครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่อินเดียหนุนหลังแห่งหนึ่งที่ชายป่าซุนดาร์บันส์ในเมืองรามปาล ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจกรุยทางให้กับอุตสาหกรรมก่อมลพิษอื่น ๆ ขณะที่จีนกำลังเสนอให้สร้างเขื่อนเพิ่มในพื้นที่ลุ่มแม่นํ้าพรหมบุตร ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นอันตรายต่อแหล่งนํ้าจืดที่ยังเหลืออยู่ในซุนดาร์บันส์ นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศยังคงเปลี่ยนแปลงต่อไป ส่งผลให้เกิดฝน พายุ และความแตกต่างของอุณหภูมิที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ยิ่งกว่าเดิม
——————————-
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562
สารคดีแนะนำ