แผนการณ์อันทะเยอทะยานที่ใช้เวลาสร้างขึ้นกว่า 2 ปี อาจเป็นทางแก้ปัญหา ขยะพลาสติกในทะเล ได้
มีการคาดว่าจำนวน ขยะพลาสติกในทะเล ที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในทุกปีจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในปี 2040 หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 29 ล้านเมตริกตัน
งานวิจัยใหม่ที่ใช้เวลาศึกษากว่า 2 ปี แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการรณรงค์เพื่อจำกัดมลพิษจากพลาสติก และมีการให้คำแนะนำถึงแผนอันทะเยอทะยานในการลดขยะซึ่งไหลลงสู่ทะเลเป็นส่วนใหญ่
ไม่มีผู้ใดทราบชัดเจนว่าพลาสติกซึ่งไม่สามารถทำลายได้เหล่านี้รวมตัวในทะเลมากน้อยเพียงใด โดยการคาดการณ์ที่ดีที่สุดในปี 2015 มีจำนวนอยู่ที่ 150 เมตริกตัน หากอนุมานว่าพลาสติกเหล่านี้ยังคงอยู่เหมือนเดิม งานศึกษาคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 600 เมตริกตันในปี 2040
โครงการที่พัฒนาโดยกองทุนเพื่อการกุศลพิว (Pew Charitable trusts) และบริษัท SYSTEMIQ สถาบันคลังสมองด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงลอนดอนได้เรียกร้องให้อุตสาหกรรมผลิตพลาสติกระดับโลกเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ประกอบไปด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และรีไซเคิล ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริง ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันกล่าวว่าการไหลของพลาสติกสู่มหาสมุทรอาจลดลงถึงร้อยละ 80 ในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า แต่ถ้าเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านช้าไป 5 ปี ก็จะมีขยะพลาสติกเพิ่มเติมว่า 80 เมตริกตันลงสู่ชายฝั่ง
โดยร่างแผนที่ชื่อว่า System Change Scenario และบทความทางวิชาการในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Science กล่าวว่าการทำให้แผนขยะพลาสติกเป็นศูนย์ให้บรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องมีทั้งการใช้เทคโนโลยี การลงทุน และความทะเยอทะยานอย่างยิ่ง ท่ามกลางปัจจัยที่ที่มีผลต่างๆ
นอกเหนือรายงานดังกล่าว ยังมีปัจจัยด้านการรณรงค์เพื่อลดขยะพลาสติกซึ่งมีอยู่มากมายทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน การผลิตพลาสติกจะเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 40 ในปี 2030 และจะมีการลงทุนในการสร้างโรงงานพลาสติกมูลค่ากว่าแสนล้านบาททั่วโลก
เนื่องจากจะมีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลและจะมีพลาสติกที่ถูกผลิตเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่แน่ชัดว่าการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังเป็นอยู่นั้นไม่เพียงพอ และแม้ทั้งรัฐบาลและภาคส่วนอุตสาหกรรมให้คำมั่นว่าจะลดพลาสติกให้ได้ภายในปี 2040 แต่อาจจะลดจำนวนขยะพลาสติกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
Nicholas Mallos ผู้ดูแลโครงการ Ocean Conservancy’s marine debris ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการของพิว กล่าวว่า “คนในโครงการอุตสาหกรรมต่างพูดว่า เรากำลังจะทำให้ดีกว่าเดิม รัฐบาลก็เริ่มลงมือ ซึ่งในระดับโลก แต่นี่คือสิ่งที่จะทำให้คนทั้งโลกตาสว่างว่าความพยายามในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ วิถีที่ทั้งโลกปฏิบัติอยู่กำลังไปผิดทาง เราต้องมีการคิดใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเราในวัตถุเหล่านี้”
ในปี 2018 สถาบันพิวได้เริ่มต้นงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจเพื่อทราบการตัดสินใจในการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่ยังไม่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากนัก Simon Reddy ผู้อำนวยการด้านขยะพลาสติกในมหาสมุทรและชายฝั่งขององค์กรพิวกล่าวว่า “ เราต้องตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตที่เราต้องการว่าให้เป็นอย่างไร” และเสริมว่า “แต่เราพบว่าไม่สามารถค้นหาตัวเลขที่แท้จริงในเรื่องเหล่านี้ได้ เราได้รับข้อมูลน้อยมากครับ”
ทีมวิจัยได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดแห่งอังกฤษเพื่อให้ได้ข้อสรุปของการคำนวนและการฉายให้เห็นภาพปัญหาที่ชัดเจน โดย Reddy กล่าวว่า แบบจำลองนี้จะให้ภาพแผนกลยุทธ์ (roadmap) ในการลดขยะพลาสติกตามพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลของประเทศต่างๆและภาคธุรกิจเพิ่มเติมข้อมูล ประเมินผล และเสนอทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมตามแต่ละท้องถิ่น
แบบจำลองได้วิเคราะห์มูลค่าและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่พลาสติกไหลลงสู่ทะเลในหลายสถานการณ์ รวมไปถึงการใช้พลาสติก ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลาสติกสามารถลดลงได้ร้อยละ 47 โดยการเพิ่มการใช้งานวัสดุทางเลือกอื่นๆ รวมไปถึงการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นและนำวัสดุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (ร้อยละ 30) ย่อย (composting) และแทนที่ด้วยวัสดุชนิดอื่น เช่น เปลี่ยนการใช้ถุงพลาสติกช้อปปิ้งพลาสติกมาเป็นถุงช้อปปิ้งกระดาษ
ขยะพลาสติกปกคลุมโลกของเราได้อย่างไร
เราไม่รู้อย่างแน่ชัดว่ามีพลาสติกอยู่ในมหาสมุทรมากเท่าไหร่ และไม่รู้ว่าสิ่งใดคือตัวเร่งให้ก่อให้เกิดขยะพลาสติก แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรและการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลาสติกคือส่วนหนึ่งของสาเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งอัตราการใช้พลาสติกต่อประชากรกำลังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ยกตัวอย่างเช่นอินเดีย ด้วยจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเก็บขยะพลาสติกต่ำ พลาสติกราคาถูกที่ผลิตขึ้นใหม่ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของพลาสติกคุณภาพต่ำที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้
การรีไซเคิลเป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุดในการลดขยะพลาสติก แต่ก่อนจะรีไซเคิลได้ต้องมีการเก็บรวบรวมให้ดีเสียก่อน ในทุกวันนี้ คนกว่า 2,000 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงระบบการจัดเก็บขยะ โดยในปี 2040 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นสองเท่า เป็น 4,000 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมืองในประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำ โดยสถาบันพิวกล่าวว่า การจะทำให้ผู้คนเข้าถึงระบบกำจัดขยะเหล่านี้ต้องมีการเชื่อมต่อผู้คนให้ได้ 500,000 คนในทุกวันนับตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2040 ซึ่งถือเป็นการคาดการณ์ที่น่าเหลือเชื่อ แต่ก็ได้มีการรวบรวมไว้ในรายงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ในระดับโลก
Winnie Lau ผู้จัดการอาวุโสของสถาบันพิวที่ดูแลโครงการวิจัยนี้กล่าวว่า “ฉันคิดว่า มันไม่สำคัญว่าผลการวิจัยของเราจะอัศจรรย์มากพอที่จะเปลี่ยนใจทุกคนได้มากแค่ไหน จุดประสงค์ของเราคือการเปลี่ยนใจผู้ที่มีความสำคัญหลัก (key players) และพวกเขาจะเป็นผู้นำในการตั้งมาตรฐานใหม่ว่าการดำเนินธุรกิจควรเป็นเช่นไร เราจะเริ่มจากตรงนั้น”