ขยะทะเล ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

ขยะทะเล ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

ผลกระทบของขยะทะเลเกิดขึ้นอย่างชัดเจนต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ จนสามารถเรียกความสนใจจากประชาคมโลกให้หันกลับมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลายๆ ประเทศเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ผู้ผลิต ไปจนถึงปลายน้ำ อย่างผู้บริโภคลำดับสุดท้าย เพราะทุกคนมีส่วนทำให้ปริมาณขยะในทะเลเกิดขึ้น

ขยะทะเล คือของเสียที่เกิดจากมนุษย์ที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งขยะดังกล่าวเป็นขยะพลาสติกมีน้ำหนักเบา และไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาที่สั้นจึงถูกพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด โดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้น-น้ำลง

เศษขยะประเภทต่างๆ เป็นปัญหาของชายหาดและท้องทะเลทั่วโลก

ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ประกอบด้วยของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ภาชนะใส่อาหารประเภทต่างๆ และวัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น สายรัด แผ่นพลาสติก หมวกนิรภัย และ เครี่องมือประมง เช่น แห อวน และลอบ

ขยะพลาสติกชิ้นใหญ่จะถูกย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนถึงขนาดเล็กมากเรียกว่าไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกที่มีขนาดที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร นอกจากไมโครพลาสติกส่วนใหญ่มาจากการย่อยสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่แล้ว ยังเป็นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (cosmetic products) และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (health care products)

เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ไมโครพลาสติกจึงเล็ดลอดสู่ท้องทะเลเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ทุกประมาณ 2.6 ตารางกิโลเมตรของผืนมหาสมุทรมีเม็ดพลาสติกลอยปะปนอยู่ราวๆ 13,000 เม็ด คุณสมบัติเฉพาะตัวที่ดูดซับสารพิษได้ดียังทำให้ไมโครพลาสติกสามารถสะสมพีซีบี (PCBs) หรือดีดีที (DDT) และสารพิษอื่นๆ ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมไว้ในปริมาณสูง นอกจากนี้ ในปี 2020 รายงานล่าสุดจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ยังพบว่า เส้นใยเสื้อผ้าเป็นแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกประเภทเส้นใย ที่พบได้ทั่วไปตามมหาสมุทรทั่วโลก

ในปี 2561 กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า คนไทยสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน คิดเป็น 76,164ตันต่อวัน ขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 27.8 ล้านตันต่อปี ขยะทั้งหมดถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีถูกต้องเพียง 10.88 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 39ส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่มีเพียง 9.58 หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ขณะที่ มีปริมาณขยะที่กำจัดอย่างไม่ถูกต้องกว่า 7.36 ล้านตัน หรือร้อยละ 27 และยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวม

นอกจากนี้ยังพบว่า จากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเทศไทยติดอันดับท็อป 10 ของโลก ที่สร้างขยะทางทะเลมากที่สุด มากถึง 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการจัดการขยะอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และปัจจัยสำคัญคือเรื่องความเข้าใจต่อการบริหารจัดการขยะของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนทางสิ่งแวดล้อมที่ควรหามาตรการร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผลกระทบของขยะทะเลต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศ

  1. ผลกระทบต่อสัตว์ทะเล

สัตว์ทะเลหลายชนิดขยะจะกินพลาสติกโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร ขยะดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งทำให้สัตว์ขาดอาหารและอาจถึงตายในที่สุด นอกจากการกินพลาสติกแล้ว ขยะพลาสติกยังเป็นอันตรายเนื่องจากถูกรัด (entangled) และทำให้บาดเจ็บ

  1. ผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ระบบนิเวศและทรัพยากรเกิดความสูญเสีย เช่น การตายของปะการัง เนื่องจากมีอวนจำนวนมากปกคลุมในแนวปะการัง การติดอวนของสัตว์ทะเลจนตายหรือติดเชื้อ ทั้งนี้ยังทำให้เกิดการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โดยการติดมากับขยะที่ล่องลอยอยู่ในน้ำจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบตามลำดับห่วงโซ่อาหารจากสัตว์ทะเลขนาดเล็กถึงปลาตัวโตและถึงสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ปลายสุด ซึ่งแน่นอนว่า… ในจำนวนนั้นมีมนุษย์รวมอยู่ด้วย

  1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ขยะทะเลสร้างความเสียหายให้กับการเดินเรือ การประมง และสัตว์ทะเลจำนวนมาก รวมถึงนิเวศบริการทั้งในทะเลและชายฝั่ง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ทั้งที่มาจากการประมง และการท่องเที่ยว ส่วนผลกระทบต่อสังคม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคน เช่น การได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณชายหาดและขยะทะเลพลาสติกขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าไปปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารทั้งมนุษย์และสัตว์ทะเล เป็นต้น

ปัญหาที่เป็นรูปธรรมทำให้ทุกฝ่ายมุ่งความสนใจไปยังเป้าหมายเดียวกัน

จากปัญหาเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้ทุกคนพอมองเห็นภาพเดียวกันว่า มหาสมุทรและชายฝั่งกำลังได้รับผลกระทบจากปริมาณขยะ ดังนั้น ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนจึงออกมาทำกิจกรรมอนุรักษ์ และรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง รวมไปถึงนักวิชาการด้านมหาสมุทรในประเทศไทยได้ศึกษาวิจัยเรื่องราวของขยะทะเลมากขึ้น

หลายฝ่ายได้เสนอการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) ทิ้งขยะในที่ที่จัดเตรียมไว้ แยกขยะเพื่อการนำกลับไปรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ และกิจกรรมของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทุ่มงบประมาณสนับสนุน เพื่อการสร้างองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะทะเลให้กับประชาชน ผู้มีส่วนได้สวนเสียกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ในช่วงไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายภาคส่วนในประเทศไทยร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขยะในทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ และการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ได้ เช่น กรณีโครงการ สิงห์อาสา Sea Sand Strong ที่ร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาภาคใต้-ตะวันออก เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสร้างความตระหนักในการดูแลท้องถิ่นตนเอง

โครงการสิงห์อาสาได้ดำเนินกิจกรรมโดยทำงานกับผู้มีประสบการณ์ คุณสิรณัฐ สก๊อต นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม SEA YOU STRONG นำนักเรียนจาก 13 โรงเรียนในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยกันเก็บขยะที่บริเวณหาดสนหนาและหาดยาว อำเภอเหนือคลอง เป็นการตัดวงจรขยะที่เป็นมลพิษต่อสภาพแวดล้อมในทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย เช่น ถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร วัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ และเครื่องมือประมง โดยขยะที่ได้จะนำไปคัดแยก และรีไซเคิลเป็นวัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ยังเตรียมขยายสู่ภาคตะวันออกต่อไป

“โครงการซี แซนด์ สตรอง จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ชุมชนของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งอื่นๆ ใน จังหวัดกระบี่ เพื่อให้เห็นความสำคัญของปัญหาขยะ และช่วยกันลดปริมาณขยะ มลพิษทางทะเล อาทิ หาดไร่เลย์ และอ่าวนาง โดยกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ยังคาดหวังให้เป็นการดูแลสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ในทะเล รวมถึงการสร้างความตระหนักในการดูแลท้องถิ่นตนเองอีกด้วย” คุณสิรณัฐ กล่าว

นอกจากนี้ สิงห์อาสามีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์ อนุรักษ์ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสิงห์อาสา ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก้าวสู่ปีที่ 10 ในการมุ่งมั่นช่วยเหลือสังคม พัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์คืนสู่สังคม

Recommend