5 ตัวอย่างที่ โดรนใต้น้ำ กำลังช่วยปกป้องมหาสมุทรให้เรา
ในปลายปีนี้ กองทัพหุ่นยนต์ขนาดเล็กเตรียมกระโจนลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก ด้วยภารกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละหุ่นยนต์ตามที่นักวิทยาศาสตร์มอบหมายให้ไม่ว่าจะเป็นการออกสำรวจแนวปะการัง ไปจนถึงตรวจสอบอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเล
โดรนใต้น้ำ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ National Geographic Emerging Explorer โดยเดวิด แลง ในชื่อโปรเจคว่า OpenROV โปรเจคสำรวจทางทะเลด้วยหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกล จากทุนสนับสนุนของเจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังและมูลนิธิอื่นๆ อีกมากมาย ได้ร่วมกันผลิตหุ่นสำรวจจำนวน 1,00 หุ่น สำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และนี่คือ 5 ตัวอย่างที่นวัตกรรมเหล่านี้ได้ช่วยเหลือมนุษย์ในการปกป้องและอนุรักษ์ผืนน้ำทั่วโลกเอาไว้
จับตาการเปลี่ยนแปลงของแนวปะการังแคลิฟอร์เนีย
ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในลอสแอนเจลิส ได้ช่วยกันจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแนวชายฝั่ง ภาพถ่ายของสิ่งมีชีวิตในทะเลถูกบันทึกไว้โดยบรรดาอาสาสมัครใน Pelican Cove และ ณ วันนี้พวกเขามีผู้ช่วยใหม่นั่นคือโดรนสำรวจที่จะคอยตรวจสอบผลกระทบทางทะเลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ, ระดับน้ำทะเล และความเป็นกรด
Pelican Cove คือชื่อของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่กินพื้นที่ครอบคลุม 2.85 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นสัดส่วน 26% ของน่านน้ำสหรัฐจากทั้งหมด “พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในแคลิฟอร์เนียมีความสำคัญต่อสุขภาพของมหาสมุทร แต่การเฝ้าจับตาเพื่อปกป้องผืนน้ำนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง” แลงกล่าว “ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ก้าวไปอีกขั้น หลังสามารถอุดช่องว่างของปัญหานั้นได้”
ปกป้องปลาทะเลในแคริบเบียน
“คุณไม่สามารถปกป้องสิ่งที่คุณไม่เข้าใจได้” แลงกล่าว ”ที่ผ่านมาเราเห็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่งใช้โดรนสำรวจใต้น้ำในการศึกษาการอยู่ร่วมกันของปลาทะเลหลากหลายสายพันธุ์ตลอดจนระบบนิเวศวิทยาที่พวกมันพึ่งพาอาศัยกัน”
COBI คือองค์กรที่ทำงานเพื่อสัตว์น้ำในทะเลเม็กซิโก ด้วยการระบุพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการทำประมงเกินขนาดในทะเลแคริบเบียน ขณะที่ชาวประมงท้องถิ่นถูกฝึกมาเพื่อดำน้ำสำรวจได้ ด้านองค์กรเองระบุว่าหุ่นของพวกเขาสามารถให้ข้อมูลในความลุกที่มนุษย์ไม่สามารถดำถึงได้
ช่วยเหลือโลกใต้น้ำในบริติช โคลัมเบีย
ระบบนิเวศใต้น้ำ ใน Howe Sound ของบริติช โคลัมเบีย เป็นระบบนิเวศอายุเก่าแก่ที่ประกอบด้วยฟองน้ำแก้วซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปนานแล้ว “พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหิน, หมึก, ดอกไม้ทะเล, ปลาคอด, ฉลาม และสิ่งมีชีวิตสุดจะจินตนาการอีกมากมาย” เอริกา เบิร์กแมน นักสำรวจจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก หัวหน้าสำรวจแนวปะการังในพื้นที่ดังกล่าวเคยเขียนบรรยายเอาไว้
จากการใช้โดรนและนักประดาน้ำ เบิร์กแมนได้ทำการสำรวจพร้อมด้วยชาวประมงท้องถิ่นและทีมนักวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้พื้นที่ดังกล่าวนี้ถูกประกาศเป็นมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโก “เพราะทุกคนควรมีโอกาสได้มาเห็นสถานที่ที่งดงามเช่นนี้ค่ะ” เธอกล่าว
หุ่นยนต์หอยแมลงภู่บุกนิวอิงแลนด์
“เราเห็นตัวอย่างของนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย” แลงกล่าว “แต่หุ่นยนต์หอยแมลงภู่ คือหนึ่งในนวัตกรรมที่เราโปรดปรานกันมากที่สุด” ทีมนักวิจัยจากอุทยานแห่งชาติอะคาเดียเฝ้าตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเช่นสภาพความเป็นกรดหรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นในบริเวณอ่าวเมน ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการพวกเขาติดตั้งตัววัดอุณหภูมิภายในหอยแมลงภู่ที่ยังมีชีวิต เพื่อใช้ให้พวกมันตรวจสอบสภาพแวดล้อมใต้พื้นผิวน้ำ
และในขั้นต่อๆ ไปพวกเขาจะใช้หุ่นยนต์ในการตรวจสอบและการศึกษาไปในตัว “การอนุญาตให้นักศึกษาเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมใต้น้ำ เป็นวิธีที่ดีที่ช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอนุรักษ์ ตลอดจนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์” จอห์น ซิกเลียโน นักนิเวศวิทยาและศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา รวมทั้งยังเป็นหัวหน้าโครงการกล่าว
ไขความลับของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทีมนักวิจัยจากมูลนิธิ Octopus องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสวิสเซอร์แลนด์ มีภารกิจสำรวจใต้พื้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งพวกเขากล่าวว่า เต็มไปด้วยซากของเรือจากสมัยโบราณกว่า 750,000 ลำ พวกเขาตั้งใจที่จะไขปริศนาทุกอย่างในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่อาณานิคมม้าน้ำ ในฝรั่งเศส ไปจนถึงเมืองท่าโบราณในแอลแบเนีย
“พวกเขาใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีตั้งแต่โดรน การถ่ายภาพ ไปจนถึงนิยายภาพ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้” แลงกล่าว “มันทำได้ยากที่คุณจะอ่านเรื่องราวของพวกเขาแล้วไม่เกิดแรงบันดาลใจ”
เรื่อง คริสตินา นูเนซ
อ่านเพิ่มเติม : 1 ปีกับ 200 ชีวิตนักสิ่งแวดล้อมที่ถูกฆาตกรรม, แนวปะการังอาจหายไปภายใน 30 ปี