ไข่มุกเม็ดงามนาม อันดามัน กำลังเผชิญภัยคุกคามรอบด้าน
ธรรมชาติจะยืนหยัดทัดทานได้อีกนานเพียงใด
สัณฐาน อันดามัน
ยํ่าคํ่าแล้วที่ “สุสานหอย” ในเขตอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี ชายฝั่งทะเลอันดามันที่บ้านแหลมโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ “สุสานหอยเป็นชั้นของแผ่นหินปูน ซึ่งมีซากของหอยขมนํ้าจืดปริมาณมากทับถมอยู่และปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังพบซากเรณูและสปอร์ของพืชโบราณที่สามารถกำหนดอายุของสุสานหอยว่าอยู่ในช่วงประมาณ 20 – 40 ล้านปี” ดร.สกลวรรณ ชาวไชย อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้กลุ่มนักศึกษาฟังระหว่างการออกภาคสนามในพื้นที่
อาจารย์สกลวรรณอธิบายต่อว่า ที่นี่เคยเป็นหนองนํ้าจืดขนาดใหญ่ มีหอยขมอาศัยอยู่จำนวนมาก ต่อมานํ้าทะเลไหลเข้าท่วมขังจนหินปูนใต้นํ้าทะเลอ่อนตัว หลอมรวมเอาเปลือกหอยใต้นํ้าเข้าเป็นเนื้อเดียว แปรสภาพเป็นแผ่นหินปูนแข็งที่มีซากหอยเกาะแน่นหนาราว 0.5 – 1 เมตร หากสังเกตลานหินของชั้นหอยจะพบแนวรอยแยกเป็นสองทิศทางได้ชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากธรณีแปรสัณฐาน
คำอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาบริเวณชายฝั่งทะเล อันดามัน ทำให้ฉันนึกถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นพิบัติภัยที่เกิดจากพลังงานใต้พิภพปะทุจนแผ่นดินไหวรุนแรงแรงขยับแผ่นเปลือกโลกให้เคลื่อนที่ไปราวหนึ่งเซนติเมตร แต่ก็รุนแรงพอจะสร้างคลื่นยักษ์สูงกว่า 30 เมตรพุ่งเข้าปะทะชายฝั่ง กวาดกลืนทุกสิ่งจนราพณาสูรไปในชั่วพริบตา ผู้คนใน 14 ประเทศ ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียเสียชีวิตไปราว 130,000 คนรวมถึงหลายจังหวัดตามแนวชายฝั่งอันดามันของไทย
“อันดามันไทย” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ทะเลอันดามัน”หรือ “แอ่งอันดามัน” ซึ่งเกิดจากแผ่นเปลือกโลก ได้แก่ แผ่นอินเดีย – หิมาลัย แผ่นอินโดจีน และแผ่นซุนดาอิก เคลื่อนมาชนกัน จนทำให้เกิดการยกตัวของสันเนินใต้นํ้า แบ่งอันดามันออกจากอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย โดยทิ้งร่องรอยพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายจากทั้งสามแผ่นเปลือกโลกรวมกันไว้ที่แอ่งในปัจจุบัน
ทะเลอันดามันส่วนของประเทศไทยเริ่มจากแนวพรมแดนประเทศไทยและเมียนมาร์บริเวณปากแม่น้ำกระบุรีจังหวัดระนอง เรื่อยลงไปทางใต้จนถึงแนวรอยต่อพรมแดนประเทศมาเลเซียที่จังหวัดสตูล ความยาวชายฝั่งประมาณ 2,815 กิโลเมตร ครอบคลุมหกจังหวัดชายฝั่ง ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล
อ่าวพังงา สวรรค์ในทะเล
เครื่องบินค่อย ๆ ลดระดับลงที่สนามบินภูเก็ต นอกหน้าต่างเครื่องบิน แสงยามเย็นสาดเหนืออ่าวพังงา ผืนนํ้าราบเรียบซ้อนสลับด้วยทิวเขาหินปูน สายนํ้าแตกสาขาลดเลี้ยวไปตามแนวเรือนยอดป่าโกงกางที่บัดนี้ระบายสีส้มอมชมพูจากภูเก็ต ฉันจับรถมุ่งหน้าสู่พังงา เข้าพักที่โรงแรมซึ่งปรับปรุงจากบ้านนายหัวเหมืองแร่รายหนึ่ง เป็นเรือนแถวก่ออิฐถือปูนสลับไม้สามชั้นแบบจีนอายุร่วม 100 ปีอยู่กลางเมือง
“พังงาเงียบเหงากว่าภูเก็ตที่คึกคัก การท่องเที่ยว เติบโตมากแต่มาใช้ทรัพยากรของชาวพังงา ตั้งแต่หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ อ่าวพังงา เกาะปันหยี เกาะพระทอง ไปจนถึงเขาหลัก และท้ายเหมือง ล้วนแล้วแต่อยู่ในเขตพังงา เราเป็นเจ้าของทรัพยากร แต่คนภูเก็ตรวยขณะที่บ้านเราเสื่อมโทรม” หนึ่งในหนุ่มเจ้าถิ่นที่โรงแรมแห่งนั้นบ่นเหมือนน้อยใจ
รุ่งเช้าฉันออกสำรวจอ่าวพังงาเรือรับจ้างจากท่าเรือหมู่บ้านริมคลองในหงบ พาล่องลดเลี้ยวไปตามแนวเขาหินปูนสูงชัน มีธารนํ้าลอดใต้ดินในถํ้า ผาที่มีภาพเขียนสีและฟอสซิลวาฬ เรือของเราแล่นผ่านป่าชายเลนก่อนจะออกสู่ปากอ่าว ผืนป่าสลับซับซ้อนตามแนวเขามีความสัมพันธ์กับป่าชายเลนชายฝั่งต่อเนื่องกับแนวหญ้าทะเลผืนใหญ่ทางตอนล่างของอ่าวพังงา ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ราว 200 ตัว บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง แหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทย ทะเลแถบนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องแนวปะการังที่สวยงามบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ใกล้ชายฝั่ง เช่น เกาะกระดาน เกาะไหง เกาะมุก เกาะเภตรา หมู่เกาะบุโหลน ขณะที่เหนืออ่าวพังงาออกไปเป็นหมู่เกาะที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2557 กลุ่มจังหวัดอันดามันทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3.26 แสนล้านบาท โดยมีภูเก็ตทำรายได้สูงสุด รองลงมาคือกระบี่ พังงา ตรัง และระนอง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากยุโรป รองลงมาเป็นเอเชีย อเมริกา และออสเตรเลีย สะท้อนให้เห็นว่าอันดามันคือสวรรค์ของนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
สันทรายที่ภูเก็ต
ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ฉันนัดพบกับ ดร.เจมส์ ดี. ทรูอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้มีส่วนจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อุทยานแห่งชาติสิรินาถอยู่ในเขตชีวภูมิภาคที่เป็นชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่งตอนกลางของอันดามันไทยครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา ต่อเนื่องลงมาจนถึงเหนือเกาะภูเก็ต มีระบบนิเวศซับซ้อนสัมพันธ์กัน อาทิ ป่าภูเขา ป่าชายหาด แนวปะการังสมบูรณ์และสันทรายชายฝั่งที่เป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์หลากชนิด เช่น เต่ามะเฟือง และจักจั่นทะเล
“ลักษณะทางธรณีวิทยา สังคมพืชและสัตว์ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของทะเลอันดามันไทยถือเป็นบริเวณที่มีการผสมผสานของสิ่งมีชีวิตจากสองมหาสมุทรสำคัญของโลก คือฝั่งอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จึงสำรวจพบพืชพรรณ สิ่งมีชีวิตทั้งบนบก ชายฝั่ง และในทะเลที่มีความหลากหลายโดดเด่นมากครับ” เขากล่าว
ดร.เจมส์อธิบายเพิ่มเติมว่า กระแสนํ้าเย็นจากอ่าวเบงกอลไหลมาปะทะกับกระแสน้ำอุ่นจากทะเลจีน ใต้ ทำให้สภาพนํ้าเหมาะแก่การเจริญเติบโตของแพลงก์ตอน เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ปะการังเติบโตได้ดีและหลากหลาย รวมทั้งพันธุ์ปลาที่อาศัยตามแนวปะการัง ทำให้บริเวณตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นไปเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากที่สุดในแอ่งอันดามัน คือพบมากถึง 350 ชนิด
ในจำนวนนี้เป็นปลาอพยพจากทะเลจีนใต้ราว 100 ชนิดขณะทั้งแอ่งอันดามันสำรวจพบปลาทั้งหมดประมาณ 450 ชนิด “แต่ที่สำคัญคือปลาที่พบในอันดามันไทยหลายชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจที่หากินตามแนวปะการังครับ เช่น ปลากะรัง ปลากะพง และปลาเก๋า” ดร.เจมส์ชี้ว่า ปัจจุบันแนวปะการังอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ปะการังในทะเลอันดามันไทยฟอกขาวเมื่อปี พ.ศ. 2553 เสียหายไปกว่า ร้อยละ 75 เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของนํ้าทะเลสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสจากปกติราว 29 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องนานกว่าสามเดือนแนวปะการังธรรมชาติเหลือรอดเพียงไม่ถึงร้อยละ 25 และมีที่สมบูรณ์เพียงร้อยละหนึ่งเท่านั้นครับ” เขายังเห็นว่าสิ่งก่อสร้างตามแนวชายฝั่งเป็นอีกปัจจัยที่คุกคามให้ปะการังอยู่ในสภาพเปราะบางเช่นเดียวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว
ประมงทำลายล้าง
เรือประมงอวนดำซึ่งออกจากท่าไปตั้งแต่บ่ายเมื่อวาน คืนสู่ฝั่งเทียบแพปลาจังหวัดกระบี่ยามเช้า ลูกเรือเกือบ 20 ชีวิตช่วยกันดึงสาวอวนผืนสีดำขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดและซ่อมชุนส่วนที่ขาด เมื่อพื้นใต้ท้องเรือเลื่อนออกภายในห้องมืดนั้นพวกเขาใช้กระชอนอันใหญ่จ้วงตักปลาที่จับมาได้ใส่ตะกร้า ลำเลียงขึ้นสู่สะพานปลา จากนั้นเทลงที่พื้นหรือโต๊ะคัดแยกปลาตามชนิดและขนาดก่อนชั่งนํ้าหนัก
สมพร นิลสุวรรณ นักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต กำลังวัดขนาดและแยกชนิดปลาจากกองปลาเล็กปลาน้อยที่คัดออกเป็น “ปลาเป็ด” หรือปลาที่จะนำไปทำปลาป่น “อยากรู้ว่าลูกปลาที่เรือประมงจับได้มีปลาอะไรบ้าง ปลาอะไรบ้างที่หายไป ยกตัวอย่างเช่น ปลาใบขนุน จากการเฝ้าติดตาม เราไม่เจอปลาชนิดนี้เป็นเวลา 10 ปีมาแล้วครับ” เขาบอกว่าปลาใบขนุนรูปร่างคล้ายปลาทู เป็นปลากินเนื้ออาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายฝั่ง การขยายจำนวนของเรือประมงอวนลากอวนรุนที่เข้าใกล้ชายฝั่งมีผลกระทบทำให้ปลาใบขนุนหายไปจากท้องทะเล
นับแต่อดีต ชาวประมงไทยทำประมงด้วยเรือขนาดเล็กสัตว์นํ้าที่จับได้มักเป็นปลาผิวนํ้า เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาหลังเขียว และปลากะตัก ผลผลิตสัตว์นํ้ามีเพียงประมาณ 150,000 – 230,000 ตันต่อปี จนปี พ.ศ. 2495 มีการนำอวนใยสังเคราะห์จากญี่ปุ่นมาใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำประมง กระทั่งปี พ.ศ. 2503 กรมประมงได้รับการสนับสนุนจากประเทศเยอรมนีให้พัฒนาเทคนิคการใช้เครื่องมือและเรืออวนลาก มีการสั่งซื้อเรือประมงจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม ทำให้จำนวนเรืออวนลากที่มีเพียง 99 ลำในปี 2503 เพิ่มขึ้นเป็น 2,606 ลำในเวลาเพียงห้าปี
นับจากนั้นอุตสาหกรรมประมงในทะเลไทยก็เฟื่องฟูไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านถนนหนทางการขนส่ง ห้องเย็น โรงงานแปรรูปสัตว์นํ้า
รัฐบาลสนับสนุนการทำประมงในทุกรูปแบบรวมทั้งประมงนอกชายฝั่งหรือประมงนํ้าลึก ปัจจุบันประเทศไทยรั้งตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับสามของโลก มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงกว่าสองแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลงของทะเลไทย จากการทำประมงเกินขนาดและการประมงทำลายล้าง ทำให้สัตว์นํ้ากว่าร้อยละ 40 ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยมีที่มาจากนอกน่านนํ้าไทย กองเรือประมงของไทยเคลื่อนย้ายไปทำการประมงในแหล่งประมงที่ห่างไกลในน่านนํ้าประเทศเพื่อนบ้าน และยังคงทำการประมงแบบเต็มรูปแบบเหมือนที่เคยทำมาหลายทศวรรษก่อนหน้า
เหตุเกิดที่ปากนํ้ากระบี่
จังหวัดกระบี่ได้ชื่อว่าเป็น “มรกตแห่งอันดามัน” ทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงรองเพียงจังหวัดภูเก็ต บริเวณปากแม่นํ้ากระบี่จัดเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในฐานะพื้นที่ชุ่มนํ้า หรือแรมซาร์ไซต์ ตามอนุสัญญาเพื่อการอนุรักษ์ยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มนํ้าในโลกในอดีตบริเวณนี้เคยทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2447 แต่เลิกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 มีการฟื้นฟู สร้างและขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินจนมีขนาด 60 เมกกะวัตต์ แต่แล้วในปี พ.ศ. 2538 ก็ยกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติและนํ้ามันเตามีกำลังการผลิต 340 เมกะวัตต์จนถึงปัจจุบันไม่ชัดเจนว่าการยกเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่กระบี่เวลานั้นเป็นเพราะเหตุผลใด แต่ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2538 เป็นช่วงที่คนไทยรู้จักโรงไฟฟ้าถ่านหินจากเหตุการณ์มลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (ช่วงต้นฤดูหนาวปี พ.ศ. 2535) ซึ่งก่อผลกระทบต่อพืช สัตว์ และคนจำนวนไม่น้อย
ความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลงของทะเลไทยจากการทำประมงเกินขนาดและการประมงทำลายล้าง ทำให้สัตว์นํ้ากว่าร้อยละ 40 ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยมีที่มาจากนอกน่านนํ้าไทย
“เราเคยปลูกผักกาดเขียวปลีไว้ทำผักดองขาย แต่ช่วงนั้นตื่นเช้ามาจะมีผงขี้เถ้าเล็กละเอียดฉาบเกาะเต็มใบผักกาด หากวันใดจะตัดผักไปดอง ต้องรดนํ้าล้างใบผักให้สะอาดก่อน หากล้างไม่สะอาดในถังดองจะเป็นสีดำค่ะ” หญิงสูงวัยชาวบ้านทุ่งสาคร ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เล่าว่าในยุคนั้นฝุ่นควันจากโรงไฟ้ฟ้าถ่านหินกระบี่ พัดมายังหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใต้ลมจากโรงไฟฟ้า
เธอบอกว่าฝุ่นควันมีมากจนทำให้ในตุ่มหรือโอ่งนํ้าที่รองนํ้าฝนไว้ใช้มีขี้เถ้าตกตะกอนหนาอยู่ใต้ก้นภาชนะขนาดถ้าไม่ล้างโอ่งสักอาทิตย์หนึ่งนํ้าจะกลายเป็นสีเทาดำ กระนั้น ชาวบ้านยังเข้าใจว่าขี้เถ้านั้นทำปุ๋ยได้จึงนำไปใส่พืชผัก ภายหลังเมื่อไม่แน่ใจว่าฝุ่นควันจากโรงไฟฟ้าเป็นพิษหรือไม่ ชาวบ้านจึงหันไปขุดบ่อนํ้าตื้นมาใช้อุปโภคบริโภคแทนนํ้าฝน
แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่จะก่อสร้างในประเทศจีนซึ่งขึ้นชื่อว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ทว่าปัจจุบันจีนเองก็วางแผนลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหิน โดยปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศในปีนี้ และอีกสามถึงห้าปีจะปิดเหมืองที่ผลิตถ่านหินกว่า 500 ล้านตัน การดำเนินการนี้จะทำให้มีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินลงครึ่งหนึ่งจาก 10,760 แห่งทั่วประเทศจีน เพราะจีนเองไม่อาจรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิกฤติมลพิษทางอากาศได้อีกต่อไป
โรงไฟฟ้าอันดามัน
ขณะที่ทั่วโลกกำลังตั้งคำถามกับพลังงานถ่านหิน แต่กระทรวงพลังงานของไทยกลับกำหนดแผนพัฒนาพลังงาน ปี พ.ศ. 2558 – 2579 ให้พึ่งพาถ่านหินถึงร้อยละ 20 – 25 หรือราว 7,390 เมกะวัตต์ โดยยืนยันจะผลักดันเทคโนโลยีพลังงานถ่านหินสะอาดทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ไฟฟ้าอย่างน้อย 5,850 เมกะวัตต์ หรือเกือบสองเท่าของกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
หนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่คือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งระบุว่าจะใช้ถ่านหินชนิดซับบิทูมินัสราว 7,260 ตันต่อวันเผาไหม้ให้พลังงานแก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินจะนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย ด้วยเรือขนส่งขนาดบรรทุก 10,000 ตัน เฉลี่ยหนึ่งถึงสองเที่ยวต่อวันมายังท่าเทียบเรือที่จะสร้างขึ้นใหม่ แล้วลำเลียงถ่านหินผ่านสายพานยาวราวเก้ากิโลเมตรจากท่าเรือไปยังโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่แนวสายพานจะพาดผ่านผืนป่าชายเลนรอยต่อระหว่างปากแม่นํ้ากระบี่ ปากคลองเพหลา ปากคลองรั้ว และปากคลองย่านสะบ้า ขณะที่บางช่วงของสายพานอาจฝังลงใต้ดินหรือลอดใต้ท้องนํ้า หรืออาจทำเป็นสะพานยกข้ามคลอง
“เรือขนถ่านหินจะผ่านมาจอดที่ท้ายบ้านแหลมหินระหว่างเกาะศรีบอยากับชายฝั่งปากคลองซึ่งเป็นร่องนํ้าเล็ก ๆ เรือขนาดบรรทุกนับหมื่นตันผ่านเข้าออกทุกวัน ทะเลย่อมถูกรบกวนครับ” กิติชัย เอ๋งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวและเสริมว่า ปากนํ้ากระบี่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลและนกหายากหลายชนิด
“ยกตัวอย่างแหล่งหญ้าทะเลหน้าเกาะศรีบอยา สำรวจพบพะยูนฝูงหนึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 15 ตัวอาศัยอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งนํ้าตื้นหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินจริงเราจะสูญเสียสิ่งที่ดีที่สุดของกระบี่ไป ผมคิดว่าจังหวัดกระบี่หรือภาคใต้ทั้งภาคนั้นมีทางเลือกด้านพลังงานที่ดีกว่าพลังงานจากถ่านหินครับ”
“เรามีศักยภาพอย่างอื่นแล้วทำไมต้องเลือกถ่านหิน” ประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน หนึ่งในสองผู้ใช้มาตรการอดอาหารประท้วงเพื่อต่อรองให้รัฐบาลยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กล่าว การอดอาหารประท้วงครั้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมจนที่สุดรัฐบาลสั่งทบทวนโครงการทว่าล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเดินหน้าเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยบริษัทร่วมค้าของเอกชนไทยและจีนด้านอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ชนะประมูลด้วยราคา 32,000 หมื่นล้านบาท
หนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่คือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งระบุว่าจะใช้ถ่านหินชนิดซับบิทูมินัสราว 7,260 ตันต่อวัน
สมพร เพ็งคํ่า อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในอนุกรรมการศึกษาเรื่องการประเมินผลกระทบกรณีโรงไฟฟ้ากระบี่แสดงความกังวลต่อการเดินหน้าโครงการดังกล่าว
“รายงานฉบับปัจจุบันของโครงการไม่ได้พิจารณาถึงฝุ่นควันขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ค่ะ ฝุ่นควันนี้มีขนาดเล็กมากจนสามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราได้อย่างรวดเร็วและฝังลึก ซึ่งมีงานวิจัยจากทั่วโลกว่าเป็น ‘ฝุ่นจิ๋วพิษ’ จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและมีผลกระทบด้านสุขภาพ หากรับเข้าไปสะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ การเผาถ่านหินยังจะมีโลหะหนักอื่น ๆ ออกมาปนเปื้อนสะสมในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารอีก ฉันคิดว่าเราต้องพิจารณาการเกิดโรคอื่นด้วย เช่น โรคไต หรือการถ่ายทอดสารโลหะหนักจากครรภ์มารดาสู่ทารก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนเอาไว้ก่อน”
ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2562 กระบี่จะมีความต้องหารไฟฟ้าสูงสุด ราว 175 เมกกะวัตต ์ ขณะที่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน (รวมที่กำลังขออนุญาตส่งเข้าระบบ) อยู่ที่ประมาณ 141.54 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงนํ้ามันเตาที่มีกำลังการผลิต 340 เมกะวัตต์สำรองอยู่อีก นักอนุรักษ์จึงชี้ว่าแท้จริงแล้วจังหวัดกระบี่สามารถพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงได้
เสียงเล็กๆ
ทะเลอันดามันทอดตัวอยู่เบื้องหน้า ชาวประมงหนุ่มที่ออกไปวางเบ็ดปลาอินทรีตั้งแต่วันก่อนเพิ่งพาเรือหัวโทงมาถึงขอบทะเลท้ายคุ้มบ้านแหลมหิน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ที่นี่เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่สร้างบ้านเรือนอยู่ปลายแหลม บ้านเรือนของพวกเขาบ้างไม้บ้างปูนล้วนมีเสาครึ่งหนึ่งตั้งบนฝั่งและอีกครึ่งหนึ่งหยั่งลงขอบทะเล เมื่อนํ้าทะเลหนุนขึ้น ทิวเรือนบ้านของพวกเขามองราวกับลอยเป็นแพอยู่บนนํ้าทะเล
“แลหวันขึ้น…พ้อหล๊อบเรินหลาว” (เห็นพระอาทิตย์ขึ้นพ่อกลับบ้านแล้ว) แม่ปลอบลูกสาวตัวน้อยที่ร้องโยเยจนต้องพาเดินไปปลายชานเรือน บ้านชาวเลหลังนั้นสร้างลงไปในทะเล หล่อนชี้ชวนหนูน้อยดูหัวโทงเรือที่เคลื่อนวับ ๆ กลางผืนนํ้าไกล ๆ เสียงอะซานเรียกศรัทธาชนจากมัสยิดเพิ่งเงียบเมื่อครู่ สาวน้อยประจำบ้านเปลี่ยนเสียงโยเยเป็นเสียงแจ้ว ๆ บ่งบอกอารมณ์ยินดีเมื่อแม่บอกว่าพ่อกำลังจะกลับมาถึงบ้านแล้ว “พ้อหล๊อบเริน…พ้อหล๊อบเริน” (พ่อกลับบ้าน พ่อกลับบ้าน) สาวน้อยอ้อแอ้ยํ้าทวนคำ ผู้เป็นแม่บอกว่าพ่อกำลังจะกลับเรือน
ทั้งคู่เป็นภรรยาและลูกสาวของอุทิศ ผิวดีหรือ “กบ” หนุ่มวัย 30 ปี ซึ่งบอกว่าตัวเองโตในเรือ เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ อายุหกเจ็ดขวบ เขาก็ออกทะเลไปกับพ่อเมื่อเรียนจบมัธยมเคยไปทำงานเป็นพนักงานโรงแรมได้เพียงสองเดือน เขาก็ลาออกมายึดอาชีพหาปลา
“ผมเป็นห่วงทะเล กลัวปลาจะหายไป ทุกวันเรานอนบนบ้านที่อยู่บนทะเล ออกเรือหาปลาในทะเล กินปลาจากทะเล ถ้าพูดถึงอันดามัน ผมก็บอกความหมายได้อย่างเดียวว่า มันอุดมสมบูรณ์ มันเลี้ยงเราได้ผมและชาวบ้านที่นี่ไม่มีที่ดิน นาสวน เราทำกินกันในทะเล ไม่มีที่ไหนสวยและสมบูรณ์ดีเท่าทะเลอันดามันอีกแล้ว” หนุ่มผู้ตัดสินใจฝากชีวิตตนและคนอันเป็นที่รักไว้กับทะเล กล่าวถึงอันดามัน
เรื่อง บำเพ็ญ ไชยรักษ์
ภาพถ่าย เริงฤทธิ์ คงเมือง และ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2559