อินโดนีเซียวางโครงการขนาดใหญ่ เพื่อฟื้นฟู กรุงจาการ์ตา โดยเฉพาะ แต่การย้ายเมืองหลวงแห่งนี้ไปเกาะอื่นและการสร้างกำแพงยักษ์ล้อมรอบเมืองจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ หากยังมองข้ามต้นเหตุที่ยังซุกเอาไว้
ณ กรุง จาการ์ตา กำแพงกั้นน้ำทะเลเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สามารถป้องกันชุมชนต่าง ๆ ทางตอนเหนือของเมืองจากน้ำที่กำลังเอ่อท่วมได้ กำแพงสูงราวสองเมตรนี้เป็นโครงการของรัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งจัดตั้งในปี พ.ศ. 2545 โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อประวิงเวลาให้ประชากรในเมืองได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขโดยไม่ต้องกังวลถึงปัญหาสภาพแวดล้อมที่กำลังแย่ลงเนื่องจากพื้นที่ของเกาะแห่งนี้กำลังทรุดตัวและจมลงจากระดับน้ำทะเลซึ่งสูงขึ้นทุกปี ในปัจจุบันนี้นอกจากปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงแล้วยังมีอีกหลายพื้นที่ในจาการ์ตาที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงอยู่เป็นระยะ
ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2562 ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดจึงประกาศว่าจะย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียจากกรุงจาการ์ตาบนเกาะชวาไปยังเมืองจะที่สร้างขึ้นใหม่ ณ เกาะบอร์เนียว หากรัฐบาลย้ายเมืองหลวงและทอดทิ้งเมืองที่กำลังจมแห่งนี้ไป ประชากรกว่า 10 ล้านคนที่ยังอาศัยอยู่บนเกาะจะทำอย่างไร
แม้จะมีโครงการขยายเขตกำแพงกั้นน้ำทะเลและโครงการสร้างเกาะเทียมบริเวณอ่าวจาการ์ตาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่งบประมาณสำหรับทั้งสองโครงการนี้ยังไม่ถูกกำหนดอย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เกิดแผ่นดินทรุดหรือการขาดแคลนน้ำซึ่งนำไปสู่การสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไปก็ยังถูกซุกไว้ใต้พรม ผืนดินที่ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สร้างความกังวลอย่างมากให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยใกล้บริเวณชายฝั่งเนื่องจากระดับน้ำทะเลนั้นสูงจนเกือบจะมิดกำแพงแล้ว นอกจากนี้ความเสียหายของกำแพง เช่น รอยแตกหรือรูที่ทำให้น้ำไหลซึมเข้ามา สร้างปัญหาให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ตลอดเวลา
ปัญหาที่ฝังรากลึก
ทำเลซึ่งตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากน้ำที่มีแม่น้ำถึง 13 สายไหลผ่านทำให้น้ำท่วมเป็นปัญหาคู่เมืองจาการ์ตามาหลายศตวรรษ เดิมทีบริเวณนี้เต็มไปด้วยป่าชายเลนที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้เป็นอย่างดี ทว่าในช่วงที่ตกอยู่ใต้อาณานิคม ป่าเหล่านี้กลับถูกทำลายจนเหลือเพียงไม่กี่แห่งที่ยังสมบูรณ์อยู่
เมื่ออินโดนีเซียตกเป็นหนึ่งในอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2163 เจ้าของอาณานิคมหรือชาวดัตช์ก็เริ่มปรับเปลี่ยนเมืองหลวงแห่งนี้ให้มีรูปแบบคล้ายคลึงกับบ้านเมืองของตนโดยเริ่มวางผังเมืองใหม่ สร้างตึกที่ทันสมัย นอกจากนั้นยังขุดคลองเพื่อคุมทิศทางน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดการท่วม
แม้การปรับปรุงเมืองนี้จะทำให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียเป็นระบบระเบียบขึ้น แต่บรรดานักวิจัย อาทิ บอสมัน บาทูบารา นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบัน IHE Delft Institute for Water Education กลับมองว่าคลองเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปัญหาแผ่นดินทรุดเรื้อรังเนื่องจากเป็นการกันไม่ให้ตะกอนใหม่ที่ลอยมาตามแม่น้ำจับตัวและสร้างชั้นดินใหม่ขึ้น เดิมทีดินบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เกิดจากการทับถมของตะกอนมาเป็นเวลานานมักจะทรุดตัวหากไม่มีดินชั้นใหม่ทับถมไปเรื่อยๆ การปรับปรุงเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นดินในเมืองแห่งนี้ทรุดตัวเร็วขึ้น
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นของอินโดนีเซียได้เริ่มโครงการฟื้นฟูจาการ์ตาโดยเริ่มจากการวางแผนโครงสร้างแม่น้ำใหม่ การลดจำนวนสลัม การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ และการขุดลอกคลองเพื่อการน้ำระบายที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าโครงการที่เพิ่งเกิดไม่นานนี้คล้ายคลึงกับการปรับปรุงเมืองของชาวดัตช์ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา นี่จึงเป็นสาเหตุที่ไม่ว่ารัฐบาลจะหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร น้ำจากทั้งแม่น้ำและทะเลก็ยังคงเอ่อท่วมในบางพื้นที่ของเมืองอยู่
ปัจจุบัน อัตราการจมกรุงจาการ์ตาอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง อัตราการทรุดตัวของแต่ละพื้นที่รุนแรงไม่เท่ากัน พื้นที่ทางตอนเหนือเป็นบริเวณที่มีการทรุดตัวมากที่สุดโดยแผ่นดินทรุดลงมากถึง 28 เซนติเมตรต่อปี กล่าวได้ว่าตอนนี้ ร้อยละ 40 ของเมืองจาการ์ตาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ ดร.เฮนดริคัส ซีมาร์มาทา อาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “จาการ์ตาเป็นเมืองที่มีพร้อมทุกอย่างครับ ที่นี่เป็นศูนย์กลางในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความบันเทิงต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจาการ์ตาพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจนกลายเป็นมหานครก็จริง ทว่าสิ่งเดียวที่เมืองนี้หลงลืมไปคือการพัฒนาระบบเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม”
ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผืนดินของจาการ์ตาทรุดตัวคือการสูบน้ำบาดาลจำนวนมหาศาลมาใช้โดยไร้การควบคุม ประชากรในเมืองนี้สามารถเข้าถึงระบบน้ำประปาได้ไม่ถึงหนึ่งล้านครัวเรือนหรือไม่ถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้อยู่อาศัยทั้งหมด กล่าวได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในจาการ์ตาใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้การสูบน้ำบาดาลมาใช้จึงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายเพียงแต่ผู้ที่ใช้ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ อย่างไรก็ดี รัฐบาลท้องถิ่นจาการ์ตากลับไม่สามารถควบคุมการเก็บภาษีนี้ได้เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มักจะเลี่ยงภาษีโดยการลักลอบสูบน้ำมาใช้แทนการทำแบบถูกต้องตามที่รัฐกำหนด
นักวิจัยซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุของน้ำท่วมในจาการ์ตาให้ข้อมูลว่าหลุมยุบจากการสูบน้ำบาดาลนั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร เริ่มจากจำนวนไม่ถึง 400 หลุมในปี พ.ศ. 2511 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3600 หลุมในปี พ.ศ. 2541และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และในปัจจุบันมีการสูบน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถระบุจำนวนหลุมที่แน่ชัดได้ นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ยังมีนักวิจัยอิสระท่านหนึ่งประเมินว่าประชากรในจาการ์ตาใช้น้ำใต้ผืนดินไปมากกว่า ร้อยละ 64 แล้ว โอกาสที่น้ำบาดาลจะหมดไปจากเมืองนี้จึงค่อนข้างสูงเนื่องจากมีบริเวณที่ฝนจะซึมลงสู่พื้นดินได้น้อย น้ำฝนส่วนใหญ่จึงไหลลงสู่ทะเล
ด้วยเหตุนี้เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาอานีส์ บาสเวดัน นายกเทศมนตรีของกรุงจาร์กาตาจึงประกาศห้ามไม่ให้มีการสูบน้ำบาดาลไปใช้ในตึกหรืออาคารที่มีพื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้เขายังระบุว่าภายในปี พ.ศ. 2573 จาการ์ตาจะมีน้ำประปาใช้ทั่วเมือง ทว่าขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้อย่างไร
ในหมู่บ้านแถบชายฝั่งทางเหนือของจาการ์ตานั้นยังไม่มีน้ำประปาใช้ คนในหมู่บ้านจึงต้องเจาะหลุมลึกกว่า 150 เมตรเพื่อสูบน้ำบาดาลมาใช้ ซึ่งอาร์ตี อาสตาตี หัวหน้าชุมชนมัวราอังเกให้สัมภาษณ์ว่าการขุดน้ำบาดาลหนึ่งหลุมนั้นเพียงพอต่อการใช้สำหรับ 50 ครัวเรือนเท่านั้น ทางเลือกอื่นนอกจากการสูบน้ำเองคือการซื้อน้ำบาดาลจากนอกจาการ์ตามาใช้ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้คนในชุมชน ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้คนในเขตมัวราอังเกจึงออกไปประท้วงหน้าสำนักนายกเทศมนตรีเพื่อเรียกร้องให้มีระบบน้ำประปาในทุกพื้นที่ “เราต้องรอให้ฝนตกก่อนถึงจะมีน้ำไว้อาบ มีน้ำไว้ซักผ้า” หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวด้วยความคับข้องใจ
เมกะโปรเจกต์
ในช่วงหลายปีมานี้ จาการ์ตากลายเป็นสมรภูมิแห่งการเลือกตั้งเนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีประจำเมืองนี้เป็นหนึ่งในเส้นทางที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศได้ เพื่อชิงตำแหน่งสำคัญนี้ ผู้สมัครจึงมักจะหยิบยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ หรือน้ำท่วมเฉียบพลันมาใช้หาเสียงและให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ทว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ภายใต้วาระดำรงตำแหน่งเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร คณะเทศมนตรีจะเปลี่ยนไปกี่ชุด ปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลท้องถิ่นจาการ์ตาได้ร่วมมือกันเพื่อวางแผนป้องกันชายฝั่งของเมืองจากน้ำทะเลที่รุกคืบ โดยหลังผ่านการพิจารณาและแก้ไขอยู่หลายครั้งเมกะโปรเจกต์นี้ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยจะแบ่งออกเป็นสองระยะด้วยกัน ในระยะแรกจะมีการสร้างกำแพงยาวกว่า 46 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่งจาการ์ตาซึ่งขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 13 กิโลเมตร และคาดว่าจะเร่งดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จในปี 2566 ส่วนในระยะที่สองนั้นจะมีการสร้าง “กำแพงทะเลยักษ์” บริเวณนอกชายฝั่งของอ่าวจาการ์ตา ซึ่งโครงการกำแพงยักษ์นี้มีอีกหนึ่งโครงการย่อยที่จะสร้างพร้อมกันคือการสร้างเกาะเทียมยาวต่อกันกว่า 32 กิโลเมตรเพื่อเป็นตัวเสริมในการป้องกันคลื่นพายุซัดฝั่งและเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในเมืองจาการ์ตา โดยเกาะเทียมเหล่านี้จะเป็นพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย อ่างเก็บน้ำ ทางด่วน เส้นทางรถไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกมากมาย
เมกะโปรเจกต์นี้ได้รับคำวิจารณ์อย่างล้นหลาม โดยหนึ่งในนั้นมีความเห็นว่าโครงการนี้อาจปิดกั้นแม่น้ำทั้ง 13 สายและเปลี่ยนอ่าวจาร์กาตาให้เป็นอ่าวน้ำเสีย นอกจากนี้พาริด ริดวานุดดิน ผู้จัดการโครงการเกี่ยวกับทะเลและชายฝั่งจากสถาบัน Indonesian Forum for Environment (WALHI) ยังลงความเห็นไว้ว่าถึงจะทำสำเร็จจาการ์ตาก็จะจมลงเรื่อยๆ อยู่ดี เพราะโครงการเหล่านี้มองข้ามสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เมืองจม รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูชายฝั่งทะเลด้วยการปลูกป่าชายเลนและปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำด้วยการลดความแออัดของบ้านเรือนในบริเวณนี้ลง เขามีความเห็นว่า “การแก้ปัญหาที่มีมานานด้วยโครงการที่ช่วยได้เพียงชั่วคราวนั้นเป็นโครงการที่ผลาญงบประมาณจำนวนมากโดยใช่เหตุ”
คำวิจารณ์เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เนื่องจากเมกะโปรเจกต์นี้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการสร้างไว้ถึง 20,000 – 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนอาจจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตและรัฐบาลท้องถิ่นจาการ์ตาก็ยังไม่สามารถหาเงินทุนมาสร้างกำแพงยักษ์นี้ต่อได้ ขณะนี้กำแพงทะเลยักษ์อยู่ในขั้นตอนการออกแบบโดยเนเธอร์แลนด์และเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่าจะช่วยสมทบทุนประมาณ 18 ล้านดอลลาร์สำหรับการศึกษาการออกแบบและความเป็นไปได้ของกำแพงนี้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่มีเงินทุนมากพอที่จะประกาศวันเริ่มก่อสร้างโครงการนี้
การย้ายเมืองหลวงและผู้คนที่ถูกทอดทิ้ง
รัฐบาลอินโดนีเซียได้ลงมติให้ย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะบอร์เนียวเพื่อแก้ปัญหาแผ่นดินที่ทรุดลงอย่างต่อเนื่องในจาการ์ตา โดยโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และคาดว่าเมืองหลวงแห่งใหม่จะเสร็จสิ้นภายในปี 2588 รัฐบาลต้องการจะสร้างเมืองแห่งใหม่ให้เป็น “เมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน” และเป็นเมืองที่รวมศูนย์กลางทางอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการศึกษาไว้ในที่เดียว สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นทางรัฐบาลคาดการณ์ไว้ประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะใช้งบประมาณของประเทศ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน
ดร.เฮนดริคัส ซีมาร์มาทา เองก็คิดว่าการย้ายเมืองหลวงถือเป็นตัวเลือกที่ดี เขาแนะนำว่า “จาการ์ตาควรใช้แผนการที่เคร่งครัดในการปรับปรุงเมือง ยอมละทิ้งความเจริญบางอย่าง และหันมาเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น” ในทำนองเดียวกันเฮนรี่ วาร์ชีลา นักวิจัยประจำศูนย์สังคมและวัฒนธรรม สำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติอินโดนีเซียก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ เขากล่าวว่า “สิ่งเดียวที่จาการ์ตาจะสูญเสียคือสถานะของการเป็นเมืองหลวงเท่านั้น แต่สิ่งที่จะตามมาคือการฟื้นฟูเมืองให้เกิดเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจหรือการพักผ่อนหย่อนใจ”
การย้ายเมืองหลวงเป็นความหวังใหม่ของผู้คนในจาการ์ตา แต่สำหรับชนพื้นเมืองในเกาะบอร์เนียวนั้นความหวังนี้เปรียบเสมือนภัยคุกคาม พวกเขาต่างกลัวว่าความเจริญที่กำลังจะก่อตัวขึ้นภายในเกาะจะทำลายผืนดิน ผืนป่า และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของพวกเขา ด้วยเหตุนี้เองช่วงปีที่ผ่านมาชนพื้นเมืองจึงออกมาประท้วงเป็นระยะ ขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในจาการ์ตาจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับโครงการนี้ พวกเขาต่างก็ลงความเห็นว่าการย้ายเมืองหลวงไปเกาะบอร์เนียวจะช่วยแบ่งเบาภาระด้านความแออัดและมลพิษให้กับเกาะแห่งนี้
อย่างไรก็ดี พาริด ริดวานุดดิน กลับมีความคิดที่ต่างออกไป เขามองว่าการย้ายเหมืองหลวงเป็นเพียงการย้าย “วิกฤติทางนิเวศวิทยา” ไปไว้ที่อื่น และเขายังคงยืนยันว่า “จาการ์ตาจะถูกทิ้งให้จมลงไปเรื่อยๆ โดยไร้ซึ่งแผนที่จะฟื้นฟูเมืองอย่างจริงจัง” เช่นเดียวกับที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทางเหนือของเมืองซึ่งเป็นพื้นที่แผ่นดินทรุดอย่างรุนแรง พวกเขาไม่สนใจว่าเมืองหลวงจะย้ายไปอยู่เกาะใดและไม่คิดจะย้ายออกจากบ้านของตนเองแม้ว่าบริเวณที่พวกเขาอาศัยอยู่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ สิ่งที่ผู้ที่อาศัยในพื้นที่นี้ต้องการไม่ใช่เมืองแห่งใหม่ แต่เป็นการดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะท่วมเมื่อไร
ภาพโดย โจชัว อีระวันดี, VII Mentor Program
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย