รัฐมนตรี ปากีสถาน ชี้ ประเทศที่ร่ำรวยต้องชดใช้ประเทศยากจนที่ถูกภัยพิบัติ

รัฐมนตรี ปากีสถาน ชี้ ประเทศที่ร่ำรวยต้องชดใช้ประเทศยากจนที่ถูกภัยพิบัติ

รัฐมนตรีปากีสถานที่ถูกน้ำท่วมใหญ่ถล่ม ชี้ ประเทศที่ร่ำรวยต้องชดใช้ให้กับประเทศที่โดนภัยพิบัติจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

จากบทสัมภาษณ์ของ เชอร์รี่ เรห์มาน (Sherry Rehman) รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถานกับสำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยน (The Guardian) จากสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ปากีสถาน ระบุว่าประเทศร่ำรวยที่ก่อมลพิษจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบ “ดิสโทเปีย (Dystopia – โลกที่ไม่พึงปรารถนา)” ส่งผลให้ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องเผชิญกับภัยพิบัติอย่างรุนแรง และประเทศที่ร่ำรวยควรชดใช้

“ภาวะโลกร้อนเป็นวิกฤตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ซึ่งโลกกำลังเผชิญอยู่ และปากีสถานคือที่รองรับภัยพิบัติ แม้เราจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็น้อยกว่าร้อยละ 1 และเราทุกคนทราบดีว่าคำมั่นสัญญาที่นานาประเทศได้ให้คำมั่นไว้ (ว่าจะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ) ยังไม่บรรลุผล” เรห์มานกล่าวและเสริมว่า

“มีความสูญเสียและความเสียหายมากมาย แต่มีการชดใช้เพียงเล็กน้อยให้ประเทศต่าง ๆ (ที่ได้รับผลกระทบ) ซึ่งประเทศเหล่านั้นสร้างรอยเท้าคาร์บอนให้โลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าการต่อรองราคาระหว่างโลกทั้งสองนั้นไม่ได้ผล เราจำเป็นต้องกดดันอย่างหนักเพื่อตั้งเป้าหมายใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ความเสียหาย) บนระดับพื้นดินนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน”

ความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถานนั้นรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผู้คนกว่า 1,300 รายเสียชีวิต ประชาชน 1 ใน 3 อยู่ภายใต้น้ำท่วม สาเหตุนั้นเนื่องมาจากฝนที่ตกอย่างหนักหลายสัปดาห์มากกว่าปกติถึงร้อยละ 500 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ปากีสถานยังเผชิญกับภัยแล้งอยู่ พืชผลที่คอยผลิตอาหารถูกกวาดล้างไปกว่าร้อยละ 90 และตัวเลขความเสียหายนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลังการสำรวจความเสียหาย ผืนดินยังคงอยู่ใต้น้ำที่สูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน

“พื้นที่ทั้งหมดดูเหมือนมหาสมุทรที่ไม่มีขอบฟ้า ไม่เคยใครเคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” เรห์มานระบุ “ฉันเจ็บปวดเมื่อได้ยินคนพูดว่านี่เป็นภัยธรรมชาติ แต่นี่คือยุคที่มนุษย์ครอบครอง นี่คือหายนะที่มนุษย์สร้างขึ้นต่างหาก” คาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการระบายน้ำ แม้ในตอนนี้ฝนจะหยุดตก แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักอีกในช่วงกลางเดือนกันยายน

“ประเทศที่ร่ำรวยต้องทำมากกว่านี้” เรห์มานยืนกราน “คุณไม่สามารถหนีจากความเป็นจริงได้ว่าบริษัท (เชื้อเพลิงฟอสซิล) ขนาดใหญ่มีกำไรสุทธิมากกว่าจีดีพีของหลายประเทศ” เธอกล่าวว่าปากีสถานนั้นต้อง “เผชิญกับผลกระทบของการบริโภคคาร์บอนโดยประมาทของผู้อื่นอย่างรุนแรง” 

ทางเดอะการ์เดี้ยนระบุว่า จนถึงตอนนี้ ประเทศที่ก่อมลพิษมากขึ้นได้ยื้อการที่จะจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาให้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ และไม่เต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความสูญเสียทางการเงิน รวมทั้งความเสียหายที่ประเทศยากจนกว่าอย่างปากีสถานต้องพบเจอ ซึ่ง (ประเทศยากจน) มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงเล็กน้อย

“อย่างที่คุณเห็น ภาวะโลกร้อนไม่ได้ลดลง จริง ๆ แล้วค่อนข้างตรงกันข้าม และมีเพียงการปรับตัวเท่านั้นที่เราสามารถทำได้ การละลายของธารน้ำแข็ง น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า จะไม่มีใครหยุดได้ หากไม่ได้รับคำมั่นสัญญาอย่างจริงจัง” เรห์มานกล่าวพร้อมระบุว่า “เราอยู่ในแนวหน้า มุ่งมั่นที่จะจำกัดความสูญเสียและความเสียหาย รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่เป็นแก่นของข้อโต้แย้งและการเจรจา เราจะไม่มีหันเหไปจากสิ่งนี้”

ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อภาวะโลกร้อน และอุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ เกิดหลังจากมีคลื่นความร้อนสูงถึง 53 องศาเซลเซียสติดต่อกันสี่ครั้งเมื่อต้นปี การเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศประจำปีขององค์การสหประชาชาติจะถูกจัดขึ้นที่อียิปต์ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 77 ประเทศรวมทั้งจีน โดยมีปากีสถานเป็นประธานในปัจจุบัน จะผลักดันอย่างหนักเพื่อให้ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายเงินหลังจากเกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง อุทกภัย คลื่นความร้อน และไฟป้า .

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/04/pakistan-floods-reparations-climate-disaster

Recommend