แปซิฟิกชีวิตผลิบาน: การฟื้นตัวของปะการังที่สร้างขวัญกำลังใจที่สุดในโลก

แปซิฟิกชีวิตผลิบาน: การฟื้นตัวของปะการังที่สร้างขวัญกำลังใจที่สุดในโลก

การฟื้นตัวของปะการังอันน่าทึ่งที่สุดและสร้างขวัญกำลังใจให้มากที่สุดที่โลกเคยพบเห็น ได้รับการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้

เพื่อจะเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนปี 2009

ในตอนนั้น ผมรวบรวมและนำทีมนักชีววิทยาทางทะเลหนุ่มสาวผู้กระตือรือร้นไปสำรวจหมู่เกาะไลน์ใต้อันห่างไกล และไร้ผู้อยู่อาศัยทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก หมู่เกาะซึ่งเป็นของสาธารณรัฐคิริบาตีแห่งนี้ประกอบด้วย เกาะห้าเกาะ ตั้งอยู่ตรงปลายภูเขาไฟโบราณที่ยกตัวขึ้นสู่ผิวทะเลเมื่อ 85 ล้านถึง 70 ล้านปีก่อน เกิดเป็นแนวสันเขาใต้ทะเล ที่พาดข้ามเส้นศูนย์สูตร อันเป็นที่มาของชื่อหมู่เกาะ “ไลน์”

เป้าหมายของเราคือการสำรวจสิ่งมีชีวิตในทะเลรอบหมู่เกาะแห่งนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกลุ่มเกาะนี้ บนแผนที่มหาสมุทร น่านน้ำรอบหมู่เกาะเป็นสีฟ้าเรียบๆ ไร้ลักษณะเด่นใดๆ เราไม่รู้เลยว่าจะพบอะไรบ้างใต้ผิวน้ำ

สิ่งที่เราพบคือสรวงสวรรค์ นั่นคือแนวปะการังที่ไม่เคยถูกมนุษย์รบกวน พร้อมสรรพด้วยป่าปะการังสภาพสมบูรณ์ อุดมด้วยปลาขนาดใหญ่ ฉลามและสัตว์ผู้ล่าระดับยอดสุดอื่นๆ มีจำนวนมากจนมวลชีวภาพรวมของพวกมันมีมากกว่า มวลชีวภาพรวมของเหยื่อ ในการดำน้ำทุกไดฟ์ เราเห็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลานกขุนทองหัวโหนกขนาดมหึมาที่ยาวได้ถึง 1.8 เมตร หมู่เกาะไลน์ใต้เปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อแนวปะการัง

แนวปะการังรอบเกาะวอสตอกทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้เปลี่ยนจากสภาพสมบูรณ์ไปเป็นเสียหายจากภาวะทะเลอุ่นขึ้น แล้วกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งภายในเวลาห้าปี ปรากฏการณ์เอลนิญโญช่วงปี 2015-2016 ฆ่าปะการังดอกกะหล่ำส่วนใหญ่ แต่ปะการัง มอนทิโพรา ที่ขึ้นเป็นแผ่นเหล่านี้รอดชีวิตมาได้และชุบชีวิตแนวปะการังให้ฟื้นคืน (ภาพถ่าย: มานู ซาน เฟลิกซ์)
รอบเกาะวอสตอกและเกาะอื่นๆ ในหมู่เกาะไลน์ใต้ ปลาขนาดเล็กในแนวปะการังมีจำนวนมากและขยายพันธุ์เร็ว จนเกื้อหนุนประชากรอันชุกชุมของสัตว์ผู้ล่าระดับบนสุด ในภาพนี้ฉลามครีบดำใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายเหนือปะการัง มอนทิโพรา ท่ามกลางฝูงปลาสลิดหินทหารและปลากะรังจิ๋วบาร์ตเลตต์

ความอุดมสมบูรณ์ของปลารอบหมู่เกาะแห่งนี้มีคำอธิบายง่ายๆ คือ เพราะความห่างไกล หมู่เกาะไลน์ใต้อยู่ห่างจากฮาวายไปทางทิศใต้ประมาณ 3,200 กิโลเมตร จึงไม่มีการทำประมง แต่แนวปะการังจะยังสามารถต้านทานภาวะโลกร้อน ได้หรือไม่ ในช่วงปี 1997-1998 ปรากฏการณ์เอลนิญโญรุนแรงซึ่งเป็นวัฏจักรความอบอุ่นผิดปกติ ทำให้ปะการังทั่วแปซิฟิก พากันตายลง แต่เมื่อปี 2009 ปะการังในหมู่เกาะไลน์ใต้มีสภาพสมบูรณ์จนเราเชื่อว่า พวกมันอาจทนทานมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นต่อไป ถ้าได้รับการปกป้องจากการทำลายในรูปแบบอื่นๆ ของมนุษย์

รัฐบาลคิริบาตีซึ่งได้ข้อมูลจากการค้นพบของเรา ประกาศแผนคุ้มครองน่านน้ำรอบหมู่เกาะในรัศมี 22 กิโลเมตรโดยห้ามทำประมงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอื่นๆ พวกเราที่โครงการทะเลพิสุทธิ์ (Pristine Seas Project) ที่ผมเป็นผู้อำนวยการ พากันปลาบปลื้ม เราคิดว่าแนวปะการังเหล่านี้คงได้รับการปกป้องให้อยู่ตลอดไปแล้ว

แต่แล้วหายนะก็เกิดขึ้น

คลื่นซัดเข้าสู่เกาะวอสตอกอันเป็นที่อยู่ขนาด 0.2 ตารางกิโลเมตรของต้นไม้สกุล พีโซเนีย (รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นดักนก จากเมล็ดที่เหนียวหนึบ) และนกทะเล แต่ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ เพราะไม่มีแหล่งน้ำจืด รัฐบาลคิริบาตีให้ความคุ้มครองทะเลรอบเกาะทุกเกาะในหมู่เกาะไลน์ใต้จากการประมง (ภาพถ่าย: สตีฟ สเปนซ์)
นักนิเวศวิทยาทางทะเล เอนริก บัลเลสเทอรอส สำรวจสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังอุดมสมบูรณ์รอบหมู่เกาะ ด้วยสายวัดระยะทางและกระดาษจดบันทึก เมื่อผู้เขียน เอนริก ซาลา และทีมงานมาเยือนที่นี่ครั้งแรกในปี 2009 พวกเขาพบแนวปะการังเหล่านี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ อุดมไปด้วยชนิดพันธุ์มากมาย หลายชนิดนับว่าหายาก (ภาพถ่าย: จอน เบตซ์)

ในปี 2015 และ 2016 ปรากฏการณ์เอลนิญโญรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้แผ่ไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ปะการังจะตายลงเมื่ออุณหภูมิมหาสมุทรสูงเกินเกณฑ์หนึ่งเป็นเวลานาน นักวิทยาศาสตร์ประเมินการเผชิญอันตรายดังกล่าวของปะการัง ด้วยดัชนีปริมาณความร้อนสะสมในระยะเวลา 12 สัปดาห์ที่เรียกว่า degree heating week: DHW

ปรากฏการณ์เอลนีโญช่วงปี 1997-1998 หมู่เกาะไลน์ใต้มี DHW เท่ากับ 4 พอถึงปรากฏการณ์ปี 2015-2016 ซึ่งเกิดขึ้นหลังภาวะโลกร้อนยาวนานติดต่อกันสองทศวรรษ ผลักให้ค่า DHW พุ่งเป็น 15 การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ สร้างความประหลาดใจให้แม้กระทั่งพวกเรา ผู้ตระหนักดีถึงอันตรายของภาวะมหาสมุทรอุ่นขึ้น

ผมอยากรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับแนวปะการังสมบูรณ์ในหมู่เกาะไลน์ใต้ แต่ผมทำได้มากที่สุดเพียงแค่วิตกกังวล เพราะน้อยคนนักเคยไปที่นั่น

จากนั้นในเดือนสิงหาคมปี 2017 โอกาสอันน่าเหลือเชื่อก็เปิดทางให้เรา พันธมิตรของทะเลพิสุทธิ์และหนึ่ง ในคณะกรรมการ เทด เวตต์ เสร็จสิ้นการสำรวจเฟรนช์โปลินีเซียแล้ว จึงเสนอให้เราใช้เรือวิจัยของเขาเป็นเวลาสองสัปดาห์ ผมติดงานอื่น แต่เพื่อนร่วมงานของผม สจวร์ต แซนดิน แห่งสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์ ว่างอยู่ เขาและทีมงานเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจเมื่อปี 2009 ของเราและกลับไปยังหมู่เกาะไลน์ในปี 2013 พวกเขาจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะสำรวจปะการังซ้ำอีกครั้ง ในช่วงหนึ่งปีหลังปรากฎการณ์มหาสมุทรอุ่นขึ้น

ปลานกแก้วเล็มกินสาหร่ายจากโครงร่างปะการังที่เกาะมิลเลนเนียม (แคโรไลน์) อะทอลล์ ปลากินพืชเกื้อหนุน การเจริญเติบโตของสาหร่ายปะการังแผ่นสีชมพูที่แข็งเหมือนหิน ซึ่งเป็นพื้นผิวที่ดีที่สุดให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและสร้างแนวปะการังขึ้นใหม่
ที่เกาะมิลเลนเนียมอะทอลล์ ปลากะพงแดงสองจุดไล่ฝูงปลาปลาขี้ตังเบ็ดลายบั้ง ซึ่งเป็นปลากินพืชอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยควบคุมแนวปะการังในหมู่เกาะไลน์ใต้ไม่ให้สาหร่ายเจริญเติบโตมากเกินไป ซาลากล่าวว่า การปกป้องปลากินพืชช่วยให้แนวปะการังมีความสามารถในการฟื้นตัวจากภาวะโลกร้อน

สิ่งที่พวกเขาเห็นคือสิ่งที่เรากลัว ทันทีที่เขากลับมาออนไลน์ สจวร์ตบอกผมว่า ปะการังตายไปครึ่งหนึ่ง ผมรู้สึกใจหาย แต่เมื่อเขาให้รายละเอียดมากขึ้น ข่าวร้ายกลับกลายเป็นคำถาม และในที่สุดก็เป็นความเป็นไปได้

ปะการังที่ตายไปส่วนใหญ่อยู่ในสกุลเดียว นั่นคือปะการังดอกกะหล่ำ โพซิลโลโพรา (Pocillopora) โดยพบโคโลนีเดียว ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้สกุล อโครโพรา (Acropora) จะเสียหายหนักด้วย แต่ปะการังสกุลอื่นๆ ถูกทำลายไปไม่หนักเท่า พวกมัน รอดชีวิตจาก DHW 15 มาได้ นั่นหมายความว่า อย่างน้อยในหมู่เกาะไลน์ใต้ ปะการังทั้งหมดเหล่านั้นต้านทานภาวะมหาสมุทร อุ่นขึ้นอย่างรุนแรงได้ คำถามต่อไปคือ โพซิลโลโพรา จะฟื้นตัวได้หรือไม่ แล้วอโครโปราล่ะ พวกมันจะมีความสามารถ ในการฟื้นตัวไหม

ในหลายบริเวณของทะเลแคริบเบียน เมื่อปะการังตาย โครงร่างของพวกมันจะถูกสาหร่ายสีน้ำตาลเข้าปกคลุมอย่างรวดเร็ว แต่ในภาพถ่ายจากหมู่เกาะไลน์ใต้ของสจวร์ต โครงร่างปะการังถูกสาหร่ายปะการังแผ่นปกคลุม เกิดเป็นแผ่นหินปูน สีชมพู เมื่อปะการังสืบพันธุ์ ตัวอ่อนปะการังจะล่องลอยไปในทะเลเป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ก่อนลงเกาะที่ก้นทะเลแล้วงอกงามเป็นปะการังโคโลนีใหม่ พื้นผิวที่มันชอบลงเกาะคืออะไร สาหร่ายปะการังแผ่นนั่นเอง พวกมัน ไม่เติบโตบนสาหร่ายทะเล

ชุมชนสิ่งมีชีวิตในหมู่เกาะไลน์ใต้มีอาทิ แมงกะพรุน สีสวยตัวนี้ (ภาพถ่าย: อลัน ฟรีดแลนเดอร์)
ฝูงปลาขนาดเล็กในแนวปะการัง ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำแถบนี้ (ภาพถ่าย: มานู ซาน เฟลิกซ์)

ดังนั้น สภาวะดังกล่าวจึงเหมาะสมกับการให้ปะการังในหมู่เกาะไลน์ใต้ฟื้นตัว แต่พวกมันจะฟื้นตัวได้จริงไหม มีวิธีเดียวที่จะรู้ได้ เราต้องให้เวลากับแนวปะการัง แล้วกลับไปสำรวจอีกครั้ง

ในที่สุด เราก็ได้กลับไปเมื่อปีก่อน หลังจากต้องรอคอยอยู่สองปีเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ระบาด เรือ ออฟชอร์โซลูชั่น ของเราเดินทางขึ้นไปทางเหนือของเกาะตาฮีตีเป็นเวลาสองวันก็มาถึงเกาะฟลินต์ ซึ่งเป็นเกาะแรกใน สามเกาะที่เราจะมาเยือน ทีมเดิมหวนกลับมา อายุมากขึ้น 12 ปี แต่ความกระตือรือร้นเท่าเดิม เราสวมชุดดำน้ำ กระโดดลงเรือยาง แล้วบึ่งไปยังแนวปะการัง
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2009 ความตื่นเต้นและอะดรีนาลีนพุ่งพล่านอยู่ในตัวผม ตอนนี้ผมรู้สึกกลัว แนวปะการังจะเวิ้งว้าง ว่างเปล่าไหม ผมคว้าหน้ากากขึ้นมาสวม แล้วพุ่งตัวลงน้ำ

เมื่อฟองอากาศกระจายออกไปหมดแล้ว ผมไม่อยากเชื่อสิ่งที่เห็น มีอะไรเกิดขึ้นกับแนวปะการังนี้ด้วยหรือ ก้นทะเล ปกคลุมไปด้วยปะการังเป็นๆ สวยงามตระการตาตลอดความลึกลงไป 30 เมตร ผมตะโกนสุดเสียง ปีนกลับขึ้นเรือยาง แล้วกอดคู่หูดำน้ำ มานู ซาน เฟลิกซ์ ช่างภาพวิดีโอประจำโครงการทะเลพิสุทธิ์

ปะการัง มอนทิโพรา ที่ทนภาวะทะเลอุ่นขึ้นกับโพลิปสีม่วง (ภาพถ่าย: มานู ซาน เฟลิกซ์)
ลากูนของเกาะมิลเลนเนียมอะทอลล์อุดมด้วยแนวปะการัง อโครโพรา ที่กลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งหลังจาก ภาวะทะเลอุ่นขึ้น ช่วงปี 2015-2016 ฆ่าพวกมันไปเกือบหมด หอยมือเสือที่เคยอาศัยอยู่บริเวณก้นลากูนยังรอเวลา จะฟื้นตัว ซาลากล่าวว่า แนวปะการังจะอยู่รอดได้ถ้าเราปกป้องพวกมัน จากนั้นต้องหยุดยั้งภาวะโลกร้อน

ตลอดสามสัปดาห์ที่เราดำน้ำรอบสามเกาะทางใต้สุดของหมู่เกาะไลน์ ได้แก่ เกาะฟลินต์ เกาะวอสตอก และเกาะ มิลเลนเนียม (แคโรไลน์) อะทอลล์ เราวัดการฟื้นตัวอันน่าตื่นตาตื่นใจของปะการังทุกหนทุกแห่ง แนวปะการังกลับมาอุดมสมบูรณ์ แต่พวกมันเปลี่ยนแปลงไป โพซิลโลโพราที่ตายไปในช่วงปี 2015-2016 กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในหลายบริเวณ บางครั้งบนซากของพวกมันเอง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปะการังตายไป มีปะการังชนิดอื่นขึ้นแทนที่

การฟื้นตัวของปะการังทำให้เราทุกคนทึ่ง ไม่มีใครในทีมนักวิทยาศาสตร์ของเราเคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อน เอริก บราวน์ นักชีววิทยาทางทะเลประจำสำนักงานอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังของเรา ประเมินว่า ลากูนในเกาะมิลเลนเนียมมีปะการังเฉลี่ย 17 ล้านถึง 21 ล้านโคโลนีต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นจำนวนที่มากจนน่าตกใจ เราต้องคำนวณซ้ำอยู่หลายครั้งเพื่อให้เชื่อตัวเลขนี้ นี่เป็นสิ่งย้ำเตือนว่า แนวปะการังฟื้นตัวเองได้ดีกว่าการเข้ามาแทรกแซง ของมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีปะการังมีชีวิตอยู่รอบๆ มากพอเพื่อทำให้แนวปะการังกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

เรื่องและภาพถ่าย เอนริก ซาลา

ติดตามสารคดี แปซิฟิกชีวิตผลิบาน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/562334


อ่านเพิ่มเติม แนวปะการังจะอยู่รอดอย่างไร ภายใต้ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Recommend