โครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ระดมเครือข่ายมหาวิทยาลัย ชาวบ้านจิตอาสา ปลูกหญ้าทะเล ฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดคาร์บอนไดออกไซด์
ในอนาคต โลกของเราจะร้อนขึ้นจนสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยไม่ได้
บรรดานักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมต่างระบุว่า ถ้าโลกเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นจากเดิมอีก 2 องศา โลกจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่แปรปรวน จนโลกที่เคยดีงามของจะเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด และไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต
หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนคือ ภาวะเรือนกระจก ซึ่งมีที่มาหลักจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป ซึ่งมีที่มาจากทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และการทำอุตสาหกรรม โดยปัญหานี้มีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ เพราะผืนป่าคือตัวดูดซับคาร์บอนในอากาศ
หนึ่งในวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้ผล คือการ ‘เพิ่มพื้นที่สีเขียว’ เพิ่มต้นไม้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นตัวดูดซับคาร์บอนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ และชดเชยกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
Blue Carbon ทางเลือกใหม่ ดูดซับคาร์บอนแข็งแกร่งกว่าป่าไม้
ปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอต่อการดูดซับคาร์บอนเป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงเร่งหาแนวทางการดูดซับคาร์บอนที่ได้ผลมากขึ้น ทั้งวิธีดั้งเดิมที่ใช้พื้นที่ป่าบนบก หรือพื้นที่สีเขียวบนบกเพื่อดูดซับคาร์บอนที่เรียกว่า Green Carbon
นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว การขยายพื้นที่ของ ‘หญ้าทะเล’ เพื่อเพิ่มการดูดซับ Blue Carbon หรือคาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล ก็สามารถเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบลูคาร์บอนมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า
โดยคาร์บอนสามารถแพร่กระจายไปได้ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงบนผืนน้ำและมหาสมุทรซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก และแหล่งหญ้าทะเลจะเป็นระบบนิเวศที่ช่วยดูดซับคาร์บอนได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ตามข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ระบุว่า หญ้าทะเลสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
นอกจากนี้ หญ้าทะเลมีความสำคัญในระบบนิเวศ คือการเป็นที่อยู่อาศัย และที่อนุบาลของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมไปถึงสัตว์ใหญ่อย่างพะยูน และเต่าทะเล นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการดักตะกอนได้ทำให้น้ำทะเลใสสะอาดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้นการมีหญ้าทะเลถือเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลที่มีคุณภาพและสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง
ทว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อแหล่งหญ้าทะเลกลับเป็นระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดของโลก ซึ่งในแต่ละปีพื้นที่หญ้าทะเลจะลดลงถึงร้อยละ 1.5 และนอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แหล่งหญ้าทะเลทั่วโลกได้ตายลงไปแล้วกว่าร้อยละ 29
‘สิงห์อาสา’ อีกหนึ่งเครือข่ายอาสาสมัครที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ระดมเครือข่ายมหาวิทยาลัย ชาวบ้านจิตอาสา ปลูกหญ้าทะเล ฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดคาร์บอนไดออกไซด์
สิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ทำกิจกรรมดูแลสังคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศตลอดทั้งปี ทั้งการช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน อาทิ ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมทั้งภารกิจที่ทำให้“องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” โดยร่วมกับเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
และในครั้งนี้ ทีมงาน National Geographic Thailand ได้ติดตามโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ที่ทางสิงห์อาสาทำงานร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างการปลูกหญ้าทะเล ในหลากหลายพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเลซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เพราะหญ้าทะเลเป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งกับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งยังเป็นตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่หลบภัย วางไข่ ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ที่สำคัญยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และเยาวชนในพื้นที่ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” เป็นหนึ่งในภารกิจของสิงห์อาสาที่ทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ในจังหวัดชายทะเลทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับพื้นที่ จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกของอ่าวไทย มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การทำลายบุกรุกถือครองพื้นที่ป่าชายเลน และปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงการเสื่อมโทรมของแนวปะการังและการลดจำนวนลงของแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นผลจากการทำกิจกรรมของต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชมชนที่ไหลผ่านจากแม่น้ำสู่ทะเล รวมไปถึงมลพิษจากขยะ ผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เขตจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักๆ ของพื้นที่ชายทะเล จ. จันทบุรี คือน้ำทิ้งที่มาจากบ้านเรือน ขยะจากชุมชน และอาจมีเรือประมงเข้ามาจอดในพื้นที่ของหญ้าทะเล จนสิ่งแวดล้อมเริ่มเปลี่ยน ระบบนิเวศชายฝั่งก็เริ่มเสื่อมโทรม ทำให้หญ้าทะเลค่อยๆ หายไป
“หญ้าทะเลมีศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในทะเลสูงมาก แม้มีพื้นที่เพียงร้อยละ 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งโลก แต่มีความสามารถในการเก็บคาร์บอนมากถึงร้อยละ 10 ของปริมาณคาร์บอนที่พบทั้งหมดในมหาสมุทรทั้งหมด และโชคดีที่จันทบุรียังมีพื้นที่หญ้าทะเลที่พอฟื้นฟูได้อยู่บ้าง
ผมมีโอกาสได้คุยเรื่องกิจกรรมอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งจากหญ้าทะเลกับทางสิงห์อาสา เพราะเราได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมร่วมกันก่อนหน้านี้มาหลายกิจกรรม เช่น โครงการจัดการขยะพลาสติกในทะเล ที่บริเวณ ม. บูรพา จ. ชลบุรี เลยมีโอกาสได้ขยายพื้นที่ทำจิตอาสามาที่นี่ ทางสิงห์อาสาและผมก็ได้ประสานงานร่วมกับ ทช.(กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ที่มีโครงการเพาะหญ้าทะเลอยู่แล้ว เลยได้นำหญ้าทะเลมาปลูกขึ้นตามธรรมชาติที่นี่ ร่วมกับบรรดาชาวบ้าน และจิตอาสา ทำให้พื้นที่หญ้าทะเลในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20”
“โครงการจากสิงห์อาสาในครั้งนี้ นอกจากประโยชน์ด้านระบบนิเวศ ประโยชน์ที่ได้รับอีกอย่าง คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับชาวบ้านและคนในพื้นที่ว่าหญ้าทะเลมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและพวกเขามากเพียงใด พวกเขาเริ่มรู้ว่าหญ้าทะเลคือแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย และช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อเขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหญ้าทะเล ก็จะเกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษา ระบบนิเวศก็จะสมบูรณ์ ในที่สุดก็เป็นผลดีกลับมายังชาวบ้านเอง”
สอดคล้องกับความเห็นของ คุณดวงทิพย์ญามน ชักชวนวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านเจ้าหลาวหัวแหลม ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่คิดว่าหญ้าทะเลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นอาหารของพะยูน เต่าทะเล แต่ไม่ทราบว่าหญ้าทะเลเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญมากๆ และยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ จนกระทั่งเริ่มพบปัญหาปะการังฟอกขาว สัตว์ทะเลที่เคยเป็นแหล่งทำกินลดน้อยลงอย่างมาก รวมไปถึงสัตว์ใหญ่อย่างพะยูน และเต่าทะเล
“ พอสัตว์ทะเลก็มีน้อยลง จากที่เราหาสัตว์ทะเลกันหน้าบ้านได้ ชาวบ้านต้องออกเรือประมงไปหาปลาไกลขึ้น นานขึ้น ตอนนั้นชาวบ้านก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ได้คิดถึงความสำคัญของหญ้าทะเล ไม่ได้คิดว่าเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่จะทำให้สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ได้เติบโต พอสิงห์อาสาเข้ามาทำโครงการนี้ มาปลูกหญ้าทะเล และมาให้ความรู้เรื่องหญ้าทะเล ชาวบ้านก็เริ่มรู้ถึงประโยชน์ของหญ้าทะเลว่ายังช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะหญ้าทะเลช่วยดูดซับคาร์บอนอีกด้วย”
คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเยาวชนและชาวบ้าน สามารถช่วยกันดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน แม้ว่าสิ่งที่ทำจะเห็นผลช้า ซึ่งอาจจะนานไปจนถึงคนรุ่นต่อไป แต่ก็เป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันตั้งแต่วันนี้”
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ยุทธนา กล้วยไธสง