สภาพอากาศ ทุกวันนี้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ในช่วงปลายปี 2565 ถึง ต้นปี 2566 นี้ประเทศไทยมีอากาศหนาวผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา
โดยเรามักจะคุ้นชินกับเดือนมกราคมที่ร้อนกว่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกรุงเทพมหานคร สาเหตุมาจากปัจจัยสำคัญ 2 นั่นคือ ‘ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา’ เสริมด้วย ‘ลมวนขั้วโลก’ (Polar Vortex)
ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาคืออะไร? มันคือวัฏจักรการหมุนเวียนของกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘วัฏจักรเอนโซ่’ (ENSO) ซึ่งมีผลต่อสภาพอากาศทั่วโลก โดย ‘เอลนีโญ’ นั้นทำให้ภูมิภาคทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียแห้งแล้ง แต่กลับมาฝนตกหนักที่ทวีปอเมริกาใต้แทน
ขณะที่ ‘ลานีญา’ คือปรากฎการณ์ที่ตรงข้ามกัน นั่นคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียฝนตกหนัก และทวีปอเมริกาใต้แห้งแล้งแทน ซึ่งในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงท้ายของลานีญาและกำลังเปลี่ยนผ่านไปยังเอลนีโญ จากนั้นเสริมด้วยปัจจัยสำคัญอย่างที่สอง นั่นคือ ‘ลมวนขั้วโลก’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลต่อสภาพอากาศเช่นเดียวกัน
‘ลมวนขั้วโลก’ คืออากาศเย็นขนาดใหญ่ที่หมุนวนอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งปกติแล้วจะถูก ‘กั้น’ โดยกำแพงอากาศอุ่น แต่ปัจจุบัน ด้วยปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กำแพงนั้นเกิดการแปรปรวน และทำให้อากาศเย็นขนาดใหญ่แผ่ขยายลงมาในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยสองเหตุการณ์นี้ทำให้ประเทศได้รับผลกระทบจากอากาศเย็นขั้วโลกที่แผ่กระจายลงมา
จากนั้นผลของลานีญาที่เกิดอากาศเย็นในภูมิภาคนี้เสริมเข้าไป ทำให้บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ได้รับผลกระทบจากกระแสอากาศเย็นอันหนาวเหน็บของอาร์กติก (สหรัฐอเมริกาที่เจอกับบอมบ์ไซโคลน และหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนได้รายงานว่าหนาวที่สุดจนทำลายสถิติ) ทำให้ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์หนาวเย็นกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ตามที่ระบุไว้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วง เอลนีโญ จะทำให้ฤดูร้อนของไทยเกิดความแห้งแล้งตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป เอลนีโญ จะเสริมให้อากาศที่ร้อนอยู่แล้ว ยิ่งร้อนขึ้นไปอีก และมีการคาดการณ์ว่าช่วงปี 2568 ถึง 2569 จะเกิดภาวะแล้งหนัก หากย้อนดูบันทึกน้ำท่วมแล้วจะเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหลายครั้งตาม ลานีญา
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมการรับมือกับภาวะแห้งแล้งตาม เอลนีโญ เช่น มาตรการสำคัญที่ให้ความสำคัญต่อการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างจริงจังกับภาคประชาชน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และมีความเสี่ยงว่าหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ก็จะทำให้มีความรุนแรงกว่าเดิม
ความหนาวที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานชัดเจนของสภาพอากาศที่กำลังแปรปรวน ไปจนถึงภาวะโลกร้อนที่จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น เป็นที่น่ากังวลว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยกำลังจมลงเรื่อย ๆ ตามระดับน้ำทะเลที่กำลังหนุนขึ้นมา กระนั้น แผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเช่นไรก็ยังไม่มีใครบอกได้
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับสำนักข่าวไทยรัฐเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงนี้ว่า “เชื่อว่าอีก 8 ปีข้างหน้า จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีพื้นที่หายไปอย่างชัดเจน ซึ่งจากการคาดการณ์ 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า พื้นที่จะหายไป 6 กิโลเมตร”
ยังคงเป็นคำถามต่อไปว่าประเทศไทยพร้อมรับมือกับสภาพอากาศแค่ไหน?
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2616325