ทะเลเขียว อาจไม่จบแค่เกาะล้าน! ภาพดาวเทียมระบุชัด ทะเลไทย (และโลก) กำลังป่วนจาก แพลงก์ตอนบลูม ผลจาก “โลกร้อน”, “มนุษย์”

ทะเลเขียว อาจไม่จบแค่เกาะล้าน! ภาพดาวเทียมระบุชัด ทะเลไทย (และโลก) กำลังป่วนจาก แพลงก์ตอนบลูม ผลจาก “โลกร้อน”, “มนุษย์”

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นช่วงของวันหยุดยาว มีการเผยแพร่ภาพ แพลงก์ตอนบลูม หรือ น้ำทะเลสีเขียว ที่ เกาะล้าน จ.ชลบุรี ซึ่งน้ำทะเลมีสีเขียวไปทั้งชายหาด

ต่อมาได้มีคำอธิบายว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคือปรากฎการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” หรือขี้ปลาวาฬ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีอันมาจากการเพิ่มจำนวนของสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเลจำนวนมาก

โดยต่อมา เพจ “ข่าวสารเกาะล้าน” ได้ระบุว่าเพิ่มเติมว่า นี่คือปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในฤดูฝน ปีหนึ่งจะเกิดขึ้น 4-5 วัน ตามกระแสน้ำของทะเล ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณ หาดตาแหวน และ หาดตายาย ซึ่งเป็นหาดที่หันหน้าไปทางปากน้ำที่มีกระแสน้ำจืดไหลลงมา แต่หาดอื่นๆ เช่น หาดนวล หาดแสม หาดเทียน น้ำทะเลยังใสเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวนี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนของภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนน้ำทะเลของไทย และหลายแห่งในโลก

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 66 ใน Facebook ของ อ. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่แผนที่แสดงค่าเฉลี่ยรายวันของปริมาณ “คลอโรฟิลล์” ในน้ำทะเล บริเวณอ่าวไทยและอันดามัน จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

ซึ่งเป็นภาพวัดคลอโรฟิลล์ในผืนน้ำทะเลไทยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชบลูม (สะพรั่ง) ในวันที่ 27 กรกฎาคม หรือ 2 วันก่อนเกิดปรากฎการณ์ทะเลเกาะล้านเป็นสีเขียว ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณคลอโรฟิลล์ครอบคลุมไปในบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของไทย (ไม่ใช่แค่ในจังหวัดชลบุรี หรือเกาะล้านเท่านั้น) อันเป็นผลจากปรากฎการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่ลมลมพัดน้ำมารวมอยู่บริเวณนั้น ซึ่งทำให้เกาะล้านพบเหตุการณ์น้ำทะเลสีเขียวดังกล่าว

ปรากฎการณ์ น้ำทะเลเขียว ในอ่าวไทยเช่นนี้ ส่งสัญญาณอะไรให้กับเรา

โดยในธรรมชาติ “การสะพรั่ง” (Bloom) ของแพลงก์ตอนพืชในแหล่งน้ำ ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงแทนที่ทางระบบนิเวศ (Ecological Succession) ซึ่งใช้เวลาหลายสิบถึงหลายร้อยปีในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ของแหล่งน้ำดังกล่าว

แม้จะถือเป็น “ปรากฎการณ์ธรรมชาติ” แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา “กิจกรรมของมนุษย์” เช่น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้แหล่งน้ำทั่วโลกเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา เช่น การปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนลงในแหล่งน้ำ การใช้ปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตร หรือแม้กระทั่งการขยายตัวของประชากรก็มีผลเช่นเดียวกัน

โดยในปี 2566 ปรากฎการณ์นี้มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ปัจจัยโดยอ้อมที่ส่งผลคือ ซึ่งอาจเป็นผลจาก “ปรากฎการณ์ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ “น้ำทะเลเดือด” กล่าวคือ น้ำทะเลมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้น

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมนักสมุทรศาสตร์จากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกที่น่าตกใจว่า ครึ่งหนึ่งของผืนมหาสมุทรทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังเปลี่ยนเป็น “สีเขียวเข้ม” มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน”

โดยสีเขียวนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่าง ไฟโตแพลงก์ตอน (phytoplankton) หรือ แพลงก์ตอนพืช ซึ่งใช้สารคลอโรฟิลล์สีเขียวและกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงสร้างพลังงานให้ตัวเองเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค. อ. ธรณ์ ได้พูดถึงปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่กำลังมีมากขึ้นในอ่าวไทยว่า เมื่อแพลงก์ตอนมีมากเกินไป จะส่งผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะ “ออกซิเจนในน้ำ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำโดยตรง และปรากฏการณ์ที่น้ำเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้นเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน

และ อ. ธรณ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่หอยอาจโตช้า ขายไม่ได้ราคา หนักหน่อยก็ตายเลย เป็นผลกระทบซ้ำซ้อนที่ส่งผลต่อการทำมาหากินของพี่น้องคนชายฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนจะไม่มีวี่แววว่าจะลด เพราะโลกยังไม่หยุดร้อน อีกทั้งผลกระทบจากมนุษย์โดยตรงก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะน้อยลงอย่างมีนัยยะ”

สอดคล้องกับ ในรายงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด ระบุว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเติบโตเกินขีดจำกัดของประชากรแพลงก์ตอน จะทำให้ผืนน้ำโดยรอบขาดออกซิเจน จนกลายเป็นเขตมรณะ (hypoxic dead zone) หรือบริเวณพื้นที่ในมหาสมุทรหรือแหล่งน้ำที่มีปริมาณของออกซิเจนต่ำมาก ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นเขตขาดออกซิเจนจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอาศัยอยู่ได้อีก ทำให้เกิดการตายและการอพยพของสัตว์น้ำจำนวนมาก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในแหล่งน้ำอีกด้วย

แม้ในที่สุดแล้ว ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวในพื้นที่ชายหาดเกาะล้านนี้จะค่อยๆ สลายตัวไปด้วยสาเหตุต่างๆ หรือที่ เรียกว่า “ขั้นตอนการยุติปรากฏการณ์” ทว่า ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวนี้ยังมีโอกาสเกิดเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทยและอีกหลายพื้นที่ เพราะปรากฎการณ์น้ำทะเลเดือด และภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลโดยอ้อม ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้

และถ้าปรากฎการณ์นี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ภาพของ น้ำสวย ทะเลใส อาจเป็นเพียงภาพในอดีต ที่คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสพบเห็นได้ด้วยตาตัวเองอีก

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/environment/article/climate-change-alters-oceans-blues-greens

ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication)

https://www.bbc.com/thai/articles/c1d755j1dppo
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1076547
https://mgronline.com/travel/detail/9660000068393

อ่านเพิ่มเติม บลูคาร์บอน ประสิทธิภาพที่กำลังถูกมองข้ามในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

Recommend