คนจนต้องใช้เวลา 1,500 ปี ปล่อย “ ก๊าซเรือนกระจก ” เท่าคนรวย 1% ปล่อยภายใน 1 ปี
คนรวยที่สุดจำนวน 1% ของประชากรโลกทั้งหมดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก มากกว่าคนจนที่สุดถึง 66% หรือ 2 ใน 3 หรือเมื่อเทียบกันแล้ว คนจนต้องใช้เวลา 1,500 ปี ถึงจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเท่ากับคนรวยที่สุดปล่อยภายใน 1 ปี
.
รายงานใหม่จากอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ซึ่งเป็นองค์กรด้านความยั่งยืนที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม ประกอบด้วยองค์กรการกุศลอิสระ 21 แห่งที่มุ่งเน้นบรรเทาความยากจนทั่วโลก ได้สำรวจผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่มนุษย์ปล่อย และพบว่ามันมีสัดส่วนที่ “ไม่เหมาะสม” อย่างมาก
.
กลุ่มคนรวยสุดที่มีอยู่ราว 77 ล้านคน ประกอบด้วยเศรษฐี มหาเศรษฐี และผู้มีรายได้มากกว่า 140,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (หรือประมาณ 4.9 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของประชากรโลกทั้งหมด แต่กลับปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลจนกลายเป็น ‘ผู้ก่อมลพิษชั้นนำ’
.
“มหาเศรษฐีกำลังปล้นสะดมและสร้างมลพิษให้กับโลกจนถึงขั้นทำลายล้าง และผู้จ่ายได้น้อยที่สุด (ผู้มีรายได้น้อย) คือผู้ที่ต้องจ่ายเงินในราคาสูงสุด (ใช้จ่ายเงินเพื่อรับผลกระทบมากที่สุด) ”
.
เคียรา ลิกัวรี (Chiara Liguori) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายความยุติธรรมด้านสภาพอากาศของอ็อกซ์แฟมกล่าว
.
รายงานระบุว่า กลุ่มคนรวยที่สุดมักจะใช้ชีวิตอยู่ในเครื่องปรับอากาศ ทำกิจกรรมบนซูเปอร์เรือยอทช์ เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ และท่องเที่ยวไปในอวกาศ
.
สิ่งเหล่านี้สามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 5.9 พันล้านตันเมื่อปี 2019 อ็อกซ์แฟมกล่าวว่าตัวเลขนี้เพียงพอที่จะทำให้คน 1.3 ล้านคนเสียชีวิตต่อไปในอีกหลายสิบปี จากผลของโลกร้อน
.
ขณะที่คนรายได้น้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1,500 ปี เพื่อที่จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณที่คนรวยปล่อยใน 1 ปี พร้อมเสริมอีกว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกำลังขยายตัวออกเรื่อย ๆ
.
รายงานชี้ว่าประเทศที่มีรายได้สูง (ส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกเหนือของโลก) มีส่วนรับผิดชอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 40
.
แต่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ (ส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกใต้) กลับปล่อยคาร์บอนเพียง 0.4% ของทั้งหมด และแอฟริกาซึ่งมีประชากรราว 1 ใน 6 ของโลก ก็เป็นผู้รับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น แต่พวกเขากลับได้รับผลกระทบมากที่สุด
.
ความทุกข์ทรมานส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ยากจน ชุมชนชาติพันธุ์ชายขอบ ผู้อพยพ สตรีและเด็กหญิง
.
พวกเขาถูกสภาพอากาศเลวร้ายโจมตีอย่างไม่สมส่วน เผชิญกับความร้อนจัดโดยที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศมาบรรเทา พืชผลเสียหาย ขาดแคลนอาหารและขาดแคลนน้ำสะอาด
.
กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้แทบจะไม่มีเงินออม ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือแม้แต่การคุ้มครองทางสังคม พวกเขาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่า สหประชาชาติกล่าวว่าผู้เสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนากว่า 91% มีความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศสุดขั้ว
.
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มคนรวยที่สุดยังใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อให้ความมั่งคั่งของพวกเขาเติบโต อีกทั้งเป็นเจ้าขององค์กรสื่อและโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อควบคุมข่าวสาร
.
ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา สมาชิกสภาครองเกรส 1 ใน 4 เป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 1,115 ล้าน ถึง 3,255 ล้านบาท
.
รายงานระบุว่าสิ่งนี้ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมโลกจึงยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
รวมถึงเป็นเหตุผลที่ว่าหลายรัฐบาลของประเทศซีกโลกเหนือจึงยังจัดสรรเงินเพื่อลงทุนและอุดหนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2020 ซึ่งตรงข้ามกับคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่จะยุติการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
.
อ็อกแฟม เชื่อว่าการเก็บภาษีความมั่งคั่งจำนวนมากจากคนรวยที่สุด และภาษีสำหรับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วนำมารองรับกลุ่มคนรายได้น้อยที่รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมด้านสภาพอากาศ รวมถึงให้ทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทน จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
.
“การไม่เก็บภาษีความมั่งคั่งจะทำให้คนรวยที่สุดปล้นไปจากเรา ทำลายโลกของเรา และยอมทรยศต่อระบอบประชาธิปไตย การเก็บภาษีความมั่งคั่งสุดโต่งสร้างโอกาสของเราให้จัดการกับทั้งความไม่เท่าเทียมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” อมิทาบธ์ เบอาร์ (Amitabh Behar) ผู้อำนวยการบริหารชั่วคราวของอ็อกแฟม กล่าว
.
“สิ่งเหล่านี้มีเดิมพันนับล้านล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในรัฐบาลสีเขียวอันมีชีวิตชีวาในศตวรรษที่ 21 แต่ก็ยังสามารถอัดฉีดกลับเข้ามาในระบอบประชาธิปไตยของเราด้วยเช่นกัน”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://policy-practice.oxfam.org/resources/climate-equality-a-planet-for-the-99-621551/
https://makerichpolluterspay.org/climate-equality-report/