การพบไมโครพลาสติก ณ จุดสูงที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบคือสัญญาณเตือนว่าอาจไม่มีที่ใดในโลกรอดพ้นจากมลพิษพลาสติกที่มนุษย์สร้างขึ้น
สำหรับนักผจญภัยทั่วโลก เมานต์เอเวอเรสต์คือภาพที่ยากจะลืมเลือน ทว่าหากมองลึกเข้าไปในภูมิทัศน์อันชวนตะลึงนี้ เราจะเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณชัดเจนของผลกระทบจากมนุษย์ทั้งใกล้และไกล
ทุกวันนี้ พื้นผิวนํ้าแข็งที่เบสแคมป์ในเนปาลอยู่ตํ่ากว่าระดับเมื่อ 35 ปีก่อนกว่า 45 เมตร อันเป็นผลจากการละลายของธารนํ้าแข็งที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง นํ้าแข็งในเขตที่สูงซึ่งครั้งหนึ่งเชื่อกันว่าปลอดภัยจากการอุ่นขึ้น ทุกวันนี้กำลังเริ่มละลายและเหือดหายแม้กระทั่งหิมะเองก็ไม่ได้สะอาดบริสุทธิ์อีกแล้ว ที่ระดับความสูง 27,700 ฟุต (8,443 เมตร) หิมะปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติก ถือเป็นจุดสูงที่สุดเท่าที่เคยพบในโลก
การศึกษาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อเมานต์เอเวอเรสต์และภูมิภาครอบข้างอย่างไร ภายใต้การจัดการของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative)
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2019 ทีมนักวิทยาศาสตร์กว่าสามสิบชีวิตกระจายกันทำงานในหุบเขาคุมบูของเนปาล พวกเขาติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศห้าแห่ง เก็บตัวอย่างหิน นํ้า หิมะ นํ้าแข็ง และอื่น ๆ ผลการศึกษาและตรวจวิเคราะห์ในเวลาต่อมาตอกยํ้าผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้กระทั่งหลายจุดที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลก
แม้การค้นพบบางเรื่อง เช่น การปรากฏของไมโครพลาสติกอาจไม่ได้หมายถึงภัยคุกคามเร่งด่วนทางสิ่งแวดล้อม แต่หลายเรื่องกลับน่าวิตกกังวลมากกว่ามาก เรื่องหนึ่งคือแม้แต่ธารนํ้าแข็งที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลกยังสูญเสียนํ้าแข็งในอัตราที่เร่งเร็วขึ้น ความเสี่ยงไม่เพียงตกอยู่กับชุมชนท้องถิ่นและธุรกิจท่องเที่ยวบนภูเขาที่ชุมชนเหล่านั้นต้องพึ่งพาอย่างมาก แต่ยังรวมถึงผู้คนหลายล้านคนทางปลายนํ้าที่ต้องพึ่งพาธารนํ้าแข็งเหล่านั้นในฐานะแหล่งนํ้าจืด
“นี่เป็นสัญญาณเตือนอย่างแท้จริงครับ” พอล เมยูว์สกี หัวหน้าคณะสำรวจและผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัยเมน กล่าว
เช้าอากาศแจ่มใสวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ปี 2019 มารียุส โปตอสกี นักวิทยาธารนํ้าแข็ง เฝ้ามองนักปีนเขาเพื่อนันทนาการคนแล้วคนเล่าเดินผ่าน “บัลโคนี” (Balcony) ซึ่งเป็นพื้นที่ราบขนาดเล็กที่ระดับความสูงกว่า 8,300 เมตร (27,500 ฟุต) ห่างจากยอดเมานต์เอเวอเรสต์เพียงไม่กี่ชั่วโมง โปตอสกี นักวิทยาธารนํ้าแข็งจากมหาวิทยาลัยเมน เช่นเดียวกับเมยูว์สกี หวังจะเจาะและเก็บตัวอย่างแกนนํ้าแข็งจากยอดเขาสูงที่สุดในโลกแห่งนี้ ทว่านักปีนเขาจำนวนมากที่เห็นทำให้เขาและทีมงานเลิกล้มความตั้งใจที่จะปีนขึ้นสู่ยอดเขา (ท้ายที่สุด โปตอสกีก็ประสบความสำเร็จ ในการเก็บตัวอย่างแกนนํ้าแข็งจากจุดสูงที่สุดในโลกที่ระดับ ความสูง 8,077 เมตร หรือ 26,500 ฟุต ตรงจุดที่เรียกว่า เซาท์โคล) โปตอสกีจึงปีนขึ้นไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรตามเส้นทางและเก็บตัวอย่างนํ้าแข็งกับหิมะแทน
ผลการวิเคราะห์ในเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างนี้และอีกสิบตัวอย่างที่เก็บและรวบรวมจากบริเวณระหว่าง เบสแคมป์และบัลโคนี เต็มไปด้วยไมโครพลาสติก
“ความหนาแน่นของไมโครพลาสติกบนภูเขา [สูงขนาดนั้น] เป็นเรื่องน่าแปลกใจค่ะ” อิเมอเจน แนปเปอร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลผู้วิเคราะห์ตัวอย่างหิมะในห้องปฏิบัติการของเธอที่มหาวิทยาลัยพลิมัท สหราชอาณาจักร กล่าวและเสริมว่า “ฉันยังคิดว่าที่นั่นเป็นพื้นที่ที่ทั้งห่างไกล และบริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอยู่ค่ะ”
อันที่จริงก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจขนาดนั้น แทบทุกหนแห่งที่นักวิจัยมองหา ตั้งแต่ซอกหลืบใต้มหาสมุทรลึกไปจนถึงภูมิทัศน์โล่งกว้างไพศาล พวกเขาล้วนพบไมโครพลาสติก อนุภาคเหล่านี้บางส่วนถูกพัดพาไปเป็นระยะทางไกล ๆ พร้อมกับฝุ่นในสายลมหรือกระแสนํ้ามหาสมุทร แต่บนเอเวอเรสต์ แนปเปอร์พบว่าบรรดานักปีนเขาน่าจะเป็นต้นเหตุ
สิ่งทอหรือผ้าใยสังเคราะห์ปลอดปล่อยเศษซากเส้นใยออกมาอย่างต่อเนื่องเมื่อใช้ไปนาน ๆ การศึกษาชิ้นหนึ่ง พบว่าเสื้อผ้าใยสังเคราะห์หนึ่งกรัมปล่อยไมโครพลาสติก 400 ชิ้น ทุก ๆ 20 นาทีของการใช้งาน
ไมโครพลาสติกที่พบบนเอเวอเรสต์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโพลีเอสเตอร์ ตามมาด้วยอะคริลิก ไนลอน และโพลีโพรพีลีน ซึ่งล้วนเป็นวัสดุที่ใช้ในเสื้อผ้ากลางแจ้งทั่วไป พลาสติกยังกระจุกตัวหนาแน่นมากขึ้นในบริเวณใดก็ตามที่มนุษย์ตั้งแคมป์ที่พัก ดังนั้น แม้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) จะถูกห้ามทั่วหุบเขาคุมบูเมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งชุมชนนักปีนเขาและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะมีความก้าวหน้าในการเก็บและรวบรวมขยะจากรอบเมานต์เอเวอเรสต์ ไมโครพลาสติกน่าจะยังคงสะสมตัวอยู่ที่นั่น
ไมโครพลาสติกที่เล็กเกินกว่าจะมองเห็นด้วยตาเปล่า มักเล็ดลอดจากบทสนทนาว่าด้วยการจัดการขยะซึ่งมักมุ่งเน้นไปที่การลดการใช้ (reduce) การใช้ซํ้า (reuse) และการนำกลับมาใช้ ใหม่ หรือรีไซเคิล (recycle) แนปเปอร์ บอกว่า “มาตรการเหล่านี้จำเป็นและสำคัญก็จริง แต่เรา จำเป็นต้องขยายการแก้ปัญหาไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม”
ขณะที่โปตอสกีรวบรวมตัวอย่างหิมะจากลาดเขาที่อยู่สูงขึ้นไปบนเอเวอเรสต์ นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ทำงานกันอยู่บริเวณตีนเขา อะเล็กซ์ เทต นักภูมิศาสตร์ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นำทีมสำรวจเบสแคมป์ และธารนํ้าแข็งรอบ ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทีมงานใช้ทั้ง ไลดาร์ (LIDAR) และโฟโต้แกรมเมทรี (Photogrammetry) เพื่อสร้างแบบจำลองสามมิติที่เก็บรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่เต็นท์ที่พักไปจนถึงหินทุกก้อน
“นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องอยากได้ข้อมูลไลดาร์ชุดนี้” เทตบอก “เพราะเป็นข้อมูลเชิงบริบทเพื่อช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ครับ”
นักวิจัยคนหนึ่งในจำนวนนั้นคือ โอเวน คิง นักวิทยาธารนํ้าแข็งจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์สในสหราชอาณาจักร ซึ่งเปรียบเทียบภาพถ่ายชุดใหม่กับภาพถ่ายประวัติศาสตร์ จากนั้น เขาจึงสร้างภาพจำลองดิจิทัลของพื้นผิวธารนํ้าแข็งคุมบู และธารนํ้าแข็งอีก 78 แห่งที่อยู่ใกล้เคียงเมานต์เอเวอเรสต์ย้อนหลังกลับไปถึงปี 1962
ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงเป็นพื้นฐานเพื่อประเมินการสูญเสียนํ้าแข็งในอนาคตทั่วทั้งภูมิภาค แต่ยังให้ภาพที่ชัดเจนของสถานการณ์ปัจจุบันในเทือกเขาแถบนี้
นักวิทยาศาสตร์พบว่า สิ่งที่น่าจะสร้างความกังวลมากที่สุดคือ นํ้าแข็งละลายที่ระดับความสูงเหนือ 6,000 เมตร (20,000 ฟุต) คิงบอกว่า “ที่ความสูงขนาดนั้น นํ้าแข็งควรจะคงสถานะของแข็งอยู่ได้ตลอดปี และหิมะก็ควรสะสมตัวหล่อเลี้ยงระบบธารนํ้าแข็ง”
งานวิจัยของเขายังเผยเพิ่มเติมว่า ธารนํ้าแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยไม่ได้ถดถอยมากเท่ากับที่พวกมันบางลง กล่าวคือสูญเสียนํ้าแข็งจากพื้นผิวด้านบนลงไป แทนที่จะถอยร่นขึ้นไปตามหุบเขา “คุณลองนึกภาพธารนํ้าแข็งว่าเป็นสายพานลำเลียงก็ได้” คิงบอก หิมะสะสมตัวสูงขึ้นไปทางตอนบนของธารนํ้าแข็งและบดอัดจนกลายเป็นนํ้าแข็งที่ค่อย ๆ เลื่อนไหลลงสู่ตีนธารนํ้าแข็ง แต่เมื่ออุณหภูมิอุ่นขึ้นและหิมะตกน้อยลง สายพานลำเลียงทำงานช้าลง และธารนํ้าแข็งก็เริ่มบางลง
ในทางกลับกัน การบางลงเด่นชัดน้อยกว่าในแถบตอนล่างของธารนํ้าแข็ง ซึ่งอุณหภูมิอุ่นขึ้นเช่นกัน แต่สายพานลำเลียงกลับสะสมกองตะกอนธารนํ้าแข็ง (moraine) ที่ช่วยปกป้องนํ้าแข็งจากแสงอาทิตย์ การบางลงของธารนํ้าแข็งจึงมักเข้มข้นที่สุดที่ระดับความสูงมาก ๆ เพราะมีเศษซากปกคลุมน้อยกว่า ทำให้นํ้าแข็งเปราะบางต่อการละลายท่ามกลางอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น
กระนั้น แม้แต่กองตะกอนหินที่ปกคลุมก็ใช่ว่าจะเพียงพอต่อการปกป้องตีนธารนํ้าแข็ง การทำงานของสายพานลำเลียงยังก่อสันเนินกรวดหินดินทรายเตี้ย ๆ ล้อมรอบส่วนปลายของธารนํ้าแข็ง ทำนบหินนี้ดักและกักเก็บนํ้าจากนํ้าแข็งละลาย ก่อให้เกิดทะเลสาบที่มักเร่งกระบวนการละลายของธารนํ้าแข็ง
ถ้าเช่นนั้น อนาคตของภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้หวังว่า งานของพวกเขาอาจมีส่วนช่วยกำหนดแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ
เรื่องหนึ่งที่แน่นอน เมยูว์สกีบอก “ไม่ว่าที่ไหนที่มนุษย์ก้าวย่างไป เราทิ้งรอยประทับไว้เสมอ และรอยประทับนั้นก็ใช่ว่าเป็นเรื่องดีเสมอไป”
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก