พันธกิจของนักปกป้องมหาสมุทรชั้นนำสองรุ่น

พันธกิจของนักปกป้องมหาสมุทรชั้นนำสองรุ่น

ซิลเวีย เอิร์ล กับ เจสซิกา แครมป์แบ่งปันแรงบันดาลใจของตน

และหนทางที่เราทุกคนจะช่วยให้มหาสมุทรของโลกสะอาดและสดใสกว่าเดิม

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สร้างสรรค์บทความนี้โดยเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรกับโรเล็กซ์ ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการสำรวจและอนุรักษ์ ทั้งสององค์กรรวมพลังกันในความพยายามที่จะสนับสนุนเหล่านักสำรวจผู้กำลังบ่มเพาะแนวคิดสำคัญและแสวงหาหนทางต่าง ๆ เพื่อปกป้องความมหัศจรรย์ของโลก

ในฐานะผู้นำด้านการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ซิลเวีย เอิร์ล ทำงานรณรงค์ในนามของท้องทะเลมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ตอนนี้ในวัยกว่า 80 เธอแข็งแรงดี และยังใช้ชีวิตตามกำหนดการรัดตัวดังเคย ทั้งการสำรวจ การศึกษา และงานสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ที่ทำให้เธอต้องเดินทางทั่วโลกและพบกับทุกคน ตั้งแต่ผู้นำระดับโลกถึงเด็กนักเรียน

Humpback Whale in costa rica
วาฬหลังค่อมอพยพสู่น่านนํ้ารอบคาบสมุทรโอซานอกชายฝั่งคอสตาริกาเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ ระบบนิเวศทางทะเลแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซิลเวีย เอิร์ล ยกย่องน่านนํ้าแถบนี้ให้เป็นโฮปสปอต (Hope Spot)
(ภาพ ©YULIAN CORDERO/ROLEX)

แม้อาจจะฟังดูไกลตัวเกินไปสักหน่อยสำหรับคนทั่วไป แต่มหาสมุทรก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกชีวิตบนโลก เอิร์ล ผู้ทำลายสถิติการสำรวจมากมายหลายครั้งตลอดอาชีพอันยาวนานของเธอ บอก 

“ท้องทะเลมีมากกว่าปลาค่ะ” เอิร์ล Rolex Testimonee กล่าวและเสริมว่า “ลองคิดถึงวัฏจักรคาร์บอน ลมฟ้าอากาศ และองค์ประกอบทางเคมีที่ก่อร่างสร้างทุกชีวิตบนโลกนี้ดูก็ได้ค่ะ”

เอิร์ลเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนหลายล้านทั่วโลกให้ดูแลท้องทะเล เช่นเดียวกับที่ใส่ใจการอนุรักษ์อย่างกว้างขวาง หนึ่งในบรรดาผู้คนเหล่านั้นที่ได้รับอิทธิพลจากเอิร์ล คือ เจสซิกา แครมป์ นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ตั้งแต่ปี 2011 แครมป์พำนักและทำงานที่หมู่เกาะคุก สถานที่ที่เธอศึกษาฉลามและระบบนิเวศทางทะเล ทั้งยังเป็นปากเสียงให้เหล่าฉลามด้วย งานของเธอช่วยบุกเบิกให้หมู่เกาะแห่งนี้จัดตั้งเขตคุ้มครองฉลามขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานั้นด้วย

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มีโอกาสนั่งสนทนากับเอิร์ลและแครมป์ ว่าด้วยงานของพวกเธอและประเด็นใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบกับมหาสมุทรและโลกของเรา

Jessica Cramp is free-diving in Rarotonga
เจสซิกา แครมป์ นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ขณะดำนํ้าแบบฟรีไดฟ์ นอกชายฝั่งเกาะราโรตองกาหมู่เกาะคุก ในมหาสมุทรแปซิฟิก (บนและล่าง) เกาะแห่งนี้เป็นฐานของ Sharks Pacif ic โครงการอนุรักษ์ที่เธอตั้งขึ้นเพื่อปกป้อง ฉลาม ผู้คนและสถานที่ที่พวกมันพึ่งพา
(ภาพ แอนดี แมนน์, NATIONAL GEOGRAPHIC)

คุณมาจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหญิงต่างรุ่นกัน มีสิ่งใดที่คุณเรียนรู้จากกันและกันบ้าง

ซิลเวีย เอิร์ล: ฉันรักสิ่งที่เจสซิกาทำค่ะ เธออยู่ที่หมู่เกาะคุก ลงมือทำ เธอคว้าโอกาสนี้เอาไว้

เจสซิกา แครมป์: ฉันได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากซิลเวียค่ะ ฉันคิดว่างานของตัวเองเกิดขึ้นได้ก็เพราะเธอ และงานของอีกหลายคนที่แผ้วถางทางเอาไว้

มีความท้าทายใดบ้างที่คุณต้องเผชิญ

เอิร์ล: แนวคิดที่ว่าผู้หญิงมีความสามารถทัดเทียม [กับผู้ชาย] เป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้วในตอนนี้ค่ะ เราทำได้แล้ว

แครมป์: ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำแม้แต่ในประเทศที่ฉันอยู่ [หมู่เกาะคุก] ฉันเพิ่งเป็นหัวหน้าคณะสำรวจคณะหนึ่งของที่นั่น และคนท้องถิ่นบางคนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี

เอิร์ล: สื่อเคยถามฉันเรื่องทรงผมกับลิปสติก แต่ฉันก็รู้แล้วว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนสนใจ ฉันจะได้อาศัยความสนใจนี้เล่าเรื่องราวของมหาสมุทรเสียเลย

แครมป์: ซิลเวีย ฉันอยากถามคุณค่ะว่า เส้นทางชีวิตของคุณเริ่มต้นอย่างไร

เอิร์ล: ฉันเริ่มเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นก่อน ตอนเป็นเด็ก ฉันเห็นป่าของรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ฉันอาศัยอยู่กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร เมื่อครอบครัวย้ายไปฟลอริดาตอนฉันอายุ 12 มันกลายเป็นอีกโลกที่น่ามหัศจรรย์ ฉันหมกตัวอยู่กับธรรมชาติและท้องทะเล แต่ฉันเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การก่อสร้างด้วยอิฐและปูนมากขึ้นเรื่อย ๆ อ่าวแทมปาก็เปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน ฉันถึงมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ค่ะ

เจสซิกา งานส่วนใหญ่ของคุณเกี่ยวข้องกับความพยายามที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทางทะเลด้วย ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ

แครมป์: ฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่วิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ฉันทำล้วนมุ่งสู่นโยบาย การทำงานกับชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนกลางของทุกสิ่งที่ฉันทำค่ะ ถ้าเราไม่ติดตามงานร่วมกับชุมชน เราจะตั้งหลักกับการปกปักรักษาในทางอนุรักษ์ไม่ได้เลย มันจะไม่ได้รับการยอมรับ

ซิลเวียครับ งานของคุณมักขยายจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับโลก คุณจะแบ่งปันวิธีที่คุณกำกับทิศทางในขอบเขตที่แสนกว้างขวางเช่นนั้นได้ไหม

เอิร์ล: เราจำเป็นต้องทำงานกับชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่เราต้องทำงานกับบรรดาประธานาธิบดี รัฐมนตรี ซีอีโอ และคนทั้งหลายค่ะ ชาวประมงก็ด้วย เพราะพวกเขาออกทะเลตลอดเวลาและรู้เรื่องต่าง ๆ มากมายเหล่าชาวประมงมักเป็นคนแรก ๆ ที่สังเกตเห็นความผิดปกติอยู่บ่อย ๆ บางทีพวกนักวิทยาศาสตร์ก็ล้มเหลวในการข้องเกี่ยวกับผู้คนที่รู้เห็นเรื่องต่าง ๆ ดีที่สุดค่ะ มันเป็นบทบาทของเราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ในการสื่อสารสิ่งที่เรารู้ให้กับสาธารณะ

ซิลเวีย เอิร์ล นักสำรวจและนักชีววิทยาทางทะเลผู้สร้างแรงบันดาลใจ อวดสาหร่ายทะเลให้ผู้มาเยี่ยมชมใต้ท้องทะเล (ภาพ เบตส์ ลิตเติลเฮลส์, NATIONAL GEOGRAPHIC)

คุณทั้งสองคนใช้เทคโนโลยีทันสมัยในงานอนุรักษ์มหาสมุทร การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างไรครับ

เอิร์ล: ตอนนี้คนหลายล้านกำลังออกทะเลด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างชุดสกูบา เรเชล คาร์สัน [นักชีววิทยาทางทะเลและนักเขียนแนวธรรมชาติ] ดำนํ้าเพียงครั้งเดียวในชีวิต ในหมวกดำนํ้าทองแดงใบนั้น แต่ลองคิดดูว่าถ้าเธอได้เห็นสิ่งที่นักดำนํ้าเป็นงานอดิเรกเห็นตอนนี้ล่ะ ไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์ซับซ้อนอย่างโดรน ยานบังคับระยะไกล (ROV) เรือดำนํ้า และสถานีตรวจวัดต่าง ๆ เลย

แครมป์: คุณเคย “อยู่” ใต้นํ้าด้วยใช่ไหมคะ

เอิร์ล: 10 ครั้งค่ะ การใช้เวลานาน ๆ เพื่ออยู่ใต้นํ้าทำให้เปิดโลกใหม่เลย นั่นคือฉันได้รู้จักปลาแต่ละตัวแบบปัจเจก พวกมันไม่ได้มีพฤติกรรมเหมือนกัน แต่ละตัวมีทัศนคติของตัวเองค่ะ

แครมป์: ข้อมูลมากมายที่ฉันต้องพึ่งพาในงานอนุรักษ์มาจากการติดตามด้วยดาวเทียมค่ะ เราเห็นเลยว่ามีคนทำประมงเพื่อการค้าอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นหัวใจในการบังคับใช้กฎหมาย มันทำให้ฉันติดตามฉลามและนกทะเลได้ในวงกว้างโดยไม่ต้องสนใจพรมแดนประเทศ

เอิร์ล: เทคโนโลยีเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายเลย มันมีคุณูปการต่อวิทยาศาสตร์และคุณูปการต่อการแสวงหาประโยชน์ด้วย การเดินเรือด้วยการระบุตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้น ก็เป็นข้อได้เปรียบของคนทำประมงที่ทำให้กลับไปยังจุดต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ

Jessica Cramp is diving among fish in Rarotonga, Cook Islands
เจสซิกา แครมป์ นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ขณะดำนํ้าแบบฟรีไดฟ์ นอกชายฝั่งเกาะราโรตองกาหมู่เกาะคุก ในมหาสมุทรแปซิฟิก (บนและล่าง) เกาะแห่งนี้เป็นฐานของ Sharks Pacif ic โครงการอนุรักษ์ที่เธอตั้งขึ้นเพื่อปกป้อง ฉลาม ผู้คนและสถานที่ที่พวกมันพึ่งพา
(ภาพ แอนดี แมนน์, NATIONAL GEOGRAPHIC)

มาพูดเรื่องฉลามที่คุณทั้งคู่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกันครับ ทำไมคุณคิดว่าใคร ๆ ก็หลงใหลมัน

แครมป์: เราเรียกฉลามว่าเป็นยาสำหรับป้ายให้หลงใหลมหาสมุทรค่ะ เด็ก ๆ รักพวกมัน พวกผู้ใหญ่ถ้าไม่รัก ก็กลัวมันไปเลย แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน พวกฉลามก็น่าสนใจ ถ้าเราชวนคนให้มาสนใจฉลามได้ เราก็ใช้กุศโลบายให้พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับท้องทะเลให้มากขึ้นได้ค่ะ

เอิร์ล: เพราะงั้น บางทีฉันก็เรียกฉลามว่าไดโนเสาร์กิตติมศักดิ์ค่ะ ฉลามเป็นดรรชนีชี้วัดสำคัญของสุขภาวะในมหาสมุทร แนวปะการังสุขภาพดีมีฉลามอยู่มาก และที่อ่อนแอก็ไม่มีฉลามเลย คนคิดถึงฉลามในฐานะที่มันเป็นสัตว์ผู้ล่าอันดับสูงสุด แต่พวกมันไม่ใช่ เราต่างหากที่เป็น

แครมป์: ฉันรอถามคุณค่ะซิลเวีย อะไรที่ช่วยดึงคุณให้ผ่านช่วงเวลาลำบากไปได้ตลอดรอดฝั่งคะ

เอิร์ล: หลายอย่างประกอบกัน ทั้งความเชื่อในจิตวิญญาณของมนุษย์ ทั้งความสามารถของเราที่จะปกปักรักษา รวมถึงพลังในการฟื้นตัวของธรรมชาติด้วย 

คนทั่วไปจะช่วยให้ท้องทะเลสะอาดขึ้นได้อย่างไรครับ

เอิร์ล: ถ้าเป็นเด็ก ให้พาผู้ใหญ่ออกไปหาธรรมชาติ และพยายามพาพวกเขาไปดูอนาคตผ่านสายตาของเรา ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ก็ให้ทำเหมือนกันกับเด็ก ไปทะเล โดยเฉพาะ “โฮปสปอต” (Hope Spot) หรือบริเวณพิเศษที่มีคุณค่าสูงที่จะอนุรักษ์ แชร์รูปถ่ายและข้อมูลต่าง ๆ เพราะเราช่วยเป็นประจักษ์พยานได้

แครมป์: กดดันผู้นำกับทำงานอาสาสมัครค่ะ

เอิร์ล: ส่วนสำคัญคือการกินอาหารที่ทำจากพืชเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อโลกและสัตว์ชนิดต่าง ๆ เรามีทางเลือกหลายอย่างและเราจำเป็นต้องเคารพชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ เพียงเพราะพวกเขาก็มีชีวิตเช่นกัน ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่สำคัญ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ และเราต่างมีจุดพอเหมาะของตัวเองที่จะลงมือทำในตอนนี้ค่ะ 

เรื่อง ไบรอัน คลาร์ก เฮาเวิร์ด


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษาและบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


อ่านเพิ่มเติม

วิสัยทัศน์สู่โครงการสำรวจแอมะซอน

thomas peschak amazon expedition

 

Recommend