2023 สู่ 2024 – ความหวังและสัญญาณเตือนจาก เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม

2023 สู่ 2024 – ความหวังและสัญญาณเตือนจาก เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ชีวิตบนโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่มนุษย์ก็ยังพยายามที่จะเอาชนะการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเกิด เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม สำคัญหลายเหตุการณ์ขึ้นในปี 2023

เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มสูง การละลายของน้ำแข็งในอาร์กติก และเหตุไฟป่าครั้งหายนะในออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าคือสิ่งที่สร้างสถิติใหม่ประจำปี 2023 ให้แก่โลก ทว่า เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในปี 2023 นั้นไม่ได้มีเฉพาะเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะท่ามกลางวิกฤตที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้คน ยังมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงถึงสัญญาณแห่งความหวังจากธรรมชาติ

แนวโน้มของการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนยังคงเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นเร็วเท่าที่หลายฝ่ายอยากให้เป็น ขณะที่มีสัตว์บางชนิดถูกประกาศให้สูญพันธุ์ ยังมีสัตว์บางสายพันธุ์ที่ปรากฏตัวให้เห็นในรอบหลายสิบปี นอกจากนี้ ในวาระครบรอบ 50 ปีของรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐ (Endangered Species Act: ESA) ได้มีการประกาศว่า มีการพบสัตว์บางสายพันธุ์ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งในขณะนี้ประชากรของสัตว์เหล่านั้นมีจำนวนเพียงพอจนไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกต่อไป

ร่วมย้อนรอย 6 เหตุการณ์สำคัญทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นในปี 2023 ทั้งเรื่องที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโลก และเรื่องที่สร้างความหวังให้แก่มวลมนุษยชาติ ได้ในเนื้อหาต่อไปนี้

อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ยืนยันว่าปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิของโลกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จากข้อมูลที่มีพบว่า นอกจากโลกในตอนนี้จะมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมอยู่ราว ๆ 1.4 องศาเซลเซียสแล้ว ในช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคมของปีที่ผ่านมายังเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทางหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service: C3S) ได้ออกมายืนยันว่า เดือนกรกฎาคมของปี 2023 ถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกเอาไว้ และวันที่ 4 กรกฎาคมของปี 2023 อาจจะเป็นหนึ่งในวันที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุดในรอบ 125,000 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม, อุณหภูมิโลก

นอกจากนั้น ยังพบว่า ปัจจัยหลักเบื้องหลังอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นในปี 2023 อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกปล่อยออกมาทั่วโลกนั้น ได้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.1 จากปี 2022

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมาคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายนในแถบซีกโลกเหนือ และรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนพฤษภาคม ทางองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ไว้ว่า สภาพอากาศที่รุนแรงจากเอลนีโญอาจส่งผลให้อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกในปี 2024

ไฟป่าในแคนาดาที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

แม้ว่าในระหว่างปี 2023 จะเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่า กลับมีเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อโลกได้มากเท่ากับไฟป่าที่ลุกลามไปทั่วประเทศแคนาดา และปล่อยควันควันพิษแผ่ปกคลุมไปยังหลายพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา จากการรายงานข้อมูลพบว่า พื้นที่ในแคนาดาถูกไฟป่าเผาทำลายไปมากกว่า 185,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าสูงกว่าสถิติที่เคยบันทึกไว้เกือบ 3 เท่า และอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายนั้น มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของประเทศโปรตุเกส

เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม, ไฟป่า

จากการศึกษาของหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสพบว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแคนนาดาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 410 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเทียบได้กับปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมของของประเทศเม็กซิโกในปี 2021 นอกจากนี้ ปริมาณของก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาในเหตุการณ์นั้นยังสูงเกือบเท่าปริมาณก๊าซจากกิจกรรมของประชากรในแคนนาดาที่ถูกปล่อยออกมาราว 546 ล้านเมตริกเมื่อปี 2021

อาร์กติกและแอนตาร์กติกที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนน้ำแข็งละลาย

อุณหภูมิในพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ถึง 4 เท่า เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ได้เผยแพร่ Arctic Report Card หรือรายงานประจำปีเกี่ยวกับสภาพของอาร์กติกซึ่งระบุว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรอาร์กติกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ในวันที่ 26 มิถุนายน ปี 2023 มีรายงานว่า อุณหภูมิที่สถานีซัมมิต (Summit Station) ซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง ณ จุดสูงสุดของประเทศกรีนแลนด์ อุ่นขึ้นจนสูงกว่าจุดเยือกแข็งเป็นระยะเวลาชั่วคราว อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้เคยเกิดขึ้นเพียง 5 ครั้งในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม, หมีชั้วโลก

ในอีกฟากหนึ่งของโลก ปริมาณน้ำแข็งของขั้วโลกใต้กลับลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในอดีต มหาสมุทรแอนตาร์กติกเคยรักษาเสถียรภาพของน้ำแข็งเอาไว้ได้แม้จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจนแผ่นน้ำแข็งละลายในทุก ๆ ฤดูร้อน และอุณหภูมิของมหาสมุทรด้านใต้ที่อุ่นขึ้นเป็นเวลาหลายต่อหลายปี บรรดานักวิจัยได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับความเสถียรของน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ไว้หลายประการ นอกจากนั้นยังคาดการณ์ไว้ว่า สักวันหนึ่งปริมาณน้ำแข็งของขั้วโลกใต้จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ และในปัจจุบัน วันนั้นได้มาถึงแล้ว

ข้อมูลเผยว่า ขอบเขตของแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกขนาด 16.96 ล้านตารางกิโลเมตรซึ่งถูกบันทึกไว้ในปี 2023 ถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถิติต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1986 แล้ว พบว่าพื้นที่ของแผ่นน้ำแข็งลดลงมากถึง 1.03 ล้านตารางกิโลเมตร การที่น้ำแข็งละลายลงเรื่อย ๆ เช่นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ในทวีปแอนตาร์กติกา เช่น เพนกวินและแมวน้ำซึ่งมีแผ่นน้ำแข็งเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญ

พลังงานหมุนเวียนที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 เสร็จสิ้นลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพร้อมกับเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 การจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จนั้นต้องอาศัยการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนจะเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมนี้ได้ เพราะในปี 2023 มีการสร้างสถิติใหม่ ๆ เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นหลายครั้ง

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้ระบุในเดือนกรกฎาคมว่า กำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 440 กิกะวัตต์ในปี 2023 ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2022 ถึง 107 กิกะวัตต์ ทางองค์กรได้อธิบายเพิ่มเติมว่า 2 ใน 3 ของพลังงานที่ผลิตได้มากขึ้น ถูกขับเคลื่อนด้วยการขยายตัวของกำลังการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์

เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม, พลังงานสะอาด

รายงานพลังงานของ Energy Think Tank Ember ซึ่งถูกเผยแพ่ในช่วงต้นปี 2023 ได้ระบุไว้ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก การใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กันสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 14.3 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั่วโลก จากที่เคยผลิตไฟฟ้าได้เพียง 12.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 นอกจากนั้นยังมีการรายงานว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน มี 50 ประเทศที่สามารถทำสถิติใหม่ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ทุกเดือน ขณะที่กำลังการผลิตพลังงานจากน้ำลดลงเล็กน้อยเนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจ

พลังงานสะอาด (Clean Energy) กำลังขยายไปสู่การเป็นพลังงานทางเลือกในการขนส่งส่วนบุคคล แม้ว่ายอดขายของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV (Electric Vehicle) ในสหรัฐอเมริกาจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ผู้ผลิตรถยนต์และรัฐบาลคาดหวังไว้ แต่จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่น ๆ จากการศึกษาพบว่า ในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มขึ้นถึง 43 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นอกจากนั้นยังเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ในจีน

ข้อมูลเกี่ยวกับยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) จากบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ (BloombergNEF) ระบุไว้ว่า มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จำนวนของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่บนท้องถนนจะเพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2023 นอกจากนี้ยังคาดว่า ในปี 2040 ยอดขายของยานยนต์ไร้มลพิษทุกประเภทจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วโลก อย่างไรก็ดี ยอดขายของยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้นได้รับการผลักดันจากจีนเป็นหลัก เนื่องจากยอดขายรถยนต์โดยสารใหม่ภายในประเทศจีนมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์มาจากยานยนต์พลังงานสะอาดไร้มลพิษ

สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วและสัตว์ที่เพิ่งพบว่ามีการขยายพันธุ์

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ผลวิจัยจากการศึกษาสัตว์ 71,000 สายพันธุ์แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 48 ของสัตว์ทั้งหมดกำลังเผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากร อีกร้อยละ 49 ยังมีจำนวนประชากรที่ทรงตัวอยู่ และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีการขยายประชากรเพิ่มขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้สรุปผลไว้ว่า 1 ใน 3 ของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่จัดอยู่ในประเภทสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กำลังประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลง การเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ถือเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดในระยะยาวของสัตว์เหล่านั้น

เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถอดชื่อสัตว์ 21 สายพันธุ์ออกจากรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ สัตว์เหล่านั้นได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว ตัวอย่างของสัตว์ที่ถูกเพิ่มในบัญชีรายชื่อสัตว์สูญพันธุ์ เช่น ค้างคาวผลไม้พันธุ์ Little Mariana นกกระจิบพันธุ์ Bachman’s warbler นอกจากนี้ยังมีนก หอยแมลงภู่ และปลาสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ถูกพิจารณาว่าสูญพันธุ์ลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวาระครบรอบ 50 ปีของรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐ มีการประกาศว่า มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสัตว์หลายสายพันธุ์ในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกอินทรีหัวล้าน เหยี่ยวเพเรกริน และแอลลิเกเตอร์อเมริกา การเพิ่มจำนวนของพวกมันคือ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของการใช้มาตรการอนุรักษ์สัตว์

นอกจากนี้ ในปี 2023 ยังมีการค้นพบประชากรของสัตว์บางชนิดที่คาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น “ตุ่นสีทองที่มุดไปตามผืนทราย” ซึ่งถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายในปี 1937 และอิคิดนาหรือตัวกินมดหนามซึ่งถูกตั้งชื่อตาม เดวิด แอตเทนบะระ (David Attenborough) นักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง อิคิดนาเป็นสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือมัน “มีเท้าเหมือนตุ่น มีหนามเหมือนเม่น มีจมูกและปากยาวเหมือนตัวกินมด” สัตว์ชนิดนี้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในประเทศอินโดนีเซียหลังไม่มีใครพบเห็นมานานกว่า 60 ปี

เรื่อง คีรัน มัลแวนีย์
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม แอนตาร์กติกา โลกที่อาจไม่มีวันหวนคืน

แอนตาร์กติกา

Recommend