องศา มหาสมุทรเดือด วิกฤตชีวิตใต้น้ำเสี่ยงภัยจากโลกร้อน

องศา มหาสมุทรเดือด วิกฤตชีวิตใต้น้ำเสี่ยงภัยจากโลกร้อน

ไบรอัน สเกอร์รี ช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ดำน้ำในอ่าวเมนมากว่า 40 ปีแล้ว เมื่อรู้ว่าน้ำในอ่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆเกือบทั้งหมดในมหาสมุทร เขาก็เริ่มบันทึกการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผลกระทบจาก มหาสมุทรเดือด ที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างน่าประหลาดใจ

มหาสมุทรเดือด – ความรุ่มรวยแห่งอ่าวเมน ทะเลซ้อนทะเลอย่างที่คนมักเรียกกัน คือห้วงน้ำที่แผ่กว้าง 58,000 ตารางกิโลเมตร เลียบแนวชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ จากเคปคอดในรัฐแมสซาชูเซตส์ไปจนถึงนิวบรันสวิก และครอบคลุมชายฝั่งรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมน และโนวาสโกเชียของแคนาดา ชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้มากว่า 12,000 ปี เรียนรู้จังหวะธรรมชาติของอ่าวแห่งนี้และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากน่านน้ำอันอุดมนี้อย่างยั่งยืน ชาวยุโรปที่เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ในศตวรรษที่สิบห้าบันทึกเรื่องเราวเล่าขานถึงความอุดมสมบูรณ์ไม่รู้จบ

ผมคิดถึงอ่าวเมนในฐานะผลงานสร้างสรรค์จากสูตรอันยอดเยี่ยม ซึ่งต้องอาศัยทั้งส่วนผสมและขั้นตอนที่ถูกต้องแม่นยำ โดยมีลุ่มน้ำหรือพื้นที่รับน้ำเข้มแข็งที่แม่น้ำหลายสายไหลลงสู่ทะเล และการรวมตัวอันพิเศษเฉพาะของกระแสน้ำ ที่นำพาสารอาหารต่างๆ มารวมกัน รวมถึงกระแสน้ำผุด (upwelling) จากไหล่ทวีป กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม กระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ และกระแสน้ำชายฝั่งที่ไหลทวนเข็มนาฬิกา เนื่องจากอ่าวเมนมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในเขตอบอุ่น การเกิดชั้นน้ำตามฤดูกาลซึ่งแยกระหว่างน้ำอุ่นกับน้ำเย็นจึงเกิดขึ้นที่นี่ด้วย ส่งผลให้สรรพชีวิตแพร่สะพรั่งตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

อ่าวเมน, มหาสมุทรเดือด
ปลาเอลไวฟ์ฝูงใหญ่ว่ายทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำมิลล์บรูกบนแผ่นดินใหญ่ที่ไหลลงสู่อ่าวเมน ปลาเหล่านี้ใช้ชีวิต ในมหาสมุทร แต่จะว่ายกลับไปวางไข่ในแหล่งน้ำจืด ปลาที่เคยลดจำนวนลงมากชนิดนี้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้งหลังการทลายเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ และตอนนี้กลายเป็นแหล่งอาหารของปลา นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด
อ่าวเมน, มหาสมุทรเดือด
วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือว่ายผ่านอ่าวเคปค็อดในรัฐแมสซาชูเซตส์ วาฬที่ได้ชื่อว่าใกล้สูญพันธุ์ที่สุดชนิดหนึ่งในโลกเหล่านี้กินสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่เรียกว่าโคพีพอดเป็นอาหารหลัก เมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น โคพีพอดก็มีขนาดเล็กลง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อวาฬและตัวอ่อนล็อบสเตอร์ที่กินพวกมันเป็นอาหาร

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความเฟื่องฟูของกองเรือประมงเชิงพาณิชย์ที่ล้ำสมัยส่งผลให้สัตว์ทะเลลดลงอย่าง ฮวบฮาบ ปลาค้อดแอตแลนติกที่เคยเชื่อกันว่าจะไม่มีวันหมดไปจากทะเล ตอนนี้เหลือเพียงร้อยละหนึ่งของระดับ ในยุคอาณานิคม นั่นเท่ากับเราจับปลาชนิดนี้ออกจากทะเลถึงร้อยละ 99 ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี ในช่วง 40 ปี ที่มีโอกาสสำรวจห้วงน้ำนี้ ผมได้เป็นประจักษ์พยานว่า การลดจำนวนลงดังกล่าวส่งผลให้ระบบนิเวศอ่อนแอและเปราะบางมากขึ้นในหลายลักษณะที่ผมไม่เคยคิดฝัน

ผมเติบโตขึ้นในรัฐแมสซาชูเซตส์ ห่างจากมหาสมุทรราว 60 กิโลเมตร แต่พ่อแม่จะพาผมไปชายทะเลในฤดูร้อน ผมหลงรักทะเลตั้งแต่จำความได้ ความฝันของผมคือการเป็นช่างภาพและนักสำรวจมหาสมุทร แบ่งปันเรื่องราวที่ผม พบเห็นและเรียนรู้กับผู้คน ตลอด 26 ปีที่ถ่ายภาพให้ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผมโชคดีที่ได้ทำงานในเจ็ดทวีปและ ระบบนิเวศทางทะเลเกือบทุกรูปแบบ ตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรไปจนถึงขั้วโลก แต่ผมรู้สึกว่ามหาสมุทรเหมือนต้องคำสาป อยู่หน่อยๆ ตรงที่ภาพภายนอกของมันซ่อนเร้นอำพรางสิ่งที่อยู่ข้างใต้ ทั้งความงามแปลกตาตามธรรมชาติและ ความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้น

อ่าวเมน, มหาสมุทรเดือด, ล็อบสเตอร์
ล็อบสเตอร์สองตัวต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงโพรงใกล้เกาะโชลส์ สัตว์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นและมักอาศัยอยู่ตามโขดหิน ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์นักล่าด้วยเช่นกัน กำลังมีประชากรล้นเกิน
อ่าวเมน, มหาสมุทรเดือด
หมอกทะเลลอยเหนือมหาสมุทรใกล้ประภาคารเวลแบ็กที่ปากแม่น้ำพิสกาตากวาในคิตเทอรี ซึ่งเป็นทางเข้าหนึ่ง ของอ่าวเมน หมอกนี้ก่อตัวขึ้นเมื่ออากาศเย็นจัดเคลื่อนตัวเหนือห้วงน้ำที่อุ่นกว่า และรวมตัวกับชั้นอากาศอุ่นบางๆเหนือผิวมหาสมุทร เมื่ออากาศที่อุ่นกว่าเย็นตัวลง ไอน้ำส่วนเกินก็เกิดการควบแน่น

หลายปีก่อน ผมย้ายไปอยู่ริมชายฝั่งของรัฐเมนเพื่อจะได้สำรวจห้วงน้ำนี้บ่อยขึ้น การทำเช่นนั้นทำให้ผมเห็นสัญญาณต่างๆ ของภัยคุกคามที่กำลังตั้งเค้าทะมึน คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์พากันตื่นตระหนก หลังอ่านรายงานเมื่อปี 2015 ของแอนดรูว์ เพอร์ชิงซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ ของสถาบันวิจัยอ่าวเมน ภายในไม่กี่ปี คนท้องถิ่นก็รับรู้โดยทั่วกันแล้วว่า อ่าวเมนกำลังอุ่นขึ้นในอัตราเร็วกว่ามหาสมุทรอื่นๆ ร้อยละ 99 ของโลก

ตอนนี้ผมรู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องบอกเล่าถึงความอัศจรรย์ในห้วงน้ำใกล้บ้าน โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตงดงามที่ยังเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำให้เห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อทำเช่นนั้นได้ อย่างถูกต้องเหมาะสม และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าภาพถ่ายของผมสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและผลกระทบ ใหญ่หลวงต่อภูมิภาค ผมติดต่อพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ใช้เวลาหลายสิบปีศึกษาอ่าวแห่งนี้

ในบรรดาความอัศจรรย์ที่ยังคงอยู่ในอ่าวเมนมีแมวน้ำสีเทารวมอยู่ด้วย แมวน้ำสีเทาตัวหนึ่งเข้ามาใกล้ช่างภาพ ไบรอัน สเกอร์รี และเบิกตากว้างอย่างสนใจใคร่รู้ ขณะที่เขาดำน้ำบริเวณเกาะโชลส์เมื่อไม่นานนี้
อ่าวเมน, มหาสมุทรเดือด, แมงกะพรุน
อ่าวเมนมีลักษณะคล้ายอ่างก้นลึก แนวชายฝั่งตื้นๆ ของมันถูกน้ำเย็นจากอาร์กติกเอ่อท่วม ระหว่างการดำน้ำครั้งหนึ่ง สเกอร์รีพบเห็นสิ่งมีชีวิตน่าอัศจรรย์ต่างๆ รวมถึงแมงกะพรุนแผงคอสิงโตที่เรืองแสงได้

องค์ประกอบหนึ่งในส่วนผสมที่ทำให้อ่าวเมนเป็นโอเอซิสอันอุดมสมบูรณ์ ก็คือสาเหตุที่ทำให้ตอนนี้มันอุ่นขึ้น เร็วกว่าบริเวณอื่นๆ เกือบทั้งหมด ห้วงน้ำแห่งนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย จากข้อมูลของ ชาร์ลส์ ทิลเบิร์ก นักสมุทรศาสตร์และผู้อำนวยการโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลของ มหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ผู้ใช้เวลา 15 ปีติดตามศึกษาว่า กระแสน้ำแลบราดอร์ที่เย็นจัดอ่อนกำลังลงและส่งน้ำเย็น เข้ามาในอ่าวน้อยลงเรื่อยๆ อย่างไร ในขณะที่กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมที่อุ่นกว่าเขยิบตัวขึ้นเหนือเล็กน้อยและเติมน้ำ ที่อุ่นกว่าเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น

ยังมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงอื่นๆ อีกด้วย วิน วัตสัน นักชีววิทยาทางทะเลและศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงค่าพีเอช หรือค่าความเป็นกรดเบส ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการ ดมกลิ่นของล็อบสเตอร์ นั่นอาจส่งผลให้พวกมันประสบปัญหายุ่งยากมากขึ้นในการหาอาหาร ตรวจจับสัตว์นักล่า หรือรับรู้ ฟีโรโมนของคู่ในฤดูผสมพันธุ์

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยอ่าวเมน น้ำจืดจากธารน้ำแข็งที่ละลายและผลกระทบอื่นๆ จากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนกระแสน้ำที่คงที่มานาน ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำในอ่าวเมนสูงขึ้นเร็วกว่าน้ำในมหาสมุทรอื่นๆ ของโลกถึงสามเท่า ระหว่างการดำน้ำครั้งหนึ่ง สเกอร์รีพบเห็นสิ่งมีชีวิตน่าอัศจรรย์ต่างๆ รวมถึงทากเปลือยชนิดหนึ่ง
นกนางนวลแกลบธรรมดาพยายามป้อนปลาบัตเตอร์ให้ลูก แต่ปลาชนิดนี้มีลำตัวกว้างจนลูกนกกลืนไม่ลง ปัจจุบันปลาบัตเตอร์มีจำนวนมากกว่าปลาตัวสีเงินรูปร่างผอมบางที่นางนวลแกลบชอบกิน เช่น ปลาเฮร์ริง และแซนด์แลนซ์

ในโลกมหาสมุทรนี้ สิ่งที่เกิดใต้น้ำส่งย่อมผลกระทบที่ตามมาบนบกอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดกับประชากรปลาในอ่าวเมนกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเหล่านกทะเล พ่อแม่นางนวลแกลบมองเห็นปลาตัวสีเงินสะท้อนแสงอาทิตย์ในมหาสมุทรและจับมาป้อนลูก เวลาพ่อแม่นกออกล่าเหยื่อตามปกติ เช่น ปลาเฮกหรือปลาเฮร์ริง ลูกนกสามารถกลืนปลาสีเงินตัวผอมบางลงคอได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อน้ำอุ่นขึ้นเรื่อยๆ นกนางนวลแกลบเลือกจับปลาสีเงิน ได้หลากหลายชนิดขึ้น เช่น ปลาบัตเตอร์ที่มีขนาดลำตัวกว้างกว่า ปลาพวกหลังนี้ขยับขยายถิ่นอาศัยจากตอนกลาง ของมหาสมุทรแอตแลนติกขึ้นมาทางเหนือมากขึ้น

แม้นกตัวเต็มวัยบางส่วนจะยังหาเหยื่อที่เหมาะสมกินได้ เอลิซาเบท เครก ผู้เอำนวยการฝ่ายวิจัยนกทะเลของห้องปฏิบัติการทางทะเลโชลส์ (Shoals Marine Laboratory) พบว่า ลูกนกกลืนปลาบัตเตอร์ไม่ได้ พวกมันได้อาหาร ไม่เพียงพอและจำนวนมากก็มีขนาดเล็กกว่าปกติ และถ้าไม่ตายไปก่อนได้ออกจากรัง ก็อ่อนแอจนบินอพยพไม่ไหว

ปลาคันเนอร์แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางใบเคลป์ที่แคสเชสเลดจ์ พื้นที่ในทะเลที่นักวิจัยชี้ว่าเป็นแหล่งอาศัยและ ที่หลบภัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ป่าเคลป์ที่แคสเชอร์เลดจ์ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตในทะเล และดูดซับคาร์บอนจากมหาสมุทร คือป่าเคลป์ผืนใหญ่ที่สุดนอกชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ

นี่คือหลักฐานตอกย้ำอันน่าเจ็บปวดของสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ระบบนิเวศมหาสมุทรกำลังเสื่อมถอย ผมกำลังเป็น ประจักษ์พยานของการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยารุนแรงหลายประการที่ควรใช้เวลาหลายล้านปี แต่กลับเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผม แต่เรื่องดีๆ ก็มีเช่นกัน หลักฐานมากมายยืนยันว่า เมื่อเราปกปักรักษาสถานที่ต่างๆ ในมหาสมุทร [เช่น จัดตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ถาวร] ขจัดอุปสรรคต่างๆ ออกไป และให้โอกาสสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกครั้ง ธรรมชาติจะหาหนทางได้เอง มันยืดหยุ่นและเยียวยาตนเองได้ ธรรมชาติแค่ต้องการความช่วยเหลือเล็กน้อย

เรื่องและภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย แอนนา พีล

แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี องศาแห่งการเปลี่ยนแปลง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/612088


อ่านเพิ่มเติม มรดกสีครามของโอบามา

โอบามา
คอร์เตสแบงก์ มหาสมุทรแปซิฟิก: คอร์เตสแบงก์เป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่คลาคล่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยพบมากกว่า 30 ชนิดที่ใช้เวลาอยู่ที่นี่อย่างน้อยช่วงหนึ่งในแต่ละปี รวมถึงโลมาวาฬไรต์ถิ่นเหนือซึ่งโดยทั่วไปมัก ว่ายอยู่ด้วยกันเป็นฝูงใหญ่

Recommend