“สายน้ำจากหินชอล์ก” อันเป็นที่รักกับการฟื้นคืนระบบนิเวศ

“สายน้ำจากหินชอล์ก” อันเป็นที่รักกับการฟื้นคืนระบบนิเวศ

ลำธารชอล์กในอังกฤษที่ผุดขึ้นจากหินพรุนสีขาว เป็นที่รัก  และหวงแหนของหมู่นักตกปลาและเหล่ากวีปัจจุบัน ผู้สนับสนุน ทั้งหลายกำลังช่วยกันคืนระบบนิเวศให้สายน้ำเหล่านั้น

พื้นกรวดใต้เท้าเราอาบไล้ด้วยแสงแดดที่ส่องลงมาถึงก้นธารน้ำ ทุกทิศทางรอบตัวเรา สายน้ำรี่ไหลอยู่อย่างนั้น  ไม่ขาดสาย  กระแสน้ำไม่เคยเร่งรีบ  เนื่องจากลำธารชอล์กได้รับน้ำจากน้ำพุ จึงมีตะกอนเล็ดลอดเข้ามาน้อยมากทัศนวิสัยย่อมใสแจ๋วราวตู้ปลา

ลำธารชอล์กเหล่านี้ได้คุณสมบัติของมันจากหินที่มันไหลผ่าน กล่าวคือ เป็นด่าง อุดมด้วยแร่ธาตุ เจือด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตที่ละลายอยู่ในน้ำ แต่แทบไม่มีตะกอน ไหลลงสู่ทะเลผ่านท้องน้ำซึ่งเป็นกรวดหินเหล็กไฟ ไร้โคลนเลนยาวหลายกิโลเมตร  สายน้ำที่ผุดจากพุน้ำต่างๆ ซึ่งเกิดจากชั้นหินอุ้มน้ำที่อยู่ลึกลงไปในชั้นหินชอล์กเหล่านี้ไหลผ่านหุบเขาที่สองฟากฝั่งดกดื่นไปด้วยต้นมินต์น้ำกับดงฟอร์เก็ตมีน็อตน้ำ และมักรกเรื้อด้วยพงพืชอันเป็นที่พักพิงแก่สรรพชีวิต เนื่องจากสายน้ำเช่นนี้ไม่เชี่ยวกรากแบบแม่น้ำซึ่งไหลผ่านหินที่แข็งกว่า ลำธารเหล่านี้ไหลเอื่อยอยู่ทั่ว ภูมิประเทศหินชอล์กของอังกฤษซึ่งโดดเด่นด้วยภูมิทัศน์เนินเขาลูกระนาดและทุ่งหญ้าลาดปูอยู่ทั่วพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศ

หินชอล์กเป็นหินปูนบริสุทธิ์ชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยเปลือกจิ๋วๆ ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ในอังกฤษ แรงกระเพื่อมทางธรณีวิทยาจากการดันตัวขึ้นของเทือกเขาแอลปส์เมื่อราว 40 ล้านปีก่อน ยกชั้นหินชอล์กเป็นบริเวณกว้างขึ้นมาที่พื้นผิว เนื้อหินมีลักษณะเป็นรูพรุนและเต็มไปด้วยรอยแตก ร้อยละ 40 ของปริมาตรทั้งหมดเป็นช่องว่างที่แทรกอยู่ระหว่างตะกอนหรือผลึกในเนื้อหิน ฝนที่ตกลงบนชั้นหินชอล์กจะไหลลงสู่พื้นดิน บางครั้งใช้เวลาหลายเดือนในการซึมผ่านเนินเขาน้อยใหญ่ ด้วยเหตุนี้ แม่น้ำเหล่านี้จึงผ่านความเปลี่ยนแปลงจนคงที่  พายุฝนจะไม่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและในยามแล้ง แม่น้ำลำธารเหล่านี้ก็ยังไหลต่อไป  อุณหภูมิของน้ำได้มาจากหินชอล์ก คืออยู่ระหว่าง 10 ถึง 12 องศาเซลเซียสตลอดปี  หมายความว่าพืชพรรณและส่ำสัตว์ที่อาศัยอยู่ในลำธารหินชอล์ก สามารถพึ่งพาสภาพความต่อเนื่องนี้ได้

สายน้ำเหล่านี้ไม่ใช่ทางน้ำในพื้นที่รกร้างห่างไกล  นักตกปลา ผู้สื่อข่าว และนักประพันธ์ชื่อ ชาร์ลส์ เรนจ์ลีย์-วิลสัน เรียกลำธารชอล์กพวกนี้ว่า แม่น้ำแห่งแดนชนบท “อันน่าอยู่อาศัย” และบอกว่า “มันคือความงามที่อยู่หน้าประตูบ้านคุณ  แต่เพราะมันอยู่หน้าประตูบ้านคุณ มันก็เลยถูกคุกคามอย่างหนัก”

ความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการทำลายล้างที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ เมืองน้อยใหญ่และฟาร์มต่างๆ ปล่อยของเสียลงแม่น้ำกันตามอำเภอใจบรรดาเจ้าของที่ดินสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ หรือไม่ก็ขุดลอกขยายให้กว้างขึ้น ทำให้กระแสน้ำให้ไหลช้าลง ลบความคดเคี้ยวตามธรรมชาติ และเคลื่อนย้ายซากต้นไม้ล้มที่ทำให้นักตกปลาต้องลำบากลำบน แต่ดีสำหรับปลาและสรรพชีวิตอื่นๆ ในแม่น้ำออกไป

การทำให้แม่น้ำไหลช้าลงส่งผลให้ตะกอนหนาตกลงสู่ก้นลำธารและปกคลุมพื้นกรวด ซึ่งมีช่องว่างที่สะอาดและอากาศไหลเวียนให้ปลาเทราต์และแซลมอนใช้วางไข่  พงพืชที่มีประโยชน์เพราะเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เติบโตได้เฉพาะในน้ำไหลเร็วและใสสะอาด หากไม่มีพงพืชเหล่านี้ ชีวิตของมวลหมู่แมลงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น แมลงชีปะขาว แมลงเกาะหิน และแมลงหนอนปลอกน้ำหลากหลายชนิด ก็จะล่มสลาย เมื่อไม่มีแมลง ก็ไม่มีปลา ไม่มีปลาเทราต์สีน้ำตาลหรือปลาเกรย์ลิง เมื่อไร้ซึ่งปลา ก็ไม่มีนาก และความน่าอัศจรรย์ทั้งหลายที่ทำให้แม่น้ำเหล่านี้มีชีวิต

แม่น้ำอิตเชนและแม่น้ำเทสต์อันโด่งดังยาวหลายกิโลเมตรที่ทอดผ่านภูมิประเทศหินชอล์กในแฮมป์เชียร์ไปยังปากแม่น้ำในเซาท์แทมป์ตัน ถูกเปลี่ยนเป็นอุทยานสำหรับตกปลาด้วยการตัดแต่งตลิ่งจนเรียบเตียน  มีกระท่อมตกปลาประดับลายขนมปังขิงไว้คอยบริการ และปลาเทราต์ตัวเขื่องที่เพาะเลี้ยงขึ้นในบ่ออนุบาล ค่าธรรมเนียมตกปลาในจุดยอดนิยมของแม่น้ำอาจพุ่งสูงถึงกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน  ตั้งแต่นั้นมา สายน้ำที่มีฟองผุดพรายระยิบระยับกับวิถีเฉพาะทางนิเวศวิทยาอันหลากหลายของธารน้ำธรรมชาติ ก็มลายหายไป

แล้วยังมีผลกระทบอันกว้างขวางของมลพิษ ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในประเทศที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น  สารซักฟอก ไมโครพลาสติก เภสัชภัณฑ์ และโลหะหนักต่างๆ รวมทั้งสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือน ล้วนมาถึงลำธารเหล่านี้ นักตกปลา พอล เจนนิงส์ เคยเห็นโรงบำบัดน้ำเสียในละแวกบ้านปล่อยของเสียลงแม่น้ำเชสส์ทางเหนือของลอนดอนอยู่นานกว่ากว่า 90 วัน โดยปล่อยต่อเนื่องกัน 68 วันไม่

“หลังฝนตก สิ่งแรกที่คุณจะเห็นไหลลงแม่น้ำก็คือน้ำมันดีเซลที่ถูกชะจากถนนครับ” เจ้าหน้าที่ดูแลแม่น้ำ ปีเตอร์ ฟาร์โรว์ กล่าว เขาทำงานให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เอกชนรายหนึ่งซึ่งมีช่วงหนึ่งของแม่น้ำเทสต์รวมอยู่ด้วย ดินจากการไถอย่างสะเพร่าบริเวณใกล้แม่น้ำไหลลงไปอุดตันตามก้อนกรวดสะอาดๆ ที่พวกปลาต้องพึ่งพา การใช้ปุ๋ยฟอสเฟตและไนเตรตมากเกินขนาดในการเกษตร กระตุ้นให้พืชจิ๋วที่จับตัวกันเป็นโครงข่ายเติบโตงอกงามมากเกินไป จนท้องน้ำอัดแน่นไปด้วยเส้นใยของพืชที่ “กลบไข่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เข้าไปติดเหงือกของปลา และกีดกันบรรดาพืชที่มีประโยชน์ หรือปอดของลำธาร” จานีนา เกรย์ นักนิเวศวิทยาแหล่งน้ำจืด และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มอนุรักษ์ไวลด์ฟิช (WildFish) อธิบาย

ผิวน้ำใสเหมือนกระจกของลำธารเกรตสตัวร์สะท้อนเงาประวัติศาสตร์โบราณของเมืองแคนเทอร์เบอรี สองฟากฝั่งเป็นที่ตั้งของบรรดาอาราม โรงสี โรงกลั่นเหล้า และโครงสร้างเก่าแก่หลายศตวรรษอื่นๆ
แม่น้ำแอนทอนในแฮมป์เชียร์มีสุขภาวะดีพอจะจุนเจือปลาเทราต์สีน้ำตาลและปลาเกรย์ลิงได้ แต่น้ำขุ่นเป็นสัญญาณบ่งชี้ปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงน้ำปนเปื้อนมลพิษที่ชะล้างจากถนนและเรือกสวนไร่นา
แมลงชีปะขาวร่อนลงเกาะบนใบเวโรนิกาน้ำริมฝั่งแม่น้ำอิตเชน ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้อยู่ในน้ำนานถึงสองปี แต่อาจมีชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงเมื่ออยู่เหนือน้ำ

การเมืองที่ให้ความสำคัญกับน้ำประปาราคาถูกมากกว่าสุขภาวะของแม่น้ำไม่เคยช่วยอะไร หากจะมีสิ่งใดเลวร้ายกว่าลำธารชอล์กปนเปื้อนมลพิษ สิ่งนั้นก็คือการที่แม่น้ำถูกตัดตอน หรือถูกสูบเอาน้ำอันเป็นชีวิตของแม่น้ำเองไปจากชั้นหินอุ้มน้ำเบื้องล่างเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์  ระดับน้ำใต้ดินในบางแห่งลดลงมากกว่าหกเมตร

“ถ้าเรามีแม่น้ำที่แห้งขอด ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะกังวลเรื่องคุณภาพน้ำและถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์ เพราะมันไม่ใช่แม่น้ำแล้วครับ” เรนจ์ลีย์-วิลสัน กล่าวและเสริมว่า “การไหลถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของแม่น้ำครับ”

ไซมอน เคน เป็นผู้เริ่มคิดค้นการฟื้นฟูลำธารชอล์กในอังกฤษแทบจะเพียงลำพัง หลังจากถูกผลักให้ลงมือทำอะไรสักอย่างในบ่ายฤดูร้อนอันน่าสลดใจวันหนึ่งเมื่อปี 1984  ขณะตกปลาอยู่ในแม่น้ำเอบเบิลในวิลต์เชียร์  “ท้องน้ำกลายเป็นสีน้ำตาลขุ่น” เขาเท้าความหลัง เคนเห็นเครื่องจักรสีส้มขนาดใหญ่กำลังยกแขนขุดขึ้นลงจากก้นแม่น้ำห่างออกไปทางต้นน้ำ แม่น้ำเอบเบิลกำลังถูกขุดลอกด้วยทุนจากรัฐบาลเพื่อลดระดับน้ำใต้ดินในทุ่งหญ้าโดยรอบ ท่ามกลางกองตะกอนที่ขุดลออกขึ้นมา เขาเห็นกุ้งเครย์ฟิชหายากและใกล้สูญพันธุ์หลายร้อยตัวดิ้นรนหายใจเอาอากาศ  40 ปีต่อมา แม่น้ำเอบเบิลช่วงเดียวกันนี้ยังคงเหี่ยวเฉาน่าเศร้าเช่นเดิม

คุณสมบัติสำคัญสามประการของแม่น้ำที่มีสุขภาวะ ได้แก่ “ความลาดชัน ความเร็วของการไหล และความคดเคี้ยว” เคนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่เชี่ยวชาญการฟื้นฟูแม่น้ำ อธิบาย  ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทของเขาปรับรูปทรงของแม่น้ำมาแล้วมากมายให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยรื้อฝายและเขื่อนออกไป ปรับกระแสน้ำให้ไหลเร็วบ้างช้าบ้าง เพิ่มโค้งคุ้งที่ทำให้เกิดถิ่นอาศัยหลากหลายสำหรับพืชพรรณ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลา

นักฟื้นฟูแม่น้ำจำนวนมากเจริญรอยตามรอยเคน รวมถึงเรนจ์ลีย์-วิลสัน ซึ่งร่วมงานกับเคนเพื่อคืนความแข็งแรงให้แม่น้ำนาร์ช่วงหนึ่งทางตอนเหนือของนอร์ฟอล์ก ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำถูกกักให้อยู่ในคลองตัดตรงทอดไปยังโรงสีแห่งหนึ่งมาหลายศตวรรษ เนื่องจากไม่มีความลาดชัน ไม่มีความคดเคี้ยว และไม่มีการไหลของน้ำ แม่น้ำช่วงนี้จึงค่อยๆ ตายลงอย่างช้าๆ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรนจ์ลีย์-วิลสัน เชื่อมต่อแม่น้ำนาร์เข้ากับหุบเขาของมันอีกครั้ง ทำให้ความคดเคี้ยวกลับคืนมา  ลากเอาต้นไม้มาวางให้กระแสน้ำปั่นป่วน และสร้างความหลากหลายให้ถิ่นอาศัยแล้วปล่อยให้กระบวนการตามธรรมชาติดำเนินไปอย่างอิสระ

ผมออกไปตกปลากับเรนจ์ลีย์-วิลสันในบ่ายวันหนึ่ง เมื่อเรามาถึงร่องน้ำใหม่สายหนึ่งที่อายุยังไม่ถึงสองปี แม่น้ำไหลรินส่งเสียงคิกคักอยู่ข้างๆเรา  ภายใน 30 วินาที เขาก็ตกปลาเทราต์ธรรมชาติได้แล้วตัวหนึ่ง ตามมาด้วยอีกตัว แล้วก็อีกตัวหนึ่ง ทุกตัวมีขนาดเล็ก แต่แล้วเขาก็เห็นอะไรบางอย่างที่ดูใหญ่กว่า “โอ้ มีปลาเทราต์งามๆอยู่ตัวหนึ่งครับ  มันกำลังจะไปซ่อนใต้ตลิ่งตรงนั้น”  เขาเหวี่ยงเหยื่อฟลายออกไป คันเบ็ดโค้งงอ แล้วเขาก็พาปลาเทราต์ตัวนั้นออกมาที่ท้องน้ำพื้นกรวดตื้นๆ แม่น้ำที่เขาสร้างไว้เต็มไปด้วยสรรพชีวิต

ขณะดึงเหยื่อฟลายแบบไม่มีเงี่ยงออกจากปากของปลาเทราต์ เขาจับให้มันอยู่ระดับเดียวกับพื้นผิวลำธาร ปล่อยให้น้ำไหลลูบลำตัวเป็นลายประสีแดงและดำของมัน  จากนั้นก็ปล่อยให้มันว่ายหายไป ในฐานะสัญลักษณ์ความงามของสายธารเหล่านี้ ซึ่งเราหวังว่าทุกสายจะได้รับการฟื้นฟูให้คืนสู่ชีวิตในวันหนึ่ง

เรื่อง  แอดัม นิโคลสัน

ภาพถ่าย  ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์  

แปล อัครมุนี วรรณประไพ


อ่านเพิ่มเติม : ภาพ ก่อน-หลัง ปะการังเสียหาย ใน เกาะลอร์ด ฮาว โศกนาฏกรรมแห่งมหาสมุทร

Recommend