จีนสร้างพลังลม-แสงอาทิตย์ มากกว่าโลกรวมกัน 2 เท่า ตั้งเป้าหมายผลิตพลังงานหมุนเวียน 1,200 กิกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2024

จีนสร้างพลังลม-แสงอาทิตย์ มากกว่าโลกรวมกัน 2 เท่า ตั้งเป้าหมายผลิตพลังงานหมุนเวียน 1,200 กิกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2024

จีนเล่นใหญ่! สร้าง ‘พลังงานลม’ และ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 2 เท่า ประเทศยักษ์ใหญ่นี้กำลังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายในการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1,200 กิกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2024 

รายงานใหม่ที่เผยแพร่โดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีชื่อว่า Globla Energy Monitor (GEM) ระบุว่า ปัจจุบันจีนกำลังสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับสาธารณูปโภคเพิ่ม 180 กิกะวัตต์ (GW) และพลังงานลมอีก 15 GW ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้จะทำให้จีนมีพลังงานหมุนเวียนที่คิดเฉพาะแสงอาทิตย์และลมซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ที่ 339 GW

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ตามรายงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระบุว่า สถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยอยู่ที่ 36,477.80 เมกะวัตต์(MW) ในวันที่ 29 เมษายน 2024 ณ เวลา 20.56 น. ซึ่งเท่ากับ 36.4778 GW นั่นหมายความว่าโครงการพลังงานหมุนเวียนที่จีนกำลังก่อสร้างนั้นสามารถหล่อเลี้ยงความต้องการด้านพลังงานของประเทศไทยได้อย่างเหลือเฟือ และมากกว่าถึง 10 เท่า

นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังเหนือกว่าโครงการก่อสร้างของสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 40 GW และมากกว่าการก่อสร้างในส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 2 เท่า รายงานดังกล่าวได้เน้นย้ำว่าจีนกำลังกลายเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของโลก โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากนโยบายของรัฐบาล สี จิ้นผิง

“โครงการก่อสร้างที่ไม่ลดน้อยลงทำให้รับประกันได้ว่า จีนจะยังคงเป็นผู้นำด้านการติดตั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในอนาคตอันใกล้นี้” รายงานจาก GEM ระบุ

นักวิเคราะห์ของ GEM ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่าในระหว่างเดือนมีนาคม 2023 ถึงมีนาคมปี 2024 จีนได้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าที่เคยติดตั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารวมดันด้วยซ้ำ และมากกว่าส่วนที่เหลือของโลกรวมกันในปี 2023 ซึ่งคาดว่าเป็นไปตามความต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายผลิตพลังงานลมและแสงอาทิตย์ให้ได้ 1,200 GW ภายในสิ้นปี 2024 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายจริง ๆ ของรัฐบาลถึง 6 ปี

อย่างไรก็ตามรายงานระบุว่าจีนยังคงต้องเร่งกำลังการผลิตหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจลงร้อยละ 18 ตามที่ต้องการ การวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าจีนจะต้องติดตั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ให้ถึงระดับ 1,600 GW ถึง 1,800 GW ภายในปี 2030 เพื่อผลิตพลังงานให้ได้ 25% ของพลังงานทั้งหมดที่ไม่ใช่ฟอสซิล

“เห็นได้ชัดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับจีนที่จะต้องเพิ่มพลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” หลี่ ซั่ว (Li Shuo) ผู้อำนวยการศูนย์กลางสภาพอากาศจีน ของสถาบันนโยบายเอเชีย ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว “แต่มันไม่ได้ง่ายดายอย่างที่ใครคิดที่ว่าแค่สร้างต่อไป และมันจะได้รับการแก้ไข (เพราะ) ไม่มีสัญญาณว่าประเทศ(จีน)กำลังพยายามหลีกเลี่ยงการบริโภคถ่านหิน”

เขากล่าวถึงข้อมูที่ระบุว่าในระหว่างปี 2020 ถึง 2023 ที่ผ่านมานั้น การบริโภคพลังงานหมุนเวียนของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 30% เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่อยู่ 50% ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ก่อนหน้าของ GEM และศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด ระบุว่าจีนก็ยังคงอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งใหม่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในช่วงปี 2022-2023 เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า

แม้จะมีการให้คำมั่นสัญญาในปี 2021 ว่าจะ ‘ควบคุม’ การตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่อย่างเข้มงวด แต่การเติบโตของการใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดก็เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 0.5% ต่อปีเป็น 3.8% ต่อปี นักวิจัยคาดการณ์ว่าอาจเป็นนผลจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เช่น สงครามในยูเครน ที่ทำให้หลายประเทศมีความกังวลด้านพลังงานมากขึ้น ขณะที่จีนก็ประสบกับการตัดไฟครั้งใหญ่ในบางส่วนของประเทศจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่าจีนยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินเพื่อบรรเทาความไม่ต่อเนื่องของพลังงานหมุนเวียน และถ่านหินก็ถูกมองว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการเพิ่มตัวเลข GDP ในระดับท้องถิ่น แม้ว่าภาคพลังงานสะอาดจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยคิดเป็น 40% ของการขยายตัว GDP ในปี 2023 ก็ตาม

รายงานของ GEM ยัคงเน้นย้ำถึงการเป็นผู้นำด้านพลังงานของจีนอย่างแท้จริง ที่ได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียนตามแผนอย่างจริงจัง และการก่อสร้างพลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ขนาด 339 GW นี้คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของโครงการที่ได้รับพิจารณาเท่านั้น ซึ่งเกินกว่าการก่อสร้างทั่วโลกที่มีอยู่ 7% ของโครงการที่ถูกนำเสนอมาก

“ท่อส่งพลังงานหมุนเวียนของจีนมีขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 2 เท่า” หลี่ กล่าว “แต่คำถามที่เราควรถามตัวเองให้มากขึ้นก็คือ ‘ทำไมส่วนอื่น ๆ ของโลกจึงช้าขนาดนี้?

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพประกอบ คนงานทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารโรงงานในเมืองเป่าติ้ง

PHOTOGRAPH BY SEAN GALLAGHER, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ที่มา

www.globalenergymonitor.org

www.theguardian.com


อ่านเพิ่มเติม : โรงไฟฟ้าจีน พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เดินเครื่องแล้ว

Recommend