พบโคเคนในฉลาม นอกชายฝั่งทะเลบราซิล สัญญาณมลพิษทางทะเลในรูปแบบใหม่

พบโคเคนในฉลาม นอกชายฝั่งทะเลบราซิล สัญญาณมลพิษทางทะเลในรูปแบบใหม่

พบ “สารเสพติด” จากการสำรวจฉลามที่บราซิล ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความกังวลถึงมลพิษรูปแบบใหม่ที่ปนเปื้อนมากับสายน้ำ

พบ “สารเสพติด” ในฉลามที่บราซิล อาจฟังดูเหมือนภาพยนตร์เกรดบีที่มีฉลามบ้าคลั่งว่ายน้ำไปทั่วชายฝั่งริโอเดจาเนโร แต่การพบ “โคเคน” ครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความกังวล ไม่เพียงต่อฉลาม แต่ยังรวมถึงสัตว์ทะเลอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

การวิเคราะห์ฉลามหัวแหลม (Sharpnose sharks) ที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำบราซิลเผยให้เห็นว่า ยาเสพติดผิดกฎหมายซึ่งอาจมาจากห้องปฏิบัติการผลิตยาหลุดรอดลงไปสู่มหาสมุทร พร้อมกับสารปนเปื้อนในปลา ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่น่าตกใจ

รายงานใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Science of The Total Environment ได้ตรวจสอบฉลาม 13 ตัวที่ชาวประมงจับมาโดยบังเอิญในช่วงเดือนกันยายน 2021 –  สิงหาคม 2023 ในน่านน้ำนอกชายฝั่งเฮเครียว โดส บันเดย์รันเตส ชายหาดสีขาวมุกแห่งหนึ่งในริโอเดจาเนโร

ทีมวิจัยพบโคเคนและเบนโซอิลเลกโกนีน ซึ่งเป็นสารเมตาบอไลต์ที่ผลิตขึ้นเมื่อโคเคนถูกทำลายในร่างกาย ปนเปื้อนอยู่ในกล้ามเนื้อและตับของปลาฉลามทั้ง 13 ตัวอย่าง

ของเสียทางเภสัชกรรมเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ต่างก็เป็นปัญหาที่ได้รับการศึกษาในสัตว์ในมหาสมุทร แม่น้ำ และทะเลสาบอยู่บ่อยครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังตรวจพบร่องรอยของยาเสพติดผิดกฎหมายอื่น ๆ ใกล้เมืองใหญ่อย่างลอนดอน และนอกชายฝั่งฟลอริดาเช่นกัน

ยังไม่ทราบว่าโคเคนซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่มาจากใบโคคานี้ จะส่งผลกระทบต่อฉลามหัวแหลมในบราซิลได้อย่างไร และสัตว์ชนิดนี้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ยิ่งจากสาเหตุการทำการประมงที่มากเกินไป

นักชีววิทยา ราเชล แอนน์ ฮัวเซอร์-เดวิส (Rachel Ann Hauser-Davis) และ นักพิษวิทยาเชิงนิเวศ เอ็นริโก ซาจ์จิโอโร (Enrico Saggioro) จากสถาบันออสวาลโด ครูซ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านสาธารณสุขของรัฐบาลกลางในริโอเดจาเนโน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะยังไม่ได้วิเคราะห์สุขภาพของฉลามในการศึกษาใหม่นี้  แต่ผลกระทบด้านลบนั้น “น่าจะเป็นไปได้” ว่าเชื่อมโยงกับความเสียหายต่อปลาม้าลายและหอยแมลงภู่ที่สัมผัสกับโคเคน ขณะเดียวกันการวิจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับปลาก็พบว่ายาเสพติดนี้อาจส่งผลต่อการมองเห็นและความสามารถในการหาอาหารของสิ่งมีชีวิต

“มีปัญหาที่เป็นไปได้หลายประการเกี่ยวข้องกับสุขภาพของฉลาม เช่น ปัญหาการสืบพันธุ์ และปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับนักล่า” ทั้งคู่เขียนในรายงาน

ฉลามที่อ่อนแอ

การศึกษายังเผยว่าฉลามทั้ง 13 ตัวมีระดับโคเคนสูงกว่าเบนโซอิลเลกโกนีนประมาณ 3 เท่า ซึ่งหมายความว่ายาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเผาผลาญในร่างกายมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่อาจถูกทิ้งลงน้ำโดยตรง

“แม้ว่าฉันจะไม่แปลกใจเลยที่เห็นสารของโคเคนในน้ำ ซึ่งคาดได้ว่ามาจากปัสสาวะของมนุษย์ แต่ฉันรู้สึกประหลาดใจที่ได้เห็น ‘โคเคน’ ในน้ำโดยตรง” เทรซี ฟานารา (Tracy Fanara) นักสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา กล่าว

บราซิลเป็นหนึ่งใน “ตลาดผู้บริโภคโคเคนหลักในอเมริกาใต้ โดยมีผู้ใช้ประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 8 % ของผู้ใช้ทั้งหมดทั่วโลก” ตามรายงานระบุ

นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเชื่อว่าโคเคนเข้าไปในปลาได้ 2 ทาง ได้แก่ ของเสียจากร่างกายของผู้ใช้ยาที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย และอีกทางคือห้องปฏิบัติการที่ผลิตโคเคนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมักจะกำจัดโคเคนบริสุทธิ์ลงในท่อน้ำเสียตามแนวคลอง ซึ่งไหลต่อลงสู่มหาสมุทร และฉลามหัวแหลมของบราซิลก็มักจะอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง พวกมันจึงอ่อนแอต่อสิ่งนี้รวมถึงมลพิษในเมืองอื่น ๆ เป็นพิเศษ

โคเคนส่งผลต่อฉลามอย่างไร?

เมื่อโคเคนปนเปื้อนในน้ำ ฉลามก็อาจรับมันเข้ามาผ่านเหงือกโดยตรงหรือกินเหยื่อขนาดเล็กที่มีสารดังกล่าว การสะสมทางชีวภาพผ่านห่วงโซ่อาหารนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมฉลามจึงมีโคเคนในระดับที่สูงกว่าสิ่งมีชีวิตในน้ำอื่น ๆ ที่ได้จากการทดสอบในงานวิจัยก่อนหน้านี้

เป็นไปได้ว่าฉลามไม่สามารถเผาผลาญโคเคนได้เร็วเท่ากับมนุษย์ และการมีอยู่ของยาที่กินเวลาในร่างกายนานขึ้นก็อาจรบกวนระบบต่อมไร้ท่อพร้อมกับควบคุมการหลั่งของฮอร์โมน ดังนั้นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพใด ๆ ก็ตามสามารถทำให้เกิดความเครียด และอาจทำให้ปลาที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว เสี่ยงต่อโรคมากยิ่งขึ้น

“นี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นจากมลพิษโคเคน” แอนนา คาปัลโด ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเนเปิลส์ เฟเดริโก II ในอิตาลี ผู้ศึกษาผลกระทบของโคเคนต่อปลาน้ำจืดของยุโรป กล่าว

การวิจัยพบว่าปลาไหลที่สัมผัสกับสารเสพติดมีอาการกล้ามเนื้อบวม และฮอร์โมนหยุดหลั่งซึ่งนำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้น ทางคาปัลโด ซึ่งเป็นผู้ทบทวนการศึกษาวิจัยของบราซิลนี้ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องตรวจสอบอวัยวะของฉลามหัวแหลมที่ได้รับผลกระทบ “เพื่อให้สามารถพูดได้อย่างมั่นใจ” หากยาดังกล่าวทำร้ายปลา

ฉลามในพื้นที่อื่นก็เสี่ยงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ฟานารา ที่ได้ศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของโคเคนต่อฉลามนอกชายฝั่งฟลอริดา ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนของก้อนโคเคนที่ห่อด้วยพลาสติกและใช้ในการขนส่งแบบผิดกฎหมาย ก้อนโคเคนเหล่านี้บางครั้งก็หล่นจากเรือของผู้กระทำผิด ไม่ก็มักถูกซ่อนไว้ในอวนที่ถ่วงอยู่ใต้น้ำเพื่อรอการรวบรวมส่งต่อไป

แม้ว่า ฟานารา และทีมของเธอจะไม่พบหลักฐานว่ามีโคเคนอยู่ในฉลามฟลอริดา แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เธอกล่าวว่าการศึกษาจากทีมในบราซิลเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยสังเกตว่าฉลามหัวแหลมเหล่านั้น “ใช้เวลาทั้งชีวิตในไปกับการสัมผัสยานี้ และพวกมันก็เป็นสายพันธุ์ที่เปราะบาง”

อย่างไรก็ตาม ฟานารา ได้เสริมว่าการวิจัยดังกล่าวมีจุดสังเกตสำคัญอยู่นั่นคือ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากสถานที่ในชายฝั่งเฮเครียว โดส บันเดย์รันเตส ซึ่งเป็นที่ที่ฉลามถูกจับ การมีตัวอย่างน้ำจะช่วยให้เห็นภาพของโคเคนที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้กว้างขึ้น และอาจช่วยตรวจจับยาเสพติดทั่วพื้นที่

ศาสตราจารย์ เดเนียล ดี. สโนว์ (Daniel D. Snow) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการของศูนย์น้ำเนบราสกา กล่าวว่าการควบคุมการปล่อยโคเคนรวมถึงยาอื่นๆ ที่แม้จะถูกกฎหมายไม่ให้ลงสู่มหาสมุทรนั้นเป็นเรื่องยาก

“เป็นไปได้ที่จะบำบัดน้ำเสียโดยที่คุณจะไม่ปล่อยสารเคมีเหล่านี้ลงในน้ำ แต่การทำเช่นนั้นมีราคาที่แพงอย่างไม่น่าเชื่อ” เขากล่าว

ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลของบราซิล รับทราบถึงการมีอยู่ของยาเสพติดที่ผิดกฎหมายในระบบนิเวศทางทะเล และติดตามพร้อมกับลดปริมาณของพวกมันผ่านข้อบังคับทางกฎหมาย

พวกเขาระบุว่า การค้นหาโคเคนในฉลาม “ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนสำหรับกรอบทางกฎหมายที่แข็งแกร่ง และมาตราการเชิงรุก เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

PHOTOGRAPH BY VICTOR MORIYAMA, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ที่มา

www.sciencedirect.com

https://www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : “ตูวาลู” กับการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ของประเทศที่กำลังจมหายจากมหาสมุทร

Recommend