พวยน้ำกลางสมุทร ปากแม่น้ำ แอมะซอน จุดเริ่มต้นของโลกใต้น้ำอันน่าทึ่ง

พวยน้ำกลางสมุทร ปากแม่น้ำ แอมะซอน จุดเริ่มต้นของโลกใต้น้ำอันน่าทึ่ง

ปากแม่น้ำแอมะซอนหาใช่จุดสิ้นสุดของแม่น้ำทรงพลังที่สุดในโลก หากเป็นจุดเริ่มต้นของโลกใต้น้ำอันน่าทึ่ง

ย่างเข้าสู่วันที่ห้าของการสำรวจเชิงวิจัยในกลุ่มเกาะบายลีเกีย ผมไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเลยกับสิ่งที่พานพบในสถานที่แห่งนี้ นี่คือปลายทางด้านตะวันออกสุดของรีโออามาโซนัส หรือบริเวณที่แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกไหลลงสู่ทะเล

ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักนิเวศวิทยาทางทะเล และชาวบราซิล ผมรู้ว่า เมื่อแม่น้ำสายนี้ไหลรี่ถึงมหาสมุทรในที่สุด มันจะระบายน้ำมากกว่าแม่น้ำใหญ่อันดับถัดไปอีกหกสายทั่วโลกรวมกัน

การเดินทางเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 นี้เป็นการสำรวจเชิงวิจัยในบายลีเกียครั้งที่สองของผม กลุ่มเกาะภายในปากแม่น้ำแอมะซอนที่น้ำจืดบรรจบกับน้ำเค็ม  ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยมาที่นี่มาก่อน ถึงอย่างนั้น ตอนที่จ้องมองแม่น้ำสายนี้จากเรือติดเครื่องยนต์ลำเล็กสุดอึดที่พาเราจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ผมก็ยังไม่อาจเข้าใจความยิ่งใหญ่ไพศาลของมัน ผมกับเฟลิเป เวียรา เพื่อนร่วมงาน คุยกันแต่เรื่องนี้ ทั้งตะโกนใส่กันแข่งกับเสียงเครื่องยนต์เรือ ทั้งตอนที่นั่งคุยกันริมแม่น้ำ หลังจากพยายามชำระล้างเหงื่อไคลและความร้อนในบ้านที่เราผูกเปลนอน 

ผมบอกว่า นี่จะเป็นแม่น้ำไปได้อย่างไร มันใหญ่จนไม่น่าเชื่อแล้ว ดูอย่างกับมหาสมุทร

เฟลิเปได้แต่เปรยว่า เวลาผมมองไปยังขอบฟ้า เห็นแค่น้ำจรดฟ้าเท่านั้น

ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำแอมะซอนราว 1,200 กิโลเมตร ฟองน้ำครกซึ่งบางส่วนมีอายุกว่า 2,000 ปี เติบโตบนแนวปะการังโตเบโกนี้เนื่องจากได้รับสารอาหารจากแม่น้ำทรงพลังที่ขับเคลื่อนพวยน้ำจืดอุดมไปด้วยตะกอนพุ่งไปไกลในมหาสมุทรแอตแลนติก

นี่ไม่ใช่อามาโซเนียที่พวกเราส่วนใหญ่ ทั้งชาวบราซิล ชาวต่างชาติ เกือบทุกคน ยกเว้นผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่วาดภาพเวลาคิดถึงมัน เริ่มจาก สีสัน ก่อน ผิวน้ำปรากฏเป็นแถบตัดกันอย่างประหลาด แยกกันอย่างชัดเจนระหว่างสีน้ำเงินอมเทากับสีน้ำตาล สองสีหมุนวนตัดกันคล้ายสีที่ไม่ยอมผสมกัน หรือไหลเคียงกันไปโดยมีขอบเป็นเส้นตรงเหมือนไม้กวาด สีน้ำเงินอมเทาคือน้ำเค็มของมหาสมุทร สีน้ำตาลคือแม่น้ำ ซึ่งเป็นสีเข้มจากตะกอนธรรมชาติที่ถูกพัดพามาเป็นระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตรตลอดความยาวจากเหนือจดใต้ของลุ่มน้ำแอมะซอน ตั้งแต่ลำน้ำเล็ก ๆ ในป่าเมฆบนเทือกเขาแอนดีสไปจนถึงแควสาขาน้อยใหญ่ที่หลากท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตอนกลาง

ซากพืช ซากสัตว์ เศษหิน ช่างเป็นสายน้ำที่นำพาสรรพสิ่งมาเต็มพิกัด และมากมายเสียจนกระทั่งเมื่อมันไหลผ่านกลุ่มเกาะบายลีเกียไปสู่ทะเลเปิด จึงไม่ยอมผสมกับน้ำเค็มและกลายเป็นน้ำกร่อยอย่างที่พบเห็นบริเวณปากแม่น้ำทั่วไป น้ำจืดจากแอมะซอนกลับพุ่งตรงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกโดยมีสภาพแทบจะคงเดิม เป็นแม่น้ำภายในมหาสมุทร มุ่งหน้าขึ้นเหนือตามกระแสน้ำขึ้นลงผ่านกายอานาไป

นักสมุทรศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า พวยแม่น้ำแอมะซอน (Amazon River plume) หรือแค่ “พวยน้ำ” (the plume)

พวยน้ำนี้ไหลรี่ต่อไป น้ำจากแม่น้ำและตะกอนเกาะยึดกันเป็นมวลน้ำและขับเคลื่อนตัวเองไปจนถึงทะเลแคริบเบียน

เหนือหมู่เกาะเซนต์ไจลส์ในทะเลแคริบเบียน นกโจรสลัดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสรรพชีวิตในทะเลที่น่าจะได้รับผลกระทบจากพวยน้ำซึ่งไหลมาไกลจากอามาโซเนีย การศึกษาหลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างสารปนเปื้อนจากแอ่งแม่น้ำ โดยเฉพาะปรอทจากการทำเหมืองผิดกฎหมาย กับโรคติดเชื้อที่ระบาดในนกทะเลเขตร้อนเหล่านี้

ทุกเช้าที่ออกสำรวจกลุ่มเกาะ ผมกับเฟลิเปเริ่มจากการล่องเรือตามพวยน้ำ และผลุบเข้าผลุบออกอยู่แถวนั้น หรือพูดให้ถูกก็คือตามที่ชิโก ดา ซิลวา คนขับเรือชาวบายลีเกียผู้ช่ำชองของเราซอกซอนตัดท้องน้ำแถบสีประหลาดเหล่านั้นไป บ่อยครั้งที่เรือเล็กของเขากระแทกคลื่นใหญ่อย่างแรงจนเราต้องจับกราบเรือไว้ให้มั่น แล้วยังมีฝนที่มักกระหน่ำลงมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยและหยุดเอาดื้อ ๆ ด้วย คนบนเกาะเหล่านี้อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านราว 50 แห่งที่อยู่กระจัดกระจาย ดังนั้น เมื่อชิโกจอดส่งเราที่ท่าเรือใหม่ ๆ เราต้องเดินขึ้นบันไดไม้เขลอะโคลนไปยังทางเดินไม้กระดานที่ทำหน้าที่เป็นถนนและทางเท้า และมองหาผู้นำท้องถิ่นสักคน

จากนั้นก็ทักทายเขาว่า บอม-เดีย เซนยอร์ เรามาจากมหาวิทยาลัยเฟเดราลดูเอสปีริตูซันตู และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระบบนิเวศแม่น้ำแอมะซอน ไม่ทราบว่าเซนยอร์จะอนุญาตให้เราถามคำถามคนในชุมชนสักหน่อยได้ไหมครับ

เราได้รับอนุญาตและมุ่งหน้าไปตามทางเดินไม้กระดานพร้อมกระดานหนีบคำถาม ตะโกนทักทายถามผู้คนที่กำลังพักผ่อนบนระเบียงท่ามกลางอากาศร้อนชื้น ไม่ทราบว่าเซนยอร์/เซนยอรา [คุณผู้ชาย/คุณผู้หญิง] สนใจจะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยไหมครับ เรานั่งอยู่หน้าประตูบ้านหรือไม่ก็บนเก้าอี้พลาสติก แบบสอบถามใช้คำที่เข้าใจง่าย คุณอยู่ที่นี่มานานแค่ไหนแล้ว คุณใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ มหาสมุทร ป่าไม้ อย่างไรบ้าง

แม้จะใช้ถ้อยคำง่าย ๆ แต่บางคำถามก็สำคัญ ช่วยบอกหน่อยว่าคุณกังวลเรื่องอะไร บอกทีว่าอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป พอตกกลางคืน ผมเห็นภาพพวกเขา ชาวประมง เกษตรกรผู้ปลูกอาซาอิ (açaí) พวกผู้หญิงที่มีเด็กเล็กๆ อยู่ข้าง ๆ เรื่องราวของพวกเขาทำให้ผมข่มตานอนไม่หลับ

แม่น้ำไม่เหมือนแต่ก่อน ผู้คนบอกเราอย่างนั้น มันโหดร้ายขึ้น ซัดที่ดินริมตลิ่ง บ้านเรือนที่นี่สร้างเพื่อรองรับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่กระทั่งบ้านเสาสูงและยกพื้นชั้นล่างก็ยังสู้ไม่ได้ หากพื้นดินใต้บ้านถูกน้ำพัดพาไป บ้านว่าง ๆ ที่ผมกับเฟลิเปเช่าอยู่ในวีลาโปรเกรสโซ หมู่บ้านใหญ่ที่สุดในกลุ่มเกาะ มีระเบียงหลังบ้านที่น่าจะอยู่ห่างจากชายน้ำประมาณ 50 เมตร  เราได้ยินมาว่า เมื่อสิบปีก่อน สิ่งที่มองเห็นจากระเบียงนั้นคือบ้านอีกแถวหนึ่งที่กั้นระหว่างบ้านของเรากับแม่น้ำ ทั้งหมดพังไปแล้ว  เตร์ฮาไคอิดา ชาวบายลีเกียบอก แผ่นดินถล่ม

เตร์ฮาไคอิดาไม่ใช่หายนะที่เกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพียงอย่างเดียวที่เราได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่า น้ำจืดที่ต่อท่อจากแม่น้ำซึ่งทำกันมาแต่เดิมเพื่อตอบสนองความต้องการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในบายลีเกีย ตอนนี้มีรสเค็มปีละหลายเดือน  บางครั้งก็แค่เค็มปะแล่ม ๆ แต่มากพอจะเป็นปัญหาหากต้องใช้ดื่มกิน หุงหาอาหาร และซักล้าง พอลองคิด ๆ ดู ผมกับเฟลิเปก็ต้องอุทานออกมาว่า อยู่ที่นี่แท้ ๆ มีแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกอยู่รอบตัวเลย แต่กลับถูกบีบให้ต้องซื้อน้ำบรรจุขวดจากเรือขนส่งหรือร้านค้าในหมู่บ้าน

บนเกาะแห่งหนึ่งในปากแม่น้ำแอมะซอน แองเจโล เบอร์นาร์ดีโน นักนิเวศวิทยาทางทะเล นั่งอยู่ท่ามกลางรากอันยุ่งเหยิงของต้นโกงกาง เขากับเพื่อนร่วมงานจากทั่วโลกศึกษาต้นไม้จอมทรหดเหล่านี้ที่มีความสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตริมชายฝั่ง

บายลีเกียรับข่าวสารจากนอกกลุ่มเกาะอย่างต่อเนื่อง แผงเซลล์สุริยะและสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแพร่หลายไปทั่ว และเราก็เห็นห้องหลายห้องที่มีโทรทัศน์จอแบนเป็นเฟอร์นิเจอร์หลัก คำอธิบายที่ผู้คนบอกเราถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ไม่ต่างจากสิ่งที่พวกเราในฐานะนักวิทยาศาสตร์เชื่อกัน  พวกเขาบอกว่า ส่วนหนึ่งคือ มูดันซาดูกลีมา หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง ขณะที่ระดับทะเลสูงขึ้นทุกหนแห่ง การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างรุนแรงก็พบบ่อยขึ้นด้วย ตอนนี้แม่น้ำที่นี่เอ่อสูงมากเป็นพิเศษและเชี่ยวกรากในช่วงหลายเดือนของฤดูฝน น้ำปั่นป่วนและกลืนกินผืนดิน ขณะที่เดือนอื่น ๆ ก็แล้งจนน่าใจหาย เมื่อปีที่แล้ว ทั่วเขตอามาโซเนียแห้งแล้งเข้าขั้นเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้น้ำจืดที่ไหลลงทะเลอ่อนกำลังลง และน้ำเค็มรุกคืบเข้าไปได้ง่ายขึ้น 

การแทรกแซงของมนุษย์สร้างปัญหาเช่นกัน เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าหลายแห่งที่สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ ที่ผ่านมาในแม่น้ำบนแผ่นดินใหญ่ทางเหนือของที่นี่ ทำให้อุทกวิทยาของภูมิภาคและลำน้ำสาขาของแม่น้ำต่าง ๆ ที่เคยไหลลงสู่ปากแม่น้ำแอมะซอน ผันผวนอย่างหนัก สมดุลทางนิเวศวิทยา ได้แก่ แม่น้ำกับมหาสมุทร น้ำเค็มกับน้ำจืด ซึ่งดำเนินมายาวนานในบายลีเกีย ก็กำลังพลิกผันไป ระดับทะเลที่สูงขึ้นนำพาวิกฤติจากการกัดเซาะและรุกคืบของน้ำเค็มมาสู่ชุมชนชายฝั่งต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว และผมกับเฟลิเปก็มองเห็นได้ว่าชาวบายลีเกียกำลังพยายามปรับตัวตามกำลังของตน เหมือนคนที่อื่น ๆ อีกมาก

บางคนยอมแพ้ เหมือนชายเจ้าของบ้านว่าง ๆ ที่เราเช่าอยู่ และขนสมบัติทั้งหมดของตนขึ้นเรือเฟอร์รีที่จะไป มากาปา มูดูว อา อากวา มูดูว อา วีดา ชาวประมงที่ดูหมดอาลัยคนหนึ่งบอกผมเมื่อเช้านี้ตอนเล่าเรื่องมิตรสหายและเพื่อนบ้านที่ย้ายออกไปก่อนหน้านี้ “เมื่อสายน้ำเปลี่ยนไป ชีวิตก็เปลี่ยนตาม”

ตรงจุดที่แม่น้ำแอมะซอนไหลมาบรรจบกับมหาสมุทรแอตแลนติก การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำขึ้นลงอาจรุนแรงเกรี้ยวกราด เมื่อกระแสน้ำซัดเข้ามา ทางน้ำที่ไหลผ่านสถานีศึกษาระบบนิเวศมารากา-จีปิโอกาของบราซิลนี้อาจสูงขึ้นสิบเมตร ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า อีกาดา-เป ดู อินเฟร์โน หรือธารนรก

แต่มีอย่างอื่นอีกที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับที่นี่ บางสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในดินแดนป่าเขาของบายลีเกีย ระหว่างการสำรวจเบื้องต้นเมื่อปี 2022 ตอนแรกผมนึกฉงนที่ไม่พบเห็นร่องรอยของสุมทุมพุ่มไม้ที่ผมคาดมาก่อนว่าจะขึ้นหนาแน่นริมชายฝั่งบนเกาะต่าง ๆ นั่นคือบรรดาต้นโกงกาง

ผมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ศึกษาประโยชน์ด้านนิเวศวิทยาของต้นโกงกาง ลำต้นและกิ่งก้านโค้งงอและพันเกี่ยวกันหนาแน่นเติบโตอยู่ในและตามแนวชายฝั่งน้ำขึ้นถึงของเขตร้อน เราใช้คำว่า “ป่าโกงกาง” เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของต้นไม้บางชนิดโดยเฉพาะที่ต้องอาศัยสภาพดินเค็มในเขตร้อนเพื่อเจริญเติบโต และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรารู้ว่าโลกที่กำลังอุ่นขึ้นต้องการพวกมันมากเพียงใด โครงสร้างสถาปัตยกรรมใต้น้ำของต้นไม้เหล่านี้เป็นบ้านอันปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ชุมชนประมงทั้งหลายต้องพึ่งพา บนบก โครงข่ายรากที่แข็งแกร่งของพวกมันช่วยป้องกันการกัดเซาะ ป่าโกงกางมีประสิทธิภาพในด้านการดักจับคาร์บอนได้ดีเป็นพิเศษ เพราะในตะกอนดินเลนใต้รากเหล่านั้น พวกมันดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศได้มากกว่าพืชเขตร้อนอื่น ๆ ถึงสิบเท่า

เสือจากัวร์นอนทอดหุ่ยบนรากโกงกางระเกะระกะที่สถานีศึกษาระบบนิเวศมารากา-จีปิโอกา ซึ่งครอบคลุมเกาะสามเกาะทางเหนือของปากแม่น้ำแอมะซอน และเป็นส่วนหนึ่งของฉนวนความหลากหลายทางชีวภาพที่มุ่งอนุรักษ์สัตว์ป่าตามแนวชายฝั่ง เสือจากัวร์อยู่ดีที่นี่ แม้การตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ถิ่นอาศัยอื่นๆ ของมันในอามาโซเนียลดลง

แต่ในหลายพื้นที่ที่ต้นโกงกางเคยเจริญงอกงาม เช่น ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พวกมันกำลังหายไปเพราะถูกแผ้วถางเพื่อเปิดพื้นที่ให้นากุ้งและการพัฒนาอื่น ๆ  บราซิลมีกฎหมายปกป้องป่าโกงกาง แต่การจะบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น รัฐบาลจำเป็นต้องรู้ว่า ป่าโกงกางอยู่ที่ใดบ้าง นั่นคือเหตุผลที่ทีมของเรา (รวมถึงนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกอย่างมาร์กาเร็ต อาวฮัวร์ และเตียอาโก ซานนา เฟรเร ซิลวา) ออกสำรวจบายลีเกียครั้งแรก  ผมจำได้ว่าเรือของเราแล่นช้า ๆ ผ่านช่องทางน้ำต่าง ๆ ของกลุ่มเกาะ ใกล้ๆ หาดแห่งแล้วแห่งเล่า และ…

ไม่มีป่าโกงกางเลย  พวกมันหายไปไหน เราเห็นต้นอาซาอิสูงชะลูด ไผ่ และมะพร้าว พวกเราเริ่มปีนออกจากเรือไปสำรวจ และงุนงงมากขึ้นทุกที ในที่สุด เราก็ลุยฝ่าป่ารกชัฏหย่อมหนึ่งที่ขึ้นเป็นดงทึบเขียวครึ้มสวยงาม เงยหน้าขึ้นและมองไปรอบ ๆ และนั่นไง ต้นโกงกางที่เติบโตในลักษณะที่พวกเราไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้เลย มันอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเล็กน้อย กระจายตัวอยู่กลางหมู่ไม้น้ำจืดที่พันเกี่ยวและใช้ดินร่วมกัน ในฐานะนักนิเวศวิทยาทางทะเล ผมบอกได้ว่า สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้

อามาโซเนียไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก และปากแม่น้ำก็ไม่เหมือนที่อื่นใดในอามาโซเนีย สิ่งที่เราพบที่นี่อาจเป็นป่าที่มีความพิเศษเฉพาะในเชิงนิเวศวิทยาก็ได้  เราพบต้นโกงกางสูง 40 เมตร ซึ่งใหญ่ที่สุดต้นหนึ่งที่ผมเคยเจอ เติบโตในดินที่ดูไม่น่าจะเค็มพอจะหล่อเลี้ยงมันได้

นกยางโทนใหญ่รุมเกาะเรือประมงในเบเลง เมืองท่าใหญ่ริมแม่น้ำของบราซิล คนในอามาโซเนียส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น เบเลงซึ่งเป็นบ้านของประชากรเกือบ 2.5 ล้านคน

ปรากฏว่าป่าลักษณะเฉพาะเช่นนี้พบได้ทั่วกลุ่มเกาะ นั่นแสดงว่าแผนที่ฉบับปรับปรุงใหม่ตอนนี้จะมีป่าโกงกาง  ที่เพิ่งพบใหม่หลายร้อยไร่ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการปกป้อง ต้นไม้บางส่วนมีขนาดใหญ่มาก และอาจเก่าแก่มาก จนกระทั่งดินที่กักเก็บอยู่ข้างใต้อาจเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนซึ่งอยู่ลึกลงไปมาก “มีคุณค่าในเชิงช่วยบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” เราเขียนไว้ในรายงานทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกที่ตีพิมพ์หลังการเยือนครั้งแรกนั้น

ผมอยากนึกภาพอนาคตที่ป่าโกงกางช่วยให้บายลีเกียปรับตัวได้ ป่าที่จะได้รับการตั้งชื่อใหม่นี้อาจดึงทรัพยากรใหม่ ๆ จากรัฐบาล หรือมีบทบาทในข้อตกลงแลกเปลี่ยนคาร์บอนของบราซิลในอนาคต ป่าโกงกางจะแพร่กระจายเมื่อพลังรุนแรงของน้ำคอยจัดแต่งดินปากแม่น้ำอยู่เสมอ ท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่าต้นไม้ที่ช่วยปกปักรักษาเหล่านี้จะเติบโตอยู่ภายในและรอบหมู่บ้านต่าง ๆ  รากไม้อีกมากมายจะคอยเหนี่ยวรั้งการกัดเซาะ นั่นคือในที่ต่าง ๆ ที่ป่าโกงกางดำรงอยู่ได้ดีแล้ว และมีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น

เรื่อง แองเจโล เบอร์นาร์ดีโน

ภาพถ่าย ทอมัส เพสแชก

แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

สารคดีเรื่องนี้นำเสนอโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ร่วมกับโรเล็กซ์ ภายใต้โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก


อ่านเพิ่มเติม บทเรียนจากป่าน้ำท่วมถึง และชาวแม่น้ำแอมะซอนที่เปลี่ยนมุมมองนักนิเวศวิทยา

Recommend